House Samyan โรงหนังบรรยากาศอบอุ่น เรียบง่าย ภายใต้ความผูกพันอันลึกซึ้ง
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แฟนหนังนอกกระแสอาจใจหายกับการประกาศย้ายบ้านของโรงหนัง House RCA แต่โรงหนัง House ก็ไม่ปล่อยให้เราคิดถึงนาน กับการย้ายมาเปิดบ้านใหม่ที่ Samyan Mitrtown กับ House Samyan ที่มาพร้อมบรรยากาศน่ารัก เป็นกันเองเหมือนเดิม และยังแอบซ่อนรายละเอียดที่สะท้อนความผูกพันระหว่าง House และแฟนๆ ไว้อย่างลึกซึ้ง จากไอเดียและความสร้างสรรค์ของทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง ที่บวกกับความใส่ใจ อยากให้ผู้ที่แวะเวียนมาได้รับประสบการณ์อบอุ่นในแบบที่คุ้นเคย ทำให้พวกเค้าตั้งใจรังสรรค์ทุกองค์ประกอบของโรงหนังแห่งนี้ตั้งแต่ฝ้าเพดาน จุดขายตั๋ว ไปจนถึงห้องน้ำ ให้สะท้อนความรู้สึกอบอุ่น เรียบง่าย ในสไตล์ House ได้อย่างครบถ้วน
ซึ่งวันนี้ จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ ผู้บริหาร House Samyan และทีมสถาปนิกนักออกแบบที่ชื่อคุ้นหูคนฟังเพลงไทยอย่าง คมสัน นันทจิต, บอย–ตรัย ภูมิรัตน, ตั้ม–สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ และสถาปนิกมืออาชีพ ออส–สุเมธ ฐิตาริยกุล จะมาเล่าถึงความรู้สึกและที่มาของการออกแบบบ้านหลังใหม่ในครั้งนี้ให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง
ย้ายบ้านครั้งนี้มีอะไรเหมือนเดิมและเปลี่ยนแปลงไปบ้าง? และ ทำไมถึงเลือก Samyan มิตรทาวน์เป็นบ้านหลังใหม่ของโรง ภาพยนตร์ House
15 ปีจาก RCA สู่ SAMYAN
จ๋อง : เราก็อยู่ของเราดี ๆ ที่ RCA ทำโรงหนังเฮาส์เล็ก ๆ ทำมาต่อเนื่องมา 15 ปี มันก็มีอย่างนึงที่เป็นปมด้อยของเรา คือตลอด 15 ปีที่เราทำโรงหนังเฮาส์ที่อาร์ซีเอมาเนี่ย คนชอบบอกว่าโรงหนังเรามายาก ก้มหน้าก้มตาทำมาสิบกว่าปีก็ไม่มีใครนึกภาพว่าจะย้ายไปที่ไหน จนกระทั่งสามย่านมิตรทาวน์เขามาชวน ตอนเขามาชวน ก็ทำท่างงกันหมด พอมาทำความรู้จัก เราก็เลยย้ายมาสู่เมือง มีรถใต้ดินผ่าน นี่แหละเลยเป็นเหตุผลที่เราย้าย คือคนมาสะดวก ให้โอกาสหนังได้เจอคนดูมากขึ้น
เล่าถึงคอนเซปต์การออกแบบภาพรวมของ House Samyan
บ้านใหม่บรรยากาศเดิม
จ๋อง : ใครเคยไปเฮาส์อาร์ซีเอบ่อย ๆ ก็จะชินบรรยากาศที่นั่น ที่มีบรรยากาศเฉพาะตัวพอสมควร ขณะเดียวกันก็คิดว่า เรื่องบรรยากาศความอบอุ่น สถานที่คงมีผล แต่ท้ายที่สุดมันอยู่ที่เรามากกว่าหรือเปล่า เราเป็นคนยังไง หนังที่เราฉายคืออะไร เรื่องเหล่านี้ล่ะมั้ง ที่น่าจะเป็นหัวใจของคำว่าอบอุ่น บรรยากาศความอบอุ่นที่ยังคงอยู่ พื้นที่อาจจะโออ่าขึ้นแต่ก็ยังอบอุ่นเหมือนเดิม
สามย่าน พระรามสี่ กับเรา สาม สี่ คน
จ๋อง : เริ่มแรกเราอยากได้คนที่เข้าใจความเป็นเฮาส์ มานำเสนอเฮาส์ในมุมมองใหม่ ๆ เลยชวนพี่คมสัน บอยตรัย และตั้ม ที่จบสถาปัตย์มา แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในวงการสถาปนิกมานานแล้ว มาช่วยกันออกแบบเฮาส์สามย่าน
ตั้ม : พอได้รวมกันแล้ว ลักษณะวิธีของการทำงานก็คือการ Brainstorm จากการที่คุยกันว่าเฮาส์คืออะไร เราก็ได้คำใหม่ ๆ ขึ้นมาหลายคำ เช่น Friendly Warm Cozy น่ารัก แต่ช่วงแรกที่ออกแบบกันก็มีคีย์เวิร์ดนึงเข้ามาจากพี่จ๋องว่า “ไม่เอา เก๊ก”
จ๋อง : เพราะพี่เก๊กพอแล้ว (หัวเราะ) อาร์ต หรือ ไม่อาร์ต เราไม่ได้สนใจ เราสนใจว่า ถ้าหนังไม่ดี มันก็ต้องสนุกน่ะ เราฉายหนังเล็ก ๆ ที่โรงหนังอื่นเขาไม่ค่อยฉายกัน เราทำแบบนั้นมันไม่ได้น่ะ เก๊กไม่ได้ ที่นี่มันต้องน่ารัก ต้อง Friendly เพราะลำพังหนังก็ขายได้ยากอยู่แล้ว เราเก๊กไม่ได้ด้วยเหตุนี้
ตั้ม : พอกลับมาทำก็ทำกันแบบ Old school เลยล่ะ วาด ๆ แล้วลืม ว่าถ้าพวกเราคิด ๆ คุย ๆ วาด ๆ ต่อไปแบบนี้มันน่าจะไม่รอด
คมสัน : ก็เลยไปเชิญ ออส สุเมธ มาเป็น สี่คน ก็เลยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และด้วยความที่ไอเดียมันเยอะมาก เราเลยต้องคิดถึงคำแรก ๆ ว่าเฮาส์เป็นยังไง ต้อง Warm Cozy Friendly มันเป็นบ้านของคนที่ชอบดูหนังแบบเฮาส์ และที่ยากที่สุดก็คือ ทุกคนก็คงถามว่าเฮาส์มีการเปลี่ยนแปลงไปขนาดนี้ เราจะทำให้เฮาส์ตรงนี้ยังมีความรู้สึกแบบเดิมได้ไหม ซึ่งตรงนี้สนุกมาก ว่าเราจะทำยังไงให้พื้นที่ตรงนี้มันมีอะไรที่ทำให้เดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่า เนี่ยเฮาส์
บอยตรัย : เราคิดไปเรื่อยเลย จนสุดท้ายก็กลับมาที่คำว่า เฮาส์ ชื่อของที่นี่เราก็เลยกลับมาที่คอนเซ็ปต์ “บ้าน” บ้านที่อยู่ในบ้าน บ้านที่อยู่ในอาคาร
จากการที่เลือกออกแบบด้วยสไตล์หรือคอนเซปท์นี้ คาดหวังให้ Experience ของคนรักการดูหนังที่มาดูที่นี่เป็นอย่างไร
กลิ่นอายของความอบอุ่นที่สะท้อนผ่านการออกแบบ
คมสัน : พื้นที่ส่วนแรกคือจุดซื้อตั๋ว เป็นส่วนแรกที่เราเห็น เป็นเหมือนส่วนต้อนรับ พยายามออกแบบให้มีไม้ ซึ่งในเฮาส์เดิมก็จะมีโทนสีน้ำตาล ที่คนคุ้นเคย
ออส : อย่างพื้นที่ตรงนี้ อยู่ติดกระจก และเพดานสูง มีวิวที่ดูน่าสนใจ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ที่จะใช้ฟังก์ชันเดิมที่เฮาส์เคยมี เราก็ใช้การดีไซน์มาช่วยให้คาแร็กเตอร์ของเฮาส์ไม่แข็งจนเกินไป อย่างเพดานที่เราใช้ตะแกรงหล็ก เราก็ทำฝ้าเป็นรูปก้อนเมฆซึ่งคุณบอยตรัย เป็นคนออกแบบ ก็ทำให้บรรยากาศของพื้นที่ตรงนี้ผ่อนคลาย น่ารัก อบอุ่น และดูอ่อนโยนขึ้น หรือ แม้กระทั่งห้องน้ำ ที่เป็นอีกส่วนสำคัญที่ใช้ต้อนรับแขก เราก็ยังต้องเลือกโทนสี เลือกวัสดุ และส่วนประกอบต่าง ๆ ให้มันดูน่าใช้งาน
ในมุมมองของคนรักหนัง คิดว่าการดีไซน์ของโรงหนัง มีอะไร บ้างที่ไม่ควรมี และอะไรบ้างที่ขาดไม่ได้ ?
ที่สุดในดวงใจ อะไรบ้างที่โรงหนังต้องมี
จ๋อง : จริง ๆ ไม่ได้คิดอะไร นอกจากให้มันนั่งสบาย มืด ๆ จอชัด ๆ เรื่องเสียงไม่เน้น สิ่งที่ควรมี มีอย่างอื่นอีกมากมาย แต่พี่ไม่สน พี่สนแค่ นั่งดี ๆ นั่งสบาย มืด จบแล้วชีวิต
คมสัน : เอาจริง ๆ เลยนะ ผมชอบดูโรงหนังที่ใกล้ห้องน้ำ นี่คือเกณฑ์หลักเวลาผมเลือกโรงหนัง ถ้าโรงหนังไหนที่ห้องน้ำไกล ๆ ผมจะรู้สึกว่ามันไม่เวิร์ก แล้วบังเอิญทีนี่ห้องน้ำก็ใกล้โรงหนังมาก 1- 2 นาทีเข้าห้องน้ำเดินกลับมาดูหนังต่อได้เลย
บอยตรัย : โรงหนังที่ผมชอบ อยู่ที่หนังที่เขาเลือกมา พอเป็นหนังที่เราชอบ บวกเข้ากับสิ่งที่เราอยากดูมันก็จะดึงดูดคนที่ชอบอะไรเหมือนกันเข้ามาในพื้นที่นั้น เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน
ตั้ม : สิ่งที่ทำให้เกิดเป็นสถานที่ได้ มันมีสเปช มีคน และบวกด้วยกิจกรรม ซึ่งเฮาส์มันมีครบอยู่แล้ว พอมันปรากฎออกมาแล้ว แล้วเราเห็นภาพตัวบ้านด้วย ภาพต่อไปมันเป็นเรื่องของคนแล้วที่จะเข้ามาเติมเรื่องราวต่อไป ซึ่งความเป็นบ้านมันก็คืออันนี้แหละ พอเป็นบ้านมันคือการเติบโตไปพร้อมกับตัวคน
จ๋อง : บ้านมันควรจะเป็นแบบนั้นไม่ใช่หรอ พื้นเราต้องเป็นรอยบ้าง เราใช้ชีวิตอยู่ที่นี่นี่นา ชีวิตมันคือสิ่งเหล่านั้น มันมีร่องรอยของความผูกพันธ์ ความสุขความเศร้า
ตั้ม : แล้วหนังมันเป็นสะพานเชื่อม เหมือนส่งไปที่อื่นสองชั่วโมง พอออกมาเราก็เจอบ้านบรรยากาศของบ้าน เป็นสิ่งที่ทุกคนมีความทรงจำร่วมกัน บางคนเก็บตั๋วหนัง บางคนก็มาถ่ายรูป บางคนก็ลงสตอรี่กับสายฉีดชำระ ทุกอย่างมันคือการเติมเรื่องราวเข้าไป
ดูหนัง ทานป็อปคอร์น ดื่มกาแฟ ความสุขของคนรักหนังกับราคาที่จับต้องได้
จ๋อง : ป็อปคอร์นเราขึ้นราคาแล้วครับ และตอนนี้เราก็มีร้านกาแฟ Sometime blue ให้ทุกคนได้ดื่มกันระหว่างรอดูหนัง จริง ๆ ถ้าเทียบกับชาวบ้านเราก็ยังถูกอยู่ดี อย่างตอนนี้ราคาตั๋วขึ้นมา 40% ราคาปกติก็อยู่ที่ 160 บาท ถ้าเป็นสมาชิกเฮาส์ก็ลดเหลือ 140 บาท คือจริง ๆ คิดอย่างนี้ก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะคืนทุนเนอะ แต่ก็ไม่อยากทำให้มันแพงเกินไป เราก็คิดว่าขึ้นแค่เท่าราคาที่มันสมเหตุสมผล เนื่องจากเดิมมันขาดทุนมาก ๆ
จ๋อง : เพราะจุดเริ่มต้นเราไม่ได้มองว่าอยากจะผลักดันให้คนรู้จักหนังมากขึ้น ตอนแรกผมกับอุ๋ยคิดจะทำโรงหนังนี้ด้วยแพชชันล้วน ๆ เลย เพราะเราแค่อยากให้มีโรงหนังแบบนี้บ้างในประเทศเรา ไม่ได้มีความคิดว่าเราจะต้องเป็นผู้บุกเบิก ผลักดัน ถ้าไม่มีใครทำเราคงต้องทำเอง แล้วก็หวังว่ามันจะอยู่ได้นานเท่าที่จะนานได้ คิดว่าอยู่สักสิบปีก็พอละ ก็เท่แล้วล่ะ แต่มันก็มาไกลกว่าที่เราคิด
หลังจากนั้นก็เป็นเรื่อง ทำอย่างไรให้มันเซอร์วิสคนได้ดีที่สุด พอย้ายมาเราก็คิดว่าเราควรบริการคนมากขึ้นหน่อยไหม จองตั๋วได้ มีแอปพลิเคชันขึ้นมา ให้คนได้ใช้งานสะดวกขึ้น เราไม่ได้มองเรื่องมาร์เก็ตติ้ง เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะทำ อย่างที่นี่โรงของเราก็มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และปริมาณที่มากขึ้น ถึง 3 โรง คือโรง 3, 4, 5 เราเริ่มนับที่โรง 3 เพราะโรง 1, 2 อยู่ที่อาร์ซีเอ โรงใหญ่สุดคือ โรง 3 มี 176 ที่นั่ง ตอนแรกเราอยากให้มี 200 ที่นั่ง แต่ออสวางได้ 176 ที่นั่ง
ออส : เพราะเราอยากให้คนดูได้นั่งดูหนังอย่างสบายเหมือนโรงเดิมครับ
คมสัน : ที่นี่เรามีสามโรง ก็เลยพยายามทำให้ภายในแต่ละโรงมีความแตกต่างกัน ที่ชอบที่สุดของเฮาส์เดิม ที่ใครไปก็จะรู้สึกว่ามันมีเบาะที่นั่งสบายแบบไม่ได้เจอที่อื่น เราก็เลยยกมาไว้ที่นี่ซะเลย (หัวเราะ) ซึ่งโรง 3 กับ 5 ก็จะมีเก้าอี้เดิมที่เรายกมาวางไว้ที่นี่ ใครที่คิดถึงประสบการณ์ความสบายที่เฮาส์เดิมก็มาสัมผัสได้ที่สองโรงนี้ เราจัดวางคละกับเก้าอี้ใหม่ที่เราพยายามเลือกให้นั่งสบายคล้ายกับเก้าอี้เดิม
จ๋อง : อย่างโรง 5 เราก็จะมี love seats แบบนั่งคู่ แต่บางแถวก็เป็นที่นั่งสำหรับ 3 คน