อนันดาฯพลิกบทบาทสู่การเป็น Tech Company รายแรกของตลาดอสังหาฯ พร้อมเปิดตัว Ananda UrbanTech นวัตกรรมที่ช่วยตอบสนองการใช้ชีวิตที่ดีกว่า ของคนเมืองในทุกๆด้าน

เกริก บุณยโยธิน 02 February, 2017 at 08.30 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ดูท่าแล้วสมรภูมิตลาดอสังหาฯในปี 2017 นี้คงจะร้อนระอุตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อดีเวลลอปเปอร์ยักษ์ใหญ่ทุกราย ทยอยกันประกาศแผนกลยุทธ์ และทิศทางในการดำเนินธุรกิจประจำปี เพื่อมุ่งหวังที่จะช่วงชิงตำแหน่งผู้นำ ของธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่ามีความสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แน่นอนว่าในการที่จะข่มขวัญคู่ต่อสู้ ยักษ์ใหญ่แต่ละรายก็มักที่จะประกาศแผนการในการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงจำนวนยูนิต และมูลค่าโครงการ บางรายที่อาจจะมีการเพลี้ยงพล้ำในรอบปีที่ผ่านมาบ้าง ก็ยิ่งต้องทำงานหนักในการพัฒนา ปรับปรุง การทำงานขององค์กรในหลายๆด้านตลอดจนมีการนำเอา Know How จากบริษัทฯที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาปรับใช้งานจริง เพราะเป็นที่รู้กันว่า ธุรกิจอสังหาฯในยุคที่ตลาดยังมีสภาวะทรงตัว กระบวนการก่อสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านคุณภาพ ลดต้นทุน และเวลาส่งมอบ คือสิ่งที่จำเป็นที่สุด

 

ท่ามกลางแผนกลยุทธ์ต่างๆนานาที่ต่างฝ่าย ต่างก็ได้แสดงแสนยานุภาพไป เป็นที่น่าสังเกตุว่ามีดีเวลลอปเปอร์อยู่ 3-4 ราย ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของการอยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับยุค Digital ภายใต้แนวคิด Internet of Things (IOT) ยุคแห่ง Connectivity ที่โลกเชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วยระบบ Digital บ้านต้องรู้ใจคนอยู่ รู้จักนิสัยของทุกคนที่อยู่ภายในบ้าน ซึ่งหลายฝ่ายล้วนแต่มองว่า นี่คือเทรนด์การอยู่อาศัยในอนาคตของคนเมือง…แนวคิดดังกล่าว ยังถือว่าสอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการสร้าง Ecosystem ทางเศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขับเคลื่อนวงจรการผลิตด้วยนวัตกรรม ให้เกิดความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น

“เพื่อคงไว้ซึ่งธุรกิจและความสำเร็จต่อไปในอนาคต บริษัทจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานของตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา…บรรดาธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด  โดยเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยอันดับแรกๆ ที่ผู้นำทางธุรกิจจะเลือกใช้เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตน และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โครงการที่อยู่อาศัยจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นแค่วัสดุในรูปทรงนั้นๆ ในสถานที่นั้นๆ สู่สิ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของคนในชุมชนเมือง“…นี่คือใจความหลัก จากปากของคุณโก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในวันแถลงข่าวประกาศตัวเป็น Tech Company รายแรกของวงการอสังหาฯ ด้วยการเปิดตัว Ananda UrbanTech อาวุธหนักตัวล่าสุดของอนันดาฯ ที่เจ้าตัวประกาศด้วยความมั่นใจเต็มร้อยปอร์เซนต์ ท่ามกลางสักขีพยานหลายร้อยคน ที่สำนักงานแห่งใหม่ บนอาคาร FYI Center รวมถึงผู้ชมการถ่ายทอดทาง FB Live อีกหลายหมื่นคนว่า นี่คือกลยุทธ์สูงสุด ภายใต้ปรัชญา Disruption ที่จะทำให้อนันดาฯ มีที่ยืนอยู่ได้ในยุคที่มีตลาดมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งจากคู่แข่งทางตรงในวงการ และคู่แข่งข้ามสายพันธุ์ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่พร้อมจะกลืนกินทุกธรกิจที่ยังคงมีแนวทางในการทำงานในแบบเดิมๆ!!!

“จากผลสำรวจทางสถิติในปีพ.ศ. 2478 พบว่า 500 บริษัทในสหรัฐมีอายุเฉลี่ย 90 ปี และสำรวจอีกครั้งเมื่อปีพ.ศ. 2548 พบว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทใน Fortune 500 ได้ลดลงเหลือเพียง 15 ปี โดยมีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำกว่า 10 ปีนับจากนี้” คุณโก้ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของประชมคมโลกอีกครั้ง เมื่อบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ ชนิดที่ไม่มีใครคิดว่าชาตินี้จะล่มสลาย กลับพังทลายลงมา เพียงเพราะว่าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาตลอดทุกวินาทีได้

การเติบโตแบบทวีคูณ ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Exponential Growth of Technology) เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก ในช่วง 10 ให้หลัง ชนิดที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ออกมาวันไหน วันต่อมาก็อาจจะกลายเป็นของตกรุ่นล้าสมัยได้ทันที!!

การมาของ Tech Company & Start Up ที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้าง Sharing Economy ให้เกิดกับทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ที่น่าประหลาดใจหลากอย่าง Airbnb มีจำนวนห้องพักอาศัย มากที่สุดในโลกถึง 2 ล้านห้อง เกินกว่าเบอร์ 1 ของธุรกิจโรงแรมแบบ “Original” อย่างเครือ Marriot & Starwood ที่รวมกันแล้วยังได้แค่ล้านกว่าห้อง แถมต้องลงทุนพัฒนาเองเองอีกต่างหาก!

คำกล่าวของ Charles Darwin ที่บอกว่า “It is not the strongest of the species that survive, nor the most intelligent, but the one that is most responsive to change” ดูจะตรงกับสภาพความเป็นจริงของโลกยุค 4.0 ได้เป็นอย่างดี…อนันดาฯ ก่อตั้งมาเป็น 10 ปีถือว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยี จนกลายเป็นผู้นำอสังหาริมทรัพย์ติดรถไฟฟ้าและผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยของคนเมืองในด้านต่างๆ ภายใต้กรอบ Urban Living Solution ที่ยึดเอา Gen C Core Values (Cash Smart, Creativity, Control, Casual, Connect และ Convenience) เป็นแกนหลักในการพัฒนาโครงการ จนทำให้คนส่วนใหญ่มอง Perception ของอนันดาว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาผสานในทุกองค์ประกอบของการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เริ่มตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง  รวมไปถึงการเงิน  การตลาด  และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในโครงการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณโก้จะเป็นผู้นำรายแรกของวงการอสังหาฯที่พร้อมที่สุดในการปรับตัวธุรกิจไปสู่ยุค 4.0 ผ่านทั้งการร่วมมือจากคนภายในองค์กร และจากหน่วยงานภายนอก อย่าง Tech Start up ทั่วโลก เพื่อร่วมกันสร้าง Cross Industry Innovation ภายใต้กลยุทธ์สูงสุดอย่าง Ananda UrbanTech นี่เอง

ทำไมต้องเป็น UrbanTech?

 

ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ กำลังเริ่มก้าวเข้ามาสู่ยุค Digital อย่างช้าๆ ผ่านการพัฒนา Platform ด้าน Online Solution ต่างๆที่จะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บางรายก็ประกาศความร่วมมือกับบรรดา Tech Company เพื่อร่วมกันพัฒนา PropTech ไม่ว่าจะเป็นในด้าน Construction Tech, Commercial Tech, Residential Tech, Robotics/Ai ฯลฯ โดยมุ่งหวังที่จะติดปีก เสริมเขี้ยวเล็บให้กับโครงการของตัวเอง ให้โดนใจกลุ่มคนซื้อในยุค Digital 4.0 แต่อนันดาฯเลือกที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือการประกาศตัวในการสนับสนุน และร่วมกันพัฒนา “UrbanTech” หรือเรียกง่ายๆว่า เทคโนโลยีที่จะมาตอบโจทย์ และช่วยแก้ปัญหาการใช้ชีวิตของคนเมืองให้ดียิ่งขึ้น…ซึ่งเป็น Ecosystem ที่กว้างกว่า PropTech มากนัก เพราะว่านี่คือการกินรวบเบ็ดเสร็จทุกนวัตกรรม ที่พร้อมจะเปลี่ยน Business Landscape และ Competitive Arena ไปได้อย่างง่ายดาย กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็น FinTech, PropTech, Construction Tech, Health Tech, IoT, Robotics/AI หรือ Virtual Currency ตราบใดที่นวัตกรรมเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับอนันดาฯ และกลุ่ม Gen C… อนันดาพร้อมเหมาหมด!! และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โครงการที่อยู่อาศัย จะมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นแค่วัสดุในรูปทรงนั้นๆ ในสถานที่นั้นๆ สู่สิ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของคนในชุมชนเมือง

แต่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในแบบพลิกฟ้า พลิกแผ่นดินแบบนี้ อนันดาฯจำเป็นที่จะต้องมีแม่ทัพสำคัญในการจัดขบวนทัพ UrbanTech ใหม่…ด้วยเหตุผลนี้ อนันดาฯ จึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารพร้อมแต่งตั้งคณะผู้บริหารขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่เป็นการเฉพาะ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่การเป็น Tech Company โดยได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ ได้แก่ ดร. เชษฐ์ ยง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม (Chief Innovation Officer) มีหน้าที่ความรับผิดชอบครอบคลุมการเป็น ‘Think Tank’ หรือ ศูนย์รวมทางความคิดเพื่อเสริมเข้ากับนวัตกรรมทั้งหมด และ ดร. จอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ เป็นผู้มีบทบาทอันหลากหลายและเป็นผู้วางแผนกลยุทธ์นวัตกรรมใหม่ของบริษัท

ภายใต้กรอบกลยุทธ์ Ananda UrbanTech จะประกอบไปด้วย กลยุทธ์การบริหารจัดการนวัตกรรมจากภายนอก และจากภายในองค์กร โดย กลยุทธ์การบริหารจัดการนวัตกรรมจากภายนอก จะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1. การสนับสนุนระบบ Ecosystem ของนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนผู้ริเริ่มนวัตกรรมอื่นๆ ในระบบนิเวศน์มากกว่าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกหรือกิจกรรมการแข่งขันให้ผู้ริเริ่มนวัตกรรมอื่นๆ โดยอนันดาฯ จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนผู้อื่นมากกว่าการลงมือทำเอง ซึ่งจะสนับสนุนการบ่มเพาะทางธุรกิจ และการเฟ้นหาธุรกิจใหม่ๆ มากกว่าการทำโดยลำพัง สิ่งนี้จะช่วยให้อนันดาฯสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ความคิด ความรู้ และผู้คนได้อย่างกว้างขวางโดยมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง

การสนับสนุน Ecosystem เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและก้าวสู่การเป็น UrbanTech Company ตลอดจนสร้างสรรค์บริการต่างๆ ให้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง ซึ่งอนันดาฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับแถวหน้าอย่าง Hubba Thailand ในการสร้าง Ecosystem ที่ดีที่สุดให้แก่สตาร์ทอัพไทย และให้การสนับสนุน Startup, Incubator (โครงการที่ช่วยบ่มเพาะ Startup ตั้งแต่เริ่มต้นมีไอเดียจนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาด) และ Accelerators (โครงการที่ช่วยผลักดันให้ Startup ที่มีผลิตภัณฑ์สามารถเติบโตขยายธุรกิจออกไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น) ที่มีอยู่แล้วแทนที่จะมาแข่งขันกันเองเพื่อได้แลกเปลี่ยนไอเดีย แรงบันดาลใจ และคอนเน็คชั่นใหม่ๆ  ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่อนันดาฯ ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัด Hackathon, Tech Meet-up, Techsauce summit เป็นต้น

 

โดยที่ผ่านมาอนันดาฯ ให้การสนับสนุน Digital Ventures หนึ่งในพันธมิตรเพื่อประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและพนักงานของบริษัท นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเปิดตัว LINE Finance, การประชุมและฝึกอบรมร่วมกับ Seedstars และให้การสนับสนุนการเดินทางร่วมกับทีมบริหารระดับสูง ของอนันดาฯ เพื่อเดินทางไปศึกษาอบรมที่ Silicon Valley’s Singularity University นำมาซึ่งกลยุทธ์ในการสนับสนุนและผลักดันให้เหล่าสตาร์ทอัพได้สามารถเข้าถึงเครือข่าย เทคโนโลยี และ Know-How ต่างๆ เพื่อเป็น UrbanTech Startup ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

และล่าสุด อนันดาฯ และศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการ แห่งศศินทร์ (Sasin Center for Entrepreneurship) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตกลงความร่วมมือกันเพื่อดำเนินงานวิจัยระบบนิเวศน์นวัตกรรมท้องถิ่น เพื่อความร่วมมือที่ดีขึ้นของชุมชนอีกด้วย

 

2. การจัดตั้งเงินกองทุน  ( Fund of Fund ) ซึ่งเป็นการลงทุนในกองทุนต่างๆทั่วโลก ทั้งในด้านนวัตกรรมใหม่ๆ และเพื่อร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ

 

3. การบริหารกิจการร่วมทุน ( Corporate Venture Capital) คือ การร่วมลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาเสริมธุรกิจขององค์กรในอนาคตได้

อนันดาฯ เริ่มให้การสนับสนุน และริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆในปีนี้ และบางส่วนได้มีการริเริ่มไปก่อนหน้านี้โดยจะมีการขยายผลเพิ่มขึ้น ประเดิมก้าวแรกด้วยเทคโนโลยีใหม่เพื่อความสะดวกสบาย ได้แก่ การจับมือกับ Haupcar Co, ผู้ให้บริการ ฮอปคาร์ (Haupcar) ซึ่งเป็นการให้บริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางด้วยระบบ car-sharing ให้บริการรถเช่าในรูปแบบการบริการตนเอง โดยเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นการใช้รถร่วมกันผ่านทางสมาร์ทโฟน ที่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการสามารถขับรถหรือ แบ่งปันรถยนต์ใช้ระหว่างกันได้ตลอดเวลาซึ่งเป็นการตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่สะดวกสบายอย่างแท้จริง

Credit ภาพ: https://www.facebook.com/haupCAR

 

Haupcar คิดราคา 49-55 บาทต่อ 30 นาทีและหลังจากนั้นคิดราคา 5.50 บาทต่อกิโลเมตร หรือคิดค่าใช้จ่าย 1,300-1,500 บาทต่อวัน และ 5.50 บาทต่อกิโลเมตรในกรณี100กิโลขึ้นไป ลูกค้าที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Haupcar โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย Haupcar มีให้บริการหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  และแหล่งใจกลางเมืองใกล้เส้นรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯอีก 5 แห่ง ได้แก่- อารีย์, อโศก, สีลม, สาทรและกรุงธนบุรี  ปัจจุบันอนันดาฯได้เปิดตัวโครงการนำร่องบริการระบบ ฮอปคาร์ ในโครงการ ไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน และ ไอดีโอ โมบิ อีสท์เกสต์

และอีกหนึ่งกลยุทธ์ คือ การบริหารจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร ซึ่งจะเป็นโครงสร้างของวิธีการจัดการนวัตกรรมโดยบริษัทของอนันดาฯเอง มีอยู่สองวิธี คือ วิธีที่ความคิดใหม่ๆจะถูกประเมินและดำเนินการอย่างไร และมีวิธีการอย่างไรที่จะค้นหาคำตอบในการแก้ปัญหาสำหรับลูกค้า และหน่วยธุรกิจต่างๆของอนันดาฯ ให้จงได้ ซึ่งกุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กรนั้นอยู่ที่ Ananda Campus : The Smartest office in Asia

อนันดาฯ ไม่เพียงปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจเท่านั้น หากรวมไปถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานมีความพร้อมเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างองค์กรสู่ Tech Company อีกด้วย โดยอันดับแรกคือการทำงานภายใต้บรรยากาศบ้านหลังใหม่ที่มีความทันสมัยมากที่สุดที่อาคาร FYI Center ถนนพระราม 4 บนชั้น 11-12 กับพื้นที่ทั้งหมดกว่า 8,225 ตรม. ภายใต้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ส่วนสำนักงาน 5,741 ตารางเมตร พื้นที่ห้องประชุม 900 ตารางเมตร พื้นที่ส่วนสันทนาการ 1,100 ตารางเมตร จำนวนห้องประชุม 45 ห้อง (450 ที่นั่ง)

ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ภายใต้ชื่อ  Ananda Campus  ที่ต้องการเปลี่ยนให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการประสานความร่วมมือกัน (Collaboration) มีพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน ทั้งเพื่อการทำงาน จุดพักผ่อนส่วนรวม และมุมทำงานส่วนตัว โดยนอกจากห้องทำงานกับห้องประชุมแล้ว ก็ยังมีมุมให้พนักงานเลือกพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย  เพื่อลดปัญหาการสื่อสารภายใน รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคนในบริษัทซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับออฟฟิศระดับเวิร์ลคลาสในต่างประเทศ

ส่วนสันทนาการ (Recreation) มีการสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ดีด้วยต้นไม้ ทั้งบริเวณพื้นที่ส่วนรวมและกระจายอยู่ทั่วสำนักงาน ช่วยเพิ่มออกซิเจนและอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับพนักงาน มีระบบปรับอากาศ (Fresh Air) เพื่อลดและตรวจสอบค่าของคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สร้างอากาศที่ดีให้กับพนักงาน จัดเตรียมอาหารกลางวันและคาเฟ่เพื่อสุขภาพจากร้าน Kloset สำหรับพนักงานทุกคน มีมุมพักผ่อนส่วนตัว (Nap Pod) และมีมุมทำงานส่วนตัว (Quiet Zone) สร้างสมาธิที่ดีในการทำงาน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการสร้างสมดุลให้กับการทำงาน ในแบบบรรยากาศผ่อนคลายด้วย พื้นที่ทำงานส่วนตัวหลากหลายรูปแบบ (Private Working Zone) โต๊ะส่วนกลางที่สามารถใช้เป็นที่ประชุมกลุ่มย่อยได้โดยไม่ต้องเข้าห้องประชุม หลุดจากกรอบการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ และเพิ่มแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน กำแพงที่สามารถขีดเขียน หรือสร้างงานศิลปะได้ตามต้องการ (Inspiration wall) งานศิลปะบนกำแพง (Wall Art) จากศิลปินสตรีทอาร์ท (Street Art) โดย Rukkit , P7 , Wais One แต่งกายแบบลำลอง (Smart Casual) และรองเท้าผ้าใบ (Sneakers) ลดความเป็นทางการสร้างบรรยากาศการทำงานแบบคนรุ่นใหม่

มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยให้การทำงาน และการประชุมข้ามออฟฟิศทำได้ง่ายขึ้น ตามคอนเซปท์ Smart Office ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ โดยเป็นสำนักงานที่ชาญฉลาดที่สุดในเอเชีย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อาทิ Samsung, Cisco, Fujisu ที่ไม่เคยมีการขายนอกทวีปอเมริกาเหนือมาก่อนมาไว้ที่นี่ สำนักงานนี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการเติบโตของบริษัทได้ถึง 300% ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนพนักงาน นั่นหมายถึง เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานทุกคน

 

โดย Ananda Smart Office มี Function & Gimmicks ที่น่าสนใจดังนี้

 

การลงทะเบียนทางออนไลน์ (Smart Registration System)

ระบบการลงทะเบียนเพื่อจองโต๊ะทำงาน และห้องประชุมผ่านแอพพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟน เว็บไซต์ หรือ คิออส (Smart Kiosk) ช่วยให้พนักงานมีความสะดวกสบายในการจองห้องประชุม และสามารถจองห้องประชุม หรือเลือกที่นั่งทำงานได้แม้ไม่ได้อยู่ออฟฟิศ

ห้องประชุมที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ทันสมัยและเทคโนโลยี (Smart Meeting Room)

 

ระบบการประชุมทางไกลด้วยภาพและเสียง (Video Conference – WebEx) ผ่านอุปกรณ์กล้องในห้องประชุม คอมพิวเตอร์ หรือมือถือ ระบบถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ประหยัดเวลาในการเดินทางเข้ามาประชุม และเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสารสำหรับผู้ประชุมที่อยู่กันคนละสถานที่

 

กระดานอัจฉริยะ (E-board) ที่สามารถจับวาง หรือโยกย้ายเนื้อหาโดยใช้การสัมผัสจากหน้าจอ สร้างบรรยากาศการประชุมแบบมีส่วนร่วม (Interact) ผู้เข้าประชุมสามารถเชื่อมต่อเนื้อหาการประชุมจากอุปกรณ์สมาร์ทโฟน หรือแท็ปเล็ต ต่อเข้ากับหน้าจอกระดาน E-Board ได้ทันทีโดยไม่ต้องเชื่อมต่อสาย (Wireless Screen Sharing – WePresent)

โซลูชั่นการพิมพ์แบบอัจฉริยะ (Smart Printing Solution)

 

การสั่งงานพิมพ์ผ่านสมาร์ทโฟน (Mobile Printing) โดยการผ่านระบบซอฟแวร์ชื่อ Send Anywhere หรือ Cloud ช่วยในการจัดเตรียมงานพิมพ์และสั่งพิมพ์ได้จากเครื่องสมาร์ทโฟนแม้ไม่ได้อยู่ออฟฟิศ พร้อมรับงานได้ทันทีที่หน้าเครื่องพิมพ์เมื่อเดินทางมาถึง

 

ฟังก์ชั่นรักษาความปลอดภัยของเอกสารสำคัญ (Secure Print) เอกสารจะถูกพิมพ์ก็ต่อเมื่อผู้สั่งงานแตะบัตรพนักงานที่ตัวเครื่องพิมพ์ ช่วยป้องกันเอกสารสูญหายหรือข้อมูลสำคัญในเอกสารถูกเปิดเผย

 

ฟังก์ชั่นแก้ไขเอกสารที่หน้าเครื่องพิมพ์ (Smart UX) ช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลากลับไปแก้ไขงานที่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์อีก

Jabber แอพพลิเคชั่นที่รวบรวมเอาทุกการสื่อสารมาไว้ในโปรแกรมเดียว

 

แอพพลิเคชั่น ที่รวบรวมทุกระบบการสื่อสาร ทั้งทางภาพ เสียง ข้อความสั้น การแชร์หน้าจอ การประชุม ไว้ในโปรแกรมเดียว โปรแกรม  Jabber  นี้จะถูกติดตั้งที่สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ของพนักงานทุกคน เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

 

อนันดาฯ เป็นบริษัทแรกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่ได้เริ่มใช้ Workplace by Facebook เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้พนักงานในองค์กรสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น (Collaboration) เพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing ) และติดตามข่าวสารกิจกรรมต่างๆภายในบริษัทในตลอดเวลา

การพลิกบทบาทของอนันดาฯในครั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการอสังหาฯเมืองไทย เพราะนี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแข่งขันกันสร้างอาคาร สร้างตึก ในโรงงาน หรือบนหน้างาน ให้ได้ปริมาณมากๆ และก่อสร้างเสร็จเร็วๆ เพื่อที่จะไปพัฒนาโครงการอื่นๆต่อไป แต่อนันดาฯได้ก้าวข้ามกรอบการทำงานของดีเวลลอปเปอร์แบบเดิมๆ ก้าวผ่านวงจรการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ด้วยการสนับสนุน Cross Industry Innovation เพื่อขยายมิติไปสู่จักรวาลของนวัตกรรมแห่งการอยู่อาศัยใหม่ๆ ผ่านกลยุทธ์ UrbanTech ที่พร้อมจะสร้าง และแตกโจทย์คำว่า Urban Living Solution ให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าตัวสิ่งปลูกสร้าง จากนี้ไปอนันดาฯจะไม่ได้ถูกจดจำในฐานะของผู้นำในการพัฒนาที่อยู่อาศัยติดรถไฟฟ้าอีกต่อไปแล้ว แต่คุณโก้ได้สร้างทางเดินใหม่ให้กับอนันดาฯ ในฐานะที่เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตของคนเมืองด้วยนวัตกรรม หรือ Urban Living Solutions ที่สามารถสร้างบริบทของการใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ในทุกช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยามหลับ หรือยามตื่น เป็นเพื่อคุณระหว่างการเดินทาง ช่วยคุณวางแผนทางการเงิน ดูแลรักษาสุขภาพ…นวัตกรรม UrbanTech จะตามติดคุณไปตลอดชีวิต และเชื่อแน่ว่าอนันดาฯคงจะบรรลุเป้าหมายในการยืนหยัดอยู่ในวงการได้อย่างยาวนานที่สุดแน่นอน เพราะผู้ที่รู้จักปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยเท่านั้น จึงจะอยู่รอดได้

 

ปิดท้ายด้วย VDO Presentation ความเป็นมาของ UrbanTech ที่ทำออกมาได้สุดล้ำเช่นเคย ดูให้จบ แล้วคุณจะเชื่อว่า UrbanTech คือวิถีแห่งการอยู่อาศัยในอนาคต ที่สามารถเติมเต็มความต้องการรอบด้านของคุณได้อย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าคุณจะอยู่อาศัยในโครงการของอนันดาฯ หรือไม่ก็ตาม

เกริก บุณยโยธิน

เกริก บุณยโยธิน

ผู้ก่อตั้งเวปไซต์แบ่งปันความรู้ด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ในวงการอสังหาฯ พร็อพฮอลิค ดอทคอม..หลังจากที่ใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการวนเวียน เข้าๆออกๆ ในสายงานด้านการตลาด และวางแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ของบริษัทอสังหาฯ และเอเยนซีโฆษณาชั้นนำหลายแห่ง (โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องจับสลากเจอลูกค้าสายอสังหาฯทุกที)...จนถูกครอบงำโดยจิตใต้สำนึก ให้ถีบตัวเองออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อออกมาจุดประกายความคิดที่ถูกต้อง และนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนที่สนใจในธุรกิจอสังหาฯ

เว็บไซต์

แกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด บางนา-ก...

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

SOLACE ในภาษาอังกฤษสื่อถึง สิ่งที่ช่วยปลอบประโลมจิตใ...

19 March, 2024

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง