เรามาเริ่มกันที่ห้องไฮไลท์ของนิทรรศการ Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019 ทั้ง 3 ห้องกันก่อนเลยครับ
1. ห้อง Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019 – ห้องนี้เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดของนิทรรศการ ครับ ภายในห้องปูด้วยพรมขนแกะล้ำค่า ผืนมหึมาผืนเดียววางสง่าอยู่กลางห้อง พรมผืนนี้ถือเป็นงานศิลปะ Master Piece ล้ำค่ามาก เพราะว่า ถูกทอจากตระกูล Amoghli (อะมอกรู) ซึ่งเป็น ตระกูลดีไซน์เนอร์ที่ผลิตพรมส่งให้กับพระราชวังอิหร่าน โดยผืนที่ปูวางอยู่ในห้องนี้นำออกมาจากพระราชวังและมีอายุเกือบ 100 ปี พรมนี้ถูกทักทอด้วยขนสัตว์ชั้นดี ย้อมสีธรรมชาติ ออกแบบลวดลายตามเอกลักษณ์ของชาวอิหร่านในโทนสีเคร่งขรึม และหากสังเกตบนพรมจะเห็นลายเซ็นของตระกูล Amoghli ปักอยู่บนส่วนท้ายของพรมด้วยครับ นอกจากนั้นพรมผืนนี้นับว่าไม่สามารถหาที่ไหนได้อีกแล้ว เพราะตระกูล Amoghli ในปัจจุบันไม่มีผู้สืบทอด ส่งผลให้มันกลายเป็นผลงานศิลปะระดับ Master Piece ที่มีราคาถึง 10 ล้านบาทเลยทีเดียว
…ผมยังไม่แน่ใจว่าถ้าซื้อมาจะกล้าเหยียบมันไหม…
ในขณะที่ผมโดนมนต์สะกดของพรม Amoghli ให้ต้องเดินเข้ามาชมรายละเอียดของลายเส้นอย่างใกล้ ๆ ก็ได้ยินเพลงบรรเลงเสียงเปียโนเพราะ ๆ ภายในห้อง สร้างบรรยากาศผ่อนคลายแบบมีระดับและเพิ่มความน่าค้นหาระหว่างชมรายละเอียดของพรม แต่เสียงที่ว่ากลับไม่ได้มาจากเปียโนอย่างที่ผมคิดไว้ตอนแรก แต่เป็นเสียงของชุดเครื่องเสียง Steinway and Sons ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ผลิตเปียโนโด่งดังติดอันดับท็อป 3 ของโลก คุณบอล ประธานบริหาร บริษัท ลิฟวิ่ง ซาวด์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำชุดเครื่องเสียงมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้บอกส่วนตัวว่า
“นอกจากการให้เสียงที่ใสเหมือนกำลังฟังเสียงของเปียโนแล้ว ด้วยรูปลักษณ์ของเครื่องเสียงที่มีทันสมัยและตัวเครื่องสีดำเงาเหมือนสีดำของเปียโน ผู้ใดได้ครอบครองจะสามารถนำชุดเครื่องเสียงนี้ไปตั้งในห้องรับแขกอวดโฉมได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งแตกต่างกับชุดเครื่องเสียงอื่น ๆ ที่เมื่อซื้อมาตั้งในบ้าน ผู้อยู่อาศัยต้องหามุมห้องหลบชุดลำโพงหรือต้องพยายามไปสรรหาเฟอร์นิเจอร์ Built In มาปิดบังชุดเครื่องเสียงเพื่อให้ห้องเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่สำหรับชุดเครื่องเสียง Steinway and Sons สามารถวางไว้ที่โถงกลางบ้านได้อย่างสง่าผ่าเผย”
เช่นเดียวกับที่ผมเห็นบรรยากาศภายในห้องชัดเจนว่า แค่เสียงเพราะ ๆ ถูกจับคู่กับพรมเปอร์เซีย มันทำให้ห้องเช่าธรรมดา ๆ ที่ทาผนังสีดำสนิทในศูนย์การค้า River City ดูมีคลาสขึ้นอย่างไม่ต้องพยายามปรับแต่ง ลองคิดว่าหากได้ยกพรมกับเครื่องเสียงเอาไปวางที่โถงกลางบ้านหรือบริเวณทางขึ้นบรรไดวนที่มีโคมไฟระย้าคริสตัลสวย ๆ คงจะสามารถโอ้อวดความมั่งคั่งและรสนิยมเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่ต้องพูดเยอะเลยทีเดียว
พรมขนแกะผืนจากตระกูล Amoghli (อะมอกรู)
ภายในห้อง Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019
2. ห้อง A ntique Grand Piano – ถัดจากห้องแรก หรือเมื่อมองตรงจากทางเข้างาน เราจะได้เห็นเปียโนไม้หลังใหญ่ วางในห้องกระจกบานใหญ่ เปียโนหลังนั้นถูกสาดแสงไฟสปอตไลท์อย่างเฉิดฉาย เมื่อเข้าไปในห้องอ่านประวัติทำให้รู้ว่า เปียโนหลังดังกล่าวถูก Charles Blasius สั่งผลิตแบบ Custom Made จากแบรนด์ Steinway and Sons ตั้งแต่ปี 1872 อายุกว่า 147 ปี สิ่งที่เพิ่มความเก๋ไก๋ให้เปียโนหลังนี้นอกจากอายุอันยาวนานของมันคือ มันเป็นเปียโนในยุค Victorian ทำด้วยมือจากไม้วอลนัทสีดำและฝังทองแดง ตัวตู้เป็น East Victorian แต่ขาของเปียโนได้รับอิทธิพลทั้งความเป็นยุโรปและมีความเป็นเอเชียตะวันออก ส่วน Lyre (ที่เหยียบ) เป็นรูปมังกรในยุค Medieval และด้านข้างตัวเปียโนทั้งสองมีใบหน้าผู้ชายในสไตล์ Neo Classic ที่แกะสลักอย่างสวยงามขนาบทั้งสองข้าง โดยนำมาจากเรื่องเล่าในตำนานของจีนที่กล่าวถึงกริฟฟินลึกลับที่มีปีกเหมือนนกอินทรีย์ แต่ลำตัวเหมือนสิงโต เป็นการผสมผสานของพหุวัฒนธรรมในเปียโนหลังเดียว แน่นอนว่าเปียโนแบบนี้มีหลังเดียวในประเทศไทย เปียโนไม้ยังถูกวางบนพรมเปอร์เซียสี Pink Silk มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท โดยนักสะสมอธิบายว่า
“สีชมพูของพรมได้จากการสกัดด้วยหัวหอม ส่วนสีน้ำตาลสกัดจากเปลือกไม้วอทนัท” มากไปกว่านั้น เส้นใยไหมของพรมเมื่อถูกสาดเสียงด้วยสปอตไลท์สี Warm Light เราจะเห็นเส้นไหมเล่นกับแสงในห้อง สร้างบรรยากาศหรูหรา สว่างรุ่งโรจน์ ราวกับอยู่ในห้วงเวลายุครุ่งเรืองของศิลปะ
นักสะสมพรมเล่าเพิ่มเติมว่า
“อายุขัยการใช้งานของพรมที่ใช้วัสดุจากไหม จะมีอายุใช้งานสูงสุดได้ถึง 400 ปี” นั่นหมายถึงว่า พรมสามารถเป็นมรดกส่งต่อการใช้งานจากรุ่นสู่รุ่น และยังเป็นเครื่องสะท้อนถึงความยืนยงและความมั่งคั่งของต้นตระกูลจวบจนปัจจุบันได้
เปียโนโบราณ สั่งผลิตแบบ Custom Made จากแบรนด์ Steinway and Sons ภายในห้อง Antique Grand Piano
เปียโนโบราณ สั่งผลิตแบบ Custom Made จากแบรนด์ Steinway and Sons ภายในห้อง Antique Grand Piano
4. Ancient Textile Room – ห้องนี้ถือเป็นห้องที่มีความพิเศษและมีเอกลักษณ์แตกต่างจากห้องอื่น ๆ ที่มักจะตบแต่งสไตล์ยุโรป แต่ห้องนี้มีความเป็นไทยโบราณ แต่ยังผสานกับความเป็นพรมเปอร์เซียได้อย่างลงตัว เมื่อเดินเข้ามาภายห้อง ผมรู้สึกได้ว่า ห้องแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธา เพราะกลุ่มนักสะสม Art On Da Floor ร่วมจัดกิจกรรมกับคุณเปี๊ยก เจ้าของร้านไฟน์อาร์ต ซึ่งเป็นนักสะสมโบราณวัตถุโดยเฉพาะของไทยโบราณ ทำให้เมื่อก้าวเข้ามาภายในห้อง Ancient Textile Room จะรับรู้ถึงกลิ่นอายไทยโบราณไปพร้อมกับกลิ่นอายของเปอร์เซียโบราณ ฟังดูเหมือนจะย้อนแย้งและดูไม่เข้ากันสักเท่าไร แต่ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า มันไม่ได้ดูขัดหูขัดตาเลย มิหนำซ้ำยังดูลึกลึบ น่าค้นหาแบบเชิงวัฒนธรรมโบราณด้วยซ้ำ นอกจากพรมแล้ว ภายในห้องได้จัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหมยกทองโบราณ ที่มีศิลปะการถักทอเส้นไหมสลับซ้อนดิ้นทองผสมผสานลายราชสำนักโบราณ ถักทอด้วยมือและสีย้อมจากธรรมชาติ คุณเปี๊ยกยังเล่าอีกว่า
“จากการคาดการณ์ประวัติศาสตร์น่าจะถูกใช้งานเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 จากลักษณะสีแดงชาดที่เป็นสีของบุคคลชั้นสูงในสมัยนั้น และหากสังเกต จะเห็นได้ว่า บนผืนผ้าไหมพบร่องรอยการถูกใช้งานจริงอย่างการซ่อมแซมผ้าไหม ด้วยรอยการเย็บ รอยการปะชุนผ้าให้เห็นชัดเจน แม้มีรอยตำหนิ แต่รอยตำหนิดังกล่าวคือเอกลักษณ์และทำให้ผ้าไหมโบราณผืนนี้ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของนักสะสมอย่างแท้จริง”
เช่นเดียวกับพรมโบราณที่จัดแสดงคู่กัน นักสะสมพรมอีกท่านอธิบายว่า
“พรมถูกผลิตขึ้นเมื่อไร ไม่อาจทราบแน่ชัดได้้ เนื่องจากมีลวดลายและฝีไม้ลายมือการถักทอที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ ยาวนาน ทราบเพียงมีอายุมากกว่า 100 ปีอย่างแน่นอน”
ถึงขนาดที่นักสะสมพรมแนะนำว่า
“ใครได้พรมผืนนี้ไป ไม่ควรนำมาใช้งานบนพื้น ควรใช้ประดับห้องในลักษณะใส่กรอบกระจก แขวนไว้ชมความงามทางประวัติศาสตร์”
และด้วยลักษณะสีย้อมจากธรรมชาติในโทนสี EarthTones ตัดกับสีแดงชาดสลับกับสีน้ำเงินไพลิน ทำให้พรมผืนนี้ดูมีความศักดิ์สิทธิ์ น่าเคารพและศรัทธา เมื่อลองจินตนาการว่า หากพรมผืนนี้ถูกวางอยู่ในห้องที่เหมาะสมอย่าง ห้องพระ คงจะเสริมให้บรรยากาศห้องรู้สึกถึงความสงบนิ่งและเป็นห้องที่เคารพและเลื่อมใสอยู่ไม่น้อย
ห้อง Ancient Textile Room
พรมเปอร์เซียร์โบราณภายในห้อง Ancient Textile Room
นอกจาก 3 ไฮไลต์ที่สำคัญที่ได้กล่าวไป ห้องอื่น ๆ ยังถูกเนรมิตให้กลายเป็นมุมโปรดภายในบ้าน ราวกับเดินอยู่ในอาร์ตแกลอรี่และศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์ ที่สร้างไอเดียตกแต่งบ้านให้ดูมีรสนิยมขึ้นด้วยพรมเปอร์เซีย อย่างห้อง HI – End Audio Room เป็นการจับคู่ระหว่างพรมกับชุดโฮมเธียร์เตอร์แบรนด์ระดับโลกฝั่งทองคำ มูลค่ารวม 5 ล้านบาท ห้องนี้ได้เนรมิตพื้นที่ชมภาพยนตร์ส่วนตัวภายในบ้านได้อย่างลงตัว ด้วยบรรยากาศภายในห้องที่กำลังเปิด Live Concert: Hitman: David Foster And Friends บรรเลงเพลงสดเพราะ ๆ ให้เราสามารถเข้ามานั่งทดลองฟังเสียงคุณภาพได้อย่างสบายอารมณ์ จริง ๆ แล้ว คำว่าสบายอารมณ์ในที่นี้ ผมกำลังจะบอกว่า สบายอารมณ์ทั้งการได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส เพราะถ้าหากเปิดซีดีฟังเพลง ดูวิดิโอ ในห้องสี่เหลี่ยมมืด ๆ คงจะรู้สึกทื่อ ๆ แข็งกระด้างอยู่ไม่น้อย แต่เป็นเพราะศิลปะการจัดวางของพรมเปอร์เซียภายในห้อง ที่ทำให้รู้สึกเป็นได้มากกว่าการฟังเพลงภายในบ้าน คือการจมดิ่งกับพื้นที่แห่งความสบายอย่างแท้จริง
มิหน้ำซ้ำ ผมไม่แน่ใจว่าถ้าพูดสิ่งต่อไปนี้จะดูโอเวอร์ไปหรือเปล่า…ผมยังรู้สึกว่า พรมเปอร์เซียช่วยขับเสียงเพลงให้เพราะได้มากขึ้น ความพริ้วไหวของลายเส้นบนพรมกับความพริ้วไหวของเสียงบวกกับความนุ่มของเนื้อผ้าของพรม ทั้งหมดคือ ความสบายอารมณ์ทั้งการมองเห็น การได้ยินและการสัมผัสที่ผมกำลังนิยามห้องนี้
อย่างที่เขาว่ากันว่า ช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ เพราะเผลอนั่งแปปเดียว Live Concert ได้จบ เมื่อนั้นผู้ดูแลนิทรรศการได้เสนอให้ผมทดลองนั่งฟังเสียงคุณภาพของเครื่องเสียงในรูปแบบอื่น ๆ โดยการเปิดภาพยนตร์จีนที่มีเสียงกระหึ่ม ซึ่งโทนเสียงย่อมแตกต่างที่ฟังเพลงก่อนหน้า ภาพยนตร์จีนทำให้ชุดเครื่องเสียงได้แสดงถึงศักยภาพในตัวเองออกมา เรารับรู้ได้ดีว่า นี่คือชุดโฮมเธียร์เตอร์มีคุณภาพ แม้ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเสียง มากไปกว่านั้นคือ แม้ Live Concert เปลี่ยนเป็นภาพยนตร์ แม้เสียงเพลงเปลี่ยนเป็นเสียงเอฟเฟคหมัดในฉากต่อสู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือพรมเปอร์เซียในห้อง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความรู้สึกที่เรามีต่อพรมเมื่อตอนฟัง Live Concert กับตอนชมภาพยนตร์จีนให้ความรู้สึกแตกต่างกัน ราวกับมีใครสักคนมาเปลี่ยนพรมผืนก่อนหน้าออกไปและใส่ผืนใหม่เข้ามาแทน คือ เปลี่ยนจากความรู้สึกอ่อนไหวและนุ่มนวลเป็นความรู้สึกเท่ส์และรู้สึกถูกสวมบทบาทเป็นเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ตามลักษณะภาพยนตร์ พูดอย่างไม่อ้อมค้อมคือ ผมรู้สึกว่าพรมให้ความรู้สึกที่แตกต่างอย่างหลากหลาย นี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้จัดนิทรรศการได้คิดวางแผนมาแล้วว่าจะนำพรมนี้มาวางไว้ในห้อง HI – End Audio Room เพื่อให้พรมทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุด
ณ จุดนี้ผมอินหนักมาก…
ในการใช้งานเชิงกายภาพจะเห็นได้ว่าพรมที่วางบนด้านหน้าจอโทรทัศน์และพรมติดผนังซ้าย – ขวา สามารถเป็นเฟอร์นิเจอร์ตบแต่งห้องโฮมเธียร์ที่ใช้ปิดบังแผ่นซับเสียงได้อย่างสวยงามและเสริมให้ห้องมีความรู้สึกอบอุ่นและดูมีระดับมากยิ่งขึ้น อดคิดไม่ได้ว่าหากสามารถยกห้อง HI – End Audio Room ไปวางที่บ้าน นอนเล่นบนพรม ชมภาพยนตร์กับครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์คงจะเป็นวันที่พิเศษที่สามารถหาได้ง่าย ๆ จากภายในบ้าน
ห้อง HI – End Audio Room
ห้อง Motorbike Room
ข้ามฝั่งมาที่ ห้อง Motorbike Room ที่จำลองโรงรถติดแอร์ให้กับคันหรูคู่ใจภายในบ้าน โดยนำพรมเปอร์เซียลายวิจิตร มูลค่า 3.5 ล้าน ซึ่งมีเรื่องราวคือเป็นพรมที่ครัวเรือนชุมชนรายได้น้อยในอิหร่าน ถักทอด้วยมืออย่างละเอียดในระดับมิลลิเมตร สีย้อมจากธรรมชาติ อย่างสีเขียวได้มาจากการสกัดด้วยผัก และสีขาว/ ครีม ได้มาจากการสกัดด้วยกระดูกสัตว์ เป็นต้น โดยนำมาตกแต่งคู่กับมอเตอร์ไซค์คันหรูแบรนด์ Royal Enfield ช่วยเสริมความเท่ เฉี่ยวให้กับทั้งรถและทั้งโรงรถ
ห้อง Furniture Room การจับคู่ระหว่างโต๊ะกลางโซฟา/ โต๊ะกาแฟ กว่า 5 ผลงาน ที่ทำจากทั้งไม้ เหล็ก กระจก ที่นำเล่าใหม่ผ่านการออกแบบโต๊ะกลางโซฟาโมเดิร์นขึ้นกว่าที่เคยเป็น รับกับพรมเปอร์เซียผืนงาม 3 ผืน ราคาราว 3.5 แสนต่อผืน แม้พรมผืนในห้องนี้จะมีราคาไม่สูงเท่าห้องอื่น ๆ ก่อนหน้า แต่นักสะสมอธิบายว่า
“หากมีสิ่งให้เลือกของระหว่างพรมเปอร์เซียร์ในห้องนี้กับรถ Porsche เขาจะเลือกพรมอย่างไม่ลังเล เนื่องจากพรมเปอร์เซียร์โบราณที่ด้วยมือสวยงามขนาดนี้ รายละเอียดวิิจิตรศิลป์คงความเป็นเอกลักษณ์ชาวเปอร์เซียร์ครบถ้วน และไม่มีรอยตำหนิอย่างผืนเหล่านี้ จนตายก็คงหาไม่ได้อีกแล้วบนโลก!”
ห้อง Models Room และห้อง Celebrity Carpets Room ที่เปิดโอกาสให้ผู้มาร่วมงานได้เข้ามาถ่ายรูปกับพรมเปอร์เซียผืนสวยที่ถูกรวบรวมไว้กว่าอีก 10 ผืน ในสไตล์ห้องแขกภายในบ้านที่มีการตบแต่งสถาปัตยกรรมภายในให้บรรยากาศอยู่ในยุครุ่งเรืองของศิลปะในยุโรปอย่างโซฟาหลุยส์ สไตล์วินเทจ แชมเปญที่วางเรียงบนโต๊ะไม้คอนโซล และเครื่องเสียง High – End แบรนด์ Fyne audio และ Chrod มูลค่ารวม 3 ล้านบาท ที่เปิดบรรเลงเพลงออเครสต้าสร้างความรู้สึกอันมีรสนิยมในขณะที่กำลังเดินชมลายของพรม
สุดท้ายสำหรับ ห้อง Curator Room เป็นห้องที่รวบรวมพรมเปอร์เซียร์อีกหลากแบบหลากสีของเหล่านักสะสมที่ไม่ได้ถูกจัดแสดงในแต่ละห้องที่กล่าวมา และใช้เป็นห้องสำหรับเจรจาระหว่างผู้มาร่วมงานที่ต้องการพูดคุยรายละเอียดจับจองเป็นเจ้าของพรมเปอร์เซียร์หายากกับเหล่านักสะสม
ห้อง Models Room
ห้อง Celebrity Carpets Room
ห้อง Curator Room
โดยนิทรรศการ Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019 จะจัดระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ชั้น 3 ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.00 น. สามารถเดินเข้ามาชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถสอบถามเพิ่มเติมรายละเอียด ได้ที่:
คุณฮาเล่ – เบญจมินทร์ ปันสน – ผู้ดูแลนิทรรศการ Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019
คุณเอิง – กานต์กนิษฐ์ อิ่มมณี – ผู้ดูแลนิทรรศการ Bangkok Persian Carpet Exhibition 2019
(063-787-0867)
คุณล่า – ผู้ดูแลประจำห้อง Ancient Textile Room
(086-347-4941)
คุณเอ – จิตรกร มงคลธรรม – นักสะสมพรมเปอร์เซียร์และเปียโนโบราณ
(064-564-6695)
คุณบอล – โสฬส ธรรมเภตรารักษ์ ประธานบริหาร บริษัท ลิฟวิ่ง ซาวด์ (ประเทศไทย) จำกัด (081-852-1771)
อ้างอิง
https://multimillionairethailand.com
www.artondafloor.com