PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลเจริญนคร – ท่าดินแดง
ฝั่งธนฯ มนต์เสน่ห์แห่งการอยู่อาศัยที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย ภายใต้บริบทใหม่แห่งการเดินทางที่สมบูรณ์แบบ
หากจะถามว่าย่านไหนในกรุงเทพฯที่เป็นต้นแบบของการเป็นย่านที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคที่กรุงเทพฯยังไม่มีทั้งถนนสายหลัก สะพานข้ามแม่น้ำ และเส้นทางรถไฟฟ้ามากมายอย่างเช่นยุคปัจจุบัน ก็คงจะเป็นย่านฝั่งธนบุรี หรือที่เราเรียกขานกันอย่างคุ้นชินว่า ‘ฝั่งธนฯ’ ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้สัก 30 ปี ฝั่งธนฯจากเดิมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานะที่เคยเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ได้ถูกลดทอนบทบาทความสำคัญในการพัฒนาเมืองลงไป จนในบางช่วงเวลาพื้นที่ฝั่งธนฯอาจจะดูเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าทางฝั่งพระนครค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ แหล่งไลฟ์สไตล์ขนาดใหญ่ หรือว่าเส้นทางคมนาคมทางรางต่างๆ ก็มักจะถูกพัฒนาอยู่แต่ในพื้นที่ฝั่งพระนคร จนส่งผลให้พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรีเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยซะเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ที่พักอาศัยอยู่ในย่านนี้ก็มักจะเป็นผู้ที่มีกิจการห้างร้านในย่านฝั่งพระนคร ที่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเดินทางไปเปิดร้าน ทำงาน ในช่วงเช้า และเดินทางข้ามฝั่งเพื่อมาพักผ่อนหลับนอนที่บ้านฝั่งธนฯ เปรียบดั่งการเป็นที่พักอาศัยแห่งที่สองของกลุ่มคนดังกล่าว ทำให้ภาพรวมของพื้นที่โดยส่วนใหญ่เต็มไปด้วยโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ อย่างเช่นอาคารพาณิชย์ และบ้านเดี่ยวกระจายอยู่ไปแทบจะทุกพื้นที่ที่มีถนนตัดผ่าน สลับกับห้างค้าปลีก ร้านอาหาร และไฮเปอร์มาร์เก็ตที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งพื้นที่ ส่วนในแง่ของไลฟ์สไตล์ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าฝั่งธนฯมีของดี และสถานที่ที่น่าสนใจมากมายที่หาไม่ได้ในฝั่งพระนคร นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยากจะหาย่านใดเสมอเหมือน ทั้งยังมีเสน่ห์ล้นเหลือในการดึงดูดให้ทั้งผู้ที่ลงหลักปักฐานที่นี่มาแต่ครั้งบรรพบุรุษไม่ละทิ้งถิ่นฐานไปไหน และเชื้อเชิญผู้ที่แสวงหาถิ่นที่อยู่อาศัยหน้าใหม่ ให้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตในย่านฝั่งธนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารต้นตำรับแสนอร่อยที่ถูกถ่ายทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสวิถีชีวิตริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านการล่องเรือไปตามคลองเล็กคลองน้อยที่ลัดเลาะไปตามชุมชนเก่าแก่ต่างๆ
ในอดีตหลายคนอาจมองว่าฝั่งธนฯเป็นทำเลที่ไกล เดินทางลำบาก เพราะพื้นที่ฝั่งธนฯ และฝั่งพระนครเชื่อมถึงกันด้วยสะพานข้ามแม่น้ำเพียงไม่กี่สะพานเท่านั้น ผลลัพธ์ก็คือย่านที่อยู่อาศัยยอดนิยมของชาวฝั่งธนฯก่อนที่จะมีรถไฟฟ้า BTS สายสีลมส่วนต่อขยาย ที่แล่นข้ามผ่านสะพานตากสิน ไปจนถึงย่านบางหว้า และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง – ท่าพระ ที่เพิ่งเปิดทดลองใช้งานกันไป คงจะหนีไม่พ้น 3 ย่านหลัก นั่นคือ เจริญนคร – วงเวียนใหญ่ – ท่าพระ, ปิ่นเกล้า – จรัญสนิทวงศ์ และ ย่านบางพลัด เนื่องจากอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินทางหลักอย่างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็น เจริญนคร – วงเวียนใหญ่ – ท่าพระ ที่เดินทางสะดวกด้วยสะพานพุทธฯ สะพานพระปกเกล้าฯ และสะพานตากสิน, ย่านปิ่นเกล้า ที่สามารถเลือกใช้สะพานปิ่นเกล้าฯ และสะพานพระราม 8 และ ย่านบางพลัด ซึ่งเป็นย่านที่เดินทางเข้าสู่ใจกลางสถานที่ราชการสำคัญของกรุงเทพฯ ด้วยสะพานกรุงธนฯ (ซังฮี้), และยังสามารถเลือกใช้สะพานใกล้เคียงได้อีก 2 สะพานได้แก่ สะพานพระราม 8 รวมไปถึงสะพานพระราม 7 ซึ่งเชื่อมต่อไปยังย่านนนทบุรีได้ อย่างง่ายดาย
จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าต่อขยายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งธนฯจึงเริ่มเห็นโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายมากขึ้น ซึ่งการมาของเส้นทางรถไฟฟ้าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน ซึ่งสังเกตได้จากพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจากสถานีสะพานตากสิน – บางหว้า มีการเปลี่ยนแปลงตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง โดยก่อนที่จะมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้พื้นที่ฝั่งธนฯอาจจะมีอาคารสูงไม่มากนักซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตามบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยพลานุภาพของเส้นทางรถไฟฟ้าสารพัดสีที่ทยอยพัฒนาขึ้นในย่านฝั่งธนฯทั้งสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง และสายสีทอง จึงทำให้หลายๆทำเลของฝั่งธนฯเป็นที่จับตามองของนักพัฒนาอสังหาฯ เหมือนปรากฎการณ์ของถนนกรุงธนบุรี ที่เชื่อมขึ้นสะพานตากสินฯ (สะพานสาทร) จนทำให้เกิดเทรนด์ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูง ที่เกาะไปตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆดังกล่าว
นอกจากรถไฟฟ้าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาโครงการต่างๆมากมายในย่านฝั่งธนฯแล้ว สิ่งที่เป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญ และเป็นตัวจุดชนวนชั้นดีในการปลุกกระแสความคึกคักให้กับย่านฝั่งธนฯในแบบพลิกฝ่ามือก็คือ การก่อสร้าง Mega Projects 2 โครงการคือ ICONSIAM และรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่ดูแล้วมี Impact กับทำเลฝั่งธนฯชั้นในมากกว่าเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายซะอีก ซึ่ง ICONSIAM คือ Mega project ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งเดียวบนทำเลฝั่งธนฯ ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างสุดยิ่งใหญ่ไปในปีที่ผ่านมา และเป็นโครงการ Mix-used ขนาดใหญ่ที่สุดของฝั่งธนฯภายใต้งบลงทุนสูงถึง 54,000 ล้านบาท และมีขนาดพื้นที่ 750,000 ตารางเมตร ที่ครบครันทั้ง shopping mall, lifestyle, โรงแรม, ที่พักอาศัย, หอชมเมือง และกิจกรรมสันทนาการริมแม่น้ำ ชนิดที่ชาตินี้คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นโครงการริมแม่น้ำแห่งใดยิ่งใหญ่เท่านี้อีก ICONSIAM ยังมาพร้อมกับเส้นทางคมนาคมรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่เชื่อม ICONSIAM กับสถานีกรุงธนบุรี และพื้นที่ตลอดสองฝั่งถนนเจริญนคร คลองสาน ถนนประชาธิปก ได้ง่ายดายมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาย่านฝั่งธนฯในแบบปฎิกิริยาลูกโซ่ โดยเฉพาะโครงการคอนโดต่างๆที่เกาะกระแสการพัฒนาของ ICONSIAM ทั้งบริเวณถนนเจริญนคร ถนนสมเด็จเจ้าพระยา และถนนประชาธิปก ไปจนถึงย่านวงเวียนใหญ่ – ท่าพระ
การมาของ ICONSIAM สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่โดยรอบอย่างมากมาย ทั้งราคาที่ดินที่ขยับเพิ่มขึ้นไปไม่น้อยกว่า 4 – 5 แสนบาทต่อตารางวา สำหรับที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา และต่ำกว่านั้นนิดหน่อยสำหรับที่ดินที่อยู่ฝั่งไม่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนั้นยังส่งผลให้ดีเวลลอปเปอร์โครงการคอนโดมิเนียมหลายราย ให้ความสนใจและเข้ามาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่โดยรอบมากขึ้นแบบชัดเจน อีกทั้งมีแนวโน้มที่สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครจะผลักดันพื้นที่เขตคลองสานเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมมากกว่าที่ผ่านมา เพราะทั้งมีศูนย์การค้า และเส้นทางรถไฟฟ้าหลายสาย
5 เส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ที่จะช่วยพลิกโฉมการเดินทางใกล้ฝั่งธนฯใกล้กว่าที่เคย
ในปัจจุบันเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นอีก 1 เส้นทางที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ฝั่งธนฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ และเพชรเกษม ที่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายกันต่อเนื่องในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำลังจะเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบในปีพ.ศ.2563 นอกจากนี้พื้นที่ฝั่งธนฯยังมีเส้นทางรถไฟฟ้าอื่นๆ ที่กำลังจะเริ่มการก่อสร้างหรือกำลังจะเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบในอนาคต ซึ่งบางพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจนตั้งแต่ยังไม่เริ่มการก่อสร้าง เช่น
1. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – บางซื่อ
2. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปีพ.ศ.2563 หรือหลังจากนั้น
3. เส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย
4. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ
5. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน
โดยเส้นทางรถไฟฟ้าที่น่าสนใจในพื้นที่ฝั่งธนบุรีชั้นในคือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยวหรือรถไฟฟ้ารางเบา (Monorail) ที่มีต้นทางจากสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรีตามถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินไปสิ้นสุดที่สถานีสะพานพุทธ แต่ในช่วงแรกที่จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีพ.ศ.2563 จะก่อสร้างและเปิดให้บริการถึงสถานีสำนักงานเขตคลองสานก่อน โดยมีสถานีเจริญนครที่เป็นสถานีเชื่อมต่อกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่าง “ICONSIAM” โดยเส้นทางรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีทอง ที่กำลังทำการก่อสร้างในปัจจุบัน มีระยะทาง 2.8 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 4 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร สถานีคลองสาน และสถานีประชาธิปก ซึ่งการเดินรถของรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีทอง เป็นเส้นทางยกระดับความสูง 14-17 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนน โดยสามารถแบ่งเฟสของการก่อสร้างได้เป็น 2 เฟส ดังนี้
เฟส 1 เริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน (3 สถานี) คาดว่าเปิดใช้งานในช่วงปี 2563 นี้ ซึ่งจะมีแนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม เบี่ยงเข้าถนนกรุงธนบุรีทางซ้ายบริเวณปลายสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนครฝั่งเหนือ ผ่านวัดสุวรรณ ศูนย์การค้าไอคอนสยามสำนักงานเขตคลองสาน (สถานีเจริญนคร) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านโรงพยาบาลตากสินและไปสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน
ส่วนเฟส 2 (1 สถานี) คือสถานีประชาธิปก ที่มีแพลนการก่อสร้างในอนาคตหลังจากเฟส 1 พร้อมเปิดให้ได้ใช้บริการ คาดว่าจะเปิดใช้ในปี 2564 – 2566 สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าโมโนเรลจะมีแนวเส้นทางจะการวิ่งตรงต่อไปตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยาผ่านสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนจันทรวิทยา วัดอนงคารามวรวิหารและวัดพิชยญาติการามวรวิหาร สิ้นสุดบริเวณแยกสมเด็จเจ้าพระยา-ประชาธิปกบริเวณด้านหลังอนุสรณ์สถานสมโภช 100 ปี เขตคลองสาน ทำให้ผู้คนในละแวกนั้นมีความสะดวกต่อการเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ
นอกจากนี้พื้นที่ฝั่งธนฯชั้นใน ยังมีแผนการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นเส้นทางที่แล่นผ่านย่านเมืองเก่าในฝั่งพระนคร โดยมีจุดเริ่มต้นที่ย่านเตาปูนที่สถานีรัฐสภา เข้าสู่พื้นที่ฝั่งธนฯแบบทุกอณูในพื้นที่ โดยมีจุดตัดกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง -ท่าพระ ที่สถานีสามยอด ก่อนจะข้ามมายังพื้นที่ฝั่งธนฯ ที่สถานีสะพานพุทธ และตัดกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และเชื่อมต่อกับสายสีเขียวที่สถานีวงเวียนใหญ่ และวิ่งยาวบนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไปจนถึงครุใน ซึ่งที่ผ่านมาย่านฝั่งธนฯ ไม่เคยมีการพัฒนาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากขนาดนี้มาก่อน
จากรูปด้านบนจะเห็นว่าสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร มีแผนจะพัฒนาให้พื้นที่ในเขตคลองสานเป็นศูนย์พาณิชยกรรมและพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร เพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านหลายเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้วคือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ แม้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง เป็นเพียงแนวเส้นทางที่จะพัฒนาในอนาคตเท่านั้น แต่ความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงมาก
คลิกเพื่ออ่าน: สรุปทุกประเด็นเด็ดจากงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2019”