PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลพระราม 9 และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินเปิดให้บริการในปีพ.ศ.2547 ทำให้มีผู้ประกอบการเริ่มเข้ามาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางสถานี MRT บนถนนพระรามเก้า – รัชดาภิเษก – ลาดพร้าว ตั้งแต่ช่วงก่อนที่ MRT จะเปิดใช้บริการ ทั้งนี้สภาวะการณ์โดยรวมของตลาดอสังหาฯในย่านรัชดา-พระรามเก้า-ลาดพร้าว เริ่มมีความคึกคักมากขึ้นในช่วงประมาณปี 2549 เป็นต้นมาที่มีคอนโดมิเนียมแบรนด์ดังหลายเจ้าเปิดขาย และทยอยสร้างเสร็จมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การพัฒนาโครงการคอนโดยังคงอยู่ในทำเลที่เป็นชุมชน มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น สุทธิสาร ห้วยขวาง ซะเป็นส่วนใหญ่
ในขณะที่ช่วงพื้นที่รอบๆ สี่แยกพระรามที่ 9 และพื้นที่ตอนต้นของถนนรัชดาภิเษกยังคงมีโครงการเปิดขายไม่มากนัก แต่หลังจากที่ราคาที่ดินในกรุงเทพมหานครชั้นในเริ่มสูงขึ้นมากกว่า 1 ล้านบาท และยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงประมาณปีพ.ศ.2551 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในทำเลที่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า BTS จึงเริ่มมีผู้ประกอบการมองหาที่ดินในทำเลอื่นๆ ที่ยังคงไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครชั้นใน และราคาที่ดินยังไม่สูงเกินไป ประกอบกับมีระบบขนส่งมวลชนทางรางที่รองรับการเดินทาง ซึ่งในตอนนั้นมีทางเลือกสองทาง คือ พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานครชั้นในตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS และ MRT แต่ในพื้นที่ตามแนว BTS มีที่ดินเหลือไม่มากนัก และราคาค่อนข้างสูง ในขณะที่พื้นที่ตามแนว MRT ยังคงมีที่ดินเหลืออยู่มากกว่า และมีศักยภาพในการพัฒนาที่ไม่ได้ด้อยกว่า อีกทั้งยังมีที่ดินในซอยที่แยกออกมาจากถนนรัชดาภิเษกอีกมากมายที่มีศักยภาพในการพัฒนาเช่นกัน