เจาะลึก Big Deal สะท้านวงการ “Ananda X The Ascott Limited” หากต้องการเป็นผู้นำ ก็ต้องเลือกจับมือกับเบอร์หนึ่งของโลก!
แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้ามาตลอดในช่วงหลายสิบปีมานี้ จะถูกดับเครื่องสนิทมาเกือบสองปีแล้ว แต่จากนโยบายการเปิดประเทศครั้งล่าสุดล้วนเป็นสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติที่เป็นนักเดินทาง นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในแบบ Expat หรือ Hybrid Traveler ที่ล้วนแต่สนใจที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อ Restart ธุรกิจ เข้าพักในระยะยาวและพบปะกับวิถีชีวิตในแบบที่ตัวเองคุ้นเคยกันอีกครั้ง…เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังจะถูกกดสวิตช์เพื่อเปิดเครื่องอีกครั้งเรามาดูกันว่าอนันดามองเห็นโอกาสทางการตลาดอะไรจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจนนำมาซึ่งการรุกเปิดตัวโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์พร้อมกันถึง 5 โครงการ ในมูลค่ารวม 12,000 ล้านบาทครับ
“ธุรกิจอสังหาฯผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังจะรีบาวด์ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ตอนนี้เราเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ Expat ที่ต้องทำธุรกิจทำการค้าในประเทศไทย ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเช่าที่พักอาศัยในระยะยาว ซึ่งจุดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ มากกว่ากว่าเช่าโรงแรม ที่สำคัญคือ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตัวเลขยอดผู้เข้าพักในกลุ่มตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ไม่ค่อยจะตกลงมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มตลาดโรงแรม โดยอัตราการเข้าพักภาพรวม (Occupancy rate) ของเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์อยู่ที่ประมาณ 50% – 55% ในขณะที่โรงแรมอยู่ที่ประมาณ 27% ซึ่งอัตราการเข้าพักของเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์สูงกว่าโรงแรมเนื่องมาจากดีมานด์ของการเข้าพักแบบ Long stay ยังคงมีอยู่จากกลุ่มชาวต่างชาติที่เป็น Expat ซึ่งต่างจากโรงแรมที่เน้นการเข้าพักแบบ Short stay จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว ทำให้วิกฤตการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ไม่มากนักถ้าเทียบกับธุรกิจโรงแรม อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังมี Supply ที่น้อยกว่าโรงแรมหลายเท่าตัว ทำให้เราคาดว่าจะมีรายได้ประจำ (Recurring Income) กว่า 20% โดยจะสามารถบันทึกเป็นรายได้ภายใน 5 ปี” ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
การขยายธุรกิจอสังหาฯ ที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring income) พร้อมกับลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการขาย เป็นเทรนด์ที่ดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจ โดยตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์เป็นอีกหนึ่งตลาด ที่มักจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากผู้เล่นรายที่พร้อมกว่าในด้านกำลังทรัพย์และคอนเนคชั่นที่แข็งแกร่ง ด้วยรูปแบบการเข้าพักที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยเน้นการทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการจ่ายค่าที่พักที่มากกว่า โดยบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำคอนโดมิเนียมติดแนวรถไฟฟ้า ได้ใช้เวลาบ่มเพาะมานานกว่า 3 ปี นับแต่วันที่อนันดาประกาศที่จะลงชิงชัยในตลาดเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ จากการที่ได้มองเห็นช่องว่างและโอกาสใหม่ที่สำคัญในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างโรงแรมและคอนโดมิเนียม ที่จะมาเติมเต็มความต้องการของตลาดที่ยังไม่ได้มีคู่แข่งมากนัก ร่วมกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำอย่าง ดิ แอสคอทท์ ลิมิเต็ด ที่มีชื่อเสียงระดับโลกทางด้านบริการชั้นนำระดับ World Class มีฐานลูกค้าที่หลากหลายและมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญสูง เป็นอันดับหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเซอร์วิสเรสซิเดนซ์ระดับลักชัวรี่ชั้นนำของโลกที่มีรางวัลจำนวนมาการันตี และมิตซุย ฟุโดซัง ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของบริษัทมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยจังหวะเวลาที่ยังไม่เหมาะในการเปิดตัว จึงต้องเลื่อนแผนมาเปิดตัวในช่วงท้ายปี 2021 แบบนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่านี่คือจังหวะที่ดีที่สุดในการเดินหน้ารุกธุรกิจก่อนใคร และยังถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ ANANDA NEW BLUE ที่จะสร้างศักยภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทฯ
เจาะข้อได้เปรียบของเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ กับการทำตลาดไปยังกลุ่มผู้เข้าพักที่ต้องการความยืดหยุ่นในการพักอาศัยที่มากกว่า
ข้อได้เปรียบที่ทำให้เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการเข้าพักของคนต่างชาติที่หลากหลายมากกว่าการเข้าพักในคอนโด หรือโรงแรมก็คือ เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์นั้นวาง Business Positioning ให้อยู่ตรงกลางระหว่างโรงแรมและคอนโดสำหรับเช่า โดยเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ส่วนใหญ่ มีบริการที่ครบครัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกในเชิงการทำธุรกิจ และสื่อสารได้ดีกว่าคอนโดมิเนียมสำหรับปล่อยเช่า และเหมาะกับการอยู่อาศัยในระยะยาวตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป และสามารถพักอาศัยได้ทั้งครอบครัว โดยที่มีราคาเช่าต่อเดือนที่อาจจะสูงกว่าคอนโดมิเนียม แต่ก็ไม่ได้แพงเท่ากับโรงแรม แต่ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความต้องการที่มากกว่า อาทิ
1) ความสะดวกสบายพร้อมเข้าอยู่ได้ทันที
2) บริการแบบโรงแรมแต่จ่ายน้อยกว่าหากเข้าพักในระยะยาว
3) ขนาดห้องที่ใหญ่กว่าโรงแรม
4) ระยะเวลาในการเข้าพักที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าการเช่าคอนโดทั่วไป
5) มีรูปแบบห้องให้เลือกหลากหลาย ภายใต้มาตรฐานเดียวกันในแต่ละโครงการ
6) มีเจ้าหน้าที่ประจำที่สามารถสื่อสาร และให้บริการในภาษาต่างชาติได้
7) รองรับการเข้าพักในแบบ Very Long Stay สำหรับกลุ่มลูกค้า Corporate Client ที่สลับสับเปลี่ยนกันเข้าพักได้ตลอดอายุสัญญา
โดยที่กลุ่มฐานลูกค้าสำคัญมักจะเป็นกลุ่มคนต่างชาติ 2 กลุ่มหลักคือ
1) กลุ่มฐานลูกค้าระยะยาวที่เป็น Expat ทำงานในประเทศไทย (Long-term market from expatriates working in Bangkok)
2) กลุ่มฐานลูกค้าระยะสั้นที่เดินทางมาทำธุรกิจและถือโอกาสพักผ่อนไปด้วยในตัว (Short-term market from leisure and business travelers)
ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว หากพิจารณาจากปัจจัยในเรื่องของระยะเวลาในการเข้าพัก ตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ในไทยมักจะมีคู่แข่งหลักเป็นคอนโดให้เช่าที่อยู่ในเซกเมนท์ลักซ์ชัวร์รีขึ้นไปครับ เนื่องจากมีราคาค่าเช่ารายเดือนที่ค่อนข้างจะสูสีกัน จับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเข้าพักในระยะยาวเกิน 1 เดือนขึ้นไปเหมือนกัน เพียงแต่ว่าการเช่าคอนโดอยู่จะมีส่วนกลางที่ค่อนข้างหลากหลายทันสมัยกว่า ตัวเลือกในแต่ละทำเลมีมากกว่า ถ้าเข้าพักยาวมากกว่า 1 ปีขึ้นไปก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า แต่ก็ต้อง Trade Off กับบริการต่างๆ ที่เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์มีให้ครบครันกว่าอย่างเช่น บริการ Room Service ประเภททำความสะอาด ซักรีด ห้องอาหาร เคเบิลทีวี บริการผู้ช่วยส่วนตัวและแจ้งซ่อมได้ง่าย รวดเร็วกว่า ไม่ยุ่งยาก ระยะเวลาการเข้าพักที่ยืดหยุ่นมากกว่า โดยที่ไม่ต้องวางมัดจำล่วงหน้า มีอุปกรณ์การสื่อสารทั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในห้องพร้อมใช้งาน รวมไปถึงมีแพคเกจ Standard เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ค่อนข้างจะมีสเปคดีกว่าเฟอร์ฯ ในห้องคอนโดปล่อยเช่าทั่วไปที่มักจะเลือกรูปแบบไม่ได้และไม่ค่อยคงทน
ในขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมได้เบนเข็มเข้ามาปรับรูปแบบการเข้าพักให้เป็นไปในสไตล์เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์มากขึ้น โดยมีการตัดบริการบางอย่างออกไป ทำแพคเกจราคาค่าเช่าระยะยาวให้ถูกลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดDemand Switching จากกลุ่มคนเช่าเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์และคอนโด ให้เข้ามาทดแทนนักท่องเที่ยวระยะสั้นที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤตโรคระบาด Covid-19 เนื่องจากกลุ่มชาวต่างชาติที่ยังคงปักหลักอยู่เมืองไทย และเข้าๆ ออกๆ อยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นกลุ่ม Expat หรือ Business Traveler ที่ล้วนแต่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาในเมืองไทยเพื่อทำธุระ ทำงาน หาครอบครัว ในแบบพักระยะยาวกันทั้งนั้น… ด้วยความได้เปรียบของกลุ่มเป้าหมายที่ยังคงมีเสถียรภาพในการเข้าพัก โดยมี Occupancy Rate แตกต่างกันเกือบถึง 3 เท่าตัว และแนวโน้มหลังการเปิดประเทศที่น่าจะทำให้มีกลุ่ม Short stay ทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเพิ่มเข้ามา จึงทำให้กลุ่มธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์เป็นที่จับตามองของค่ายอสังหาฯหลายค่ายมากยิ่งขึ้น
หากต้องการเป็นผู้นำ ก็ต้องเลือกจับมือกับเบอร์หนึ่งของโลก “The Ascott Limited (ดิ แอสคอทท์ ลิมิเต็ด)”
“จากคอนโดมาเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ได้ยังไง? ผมมองว่าสองอย่างนี้กำลังจะถูกเชื่อมเข้าหากันนะ เราปะติดปะต่อกัน จากการที่มองว่าธุรกิจของคอนโดเหมือนกับเป็นฮาร์ดแวร์ โดยที่เราต้องใส่ซอฟท์แวร์ Integrated เข้าไป ต่อไปเราเชื่อว่าอสังหาขายฮาร์ดแวร์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องเรียนรู้วิธีการ Integrated ซอฟท์แวร์จากเบอร์หนึ่ง เพื่อให้เป็น Business Platform ที่สามารถต่อรองกับ Chain ใหญ่ๆ ได้ ในส่วนของธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ พันธมิตรอย่างแบรนด์ Ascott โดย CapitaLand เป็นเบอร์หนึ่งของโลก คนพักเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ทั่วโลกส่วนใหญ่คุ้นเคยกับแบรนด์นี้ ในบรรดาโครงการทั้ง 5 โครงการจาก 3 แบรนด์มีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างต่างกัน แต่ละแห่งเป็น Strategic Locations ที่เรามองไปถึงอนาคตของแต่ละแห่งว่าจะเป็นอย่างไรจนออกมาซึ่งคอนเซปท์ และ Business Model ที่โดดเด่น เพราะเราเชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้ม ที่อยากจะครอบครองน้อยลง model SAS (Subscription As a Service) กำลังมาแรงในหมู่คนเหล่านี้ อีกทั้งถ้าเปรียบเทียบกับบริการจากโรงแรม 5-6 ดาวอื่นๆ เราตัดเอา Nice To Have Factors ออก แต่เอา Must Have ใส่เข้ามาเพื่อให้ทำราคาได้ ให้ Lean มากที่สุดแต่ไม่เท่ากับ พวก Branded Residences ที่เรากำลังจะทำกับกลุ่ม Dusit ที่ COCO Parc…” คุณโก้พูดบรรยายถึงที่มาที่ไปของการรุกเข้าสู่ตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ว่าชั่วโมงนี้ประสบการณ์ในด้านของการพัฒนาโครงการอสังหาฯเพื่อขายมาตลอดอาจจะใช้ได้เพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นในเรื่องของการมองทำเล หากต้องการที่จะขึ้นแท่นสู่ความเป็นผู้นำในตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ที่เป็นตลาดสำหรับกลุ่มผู้พักทั่วโลกจึงจำเป็นที่จะต้องมีพันธมิตรเป็นเบอร์หนึ่งของโลกอย่างดิ แอสคอทท์ ลิมิเต็ด อีกทั้งตัวบริษัทฯ เองยังต้องเตรียมพร้อมในการที่จะพัฒนาโครงการรูปแบบใหม่ในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ในการมองหาที่อยู่อาศัยของกลุ่มกำลังซื้อหน้าใหม่ที่ส่วนหนึ่งมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องของการถือครองทรัพย์สินมากเท่าไหร่นัก ดังนั้นการจับมือในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาโปรเจคอื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน
ในขณะที่ฟากของคุณ Brian Tan ซึ่งเป็น Country General Manager Thailand & Laos The Ascott Limited กล่าวว่าทาง Ascott ซึ่งมีบริษัทแม่เป็นกลุ่ม CapitaLand Investment จากสิงค์โปร์ เป็นเจ้าของแบรนด์โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ บนทำเลและคอนเซปท์ที่ แตกต่างกันทั่วโลกถึง 15 แบรนด์ จาก 35 ประเทศ 200 เมืองทั่วโลก ด้วยจำนวนยูนิตมากกว่า 128,000 ยูนิต โดยแบรนด์ Ascott เองมี Value Propositions หลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของ Strong Sales Drivers ที่มีฐานลูกค้า Corporate Clients มากถึง 94,000+ บริษัท มียอด Booking จาก OTA และ Direct Sales มากถึง 79% และมีลูกค้าปัจจุบันที่เป็นสมาชิก Loyalty Program ถึง 1.8 ล้านรายที่แวะเวียนมาเข้าพักซ้ำเสมอ เช่นเดียวกับการเป็นแบรนด์ Top of Mind ของคนทั่วโลกเวลาที่นึกถึงเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ที่สำคัญคืออนันดาเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทาง Ascott เองมีฐานลูกค้าและโครงการที่พัฒนาอยู่เยอะในกรุงเทพ ชลบุรี และระยอง รวมทั้งหมด 24 โครงการ เกือบ 5,000 ยูนิต
ความร่วมมือกับอนันดาฯ และมิตซุย ฟุโดซัง รวดเดียวถึง 5 โครงการในครั้งนี้ เป็น Strategic Partnership ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็น Top 5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
The Ascott Limited กับ 3 แบรนด์ดังที่พร้อมเปิดให้เข้าพักในช่วงต้นปีหน้า
สำหรับ The Ascott Limited นั้นมีแบรนด์เซอร์วิสเรสซิเดนซ์ และโรงแรมที่มีการวางคอนเซปท์ เอกลักษณ์ และจับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไปถึง 15 แบรนด์ กระจายตัวกันอยู่ถึง 35 ประเทศ 200 เมืองทั่วโลกครับ
โดยมีแบรนด์ในกลุ่มเซอร์วิสเรสซิเดนซ์ ถึง 7 แบรนด์ ได้แก่ Ascott, The Crest Collection, Somerset, Citadines, Quest, Lyf และ Domitys
และมีแบรนด์ในกลุ่มโรงแรมอีก 8 แบรนด์ ที่ยังไม่ได้มาเปิดตลาดในประเทศไทย
โดยโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ 5 โครงการ รวม 1,809 ยูนิต มูลค่า 12,000 ล้านบาท ที่เปิดตัวในครั้งนี้ ได้แก่ Somerset Rama 9 (ซัมเมอร์เซ็ท รามาไนน์ แบงค็อก) Ascott Embassy Sathorn Bangkok (แอสคอทท์ เอ็มบาสซี่ สาทร บางกอก) Ascott Thonglor Bangkok (แอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก) Lyf Sukhumvit 8 Bangkok (ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก) และ Somerset Pattaya (ซัมเมอร์เซ็ต พัทยา) เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน (Expatriates) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีความจำเป็นต้องการที่พักอาศัยระยะยาว และต้องการความสะดวกสบายระดับโรงแรม หรือระดับมาตรฐานชั้นนำ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว ที่อาจเป็นกลุ่มคณะขนาดเล็ก หรือกลุ่มคณะขนาดครอบครัวที่มีความต้องการที่หลากหลายมากไปกว่าการพักอาศัยในโรงแรมทั่วไป (Travelers)
โดยแบรนด์หลักที่นำมาใช้จะเป็น 3 Flagship Brands ที่เป็นที่รู้จักกันดีจากค่ายแอสคอทท์ คือแบรนด์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจอย่าง ASCOTT แบรนด์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าครอบครัวอย่าง SOMERSET และแบรนด์ที่เปี่ยมไปด้วยสีสันแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่าง Lyf
จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 โครงการล้วนแล้วแต่มีทำเลที่มีความโดดเด่น อยู่ในย่าน Super Prime Area ที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติทั้งนั้น โดยโครงการแรกที่อนันดาสร้างเสร็จก่อนใครเพื่อนเลยก็คือ
Somerset Rama 9: หนึ่งเดียวบนทำเลที่ดีที่สุดของ New CBD พระรามเก้า
โครงการ ซัมเมอร์เซ็ท พระราม 9 แบรนด์เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงระดับโลก และยังเป็นเซอร์วิสเรสซิเดนซ์และโรงแรมระดับสากลแห่งแรกในโซนรัชดาฯ รูปแบบโครงการเป็นอาคาร High-Rise 1 อาคาร สูง 35 ชั้น จำนวน 445 ห้องพัก พร้อมการตกแต่งที่ครบครัน ตั้งแต่ห้องพักโรงแรมขนาดเริ่มต้นที่ 33 ตร.ม. ไปจนถึงห้องพักอาศัย 3 ห้องนอนขนาดที่ 123 ตร.ม.
ห้องพักภายในโครงการ มีให้เลือกหลายแบบ ไม่ว่าคุณจะพักแบบ 2 คน หรือแบบครัวใหญ่ ก็มีห้องที่ตอบโจทย์การพักผ่อนของคุณได้อย่างเต็มที่
ครัวขนาดใหญ่ และโต๊ะที่นั่งทานอาหารร่วมกันได้
ห้องแบบเตียง Twin ได้วิวอาคารสูงย่านพระรามเก้า
ห้องแบบเตียงคิงส์ไซส์ ให้คุณและคนรักได้ดื่มด่ำกับการพักผ่อนอย่างมีความสุข
โดยมีตัวเลือกอาหารและเครื่องดื่มอันหลากหลายพร้อมโซนพักผ่อนแบบบูรณาการตั้งแต่ห้องซาวน่า ห้องอบไอน้ำ ฟิตเนส โยคะสตูดิโอ เลานจ์เรสซิเดนซ์ สระว่ายน้ำลอยฟ้า และห้องเล่นสำหรับเด็ก พร้อมห้องประชุม และจัดงานสัมมนาขนาดกลาง โครงการตั้งอยู่ริมถนนใหญ่รัชดาภิเษก ไม่ไกลจากแยกพระรามเก้า ซึ่งเป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ (New CBD) รายล้อมไปด้วยแหล่งอาคารสำนักงาน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สถานทูตจีน, AIA capital center, G Tower, Fortune Town, และ The 9th tower พร้อมห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น Central Rama9, Esplanade Cineplex, The Street Ratchada, และรพ.พระราม 9, รพ.ปิยะเวท เป็นต้น สามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยห่างจาก MRT พระราม 9 และ MRT ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพียง 450 เมตร และเพียง 1 สถานีไปยัง Airport Rail Link สถานีมักกะสัน ที่สามารถเดินทางสู่สนามบินสุวรรณภูมิได้