จากอดีตสู่อนาคต รูปแบบที่อยู่อาศัยแนวสูงของกรุงเทพฯจะไปต่อในรูปแบบไหน?

ชยางกูร กิตติธีรธำรง 03 October, 2023 at 09.52 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


อนาคตการอยู่อาศัยแนวสูง ?

ในปัจจุบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปในช่วง 30-40 ปีก่อนคงจะเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงมีอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องราคาที่ดินที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับทรัพยากรที่ดินที่มีจำนวนจำกัด ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงกลายเป็นทางออกที่ดูจะคุ้มค่ากว่าการพัฒนาโครงการบ้านแนวราบที่อาจจะไม่มีความคุ้มค่าอีกต่อไปสำหรับพื้นที่เมือง ในปัจจุบันการพัฒนากลุ่มที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบข้อจำกัดในการอยู่อาศัยหลายประเด็น เช่น ขนาดห้องที่มีการพัฒนาเล็กลงเรื่อย ๆ พื้นที่ส่วนกลางที่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์กับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงอาคารที่จะมีแต่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาคารส่วนใหญ่ที่พัฒนาขึ้นมาในพื้นที่กรุงเทพฯก็น่าจะมีอายุ 15-20 ปีแล้ว หลายคนคงอาจจะเคยมีคำถามว่าแล้วในอนาคตการอยู่อาศัยแนวสูงจะมีทิศทางเปลี่ยนไปทิศทางไหน แล้วอาคารเก่าที่มีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำอย่างไร เดียวบทความนี้มีคำตอบครับ

ความเป็นมาของการอยู่อาศัยแนวสูง ?
ผู้เขียนต้องขอเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าทำไมจึงเกิดที่อยู่อาศัยแนวสูง แล้วถึงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจริง ๆ แล้วการอยู่อาศัยแนวสูงมีมาตั้งแต่ในอดีตสมัยโรมัน แต่สำหรับเมืองในปัจจุบันสามารถอธิบายให้เข้าใจในแง่มุมของเมืองได้ง่าย ๆ ซึ่งจะเรียกว่า ปรากฎการณ์ Urbanization หรือ กระบวนการกลายเป็นเมือง Urbanization เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทุกที่ทั่วทุกเมืองใหญ่ ๆ ของโลก เนื่องจากการที่โลกมีประชากรเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ทุกอย่างถูกรวมไว้ที่ศูนย์กลางเมืองใหญ่ทั้งแหล่งงานและที่อยู่อาศัย ส่งผลทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเมืองมีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นแต่ที่ดินมีอยู่จำกัด ที่อยู่อาศัยแนวสูงจึงกลายเป็นคำตอบสำหรับคนเมือง นอกจากนี้แนวคิดการพัฒนาเมืองในศตวรรษที่ 21 มีหลายแนวคิด เช่น Compact City, TOD หรือ Walkable City ซึ่งล้วนเป็นแนวคิดที่เน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การมีขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่เมืองลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว ทำให้พบเห็นการพัฒนากลุ่มอาคารสูง รวมถึงโครงการประเภท Mixed-use เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

บริบทที่อยู่อาศัยแนวสูง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของประเทศไทย
สำหรับในบริบทของประเทศไทยปัจจุบันตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต รวมถึงกรุงเทพมหานคร ล้วนมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสูงทั้งสิ้น ซึ่งจังหวัดที่หนาแน่นของอาคารสูงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ ซึ่งขอบเขตความเป็นเมืองของพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบันจะครอบคลุมพื้นที่ไปถึงบริเวณปริมณฑลชายขอบของพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ถ้าลองมองย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น ตั้งแต่มี พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ที่ระบุไว้ว่า “อาคารชุด” หมายความว่า อาคารที่บุคคลสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนๆ โดยแต่ละส่วนประกอบไปด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการพัฒนากลุ่มอาคารชุดยุคแรก ๆ ในขณะเดียวกัน ฝั่งการเคหะก็มีนโยบายที่จะสร้างที่พักอาศัยรวมเพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัด จึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่ช่วยผลักดันกฎหมายอาคารชุดเป็นผลสำเร็จ

โดยปีแรกที่มีการจดทะเบียนอาคารชุด คือปีพ.ศ.2524 โดยอาคารแรกเป็นอาคารแกรนด์วิลล์เฮาส์ ในเขตคลองเตย เป็นอาคารชุดสูง 13 ชั้น 2 อาคาร มีจำนวนห้องชุดอาคารละ 31 ห้อง มีพื้นที่โครงการรวม 14,067 ตารางเมตร ซึ่งในปัจจุบันยังมีการใช้งานในการอยู่อาศัย ในช่วงเวลาต่อมาที่อยู่อาศัยแนวสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องของราคาที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยช่วงเวลาขณะนี้ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี ทางสถาบันการเงินมีนโยบายปล่อยสินเชื่อในการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งพบเห็นธนาคารเริ่มละเลยการปล่อยสินเชื่อที่มีความรอบคอบ จึงนำมาสู่ช่วงวิกฤตฟองสบู่ที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์หลายเจ้าล้ม ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุน จนหลายโครงการต้องหยุดชะงัก และพบเห็นอาคารร้างหลายแห่งในกรุงเทพฯ

ภาพจาก: สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

หรือที่เป็นข่าวดังกับอาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ที่เป็นอาคารร้างมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากวิกฤตปี 2540 ในช่วงนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ค่อยๆ ปรับตัวฟื้นขึ้นมา โดยฝั่งของภาครัฐก็ได้มีการออกนโยบายในการฟื้นตัวเศรษฐกิจซึ่งได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติอาคารชุด ทำให้ต่างชาติสามารถถือครองพื้นที่อาคารชุดได้ถึง 49% ของทั้งหมด เป็นการช่วยให้อาคารชุดเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ หลังจากนั้นในช่วงที่เริ่มมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางก็จะพบเห็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงนอกเหนือจากในพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีการพัฒนาหนาแน่นแล้ว ก็จะมีการพัฒนากระจายออกไปบริเวณขอบชานเมืองซึ่งเป็นบริเวณสถานีปลายทางของรถไฟฟ้า เช่น รอบสถานีวงเวียนใหญ่ในฝั่งตะวันตก และรอบสถานีอ่อนนุชในฝั่งตะวันออก เป็นต้น

สำหรับสถิติภาพรวมข้อมูลการจดทะเบียนอาคารชุดตั้งแต่ ในปี พ.ศ.2524-พ.ศ.2560

มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 2,909 โครงการ มีการจดทะเบียนเยอะที่สุดในปีพ.ศ.2540 คือ 208 โครงการ จำนวน 269 อาคาร และจดทะเบียนอาคารชุดน้อยที่สุดในปีพ.ศ.2530 คือ 3 โครงการ จำนวน 5 อาคาร แต่ในปีที่มีจำนวนอาคารชุดมากที่สุด คือปีพ.ศ.2553 มีจำนวนอาคารทั้งหมด 358 อาคาร (เป็นโครงการเอื้ออาทรมากถึง 125 อาคาร)


ภาพจาก: sarasatr,+{$userGroup},+004-5.นายอิทธิกฤต+ธนกิจสมบัติ(36)54-67.pdf
/ 2.การขยายตัวของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร.pdf (bangkok.go.th)

หรือในส่วนของโครงการที่จดทะเบียนแบ่งตามเขตกรุงเทพมหานครตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ.2524-2560 มีจำนวนพื้นที่กว่า 24,298,289.73 ตารางเมตร โดยเขตที่มีพื้นที่รวมอาคารชุดมากที่สุด คือ เขตห้วยขวาง และเขตที่มีพื้นที่รวมของอาคารชุดน้อยที่สุด คือ เขตบางบอน


ภาพจาก: 2.การขยายตัวของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร.pdf (bangkok.go.th)

จากการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณที่อยู่อาศัยและราคาอาคารชุดในไทย มีนัยยะสำคัญมาจากปรากฎการณ์ Urbanization รวมถึงการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทางราง(รถไฟฟ้า) ที่มีอิทธิพลสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงจำนวนมาก ซึ่งรถไฟฟ้ากลายเป็นตัวเลือกในการเดินทางหลักของคนกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียวที่ไว้ใจได้ในเรื่องเวลามากที่สุด แต่ด้วยรูปแบบการพัฒนาที่ไม่ได้กำหนดหรือยึดโยงในเรื่องของการกระจายความหนาแน่นและความแออัด ทำให้พื้นที่เมืองกรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นต่ำ(Low Density) แต่กลับมีความแออัดสูง เนื่องจากผู้ประกอบการหรือผู้พัฒนาส่วนใหญ่ก็จะเลือกลงทุนพัฒนาเฉพาะในบางบริเวณทีละเยอะ ๆ เท่านั้น

ข้อจำกัด(Pain Point)ในการอยู่อาศัยแนวสูง

จากการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พบเห็นข้อจำกัดและการปรับตัวหลายอย่างของผู้ประกอบการในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการหลายโครงการมีการพัฒนาห้องที่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จากข้อมูล Nexus Property เผยว่าการเปลี่ยนแปลงของขนาดห้องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขนาดห้องคอนโดมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เช่น 1 ห้องนอนเดิม 65 ตารางเมตร ลดลงเหลือ 28 ตารางเมตร และ 2 ห้องนอนเดิม 120 ตารางเมตร ลดลงเหลือ 45-48 ตารางเมตร [1] และผู้ประกอบการยังมีการพัฒนาห้องรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่น ห้อง Loft ที่พัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาห้องที่มีขนาดเล็ก หรือ คนที่อยู่อาศัยคอนโดส่วนใหญ่จะซื้ออาหารจากข้างนอกมากินเพราะในห้องเล็กไม่สะดวกในการทำอาหาร ทำให้พบเห็นโครงการที่เพิ่มพื้นที่ส่วนกลางประเภท Co-Kitchen มาเพื่อแก้ปัญหา หรือ ผู้อยู่อาศัยบางคนอยู่กันเป็นครอบครัว ครอบครัวขนาดเล็กที่มีลูก 1 คน ก็เป็นข้อจำกัดเพราะสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยของลูกก็จะไม่มีพื้นที่วิ่งเล่นที่สะดวกสบายเหมือนบ้านแนวราบ ซึ่งปัจจัยที่บีบให้เกิดการพัฒนาห้องขนาดเล็กนอกจากการทำกำไรของบริษัทแล้วก็เกิดจากข้อจำกัดของที่ดินและราคาที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ภาพจาก: การเคหะแห่งชาติ ประกาศมาตรการเยียวยาลูกค้าฝ่าวิกฤติไวรัส COVID – 19 | Prop2Morrow บ้าน คอนโด ข่าวอสังหาฯ

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายเจ้าให้ความสนใจกับตลาดของอาคารชุดพักอาศัยขนาดเล็กโดยเฉพาะ หรือ ในกลุ่มเซกเมนต์ Super economy เช่น LPN หรือ Sena เพื่อตอบสนองกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงแล้วอยากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ความยากหรือความท้าทายในการพัฒนากลุ่มนี้คือ ปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ว่า จ่ายไหวมั้ย? ผู้เขียนจึงขอขยายความเพิ่มเติมว่า จริงๆแล้วกลุ่ม เซกเมนต์ Super economy เป็นเซกเมนต์ที่เกิดมาเพื่อปัญหาในด้านอยู่อาศัย เนื่องจากยังมีคนจำนวนมากต้องการที่อยู่อาศัยแต่ไม่มีกำลังจ่ายพอ ซึ่งในฝั่งของทางภาครัฐก็มีการพัฒนาโครงการเพื่อแก้ปัญหาด้านนี้เช่นเดียวกัน จากแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2560-2570 การเคหะแห่งชาติมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยหลายโครงการทั้งแนวราบและแนวสูงเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนและคุณภาพการอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองใหญ่ของผู้ที่มีกำลังซื้อต่ำ โดยสำหรับที่อยู่อาศัยแนวสูงส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาอาคาร Low-Rise ตั้งแต่ 4-5 ชั้น หรือ 8 ชั้น และมักไม่มีลิฟท์ โดยจะอยู่ในทำเลชานเมืองปริมณฑลของกรุงเทพฯเป็นหลัก เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ บางพลี ทำเลโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีราคาเฉลี่ย 400,000 – 600,000 บาท หรือ จะเป็นโครงการอย่างแฟลตดินแดงโฉมใหม่ ที่ตั้งอยู่บนทำเลใจกลางเมือง ที่นอกจากทำมาเพื่อรองรับผู้อาศัยเดิมแล้วยังมีการพัฒนาบางอาคารมาเพื่อรองรับผู้อาศัยใหม่กว่า 13,746 หน่วย ตามแผนแม่บทฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง(พ.ศ.2559-2567) ในระยะที่ 3-4 ซึ่งจะเป็นลักษณะอาคารสูง 32-35 ชั้น ขนาดห้องมี 4 รูปแบบต่างกันเล็กหน่อยแต่มีขนาดเท่ากันที่ 33 ตารางเมตรทุกห้อง ซึ่งความแตกต่างของที่ภาครัฐพัฒนากับของภาคเอกชน คือของภาครัฐมีทำเลโครงการและรูปแบบห้องให้เลือกน้อยกว่าในฝั่งของภาคเอกชนที่จะมีให้เลือกหลายทำเลหลายผู้ประกอบการและรูปแบบห้องมักจะมีให้เลือกมากกว่า รวมถึงได้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยของภาครัฐยังมีหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ต้องเป็นไปตามภาครัฐกำหนด เช่น ด้านรายได้ที่ไม่เกินเกณฑ์ถึงจะเข้าร่วมโครงการได้
ซึ่งถ้าถามว่าแบบไหนดีกว่ากันก็คงจะตอบได้ยาก เนื่องจากวัตถุประสงค์การพัฒนาอาจจะไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ ฝั่งภาคเอกชนยังคงต้องการได้กำไรจากการพัฒนาโครงการ แต่ฝั่งของภาครัฐเองต้องใช้เงินอุดหนุนจึงทำให้ทำราคาได้ถูกและผ่อนถูก แต่ถ้าให้ยั่งยืนจริงๆในการพัฒนาโครงการภาครัฐอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือกับเอกชน แล้วพัฒนาร่วมกันในรูปแบบ Mixed-use ที่แบ่งพื้นที่ส่วนนึงมาใช้ในด้านพาณิชยกรรมเพื่อนำเงินที่ได้มาจากการเช่า มาอุดหนุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในโครงการแทน 

จากบริบทการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อตอบรับการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความท้าทายของข้อจำกัดด้านที่ดินที่ทำให้คนต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองยากมากยิ่งขึ้น ยังไม่นับรวมอายุอาคารที่จะมีแต่เก่าขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอในประเด็นที่น่าสนใจของทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยทางตั้งที่จะอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากแหล่งข้อมูลหลายส่วน รวมถึงข้อเสนอบางส่วนจากงานวิจัย “คนเมืองกรุงเทพ 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย (วช. สำนักงานวิจัยแห่งชาติ)” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยแนวสูงในอนาคตที่อาจจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้

ประเด็นที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงกับที่อยู่อาศัยแนวสูงในกรุงเทพฯ

ภาพจาก: ‘ดุสิตธานี’ จุดเริ่มต้น การดิ้นรน และอวสานของโรงแรมไทยที่กำลังจะเป็นตำนาน (becommon.co) / โรงแรมนารายณ์ สีลม ปิดตำนาน 18 ก.พ. เตรียมทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่ (prachachat.net)

ในด้านการก่อสร้าง
เมืองจะเต็มไปด้วยกลุ่มคอนโดเก่า อาคารอยู่อาศัยแนวสูงของพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ส่วนมากยังเป็นกลุ่มคอนโดที่สร้างใหม่ในช่วงระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่ในอนาคตเมื่อเวลาผ่านไป 20-30 ปีข้างหน้าคอนโดจะมีอายุประมาณ 20-40 ปี โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างของอาคารสูงสามารถมีอายุได้ประมาณ 50 ปี หรือมากกว่า ซึ่งปกติในช่วง 5-10 ปีทางนิติบุคคลอาคารก็จะมีการดูแลรักษาอยู่แล้ว และจากข้อมูล Barnabic กล่าวว่าเมื่ออาคารที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไปจะต้องมีการบำรุงรักษาครั้งใหญ่ของอาคาร ไม่ว่าจะเป็น งานระบบ หลังคา ลิฟต์ และ กระจก นอกจากนี้เมื่ออาคารมีอายุมาก อาจจะมีประเด็นว่าควรจะมีการปรับปรุงใหม่ หรือ ควรทุบทิ้งสร้างใหม่ ยกตัวอย่างกรณีของ อาคารโรงแรม 2 แห่งในกรุงเทพฯ คือ โรงแรมดุสิตธานี และโรงแรมนารายณ์ ที่ก็มีอายุประมาณ 50 ปีทั้งคู่ ก็ได้ตัดสินใจทำการทุบทิ้งและสร้างใหม่แทน แต่ถ้าเป็นกรณีที่อยู่อาศัยที่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์คอนโด แล้วมีอายุมากขึ้นอาจจะมีความยากกว่าเพราะมีหลายเจ้าของ ซึ่งอาจจะเป็นการเริ่มย้ายออกเพื่อไปหาคอนโดใหม่ หรือ ฝั่งคนที่ต้องการปล่อยเช่าอาจจะปล่อยเช่าได้ในราคาไม่สูงเท่าเดิม 

 

ในด้านการอยู่อาศัย
เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยอาจจะกลายเป็นเรื่องปกติ (Rent Platform) เนื่องจากในอนาคตราคาที่อยู่อาศัยและราคาที่ดินมีแต่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคนี้การที่จะครอบครองเป็นเรื่องที่ลำบากมากยิ่งขึ้น จากข้อมูล นายวิทยา ผู้จัดการทั่วไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยว่า ทั้งนี้จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด ส่งผลให้เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุดความต้องการเพิ่มขึ้น 108% ขณะที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 7% เท่านั้น[2]  นอกจากนี้ยังมีแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้มีความเชื่อที่ต้องการเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์แบบคนยุคก่อน ทำให้การเช่าที่อยู่อาศัยอาจจะได้รับความนิยมมากกว่าการซื้อที่จะมีภาระตามมากอีกหลายปี รวมไปถึงการเช่ายังสามารถเปลี่ยนที่อยู่อาศัยไปได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องยึดติดกับทำเลใดทำเลหนึ่งเพียงทำเลเดียว 


คอนโดมาพร้อมกับพื้นที่สำหรับคนทุกวัย จะสามารถพบเห็นคอนโดที่มีพื้นที่ส่วนกลางที่หลากหลายมากขึ้นตั้งแต่เด็ก วัยกลางคน จนไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเน้นในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย เพราะในอนาคตประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นตามไปด้วย จากข้อมูล ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 คนไทยทั้งหมด และเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ [3] ซึ่งนำมาสู่ประเด็นต่อเนื่อง คือ การที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวภายในคอนโด ซึ่งเป็นความเสี่ยงมากสำหรับผู้อยู่อาศัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องพักอาศัยอยู่ในห้องคนเดียว เนื่องจากอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ในอนาคตอาจจะได้เห็นโครงการที่มีการปรับฟังกชันให้รองรับกับผู้สูงอายุมากขึ้น อย่างเช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน เป็นต้น
ในประเด็นสุดท้าย ถึงห้องจะเล็กลงแต่มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในระยะยาวยังมีแนวโน้มที่กลุ่มคนเมืองที่ต้องการอยู่อาศัยแนวสูงอย่างต่อเนื่อง คุณภาพของห้องจึงมีความสำคัญมากในการอยู่อาศัย ซึ่งจะมีการจัดฟังก์ชันการใช้งานภายในห้องของให้ตรงกับกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น


สุดท้ายจากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีแนวโน้มอาจจะเกิดขึ้นได้สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยทางตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะมีอีกหลายประเด็นที่บทความนี้อาจจะยังไม่ได้กล่าวถึง

 

อ้างอิง
https://www.khonthai4-0.net/system/resource/file/kpfgo_content_attach_file_117_1.pdf?date=2021-07-09%2012:51:42.1
Compact city. แนวคิดเมืองกระชับ | by Uma Phanita Surinta | Medium
ประวัติและพัฒนาการที่สำคัญ | Dusit Thani (DUSIT) (dusit-international.com)
โรงแรมนารายณ์ โรงแรมแถวสีลม 4 ดาวในย่านสีลม | จองห้องพักออนไลน์ (naraihotel.co.th)
– https://thailandpropertynews.knightfrank.co.th/คอนโดมีอายุกี่ปี-เลือกซ/
ไทยพร้อมหรือไม่ กับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ – กองบริหารงานทั่วไป (mahidol.ac.th) [3]
เทรนด์ที่อยู่อาศัยเปลี่ยน เน้นเช่ามากกว่าซื้อ เปิด 5 ทำเลราคาพุ่งสูงสุด (matichon.co.th) [2]
10 ปีตลาดคอนโดราคาพุ่งแรงขนาดเล็กลง – The Bangkok Insight [1]
2.การขยายตัวของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร.pdf (bangkok.go.th)
Grandville House Condominium (แกรนด์วิลล์ เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม) – คอนโด ใน กรุงเทพมหานคร (fazwaz.co.th)
ส่อง “แฟลตดินแดง” โฉมใหม่ ดั่งคอนโดหรู เช่า 1,200 อยากอยู่บ้าง ต้องทำอย่างไร? (thairath.co.th)
แฟลตดินแดงโฉมใหม่ (thelist.group) /
พบกับโครงการที่อยู่อาศัยจากการเคหะแห่งชาติ มากกว่า 10 โครงการ บนทำเล จ.สมุทรปราการ โซนบางบ่อ – การเคหะแห่งชาติ (nha.co.th) / PowerPoint Presentation (nha.co.th)
How Long Will Condos Last? | HuffPost Business

ชยางกูร กิตติธีรธำรง

ชยางกูร กิตติธีรธำรง

สถาปนิกจบใหม่ กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท มีความสนใจด้านอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภทตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ คอนโด โรงแรม และชอบไปดูโครงการและงานออกแบบอยู่เสมอ เพื่อเก็บเกี่ยวองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ

เว็บไซต์

นาวว์ เมกา

แชปเตอร์ วัน สปาร์ค จรัญ

ศุภาลัย เซนส์ ศรีนครินทร์

โครงการ Supalai Sense Srinakarin แบรนด์ใหม่ ถูกใจผู้...

9 November, 2023

เฟล็กซี่ ริเวอร์วิว-เจริญนคร

FLEXI Riverview - Charoennakorn เป็นคอนโดแบรนด์ Fle...

27 October, 2023

โมดิซ โวยาจ ศรีนครินทร์

Modiz Voyage Srinakarin (โมดิซ โวยาจ ศรีนครินทร์) ตั...

19 October, 2023

โนเบิล เอควา ริเวอร์ฟร้อนท์ ราษฎร์บูรณะ

เชื่อแน่ว่า หากใครที่เคยได้ไปล่องเรือเที่ยวหรือดินเน...

11 October, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง