ต้อนรับ 5 สถานีใหม่ของรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 4 สถานีเอกลักษณ์ของไทย และ 1 สถานี HUB ใหญ่ ของระบบขนส่งมวลชน เชื่อมฝั่งพระนครไปสู่ธนบุรี ได้อย่างสะดวกไร้รอยต่อ

wipawan khampuwiang 02 August, 2019 at 13.41 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


วันที่ทุกคนตั้งตารอคอยก็มาถึง เป็นวันที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายพร้อมเปิดให้ใช้บริการ หลังจากที่เคยได้ยินกันมาเมื่อ 1-2 ที่แล้วว่าช่วงที่เป็นส่วนต่อขยายนี้ แต่ละสถานีจะมีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกได้ถึงความเป็นไทยได้ และวันนี้ก็ได้เห็นกับตาจริงๆ ว่ามีความสวยงามขนาดไหน จึงอยากให้ทุกคนได้เข้าไปร่วมสัมผัสประสบการณ์นี้เช่นกัน เนื่องจากการใช้บริการของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นความสะดวกสบายอย่างนึงของคนทุกช่วงอายุ เพราะมีทั้งความสะดวก รวดเร็ว และสามารถกำหนดระยะเวลาในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างแน่นอน ในชั่วโมงเร่งรีบนั้นๆ ใครๆ ต่างก็นึกถึงการเดินทางโดยรถไฟฟ้าเป็นอันดับแรกเสมอ

 

ซึ่งขอเล่าคร่าวๆ ก่อนว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้ เดิมทีเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 ให้บริการจากสถานีหัวลำโพง-บางซื่อ จำนวน 18 สถานี ใช้เวลาเดินทางโดยประมาณ 30 นาที ด้วยระยะทาง 20 กม. ซึ่งก็ทำให้การเดินทางมีความสะดวกสบายมากขึ้น และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รัฐบาลจึงได้เพิ่มเส้นทางระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าให้ทั่วถึงก็คือ “โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย” นั่นเอง

 

บอกได้เลยว่าเมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่พร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการแล้วนั้น การเดินทางจากย่านต่างๆ เพื่อไปยังฝั่งพระนครหรือฝั่งธนบุรี ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป และไม่ต้องมานั่งกังวลว่าถ้าจะไปแถวถนนอิสรภาพหรือถนนเพชรเกษมต้องเดินทางด้วยรถเมล์สายอะไร ถ้านั่งแท็กซี่ก็จะทำให้งบบานปลายไปใหญ่ แต่ตอนนี้ก็ไม่ต้องไปกังวลในเรื่องแบบนั้นอีกแล้ว เพราะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะมาพร้อมกับความสะดวกสบายไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันหรือชาวต่างชาติ ต่างสามารถข้ามไปยังฝั่งธนบุรีเพื่อท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในย่านนั้นได้ โดยไม่ต้องหาเช่าโรงแรมในย่านนั้นเนื่องจากไม่มีรถกลับเข้ามาในเมือง

 

จากที่ได้เห็นตามสื่อต่างๆ ทุกคนคงรู้ว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น จะเปิดให้บริการพร้อมกันถึง 5 สถานี ด้วยกัน คือ สถานีวัดมังกร, สถานีสามยอด, สถานีอิสรภาพ, สถานีสนามไชย และสถานีท่าพระ ซึ่งการเปิดสถานีของเส้นทางสายใหม่นี้ก็มีจุดหมายเพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีแหล่งกิน แหล่งช้อป หรือสัมผัสสีสันของวัฒนธรรมย่านธุรกิจ อย่าง เยาวราช ปากคลองตลาด ตลอดจนการเดินทางไปฝั่งธนบุรีเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในย่านบางไผ่ บางหว้า บางแค ที่มีวัดเก่ามากมาย ทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และแต่ละสถานีที่พาดผ่านเมืองเก่าซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีบริบททางประวัติศาสตร์ต่างกัน สามารถสะท้อนออกมาได้จากดีไซน์ของแต่ละสถานี

 

โดยทั้งหมด 5 สถานี มีหนึ่งสถานีที่แตกต่างไปในเชิงของการออกแบบดีไซน์ต่างๆ นั่นก็คือ สถานีท่าพระ เพราะสถานีนี้ไม่ได้มีการออกแบบภายในให้สะท้อนเอกลักษณ์ของย่านท่าพระเหมือนกับอีก 4 สถานี แต่จุดเด่นของสถานีก็คือ การเป็น Interchange Stations ที่ให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางจากสถานีท่าพระไปทางจรัญ 13 หรือเดินทางไปยังสถานีอิสรภาพ หรือสถานีบางไผ่ก็เปลี่ยนขบวนได้ที่สถานีนี้ ถือได้ว่าเป็น HUB ใหญ่ของระบบการขนส่งสาธารณะตอนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะตั้งอยู่บริเวณแยกท่าพระ บริเวณจุดตัดระหว่าง ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเพชรเกษม และถนนรัชดาภิเษกฝั่งใต้ ก่อให้เกิดเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะนำพาความเจริญขั้นสุดมาสู่ย่านท่าพระ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีท่าพระ สถานี Interchange ที่สำคัญที่สุดในย่านฝั่งธนฯ

การออกแบบของสถานีท่าพระจะคล้ายกับสถานีเตาปูนที่เป็นสถานียกระดับ ที่ดูโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทั้งยังกันฝนและกันแดดได้ ลักษณะสถานียกระดับแบบนี้แอบคล้ายกับสถานีของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์อยู่นะ

ทางออก 1 และ 2 ได้วิวของถนนเพชรเกษม ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีบางไผ่ และสถานีบางหว้า

ทางออก 3 และ 4 จะเป็นวิวของถนนจรัญสนิทวงศ์ต่อไปยังสถานีจรัญฯ 13 – สถานีบางซื่อ – สถานีท่าพระ – สถานีหลักสอง

ป้ายอธิบายทิศทางการเดินรถของสถานีท่าพระ

โดยราคาค่าโดยสารของสถานีส่วนต่อขยายใหม่ทั้ง 5 สถานี อยู่ในช่วงทดลองให้บริการและโดยสารฟรีตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. – 28 ก.ย. 62 นี้ เป็นระยะเวลา 2 เดือนเต็มๆ เปิดให้บริการทุกวัน 10.00-16.00 น. แต่หากใครที่เข้า-ออกที่สถานีหัวลำโพง จะคิดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาท รถไฟฟ้าที่วิ่งไป-กลับสถานีใหม่ มีทั้งหมด 3 ขบวน และระยะห่างระหว่างขบวนทุก 8 นาที เมื่อผ่านช่วงของการทดลองให้บริการไปแล้ว จะเก็บค่าโดยสารการเดินทางตลอดสายไม่เกิน 70 บาท ไม่เพียงเท่านั้น ทาง BEM มีการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 35 ขบวน รวมแล้วจะมีรถไฟฟ้าให้บริการตลอดทั้งสายสีน้ำเงิน 54 ขบวน แบบนี้ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องยืนรอรถนานๆ แล้ว

มาดูทางด้านของสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายในสถานีว่ามีอะไรอัพเดทใหม่ที่ต่างจากสายปัจจุบันกันบ้าง

เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติ

โดยเพิ่มฟังก์ชั่นให้สามารถออกเหรียญได้ครั้งละหลายเหรียญ และยังเติมเงินเข้าบัตรโดยสารหรือเช็คยอดเงินคงเหลือในบัตรได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องไปยืนต่อแถวเพื่อให้พนักงานเติมเงินให้แล้ว

ลักษณะเหรียญโดยสารก็จะเป็นแบบเดิม ใช้สแกนตอนเข้าและหยอดตอนออกเหมือนเดิมนะจ๊ะ

ประตูอัตโนมัติ

มีการพัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น และมีประตูกว้างพิเศษ 1 ล็อก เพื่อผู้โดยสารที่มีสัมภาระขนาดใหญ่ สามารถปรับให้เป็นได้ทั้งขาเข้าและขาออก

CCTV 12 ตัวต่อขบวน และ 1 ตัว ในห้องเจ้าหน้าที่ควบคุม เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร และเก้าอี้ 126 ตัว/ขบวน เพิ่มเสายึดจับแบบ 3 ก้าน พร้อมทั้งราวจับแบบ 3 แถว ในขบวนใหม่

 

อย่างที่ได้บอกไปในข้างต้นแล้วว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีด้วยกัน 5 สถานี ซึ่งเราได้อธิบายถึงสถานีท่าพระไปแล้วว่าเป็นสถานี Interchange Stations ที่ใหญ่ที่สุดของฝั่งธนบุรี และก็เหลืออีก 4 สถานี มาดูกันว่าแต่ละสถานีจะมีการตกแต่งเป็นอย่างไร และเอกลักษณ์ของแต่ละสถานีได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง

 

สถานีวัดมังกร : มีการออกแบบและตกแต่งภายในผสมผสานความเป็นไทย-จีน ได้อย่างลงตัว มีการนำเอามังกรที่ถือว่าเป็นสัตว์แห่งเทพเจ้ามาประดับตกแต่งสถานีสลับกับดอกบัวลายจีน โดยได้แรงบันดาลใจมากจากวัดมังกรกมลาวาส หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่” จุดเด่นภายในสถานีนี้ที่ทุกคนจะต้องหยิบมือถือขึ้นมาเก็บภาพก็คือ มังกรที่พาดลงมาจากเพดานบริเวณจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ

รูปดอกบัวตามจุดขึ้น-ลง บันไดเลื่อน

รวมถึงบรรยากาศภายในสถานีที่อลังการด้วยสีแดง-ทอง แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของจีน

บริเวณทางขึ้น-ลง ที่จะไปยังชั้นออกบัตรโดยสาร ก็ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับท้องมังกร

โดยสถานีวัดมังกร มีทางออกด้วยกันทั้งหมด 3 ทางด้วยกัน คือ ทางออก 1 ถนนแปลงนาม, ทางออก 2 ซอบเจริญกรุง 16 และทางออก 3 วัดมังกรกมลาวาส

ขึ้นมาที่ทางออก 1 ก็จะเจอกับแยกแปลงนาม ที่ใครๆ ต่างรู้ว่าแถวๆ นี้ มีแต่ของอร่อยไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือของหวาน

 

สถานีสามยอด : มีการตกแต่งสถานีออกแบบให้มีความโอ่โถง ผนังโดยรอบมีการทำเป็นประตูบานเฟี้ยม ที่เป็นรูปแบบของประตูสมัยเก่า เนื่องจากย่ายสามยอดเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมย้อนยุคในสมัยรัชกาลที่ 5 แบบชิโน-โปตุกีส และได้นำความคลาสสิคนี้มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพื้นที่ย่านเก่าไว้

ภายในสถานี เมื่อออกมาจากขบวนรถก็จะได้เห็นรูปภาพขนาดใหญ่ติดไว้ที่เสาในภายในสถานีแสดงถึงขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ ในการก่อสร้างสถานีสามยอด

ใช้ทางออก 1 ก็จะเจอกับแยกสามยอด ที่มีความคึกคักเป็นอย่างมาก เมื่อสถานีสามยอดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วยิ่งจะมีความคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากย่านนี้เป็นศูนย์รวมของตลาด อย่าง สำเพ็ง ห้างดิโอลด์สยามพลาซ่า บ้านหม้อ และศาลาเฉลิมกรุง

มองเห็นตึกจอดรถของห้างดิโอลด์สยามพลาซ่า อยู่ฝั่งตรงข้ามของทางออก 3

 

สถานีสนามไชย : เรียกได้ว่าเป็นสถานี Highlight จากทั้งหมด 5 สถานี ด้วยการตกแต่งภายในที่มีความสวยงาม และได้รับความสนใจจากประชาชนก่อนที่จะก่อสร้างเสร็จด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อเริ่มทำการก่อสร้างยังได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งจุดเด่นของที่นี่นอกจากความสวยงามแล้ว คงอยู่ที่เรื่องราว และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นสถานียังมีช่วงอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีนี้ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น 1 ใน 4 ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สวยที่สุดของประเทศไทย

การตกแต่งสะท้อนเอกลักษณ์ไทยผ่านสถาปัตยกรรมสุดประณีต ประดับด้วยเสาสดมภ์ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางเดิน ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว

พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง

อีกหนึ่งจุดเช็คอินคงจะเป็นทางออก 1 ที่ขึ้นไปแล้วจะเจอกับมิวเซียม สยาม ใครที่ได้มาใช้บริการในช่วงทดลองรถไฟฟ้านี้ ต่างต้องออกมาถ่ายรูปตรงประตูทางเข้ามิวเซียม สยาม แน่นอน

หรือใครที่ชื่นชอบการมาเดินซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาก บอกได้เลยว่ายิ่งมีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนี้ยิ่งสะดวกขึ้นอีกหลายเท่า ไม่ต้องขับรถมาวนหาที่จอดให้เมื่อย แค่เดินไปที่ทางออก 4 ก็ข้ามแยกไปยังปากคลองตลาดได้สบาย

 

สถานีอิสรภาพ : ซึ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหงส์ เป็นสัญลักษณ์ของวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ที่นำเอาประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาเป็นคาแรกเตอร์ของสถานี ด้วยการตกแต่งรูปและลวดลายหงส์ทองในชั้นออกบัตรโดยสาร ซึ่งนำลายหงส์มาปรับรายละเอียดให้ลงตัวกับพื้นที่เสา โดยภาพทำมาจากวัสดุอะคริลิกสีทองและอะคริลิกใสฉลุลายซ้อนทับกัน เกิดเป็นมิติความลึกของลายหงส์

โดยสถานีนี้จะถูกบันทึกไว้ว่าเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีแรกที่ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรีที่เชื่อมกับฝั่งพระนคร สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ใช้เวลาจากสถานีสนามไชยมาถึงสถานีอิสรภาพไม่ถึง 2 นาที ก็สามารถข้ามมายังฝั่งพระนครได้แล้ว

ซึ่งการมาของทุกสถานีทำให้เกิดความคึกคัก และการเปลี่ยนแปลงในเชิงอสังหาฯ หลายด้าน เพราะแต่ละย่านเดิมสามารถเข้าถึงได้แค่รถยนต์และรถเมล์ ที่จอดรถไม่ค่อยมี โดยบริเวณสถานีท่าพระ น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมากที่สุด เนื่องจากเป็นสถานีใหญ่และสามารถสร้างคอนโดสูงได้ โดยมีหลายๆ โครงการที่เปิดขายอยู่ในย่านนี้ และทำตลาดอยู่ บางโครงการก็สร้างเสร็จรอรถไฟฟ้าแล้ว และเมื่อรถไฟฟ้าพร้อมเปิดให้ใช้บริการก็จะทำให้ราคาที่ดินในย่านนั้นๆ หรือราคาของห้องก็อาจจะมีการขยับขึ้นอีก เพราะถือในเรื่องความสะดวกในการเดินทางเป็นหลัก และยังแวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อีกทั้งในอนาคตย่านที่มีรถไฟฟ้าเข้าถึงแล้วก็จะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับแถวห้าแยกลาดพร้าว เรียกได้ว่าที่ดินแถวนั้นราคาสูงแซงหน้าแถวเพลินจิตไปแล้ว เพราะอีกไม่กี่วันก็จะเริ่มให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสถานีห้าแยกลาดพร้าวแล้ว คงได้แต่หวังว่าขอให้โครงการคอนโดฯ ที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าจะทำราคาที่สมเหตุสมผลสำหรับการพักอาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกในย่านนั้นๆ จริงๆ

wipawan khampuwiang

wipawan khampuwiang

จบทางด้านภาษาไทยและชอบงานเขียน ชอบอ่านและดูรูปภาพรีวิวบ้าน คอนโดต่างๆ เบื่อกับการอยู่ห้องทั้งวันแบบไม่มีอะไรทำ ฉะนั้นงานอดิเรกก็เลยชอบหาที่เที่ยวและถ่ายภาพ

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง