คนอสังหาฯจะทำตัวยังไงให้อยู่ได้ท่ามกลางหายนะ COVID-19
ช่วงนี้เห็นมีใครต่อใครหลายๆคนเปิดประเด็นที่ว่าโลกใบใหม่หลัง COVID จะเป็นอย่างไร หรือจะมีอะไรที่เป็น New Normal หลัง COVID หรือไม่ออกแนวนำเสนอเทรนด์ใหม่ที่เราน่าจะได้เห็นเมื่อสถานการณ์ต่างๆมันคลี่คลาย ฯลฯ…แต่สำหรับผมแล้วก็ค่อนข้างมีความคิดว่ามันไม่มีหรอกครับกับคำว่าหลัง COVID เพราะผมเชื่อว่าที่สุดแล้ว COVID มันก็จะต้องมาวนเวียนอยู่กับเราไปตลอดช่วงชีวิตนี้ล่ะครับ ในอนาคตก็อาจจะเจอ COVID-30, COVID-40 เหมือนดังเช่นสารพัดโรคระบาดในอดีตที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้วในเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก ดังนั้นถ้าจะขยายความไปให้ชัดเจนกว่านี้ก็น่าจะเป็นไปในประมาณว่าตอนนี้โลกเรามี COVID-19 เป็น World Agenda ที่ส่งผลกระทบไปต่อทุกภาคส่วนของการใช้ชีวิตไปแล้ว โดยในช่วงนี้จะเป็นในช่วงจาก Epidemic ไปสู่ Pandemic ไล่ตามเฟส และในที่สุดสถานการณ์ก็จะค่อยๆกลายเป็น Post Pandemic อันประกอบไปด้วย Sporadic (เกิดเป็นบางช่วงแบบไข้หวัดใหญ่), Endemic (โรคเฉพาะถิ่น) ซึ่งหากเป็นแบบนี้ก็จะหมายความว่าอะไรก็ตามที่เราได้ทำอยู่ในขณะนี้ มันก็น่าจะมีบางอย่างที่ต้องปรับไปทำแบบถาวรเลยล่ะครับ ในขณะเดียวกันธุรกิจไหนที่เคยรุ่งอย่างสายการบิน Low Cost, Co-Working Space และ Budget Hotel ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นธุรกิจดาวดับที่ร่วงแบบกู่ไม่กลับอีกตลอดเลย อาจกล่าวได้ว่าปรากฎการณ์ COVID-19 นั้นเป็นมากกว่า Springboard ธรรมดาที่ช่วยส่งแรงให้อะไรต่ออะไรถูกปะติดปะต่อเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น แต่มันคือแท่นปล่อยกระสวยอวกาศที่ช่วยให้อะไรที่มันเคยยากสำหรับคนบางคน ให้กลับเป็นง่ายขึ้นมาเลยสำหรับคนทั้งโลก โดยเฉพาะในเรื่องของ Technology Disruption และ Remodeling Business
เอาเฉพาะในกรุงเทพฯนับตั้งแต่ที่ทางกทม.ประกาศปิดห้าง รวมถึงสถานประกอบการ และแหล่งชุมชนต่างๆ ก็เป็นเป็นการฉายภาพให้เห็นถึงหายนะที่กำลังก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีคุณูปการณ์อย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคำว่าอสังหาฯที่ในรับผลกระทบในยุค COVID นี้ต้องบอกว่าได้รับเต็มๆทั้ง Horizontal และ Vertical เลย กล่าวคืออสังหาทุกประเภททั้ง Commercial, Residential, Hospitality รวมไปถึง Office Space ล้วนแล้วแต่ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อที่จะหารายได้เข้ามาชดเชยกับรายจ่ายที่ไหลออกในแต่ละวัน และที่สำคัญก็คือวิกฤตนี้มันต่างกับที่ผ่านๆมาก็คือมันกระทบทั้งขาของผู้บริโภคตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนไปถึงระดับเจ้าสัว ที่ความมั่งคั่งหายไปมหาศาล และก็กระทบไปที่ตัว Developer เองที่ต้องทนมัดขาตัวเองไว้กับที่โดยที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจแบบในช่วงสถานการณ์ปกติได้ ลำพังพวกธุรกิจที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค โอเคยังพอไปได้ เช่นเดียวกับร้านอาหารที่มีเครือข่ายในการจัดส่งอันแข็งแกร่ง แต่พวกกลุ่มธุรกิจที่ต้องนำเสนอประสบการณ์ดีๆให้กับลูกค้าเพื่อตัดสินใจซื้ออย่าง ร้านอาหารและห้างหรูระดับ Hi-End รวมไปถึงอสังหาฯเพื่อการพักอาศัย (Residential) ทั้งกลุ่มแนวราบและแนวสูง นั้นมีอันต้องจมอยู่กับปัญหายอดขายตกวูบกันระนาวครับ แม้ว่าทุกฝ่ายจะดัน Online Platform สารพัดช่องทางเข้ามาเรียกยอด เรียก Awareness กันเต็มที่แล้วก็ตาม
การ Live ขายของแบบนี้เราเห็นกันได้ทั่วไป ในกิจการหลายๆแห่งที่ต้องปิดดำเนินการ
เช่นเดียวกับโรงแรมส่วนใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนช่องทางการสร้างรายได้เป็นการทำอาหาร Delivery แทน
แล้วตลาด Residential ปีนี้คาดว่าจะวูบลงแค่ไหน?
คำว่าวูบในความหมายของผมนั้นหมายความถึง 3 ส่วนหลักครับ 1. ยอดขาย 2. ราคาขาย 3. จำนวนหน่วยขาย ซึ่งในแต่ละวิกฤตที่พวกเราได้เคยเผชิญกันมานั้น มันมักจะมาไม่ครบองก์ 3 แบบนี้ กล่าวคือ ต่อให้จำนวนหน่วยขายลดลง แต่ราคาขายก็ไม่ได้ลดลง หรือต่อให้ราคาขายลดลง ยอดขายก็ต้องเพิ่มขึ้นครับ สัญญาณดังกล่าวสื่อให้เห็นว่า หากเปรียบบริษัทอสังหาฯต่างๆนั้นเป็นเรือสำราญขนาดใหญ่ที่ล่องลอยอยู่กลางทะเล สถานการณ์ตอนนี้นั้นคือเครื่องยนต์ได้ดับสนิททั้งหมดแล้ว เรือทุกลำมีทางเลือกเพียงแค่จมไปกับเรือ หรือไม่ก็พายเรือเล็กเพื่อออกไปหาชายฝั่ง ไม่ก็พักตามเกาะแก่งต่างๆ เพื่อคิดหาหนทางกลับมากู้เรือใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจากข้อมูลที่ผมไปหามาได้ก็จะพบว่านับแค่ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ก็มียอดขายลดลงเกินครึ่งละครับ โดยฝ่ายวิจัย บริษัทไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย ) จำกัด เผยผลวิจัยตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปลายเดือนม.ค.2563 จนถึงขณะนี้ว่าส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัว โดยพบว่ายอดขาย (Pre-sale) ลดลงกว่า 50% มีผู้เข้าเยี่ยมโครงการลดลงกว่าครึ่ง ทำให้ต้องลดจำนวนตัวแทนการขายในโครงการ จากมากกว่า 5 คน เหลือ 1-2 คนต่อโครงการ ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2563 คาดว่า จะเปิดตัวโครงการใหม่เพียง 1.1-1.2 หมื่นยูนิตจาก 50 โครงการ หรือหายไปประมาณ 80%จากปี 2562 ที่มีการเปิดตัว 5.7 หมื่นยูนิตจาก 130 โครงการ อีกทั้งยังถือเป็นปีที่มีการเปิดตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา จากค่าเฉลี่ยในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวโครงการใหม่ 6 หมื่นยูนิตต่อปี (ในความเป็นจริงแล้วจะน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำเพราะตอนช่วงเมย.นี้สถานการณ์ยังไม่ได้ถึงช่วงพีคที่สุดเลยด้วยซ้ำไป โดยยอดขายสามเดือนแรกนั้นล้วนได้รับผลกระทบมาจากคลื่นลูกแรกที่มีมาแล้วตั้งกะปีที่แล้วอย่าง LTV และอื่นๆนั่นเองครับ)
ขณะที่คุณนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังวิกฤตโควิด-19 ว่า ในช่วงปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการระบายสต๊อกเก่า โดยข้อมูลจากเน็กซัสพบว่าซัพพลายของคอนโดมิเนียมคงค้างในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายปี 2562 มีประมาณ 60,000 ยูนิต คาดว่าในปีนี้ตลาดจะสามารถดูดซับไปได้ประมาณ 80% โดยซัพพลายใหม่ที่จะออกมา น่าจะไม่เกิน 30,000 ยูนิต จากปกติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะมีซัพพลายใหม่ออกมาเฉลี่ยปีละ 52,000 ยูนิต โดยเราจะเริ่มเห็นการลดราคาจากดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งราคาที่ลดลงจะอยู่ในเรทเหมาะสมและค่อนข้างดี เป็นระดับราคาที่ดีเวลลอปเปอร์ยอมรับได้และคุ้มค่าที่จะซื้อในฝั่งผู้บริโภค คาดการณ์ว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะกลับมาได้รับความสนใจเร็วที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 คือ คอนโดฯ ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท เพราะเป็นระดับราคาที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่รับได้ และเป็นเรียลดีมานด์ที่ต้องการอยู่อาศัยเลย ส่วนอีกตลาดที่จะฟื้นตัวเร็ว คือ สินค้าในระดับลักซ์ชัวรี ที่ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะมีเงินลดลง แต่ยังมีกำลังซื้อมากพอที่จะจ่ายได้ โดยตัวผู้บริโภคเองจะเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ของตัวเอง และมีฟังก์ชั่นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ และตลาดที่จะกระทบหนักที่สุดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้นก็คือตลาดรีเทลและตลาดอาคารสำนักงาน
ในเมื่อของขายไม่ได้ และคนที่สนใจอยากซื้อ หรือแม้กระทั่งคนที่มีเงินพอที่จะซื้อได้ลดน้อยลงมากขนาดนี้ ก็ขอให้เพื่อนๆในวงการเตรียมรับ Hard Landing กันไว้ก่อนได้เลยครับ ซึ่งผมค่อนข้างแน่ใจว่าสุดท้ายแล้วทุกดีเวลลอปเปอร์จำเป็นที่จะต้องปรับตัว เปลี่ยนไลน์การทำธุรกิจ ปรับโมเดลการทำธุรกิจ ออกโปรโมชั่นแรงๆ เพื่อที่จะมีรายได้เข้ามาบ้างเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อนที่จะคิดหา Solutions ที่จะอยู่ร่วมกันกับ COVID-19 กันได้ในระยะยาวครับ…โดยในบทความนี้ผมจะขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจต่างๆที่เกิดขึ้นจนหลายๆคนพูดว่าเป็น New Normal ไปแล้วในขณะนี้ ว่าจะมีสักกี่ประเด็นที่น่าจะเป็น New Normal จริงๆ และถูกนำไปใช้ในการวางแผน Business Strategy ในระยะยาวกันครับ