เหมือนโดนมีดเสียบกลางหัวใจ! อนันดาชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลางโครงการแอชตันอโศก.. โอด ผ่านการอนมุติทั้งหมด ทำตามหลักเกณฑ์ถูกต้อง แต่ยืนยันจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
จากกรณีเรื่องราวสุดสะเทือนวงการอสังหาฯที่เกิดขึ้นกับโครงการคอนโดหรูของค่ายอนันดา อย่าง แอชตัน อโศก ที่หากเปรียบเป็นซีรีส์ก็เหมือนผ่านไปแล้วถึง 2 ซีซั่น ตั้งแต่ครั้งก่อนก่อสร้าง จนถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้รับอ.6 >> อ่านเรื่องราวทั้งหมดในแบบไล่ไทม์ไลน์ได้ที่นี่ครับ ย้อนไทม์ไลน์ วิบากกรรม แอชตัน อโศก เคยขายหมด แต่ก็ไม่จบง่ายๆ มาถึงวันนี้ดูท่าทางแล้วจะไม่ใช่แค่ซีรีส์ที่ต้องติดตามกันไปอีกยาว เพราะหลายฝ่ายได้มองเรื่องราวดังกล่าวว่าเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่กระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะโครงการนี้มีชาวต่างชาติที่โอนไปแล้วถึง 20 ประเทศ จำนวน 140 ครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการร่วมทุนพัฒนากับมิตซุย ฟุโดซัง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้สร้างความงุนงงให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าในไทยมีเรื่องแบบนี้ได้ด้วยหรือ ทั้งๆที่ได้รับการอนุญาต และฝ่าด่านทุกอย่างมาอย่างถูกต้องตามกระบวนการ วันนี้ทีมงานอนันดา นำโดยคุณโก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา CEO และพี่ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้มีการแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดภายใต้ธีม #SaveAshtonAsoke ส่วนประเด็นสำคัญนั้นจะเป็นอย่างไร ขอเชิญไปเจาะกันแบบคำต่อคำได้เลยครับ
“อนันดามีแนวคิดในการพัฒนาโครงการรูปแบบ Transit Oriented Development อยากจะสร้างโครงการที่ให้ประโยชน์สูงสุดทั้งประชาชนโดยรอบ และตัวลูกบ้านโครงการเองให้ได้อยู่ใกล้รถไฟฟ้ามากที่สุด ทางรฟม.ก็เห็นว่าการสร้างตึกให้เค้า ให้ค่าตอบแทนเค้า โดยเปิดทางเพิ่มอีกราวๆ 7 เมตรมันก็เทียบเท่ากับการใช้เป็นทางสาธารณะ มันก็ Make Sense โดยที่มีการสอบถามเขตทาง และหารือเกี่ยวกับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมากกว่า 20 ครั้ง โดยในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรฟม.ก็ได้รับอนุญาตให้บริษัทใช้ประโยชน์ในที่ดินของรฟม.เป็นทางผ่าน และในส่วนประเด็นในเรื่องของการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน ก็ได้มีความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นโดยไม่กระทบต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ซึ่งถนนทางเข้าออกดังกล่าว ปัจจุบันก็ใช้เสมือนเป็นทางสาธารณะใครก็เข้ามาใช้ได้ เข้าไปจอดรถบนติดสถานี MRT ได้ ไม่ใช่เป็นถนนของทางโครงการ…อย่าลืมนะครับ เราทำงานกับมิตซุย เค้าเข้มงวดเรื่องพวกนี้มาตลอด เราผ่านอนุมัติจาก 8 หน่วยงาน ได้ใบอนุญาต 9 ฉบับ ขอความเห็นก่อนการดำเนินงาน 7 หน่วยงาน ผ่านคณะกรรมการ 5 คณะกรรมการ ทุกคนตรวจผมเต็มที่หมด จะเห็นว่าเรื่องประเพณีปฎิบัติเราไม่ได้คิดว่าเป็นอะไรที่แปลกประหลาด ครบถ้วน หน่วยงานราชการ ผู้บริหารฝั่งรัฐเช็คเราทั้งหมดและในปัจจุบันก็มีโครงการในลักษณะคล้ายกับเรากว่า 13 โครงการ เฉพาะรฟม. กว่า 6 โครงการ โครงการนี้เป็นโครงการเรือธงของอนันดาเลย เหมือนเราโดนเสียบหัวใจอยากให้เราตายเลย นักลงทุนเราจะคิดยังไง ผมนอนไม่หลับ คิดว่าเราจะเทคแคร์ลูกค้ายังไง อันนี้เราขอความเมตตาหน่อย มันสุดวิสัยของผมจริงๆ เมื่อวานที่ไปเจอลูกค้า เค้าก็เศร้าใจ ตัดพ้อกับผมหลายเรื่อง จะต้องทุบตึกไหม ผมตอบไม่ถูกจริงๆ การไปอุทธรณ์ที่ศาลสูงสุดแบบเดียว ลูกค้าจะอยู่ยังไง เค้าต้องอยู่ในสภาพแบบนี้อีกหลายปีหรือ โอนไปหลายปีแล้ว อยู่แล้ว แบงค์ปล่อยสินค้ารายย่อยไปแล้ว แล้วยังไงต่อ” คุณโก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา ตัดพ้อถึงเรื่องราวที่ต้องประสบพบเจอพร้อมร่ายยาวถึงกระบวนการในการพัฒนาโครงการ เช่นเดียวกับการไล่เรียงเอกสารการขอในอนุญาต และ Process ต่างๆ
ขั้นตอนในการศึกษาพัฒนาโครงการ
ขั้นตอนการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินของรฟม. และ EIA
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน