ใช้คริปโตซื้ออสังหาฯ ทางเลือกที่ใช่หรือแค่กระแสการตลาด?

นเรศ เหล่าพรรณราย 10 June, 2021 at 20.48 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) กลายเป็นกระแสที่มาแรงในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาใช้เป็นตัวกลาง ในการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ของใช้ไปจนถึงรถหรู ล่าสุดได้มาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์

โดย บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เป็นสองรายแรกที่ประกาศนำ คริปโทเคอร์เรนซี มาใช้ในการซื้อขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ สร้างเสียงฮือฮา รวมถึงราคาหุ้นของสองบริษัทฯที่ปรับตัวขึ้นรับข่าว จนส่งผลให้มีดีเวลลอปเปอร์อีกนับสิบรายที่พร้อมต่อแถวออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าโครงการภายใต้บริษัทของตัวเองก็มีการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินซื้อขายบ้านและคอนโดมิเนียมด้วยวิธีนี้เหมือนกัน

แต่ในความจริงแล้วดีลดังกล่าวให้ประโยชน์กับใครหรือเป็นเพียงแค่การเกาะกระแสเท่านั้น??

  

ใครที่เหมาะกับการชำระรูปแบบนี้

ต้องบอกว่ากลุ่มที่เหมาะสมกับการชำระรูปแบบดังกล่าว น่าจะเป็นชาวต่างชาติที่ต้องการจะเข้ามาซื้อ อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เพราะการที่จะต้องโอนเงินตราต่างประเทศ มาเปลี่ยนเป็นสกุลเงินบาท อาจจะมีขั้นตอนและค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูง รวมถึงต้องชี้แจงต่อธนาคาร ต่อเหตุผลในการโอนเงินต่างประเทศ มายังธนาคารไทยในกรณีที่ต่างชาติรายนั้นไม่ได้ถือบัญชีธนาคารไทยอยู่

 

รวมถึงคนไทยเองที่ถือครองคริปโทเคอร์เรนซี อย่างเช่นบิทคอยน์เป็นจำนวนมากหรือที่เรียกว่า ปลาวาฬ ก็สามารถแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องการจะใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯผ่านทางบิทคับ นอกจากการเปิดบัญชี แล้วยังจำเป็นที่จะต้องผ่านการยืนยันตัวเอง (KYC) ผ่านเสียก่อนตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน

 

บริษัทอสังหาฯและบิทคับได้ประโยชน์อะไรจากดีลนี้?

 

ดีลดังกล่าวในส่วนของบริษัทอสังหาฯจะสามารถเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ สำหรับผู้ที่มีบิทคอยน์อยู่กับตัวมากๆ หรือชาวต่างชาติที่มีบิทคอยน์ ก็สามารถโอนมาชำระค่าโครงการได้ง่าย ส่วนผลทางอ้อมก็คือการได้พื้นที่ข่าว และราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากการเก็งกำไร รวมถึงอาจได้ในเรื่องของการหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

           

ขณะที่บิทคับ ซึ่งมีใบอนุญาตการเป็น Exchange หรือศูนย์กลางซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ก็จะได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ที่เกิดขึ้นไป ซึ่งน่าจะมีวอลลุ่มต่อรายการที่สูง เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าตั้งแต่หลักล้านบาทขึ้นไป

 

หากใช้อัตราค่าธรรมเนียมเดียวกับการซื้อขายคริปโททั่วไปของรายย่อยที่ 0.25% ก็น่าจะได้ค่าธรรมเนียมมาไม่น้อยทีเดียว รวมถึงการได้ฐานลูกค้ารายใหญ่ไว้กับตัว

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาซื้ออสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้การนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ชำระค่าที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2017 ที่ราคาบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นสูง โดยเป็นที่รู้กันว่าชาวต่างชาติอย่างคนจีนและรัสเซียได้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมในพัทยา เชียงใหม่และภูเก็ต เป็นล่ำเป็นสันมานานแล้ว

 

เพียงแต่เป็นการใช้จ่ายในรูปแบบ ใต้ดิน

 

หรือไม่ผ่านช่องทางการชำระเงินทั่วไป รวมถึงผ่านผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีใบอนุญาตอย่างบิทคับ แต่เป็นการซื้อขายแบบ OTC (Over The Counter) ก็คือผู้ซื้อ และผู้ขายมีการตกลงราคากันเอง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เมื่อทำการชำระเสร็จแล้ว ค่อยมาทำสัญญาซื้อขายโครงการกันต่อไป

 

คนจีนถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย?

เนื่องจากทางการจีนมีการควบคุมดูแลการนำเงินหยวนออกนอกประเทศ คนจีนที่มีฐานะบางส่วนจึงมีการใช้บิทคอยน์ในการ ชำระสินค้าที่มีราคาสูงโดยอาจมีวัตถุประสงค์แฝงก็คือการหลบเลี่ยงภาษี จนไปถึงชั้นเลวร้ายที่สุดก็คือการฟอกเงิน

 

แม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่คนในวงการคริปโทเคอร์เรนซีไทยต่างรู้กันดีว่า มีชาวต่างชาติที่ต้องการเปิดบัญชีกับ Excahnge ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย เพื่อที่จะใช้บิทคอยน์ในการทำธุรกรรมทั้งที่เข้าข่ายสีเทา และฟอกเงินและไม่สามารถทำKYC ผ่านเป็นจำนวนมาก

 

สำหรับในต่างประเทศ มีการใช้บิทคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีในการใช้จ่ายอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานแล้ว แต่จะเป็นรูปแบบไม่เป็นทางการ เพราะมีเพียงแค่ไม่กี่ประเทศ ที่มีกฎหมายรับรองการชำระเงินด้วยคริปโทเคอร์เรนซี

  

รับชำระด้วยคริปโทเคอร์เรนซีไม่ได้แปลว่าถือบิทคอยน์อยู่กับตัว

หลังจากที่มีการประกาศข่าวรับชำระด้วยสกุลเงินดิจิทัลออกไป ราคาหุ้น ORI ปรับตัวขึ้นในวันถัดไปประมาณ 10% เช่นเดียวกับหุ้น ANAN ที่ปรับตัวขึ้นในเชิงบวกเช่นกัน

 

โดยน่าจะเป็นแรงเก็งกำไรตามกระแสของคริปโทเคอร์เรนซีที่กำลังมาแรงในช่วงที่ผ่านมา

           

อย่างไรก็ตามในเชิงโครงสร้างทางการเงิน ไม่ได้หมายความว่าบริษัทอสังหาฯ ที่เปิดรับคริปโทเคอร์เรนซี จะมีการบันทึกสกุลเงินดิจิทัลที่รับมาเข้ามาอยู่ในบัญชีของบริษัท และได้รับประโยชน์จากราคา ของคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้น

           

เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่ได้รองรับสกุลเงินดิจิทัล เข้ามาบันทึกในบัญชีบริษัทฯเหมือนกับสินทรัพย์อื่นๆ เวลาที่บริษัทอสังหาฯรับสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาใน Wallet ของบริษัท ทาง Exchange หรือศูนย์กลางซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างบิทคับ ก็จะทำการแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินบาท และโอนเข้ามายังบัญชีธนาคารของบริษัทฯ ตามปกติเหมือนการชำระค่าโครงการทั่วไป

 

ในเชิงเทคนิค บริษัทฯอสังหา สามารถที่จะเลือกเก็บสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับมาจากลูกค้าไว้ใน Wallet ก่อน โดยยังไม่แปลงเป็นเงินบาททันทีได้เช่นกัน และรอจังหวะที่สกุลเงินดิจิทัลนั้นราคาปรับตัวสูงขึ้นและถึงจะแปลงเป็นสกุลเงินบาท

 

แต่การเป็นถึงบริษัทมหาชน การที่เข้ามาเก็งกำไรกับราคาของคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีความผันผวนสูงอาจจะเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดผลขาดทุนโดยไม่จำเป็นก็ได้ จึงมองว่าทั้งสองบริษัทฯ ไม่น่าจะเลือกเสี่ยงที่จะเก็บคริปโทเคอร์เรนซีไว้ใน Wallet แต่น่าจะแปลงเป็นเงินบาททันที

 

สรุปแล้วดีลนี้มีประโยชน์อะไรกันแน่??

ถ้าจะให้ฟันธงตรงๆ ดีลการรับชำระเงินด้วยคริปโทเคอร์เรนซี ของบริษัทฯอสังหาฯน่าจะเป็นเพียงแค่ การเกาะกระแสสกุลเงินดิจิทัล ที่กำลังมาแรงเท่านั้น เพราะจำนวนคนไทยที่ถือครองบิทคอยน์จำนวนมากๆมีแทบจะนับหัวได้

 

ส่วนชาวต่างชาติก็น่าจะติดปัญหาในเรื่องของการยืนยันตัวเองหรือ KYC ที่ต้องใช้เวลานานและอาจจะมีโอกาสไม่ผ่านสูง เนื่องจาก ป... และธนาคารแห่งประเทศไทย มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งชาวต่างชาติที่นิยมถือครองบิทคอยน์ส่วนใหญ่ คือชาวอเมริกัน ซึ่งมีความยุ่งยากในการทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงชาวจีน และรัสเซีย ซึ่งสองชาตินี้ติดอันดับต้นๆในเรื่องของคดีฟอกเงิน

 

ขณะที่บริษัทฯเองก็ไม่น่าจะมาเสี่ยงในการเก็บคริปโทเคอร์เรนซีไว้กับตัวเพื่อรอให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างเช่นบริษัทในต่างประเทศอย่างเทสลาของอีลอน มัคส์ หรือบริษัท Microstrategy ที่ถือครองบิทคอยน์ไว้จำนวนมาก และราคาหุ้นผันผวนตามราคาบิทคอยน์

 

ดีลดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเพียงสีสันทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คนทั้งโลกกำลังสนใจคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น แทบจะไม่ส่งผลบวกทางธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญแต่อย่างไร

นเรศ เหล่าพรรณราย

นเรศ เหล่าพรรณราย

นเรศ เหล่าพรรณราย FB:Gap Theory Twitter:@Nares_sd28 Chief Operation Officer Stock Quadrant (Thailand) Co.Ltd กรรมการ สมาคมฟินเทคประเทศไทย คนสื่อที่มีประสบการณ์ในแวดวงข่าวเศรษฐกิจโดยเฉพาะวงการตลาดหุ้นนานกว่า10ปี อยู่เบื้องหลังหนังสือด้านการลงทุนและธุรกิจมามากกว่าสิบเล่ม เคยทำงานหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจอันดับหนึ่ง ปัจจุบันทำงานในบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีความเชื่อว่าการเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัวและทุกคนต้องรู้

เว็บไซต์

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

นาวว์ เมกา

หากจะพูดถึง NOWW MEGA (นาวว์ เมกา) ในพื้นที่ของ Maga...

14 November, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง