PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลโยธินพัฒนา พร้อมส่องตลาด Luxury Home ที่มีราคาเกิน 20 ล้านบาท
ตลาดบ้านจัดสรรที่มีราคาขายมากกว่า 20 ล้านบาทในทำเลใจกลางเมือง หรือส่วนต่อขยายของเมือง (City Extension) ที่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต เป็นตลาดที่มีทิศทางในการเจริญเติบโตในแบบที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ กล่าวคือมีการเปิดตัวโครงการแต่ละปีในจำนวนที่ไม่มากนัก หากเทียบกับการพัฒนาโครงการในรูปแบบคอนโด เนื่องจากดีมานท์เกือบทั้งหมดของตลาดแนวราบโดยเฉพาะบ้านเดี่ยวในระดับ Luxury คือกลุ่ม Real Demand ที่ต้องการอยู่อาศัยจริง มีรสนิยมในการใช้ชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีเพียงไม่กี่สิบยูนิต ให้ความสะดวกสบายในการเดินทางไม่ต่างกับอยู่คอนโดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งรูปแบบของทำเลดังกล่าวนั้น มักจะตั้งอยู่ไม่ไกลจากรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยทำเลที่ดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่นิยมพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวในระดับ Luxury มากที่สุดคือ เอกมัย-รามอินทรา พัฒนาการ พระรามเก้า – กรุงเทพกรีฑา สาทร-พระราม 3 และสุขุมวิท นอกจากนี้โครงการประเภทนี้ยังได้ขยายออกไปในย่านกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือตั้งแต่ลาดพร้าว – รัชโยธิน ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าหากงบประมาณไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย รูปแบบโครงการประเภทบ้านเดี่ยวในระดับ Luxury คงเป็นความต้องการแรกๆ สำหรับใครหลายคนที่อยากมีบ้านที่มอบพื้นที่ใช้สอยได้มาก มีสระว่ายน้ำส่วนตัว ลิฟท์ พื้นที่สวนสไตล์คอร์ทยาร์ดที่แทรกตัวอยู่ในบ้าน มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของสมาชิกในครอบครัว และมีดีไซน์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างชัดเจนที่สุด มากกว่าคอนโด ที่มีขนาดพื้นที่ห้องอย่างมากเพียงแค่ 3-4 ห้องนอน จอดรถได้น้อย เลี้ยงสัตว์ไม่ได้ ขาดความเป็นส่วนตัว และไม่ได้กรรมสิทธิ์ในตัวที่ดิน
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ตลาดบ้านจัดสรรที่มีราคาขายเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ต่อยูนิตในกรุงเทพฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามการก่อสร้างของเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย และเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ และในฟากของดีมานท์ก็ยิ่งมีเพิ่มสูงมากขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค COVID-19 ที่เริ่มเทความสนใจไปที่บ้านหรูมากกว่าคอนโดมิเนียมหรู ที่มอบพื้นที่ใช้สอยและความเป็นส่วนตัวน้อยกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากพื้นที่เมืองชั้นใน หรือในพื้นที่ที่สามารถดินทางเข้าเมืองชั้นในได้โดยสะดวก ทั้งโดยทางด่วนหรือถนนเส้นทางปกติทั่วไป นอกจากนี้หลายพื้นที่ของกรุงเทพฯก็มีการพัฒนามาโดยตลอดในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา มีถนนเส้นทางใหม่ๆ หรือการขยายซอย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงซอยทางลัดเป็นถนนซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ในการพัฒนาใหม่ ดังนั้น ราคาที่ดินที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา จึงมีผลให้โครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่โดยรอบเมืองชั้นในมีราคาขายสูงขึ้นตามไปด้วย
บ้านในระดับราคาเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไปในกรุงเทพฯ มีทั้งหมดประมาณ 3,150 ยูนิต โดยเริ่มเปิดขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และบ้านในระดับราคานี้มีเปิดขายใหม่มากขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด อาจจะมีบ้างที่มีจำนวนลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและตลาด อีกทั้งมีบางโครงการที่ปิดการขายได้ภายในไม่กี่เดือนหรือภายใน 1 ปี เพราะจำนวนยูนิตไม่มาก แต่ที่สำคัญคือ โครงการสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี ทำให้การตัดสินใจซื้อไม่นาน ณ ปัจจุบันมีโครงการบ้านจัดสรรที่มีราคาเริ่มต้น 20 ล้านบาทต่อยูนิต และยังมียูนิตเหลือขายอยู่ในโครงการรวมกันทั้งหมดคือ 1,790 ยูนิต
บ้านในระดับราคาขายเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาทต่อยูนิตแยกตามพื้นที่ต่างๆของกรุงเทพฯ
บ้านในระดับราคาขายเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาทต่อยูนิตในกรุงเทพฯ กระจายกันอยู่ในหลายๆ ทำเล ซึ่งถ้าจะแยกแบบง่ายๆ คือ แยกตามพื้นที่เป็นสำคัญ จะได้ว่า พื้นที่ทางภาคตะวันออกของกรุงเทพฯมีบ้านราคาขายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิตมากที่สุด รองลงมาคือพื้นที่ทางทิศตะวันตกหรือในฝั่งธนบุรีของกรุงเทพฯที่มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 2 แต่ก็มีจำนวนต่างจากพื้นที่ทางทิศเหนือของกรุงเทพมหานครที่มาเป็นลำดับที่ 3 ไม่มากนัก สำหรับพื้นที่ใจกลางเมืองหรือเมืองชั้นในก็มีบ้านในระดับราคานี้เปิดขายอยู่เช่นกัน เพียงแต่ทั้งหมดเป็นโครงการขนาดเล็กจึงมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ
โยธินพัฒนา พื้นที่ศักยภาพในการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวระดับ Luxury เกิน 20 ลบ.
พื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับตลาดบ้านจัดสรรที่มีราคาขายเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาทต่อยูนิต คือ พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ (ลาดพร้าว-เกษตรนวมินทร์-รามอินทรา) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางทิศเหนือของถนนลาดพร้าวขึ้นไปถึงถนนรามอินทรา และพื้นที่ทางทิศตะวันออกของถนนพหลโยธินเป็นต้นมา ถึงถนนวงแหวนตะวันออกรอบนอก สาเหตุที่พื้นที่นี้มีความน่าสนใจก็เพราะว่าก่อนหน้านี้สัก 10 กว่าปี พื้นที่นี้อาจจะเป็นย่านชานเมืองค่อนข้างไกลจากพื้นที่เมืองชั้นใน แต่ปัจจุบันสามารถพูดได้เลยว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่เมืองชั้นกลางหรือส่วนของเมืองชั้นในที่ต่อขยายออกมา เพราะด้วยเส้นทางรถไฟที่เปิดให้บริการไปแล้ว ทางด่วน ถนนเส้นทางใหม่ๆ ศูนย์การค้า และเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ๆ หลายเส้นทางซึ่งเกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเริ่มการก่อสร้างในอนาคต ล้วนแล้วแต่ช่วยให้พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกับพื้นที่เมืองชั้นในมากขึ้นกว่าในอดีต อีกเหตุผลหลักที่ทำให้ย่านนี้ เป็นย่านที่ผู้ซื้อหลายคนสนใจ คงต้องยกให้กับศักยภาพของทำเล ที่ถือว่ายังอยู่ใกล้และเชื่อมต่อกับความเป็นเมืองอย่างพื้นที่ CBD พหลโยธิน-ลาดพร้าว พระรามเก้า – รามคำแหง และย่านใจกลางเมืองที่มีสีสันอย่างเอกมัย -ทองหล่อ มีถนนเส้นหลักที่เชื่อมระหว่างเมืองทั้ง ถนนลาดพร้าว ถนนประเสริฐมนูกิจ ที่วิ่งเชื่อมเมืองในแนวออก-ตก และยังมีถนนวงแหวนตะวันออก ถนนนวมินทร์ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และทางด่วน ที่วิ่งเชื่อมเมืองในแนวเหนือใต้
หากพูดถึงทำเลโยธินพัฒนา หลายๆ คนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าคือที่ไหนเมื่อเทียบกับย่านที่คุ้นหูกันดีอย่าง เกษตร-นวมินทร์ (ถนนประเสริฐมนูกิจ) และเลียบด่วนเอกมัย – รามอินทรา (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโยธินพัฒนา คือ จุดศูนย์กลางของทั้งสองย่านดังกล่าว โดยถนนโยธินพัฒนานั้นทำหน้าที่เป็นเส้นทางรองที่เชื่อมต่อการเดินทางเข้า-ออกทั้งสองย่านได้แบบไร้รอยต่อ และสามารถหลีกเลี่ยงรถติดบนถนนหลักได้เป็นอย่างดี โดยโครงการอสังหาฯ แนว Commercial และ Leisure Complex ขนาดใหญ่มากมาย มักจะตั้งอยู่ในบริเวณนี้ เป็นทำเลที่เพียบพร้อมไปด้วยไลฟ์สไตล์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปิ้งมอลล์เพื่อคนรักสัตว์อย่าง Central Festival East Ville, Crystal Park และ Crystal Park Veranda ที่มีครบทั้งโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส และ Crystal Boutique Store ศูนย์รวมแฟชั่นบูติค Concept Store แบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในย่านเลียบด่วน The Walk ตลาดหัวมุม รวมไปถึงห้าง Specialty Store ที่เอาใจคนรักบ้านอย่าง Chic Republic, CDC, บุญถาวร, Home Pro และ Photalai Leisure Park อาณาจักรแห่งการผ่อนคลาย และศูนย์สุขภาพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ภาพประกอบจาก Google.co.th
ที่สำคัญก็คือในอนาคตอันใกล้โยธินพัฒนาจะกลายเป็นย่าน Residential Area ที่ถูกรายล้อมด้วยเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่มากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อาทิ
1. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีความยาวที่สุดในกรุงเทพมหานครเชื่อมโยงจังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการเข้าด้วยกัน ซึ่งการโดยสารบนรถไฟฟ้าขบวนเดียว แบบไม่ต้องเปลี่ยนเส้นทางเลย จำนวนสถานีทั้งหมด 47 สถานีรวมแล้วเป็นระยะทางทั้งหมด 52.65 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่นี้ทางทิศตะวันตกตลอดทั้งแนวเพราะเป็นเส้นทางที่อยู่ตรงเกาะกลางของถนนพหลโยธิน
2. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เส้นทางรถไฟใต้ดินเส้นทางแรกของกรุงเทพมหานครและเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีหมอชิตก่อนหน้านี้ และปัจจุบันมีสถานีห้าแยกลาดพร้าวอีก 1 สถานี เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีจำนวน 38 สถานี
3. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) เส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาที่กำลังก่อสร้างซึ่งจะมีสถานีทั้งหมด 25 สถานี คือ สถานีช่วงลาดพร้าว – สำโรง 23 สถานี และอีก 2 สถานีต่อขยาย เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีเขียวที่ต้นทางและปลายทางตามลำดับ โดยปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 70% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีพ.ศ.2565 เป็นเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาที่จะเชื่อมพื้นที่ทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครให้เดินทางเข้าเมืองชั้นในได้สะดวกขึ้นในอนาคต
4. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) เส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานครตอนเหนือเข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาอีก 1 เส้นทางที่เอื้อประโยชน์กับคนในพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานครให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าเมืองชั้นในได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เส้นทางนี้มีความยาวทั้งหมด 34.5 กิโลเมตร และมีทั้งหมด 32 สถานี เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านเส้นทางรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง คือ สายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว สายสีเทา (อนาคต) และเชื่อมกับสายสีส้มที่ปลายทาง ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 67.75% และคาดว่าจะเปิดให้บริการปีพ.ศ.2565
5. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย – ลำสาลี) เส้นทางรถไฟฟ้าที่อาจจะมีปัญหาในการก่อสร้างค่อนข้างมาก แม้ว่าจะยังไม่เริ่มการก่อสร้าง เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เป็นเส้นทางโครงข่ายสายรองเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าต่างๆ อีก 5 เส้นทาง คือ สายสีม่วง สีแดงเข้ม สายสีเขียว สายสีเทา (อนาคต) สายสีเหลือง 20 สถานีในปี พ.ศ. 2568 โดยความคืบหน้าล่าสุด คือ ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ความยาว 22.1 กิโลเมตร ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษา ล่าสุดอยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP)
6. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา เส้นทางรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยวที่มีเส้นทางผ่านใจกลางเมือง โครงการนี้มี 2 เฟส คือ วัชรพล – ทองหล่อ และพระโขนง – ท่าพระ จำนวนสถานีทั้งหมด 39 สถานี โดยทางกรุงเทพมหานครเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาโครงการร่วมลงทุน (PPP) ในเฟสที่ 1 ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ ระยะทางรวม 19 กิโลเมตรซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการศึกษา 6 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาได้ต้นปีพ.ศ. 2564 ซึ่งตามแผนโครงการนี้มีแผนการเปิดให้บริการในปีพ.ศ.2568
7. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี
เส้นทางรถไฟฟ้าสายฝั่งตะวันออกสีส้มเริ่มต้นที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยตรงจุดเดียวกับสถานีรถไฟใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมฯ ปัจจุบัน จากนั้นก็ลงมายังถนนพระราม 9 แล้ววิ่งไปตามแนวเดียวกับถนนพระรามที่ 9 แล้วเลี้ยวซ้าย วิ่งไปตามถนนรามคำแหงจนไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์ที่มีนบุรี โดยเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางนี้มีจุดตัดกับเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ดังนี้
– เส้นทางรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีลำสาลี
– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีสุวินทวงศ์
เส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 7 เส้นทางเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผ่านพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกของกรุงเทพฯซึ่งยังไม่ใช่พื้นที่ชานเมือง แต่เป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครชั้นใน เพราะความเป็นเมือง ความเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมต่างๆ ขยายเข้ามาสู่พื้นที่นี้แบบชัดเจนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
นอกจากเส้นทางรถไฟฟ้าเหล่านี้แล้ว ยังมีทางด่วนอีก 1 เส้นทางที่ถ้าเสร็จสมบูรณ์จะช่วยให้การเดินทางของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้แบบมีทางเลือกมากขึ้น ทางด่วนที่พูดถึงคือ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N1 – N2 และ E – W Corridor เชื่อมเกษตร-นวมินทร์ – วงแหวนตะวันออก ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้เพราะการเจรจากับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งคัดค้านยังไม่เรียบร้อย ดังนั้น ทางที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติแผนโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตามที่กทพ. เสนอโดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ ช่วง N2 และช่วง E-W Corridor รวมระยะทางทั้งหมด 11.3 กิโลเมตร วงเงินในการลงทุนประมาณ 16,960 ล้านบาท เนื่องจากมีความพร้อมดำเนินการก่อนจะใช้เงินกองทุน TFF สร้าง ถ้าไม่ติดปัญหาอะไรคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปีพ.ศ.2564 ซึ่งจะทำคู่ขนานไปกับขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องทำเพิ่มเติม เพราะทางด่วนเส้นทางนี้จะใช้โครงสร้างร่วมกับสายสีน้ำตาลประมาณ 7 กิโลเมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) คาดว่าจะได้รับอนุมัติในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 และเปิดให้บริการในปีพ.ศ.2567
พื้นที่บริเวณรอบๆโยธินพัฒนาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลอยู่มากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย และทุกโครงการเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชน หรือระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับหรือเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง ดังนั้น พื้นที่นี้ในอนาคตจะมีศักยภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน นอกจากนี้ การที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะเจริญมากขึ้นนั้น โครงการพัฒนาของภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยมีโครงการของภาคเอกชนขนาดใหญ่รอการพัฒนาอยู่ในอนาคต คือ
1. ที่ดินกว่า 100 ไร่ของกลุ่มทีซีซี
ที่ดินขนาดใหญ่ที่ติดถนนเกษตร-นวมินทร์ทั้งสองฝั่ง โดยมีด้านที่ติดถนนกว้างถึง 300 – 400 เมตร ที่เคยมีข่าวว่าจะนำมาพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม และแสดงสินค้า โรงแรม โดยพื้นที่บางส่วนมีการพัฒนาเป็นโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ และบ้านจัดสรรไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งช่วงประมาณปีพ.ศ.2562 สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าบริษัท ทีซีซี นวมินทร์ ภูมิพัฒน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มทีซีซียื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างโครงการบนที่ดินที่อยู่บนเกษตร-นวมินทร์มานานหลายปีแล้ว โดยภายในโครงการนั้นจะมีการพัฒนาเป็นอาคารขนาดใหญ่สูง 28 ชั้น และใต้ดิน 1 ชั้น ในโครงการประกอบไปด้วยโรงแรม สำนักงานให้เช่า ห้องแสดงสินค้าและ ที่จอดรถ 2,289 คัน รวมพื้นที่อาคาร 262,000 ตร.ม. โดยที่ผ่านมาได้มีการต่ออายุใบอนุญาตมาหลายครั้ง โครงการนี้เป็นการออกแบบตามผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปีพ.ศ.2556 ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะมีการปรับรูปแบบการพัฒนาใหม่แน่นอน เนื่องจากว่าผังเมืองกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากที่มีการเปิดเผยออกมาบางส่วนก่อนหน้านี้พบว่า ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่มีการเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ซึ่งมีส่วนที่ทำให้สามารถพัฒนาอาคารได้ขนาดใหญ่ และสูงขึ้น ดังนั้น รูปแบบของโครงการที่กลุ่มทีซีซีจะพัฒนานั้นเชื่อว่าต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผ่านมา
2. โครงการมิกซ์-ยูสของกลุ่มเค.อี.
กลุ่มเค.อี. ที่เป็นผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงภายใต้แบรนด์เดอะคริสตัล รวมไปถึงคอมมูนิตี้มอลล์ในชื่อเดียวกัน และ CDC รวมไปถึงเดอะคริสตัลในที่อื่นๆ อีก เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีแผนจะพัฒนาโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่บนถนนประดิษฐ์มนูธรรมด้วยงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท โดยกลุ่มเค.อี.เป็นอีกกลุ่มที่มีที่ดินกว่า 300 ไร่ในพื้นที่นี้ และแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการนำไปพัฒนาเป็นโครงการบ้านจัดสรร คอมมูนิตี้มอลล์บ้างแล้ว แต่ก็ยังคงเหลือที่ดินอีกมากที่ยังไม่มีการพัฒนา ดังนั้น เมื่อผังเมืองเปลี่ยนกลุ่มเค.อี. จึงมีการประกาศว่าจะพัฒนาโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่บนที่ดินของตัวเองที่รอมานานหลายปี