ย้อนไทม์ไลน์ วิบากกรรม แอชตัน อโศก เคยขายหมด แต่ก็ไม่จบง่ายๆ

เกริก บุณยโยธิน 31 July, 2021 at 22.15 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ปี 2014 นับว่าเป็นยุครุ่งเรืองของตลาดคอนโดติดรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ใบจองคอนโดเปิดใหม่แทบจะทุกโครงการที่อยู่ติดรถไฟฟ้า ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือ ทำกำไรกันได้ง่ายๆในแบบไม่ทันข้ามวัน กระแสการซื้อคอนโดเพื่อลงทุนในแบบจริงจังถูกโหมกระพือให้มากยิ่งขึ้นจากกำลังซื้อต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่จากเดิมมีความต้องการเพียงแค่ซื้อเพื่ออยู่เองเป็นบ้านหลังที่สอง และต้องมาบินมาเสียเงินซื้อรีเซลในราคาบวกต่อมากๆจากคนไทย แปรเปลี่ยนมาเป็นการซื้อผ่านเอเจนท์ทั้งชาวไทย และชาวจีน ที่มองเห็นโอกาสจากการลงทุนซื้อ Bulk Buy ครั้งละมากๆเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง จนสามารถนำไปขายต่อคนชาติเดียวกันได้ แน่นอนว่าในความทรงจำของใครหลายๆคน แอชตัน อโศก (Ashton Asoke) คือหนึ่งในโครงการสุดร้อนแรงของปีนั้น โครงการขายหมด Sold Out ตั้งแต่ช่วงแรกที่เปิดตัว โดยมีห้องไปเหลือขายที่พารากอนนิดหน่อย จนต้องแย่งกันไปต่อคิวจับสลากซื้อกัน เริ่มต้นดูดีมากทั้งในสายตาอนันดาฯ และคนซื้อ แต่ใครเล่าจะไปคิดว่าแม้เวลาจะผ่านเลยไปถึง 7 ปีแล้ว โครงการก็ยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมที่ถาโถมเข้ามาซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ในแบบที่ยากจะคาดเดาตอนจบครับ เราไปไล่เลียงย้อนไทม์ไลน์ของโครงการแห่งทศวรรษนี้กันเลยครับ

กันยายน 2014: หลังสถานการณ์การเมืองเริ่มสงบ ไม่มีการนั่งประท้วงกลางสี่แยกอโศก เพราะคสช.เข้ายึดอำนาจมาตั้งแต่ช่วงกลางปี อนันดาฯ ประกาศเปิดตัวโครงการแอชตัน อโศก คอนโดมิเนียมระดับลักส์ชัวรี่ เพียง 20 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า MRT สุขุมวิท และเพียง 230 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก สูง 50 ชั้น จำนวน 783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,690 ล้านบาท ขายในราคาเริ่มต้น 6.9 ล้านบาท พร้อมกันกับอีก 3 โครงการได้แก่ ไอดีโอ คิว สยาม – ราชเทวี โครงการไอดีโอ โมบิ สุขุมวิท อีสท์เกต และ ไอดีโอ โมบิ วงศ์สว่าง อินเตอร์เชนจ์ โดยทั้งแอชตัน อโศก และไอดีโอ คิว สยาม – ราชเทวี เป็นความร่วมมือภายใต้การร่วมทุนกับบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง เรสซิเด้นท์เชียล จำกัด ต่อจากโครงการ ไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน

 

– ไฮไลท์สำคัญของโครงการคือ ในช่วงแรกเป็นโครงการที่ไม่มีใครเดาได้ว่าตั้งอยู่ตรงไหนกันแน่ เพราะหากเดินดูสภาพโดยรอบจะเห็นเพียงแค่ลานจอดรถของสถานี MRT สุขุมวิท และด้านหลังลานจอดรถมีรั้วกำแพงกั้นที่ดินเปล่า โดยการเคลมว่าห่างเพียง 20 เมตรจากสถานี จึงทำให้หลายๆคนสงสัยว่าทางเข้าออกของโครงการอยู่ตรงไหน

 

– โครงการได้รับการออกแบบโดยบริษัทออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่าง A49, PIA Interior, และ Trop ที่มาร่วมสร้างสรรค์จุดเด่นสำคัญทั้งในเรื่องการออกแบบห้องกระจกโค้ง พื้นที่ส่วนกลางสไตล์ Social Club ลอยฟ้า และอาคารรูปทรงเพรียวบางเป็น Iconic Building ในย่านอโศก และยังนับว่าเป็นโครงการใหม่เพียงโครงการเดียวที่อยู่ติด Terminal 21 มากที่สุด

 

– ช่วงปลายเดือนกันยายน อนันดาฯเริ่มมีการขายโครงการในรอบ Super VVIP เพียงไม่กี่ห้อง ซึ่งเป็นรูปแบบการขายที่มีเงินเพียงอย่างเดียวก็ซื้อไม่ได้ เพราะทางอนันดาฯตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อคัดเลือกลูกค้า Shortlist Candidates ที่มีสิทธิ์ในการเลือกซื้อห้องในรอบนี้ก่อน โดยที่ทางทีมงานเป็นผู้เลือกห้องให้ ตามลำดับความสำคัญ แน่นอนว่าห้องที่มีขายถูกจองหมด 100% โดยที่คนซื้อก็ไม่รู้ราคามาก่อนล่วงหน้า

 

5 ตุลาคม 2014: เปิดขายรอบ AMC Presale โดยการตัดล๊อตเกือบทั้งโครงการมาขายในรอบนี้ เนื่องจากมีความสนใจจองซื้อมากกว่าจำนวนห้องที่มีถึง 3 เท่า ส่งผลให้ห้องรีเซลที่เพิ่งรับฝากมาจากรอบ Super VVIP ขายต่อได้ในทันที ในราคาบวกตั้งแต่ 2 แสน ไปจนถึง 6 แสน สำหรับห้องแบบ 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 64 ตรม.กระจกโค้ง โดยที่ห้องรีเซลทุกห้อง ทุกไทป์ในสต็อคของดิ เอเจนท์ ขายได้หมด บางห้องสามารถเปลี่ยนมือได้ถึง 2 รอบ โดยที่เจ้าของห้องรอบ 1 และ 2 ยังไม่ได้ทำสัญญา

 

16 19 ตุลาคม 2014: เปิดขายรอบ Mass Sale งาน Ideo Urban Pulse ที่ชั้น 1 สยามพารากอน โดยมีห้องมาขายในงานเพียงไม่กี่ชั้น และมีผู้เข้าคิวมาต่อแถวจองตั้งแต่คืนก่อนหน้า โดยผู้รับจองคิวคิดค่านั่งจองสูงตั้งแต่ 5,000 – 30,000 บาท แต่ทันทีที่ห้างเปิดกลับกลายเป็นว่ามีปัญหาเรื่องคิว มีผู้มาต่อคิวหลักหลายร้อยคน ไม่สามารถ Manage ได้ว่าใครมาก่อนหลัง ทางอนันดาฯจึงปรับจากการเข้าคิวให้เป็นการจับสลากแทน จึงทำให้มีผู้คนทั่วไปให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากคนที่อยากได้ก็จ้างคนทั่วไปให้ไปหย่อนบัตรเพื่อจับสลาก โดยหากจับได้สิทธิ์ก็จะได้รับค่าตอบแทน ทั้งนี้ผู้ที่จับสลากได้คิวส่วนใหญ่จะเลือกห้อง 2 ห้องนอนก่อน เพราะมี Order รับซื้ออยู่ที่หน้างานเลยว่าบวก 5 – 6 แสนบาท ส่วน 1 ห้องนอนกระจกโค้ง 250,000 บาท รวยฟ้าผ่า!

– จากความสนใจที่มากในแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ทางอนันดาจึงบริหารห้องที่เหลือทั้งหมดเพียงไม่กี่ชั้น ด้วยการเรียกห้องจากโควต้า Intersale และอื่นๆมาเพื่อนำมาขายในรูปแบบขายพ่วงกับโครงการไอดีโอ โมบิ วงศ์สว่าง อินเตอร์เชนจ์ และขายห้องชั้นสูงในแบบยกฟลอร์ แต่แพงเป็นพิเศษ จนทำให้มีห้องจำนวนมากถูกนำมาขายรีเซลในตลาดในราคาที่แพงกว่าห้องล๊อตแรก แต่ก็ทำให้ห้องโครงการขายหมด Sold Out 100%

มิถุนายน 2016: นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางมายื่นฟ้อง ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ผู้ว่าการ กทม. ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ คณะกรรมการผู้ชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 ต่อ ศาลปกครองกลาง ว่า ร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการ อนุญาต บจก.อนันดา เอ็มเอฟ เอเชียอโศก ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 51ชั้น รวมชั้นใต้ดิน ในพื้นที่ขนาด 2.3 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 19 แยก2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ข้อบัญญัติ กทม.เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการเอกชนดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชนและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยรอบพื้นที่โครงการ

 

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า พื้นที่พิพาทดังกล่าว เดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่า 2 แปลงตั้งอยู่สุดซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 มีถนนซอย ซึ่งเป็นทางสาธารณะกว้างเพียง 3 เมตรคั่นกลางระหว่างที่ดิน 2 แปลง เป็นทางเข้าออกทางเดียว แต่ภายหลังที่บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดพักอาศัยแอชตัน อโศก ได้เข้ายึดถือครอบครองถนนสาธารณะที่กั้นกลางระหว่างที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว ไปเป็นสมบัติส่วนตัวของโครงการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 รวมทั้ง ผู้ว่าการ รฟม. ยังใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ในการนำที่ดินที่ใช้อำนาจรัฐเวนคืนมาจากประชาชนเพื่อดำเนินกิจการขนส่งมวลชน มาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนดังกล่าว ใช้เป็นทางเข้า-ออกโครงการฯ กว้าง 13 เมตร เพื่อให้โครงการก่อสร้างนี้ได้รับการอนุญาตก่อสร้างตามกฎหมาย

 

มีนาคม 2018: แอชตัน อโศก โอนไม่ทัน 26 มีค. มีกระแสว่าเจ้าของห้องจำนวนมากที่เตรียมตัวรับห้องโอนไม่สามารถทำการยื่นกู้เพื่อโอนห้องได้ เนื่องจากโครงการ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (อ.6) ก่อนเข้าใช้อาคาร จากทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) แม้โครงการจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยสำนักการโยธาไม่สามารถดำเนินการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) ให้กับบริษัทฯ แม้ว่าโครงการฯ จะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปลายปี 2017 ซึ่งมีกำหนดเริ่มส่งมอบในวันที่ 26 มีนาคม 2018 ด้วยอ้างเหตุที่มีการฟ้องคดีทางราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ต่อศาลปกครองกลางจำนวน 2 คดี (ซึ่งผู้ฟ้องไม่ได้ฟ้องบริษัท ฯ บริษัท ฯเพียงถูกศาลเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในภายหลัง) พร้อมทั้งอ้างเหตุปลีกย่อยอื่น เช่น พันธุ์ไม้ซึ่งปลูก ณ โครงการ ฯ และการติดตั้งป้ายบอกชั้นในห้องลิฟต์ดับเพลิงของโครงการ ฯ เป็นต้น บริษัทจึงขอขยายระยะเวลาในการส่งมอบโครงการเป็นภายในวันที่ 26 มีนาคม 2019 (ขอขยายระยะเวลาตามสิทธิ์) โดยในเบื้องต้นทางอนันดาฯออกจดหมายแจ้งว่าน่าจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2018 ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ยื่นเอกสารขอใบอนุญาต อ.6 กับทางโยธาท้องถิ่นแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งกระบวนการพิจารณามีหลายขั้นตอน ประกอบกับทางโยธาท้องถิ่นอยู่ระหว่างหาข้อสรุปทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาคาร เช่นเดียวกับ ได้อุทธรณ์คำสั่งของกรุงเทพมหานครต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมาย โดยทางคุณโก้ ชานนท์ ได้ออกมาอัดคลิปเพื่อขอโทษและขอเวลาเพิ่มเติมในการโอนกรรมสิทธิ์ และมีมาตรการเยียวยา ดังนี้

 

1. ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายห้องชุดจากโครงการแอชตัน อโศก เป็นสัญญาซื้อขายห้องชุดในโครงการอื่นของอนันดาฯ ซึ่งสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ มีให้เลือก 5 โครงการ ได้แก่ แอชตัน สุขุมวิท 41, แอชตัน สีลม, แอชตัน จุฬา-สีลม, ไอดิโอ คิว สยาม-ราชเทวี และคิว ชิดลม-เพชรบุรี โดยให้สิทธิ์การตัดสินใจถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

2. กรณีต้องการขอคืนเงินดาวน์ ทาง อนันดาฯคืนเป็นเงินสด บวกอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ตามระยะเวลาที่ผ่อนงวดเงินดาวน์ (ระหว่างปี 2558-พฤษภาคม 2561)

 

มิถุนายน 2018: ออกใบอ.6 เรียบร้อย โอนได้ตามปกติ! อนันดาออกคำแถลงการณ์ชี้แจงว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งของกรุงเทพมหานครและให้กรุงเทพมหานครดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งต่อมา กรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบอ. 6) ให้แก่บริษัทฯ และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุด และออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดของโครงการฯ ให้กับบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ได้เริ่มทำการโอนห้องชุดให้กับผู้จองซื้อบางรายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา

 

19 มิถุนายน 2018: พี่ศรีชี้! ลูกบ้านรับโอนโครงการแอชตัน อโศก รับความเสี่ยงในอนาคต เหตุคดีฟ้อง กทม.-รฟม.ต่อศาลปกครองยังไม่สิ้นสุด  โดยในเรื่องของคดีความ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.คดีที่ศาลปกครองกลางอนันดาไม่ได้เป็นคู่คดี แต่เป็นเพียงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องทาง กทม. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษา ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

 

2018 2021: แอชตัน อโศก จากเดิมที่เคย Sold Out กลับต้องมาประสบปัญหารับคืนห้อง เพื่อเอามาขายต่อ อีกทั้งลูกค้าที่สนใจซื้อก็ต้องรับความเสี่ยงในเรื่องของข้อพิพาทที่ยังไม่สิ้นสุด จึงทำให้การขายเป็นไปอย่างช้าๆ โดยในปัจจุบันห้องเหลือขายของโครงการหลายห้องมีราคาขายที่ถูกกว่าช่วงพรีเซล และถูกกว่าห้องที่คนซื้อต่อมาเยอะ

 

30 กรกฎาคม 2021: เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างทั้งๆที่โอนไปแล้ว 3 ปี! ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน หลังศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแลัว เห็นว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด จนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยศาลพิจารณาสาระสำคัญของการใช้ทางเข้าออกหลักของโครงการทางฝั่งสุขุมวิท 21 ที่เช่ารฟม.ว่า รฟม.เวนคืนที่ดินมาก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่บริษัทอนันดาฯ เช่าที่ดิน รฟม.อีกต่อหนึ่งและใช้ประโยชน์เป็นทางเข้า-ออกคอนโดฯ เพื่อต่อเชื่อมกับถนนอโศกมนตรี ถือว่าผิดวัตถุประสงค์กฎหมายเวนคืนที่ดิน จึงทำให้แอชตัน อโศก เป็นโครงการที่ไม่มีด้านที่ดินด้านไหนติดถนนสาธารณะที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตรเลย

 

30 กรกฎาคม 2021: อนันดาออกจดหมายชี้แจงขออุทธรณ์จนถึงที่สุด! มีเนื้อความว่า เป็นเพียงคำตัดสินของศาลปกครองกลางเท่านั้น และบริษัทฯในฐานะผู้บริหารโครงการยังมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาดังกล่าวในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญ จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด ดังนั้น คำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลขั้นต้นยังไม่มีผลบังคับจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของเจ้าของร่วมแต่อย่างใด กรณีพิพาทดังกล่าว บริษัทฯ ผู้บริหารโครงการขอยืนยันว่าบริษัทฯได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนดังที่เคยแจ้งต่อสาธารณชนมาก่อนหน้านี้แล้ว บริษัทฯขอให้ความมั่นใจว่า บริษัทฯในฐานะผู้บริหารโครงการจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าและเจ้าของร่วมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะมีการแจ้งให้เจ้าของร่วมและ ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ทราบถึงความคืบหน้าต่อไป

31 กรกฎาคม 2021: พี่ศรีเผยพร้อมยื่นเอาผิดข้าราชการทุกคนหลังศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดแอซตัน อโศก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยชี้ว่ากรณีดังกล่าวแม้อาคารคอนโดแอชตัน อโศก จะก่อสร้างเสร็จไปนานแล้ว มีการขาย การโอนให้กับผู้จองซื้อ และมีคนย้ายเข้าไปอยู่อาศัยกันกว่า 83% แล้วก็ตาม แต่กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ผู้ซื้อจะต้องไปไล่เบี้ยเอากับผู้ขายกันเอาเอง ส่วนสมาคมฯจะต้องนำคำพิพากษาไปดำเนินการเอาผิดกับข้าราชการทุกคนที่ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายในกรณีนี้ต่อไป โดยเฉพาะฝ่ายโยธา กทม. และผู้บริหาร รฟม. (ที่มา: https://mgronline.com/politics/detail/9640000074852)

 

ผมจะไม่พูดความเห็นเกี่ยวกับข้อกม.ครับ การตัดสินว่าถูกหรือผิดเป็นเรื่องของศาลครับ ที่ผมทำได้คือบอกข้อเท็จจริงว่าบรรทัดฐานในการพัฒนาโครงการในรูปแบบคล้ายคลึงกันมันมีอยู่หลายที่ครับ
1. การสร้างโครงการสูงไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ติดกับถนนใหญ่เพียงอย่างเดียวหากแต่ว่าสามารถเปิดทำทางสาธารณะเข้าสู่โครงการทางกม.ก็เอื้อให้ทำได้ เราจึงเห็นโครงการหลายโครงการไปซื้อที่ดินข้างๆเพื่อขยายถนน ซึ่งข้อนี้เอพีถนัดมากที่สุดในมุมมองผมนะ 2. การเช่าที่ดินที่เกิดจากการเวนคืนมาจากรฟม.เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการขออนุญาตก่อสร้าง ก็สามารถทำได้และมีการตีความตามกฤษฎีกาแล้ว อีกทั้งที่ดินของรฟม.ที่ติดรฟฟก็กำลังหาวิธีในการเพิ่มรายได้ด้วยการปล่อยเช่าภายใต้ Condition ที่แตกต่างกันไปครับ
ในมุมมองของผมสิ่งที่ทำให้ Perception ของคนส่วนใหญ่มองว่าเคสนี้อนันดาผิดก็น่าจะเป็นเพราะมันดันมีสองเรื่องควบกันเลย และในเรื่องของถนนเข้าออกที่คนทั่วไปไม่ได้ Perceive ว่านี่คือถนนสาธารณะ ซึ่งตรงนี้อนันดาก็น่าจะไปปักป้ายว่าเป็นทางสาธารณะ และก็เพิ่ม utilities อะไรบางอย่างเข้าไป และอีกเรื่องนึงก็คือการจงใจที่จะ maximize profit โดยการที่ขอเช่าทางออกเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 6 เมตรกว่าๆ ซึ่งไม่พอในการสร้างตึกสูง ย้ายไปอีกฝั่งนึ่งและเพิ่มความกว้างไปเป็น 13 เมตรเพื่อให้สร้างได้ครับ (ตรงนี้ล่ะที่ดีเวลลอปเปอร์รายอื่นๆก็คิดว่ายาก) โดยผมก็คิดว่าตอนนั้นอนันดาก็ bet เหมือนกันว่ามันจะสร้างได้ หรือไม่ได้ แต่บังเอิญ หรือยังไงก็แล้วแต่ เรื่องดังกล่าวก็ดันผ่านการอนุมัติจากทุกโต๊ะ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเลย อนันดาก็เลยคิดว่าไม่น่ามีปัญหาสร้างต่อไป ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าอนันดาเค้าก็น่าจะรอให้จบกระบวนการนะ แต่ด้วยการที่เป็นบ.มหาชนเลยต้องทำต่อ
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาของอนันดาใจผมก็คิดว่า 1 ยังไงห้องที่เหลือกว่า 800 ลบ.ก็ขายไม่ได้แล้วก็ควร hold ไว้ก่อน ส่วนห้องที่โอนไปแล้วตรงนี้อนันดาควรที่จะต้องคุยกับแบงค์ให้ว่าควร hold เช่นกัน และใช้ financial tool อื่นๆในการแปลงกลับให้โครงการนี้มาอยู่ในมืออนันดาเพื่อไปฟ้องศาลอื่นๆต่อไป ลูกบ้านจะไม่ได้ต้องมาวิตกกังวลครับ
สรุปว่าผมไม่ได้สรุปอะไรทั้งนั้นนะครับว่าใครผิดใครถูกแค่บอกกล่าวตามข้อเท็จจริงน่ะครับ และตอนนี้เรื่องราวมันก็เลยว่าการเป้นภาคธุรกิจของอนันดา ไปแล้วเพราะกรรมสิทธิ์ของที่แปลงนี้มันเป็นของเจ้าของร่วมน่ะครับ ก็ต้องหาทางออกให้มันแฟร์กับทุกฝ่าย

 

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งดังกล่าวออกมา แต่เชื่อว่าเรื่องราวดังกล่าวยังห่างไกลกับคำว่าสิ้นสุดนัก เพราะยังต้องสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะได้ข้อสรุป และถึงแม้จะสรุปแล้วก็ยังมีอีกหลายต่อหลายกรณีที่เราเห็นว่าอาคารยังคงสามารถเปิดใช้งานได้เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้รับผิดชอบหลายฝ่าย ฟ้องกันหลายต่อ และมีโครงการคอนโดอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯโดยเฉพาะบนเส้นพระรามเก้า อโศก รัชดา ลาดพร้าว ที่เข้าข่ายการขอเช่าที่ดินรฟม.และการทางฯ เพื่อใช้เปิดทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะในรูปแบบเดียวกันนี้อีกเช่นกัน ที่พร้อมจะโดนเรียกถามถึงมาตรฐานในแบบเดียวกัน อีกทั้งในการทุบรื้อถอนก็ต้องใช้งบประมาณในการชดเชยเยียวยาเป็นหลักหลายพันล้านบาท ที่สำคัญคือแม้ในตอนนี้ผู้อยู่อาศัยจะยังสามารถอยู่ได้ตามปกติเพราะคำตัดสินยังไม่สิ้นสุด แต่เชื่อแน่ว่าจากวิกฤติที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ปริมาณการเทขายของโครงการแอชตัน อโศก มีมากขึ้นแน่นอนครับ แต่ประเด็นของโครงการนี้น่าจะทำให้ดีเวลลอปเปอร์และคนซื้อหลายๆคนเริ่มที่จะกลัวความไม่แน่นอนในความแน่นอนแล้วล่ะครับ เพราะขนาดแอชตัน อโศก ได้ทั้ง EIA และใบอนุญาตทุกอย่างมาครบ จบกระบวนการจนโอนได้เกือบหมดแล้วก็ยังมาเจอเรื่องพลิกโผแบบย้อนหลังได้ขนาดนี้อีก แต่ไม่รู้สิผมเองมีความเชื่อว่ากรณีนี้ผู้ประกอบการเค้าก็ทำตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์ของการใช้ประโยชน์บนที่ดินรฟม.นะ ถ้าจะผิดหรือไม่ก็คงอยู่ที่การตีความในเจตนาของผู้ออกใบอนุญาติต่างๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วผมเชื่อลึกๆว่าแอชตัน อโศก จะรอดครับ

 

อ่านคำชี้แจงล่าสุดของอนันดาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ https://bit.ly/3ywLoNT

 

เกริก บุณยโยธิน

เกริก บุณยโยธิน

ผู้ก่อตั้งเวปไซต์แบ่งปันความรู้ด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ในวงการอสังหาฯ พร็อพฮอลิค ดอทคอม..หลังจากที่ใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการวนเวียน เข้าๆออกๆ ในสายงานด้านการตลาด และวางแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ของบริษัทอสังหาฯ และเอเยนซีโฆษณาชั้นนำหลายแห่ง (โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องจับสลากเจอลูกค้าสายอสังหาฯทุกที)...จนถูกครอบงำโดยจิตใต้สำนึก ให้ถีบตัวเองออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อออกมาจุดประกายความคิดที่ถูกต้อง และนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนที่สนใจในธุรกิจอสังหาฯ

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง