รวมยอดอาคารคอนโดสวยๆที่มีผลมาจากข้อกำหนดระยะ Set Back
ในปัจจุบันการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีดีไซน์ที่พัฒนาออกมาให้พบเห็นได้หลากหลายรูปแบบทั้งรูปแบบอาคารหน้าตาบ้านๆ Tradition ทั่วไป หรือจะเป็นแบบหรูหรามีการประดับตกแต่งด้วย element แบบคลาสสิค จนไปถึงดีไซน์แบบล้ำอนาคตด้วยรูปทรงเรขาคณิต แต่ทุกท่านสังเกตไหม ว่าจะมีรูปแบบอาคารอยู่ประเภทหนึ่งที่มีทรงอาคารเป็นแบบขั้นบันไดลดหลั่นกันไปตามชั้นที่สูงขึ้นหรือเป็นลักษณะมุมเฉียงลาดเอียงจนไปถึงยอดอาคาร ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะพบเห็นอยู่ตามแนวถนนใหญ่หรือตามเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งหลายๆคนที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์อาจจะพอทราบกันบ้างแล้วหรือบางคนอาจจะยังไม่ทราบ เดียวบทความนี้จะมาไล่เรียงที่มาที่ไปของการพัฒนาอาคารรูปทรงดังกล่าวว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ? รวมถึงจะรวบรวมตัวอย่างยอดอาคารสวยๆที่น่าสนใจมาให้ชมกันครับ
การพัฒนาอาคารที่มีรูปทรงอาคารเป็นแบบขั้นบันได มีสาเหตุเกิดจากข้อกฎหมายควบคุมอาคารที่กำหนดระยะร่นจากแนวเขตถนนสาธารณะ(Set Back) ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวจะบอกว่าเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการก็ว่าได้ แต่จากข้อกฎหมายดังกล่าวผู้ประกอบการหลายโครงการก็มีวิธีการออกแบบอาคาร หรือ Utilize บริเวณพื้นที่ยอดอาคารที่น่าสนใจ เพื่อสร้างให้เกิดความโดดเด่นและตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัย แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ระยะร่น (Set Back) มีที่มาที่ไปอย่างไร? และส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบใดบ้าง?
ภาพจาก: How the Industrial Revolution Fueled the Growth of Cities | HISTORY
โดยระยะร่น (Set Back) เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อควบคุมอาคารสูงภายในเมือง ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีต มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงยุคอุตสาหกรรมในฝั่งยุโรปที่มีการพัฒนาอาคารจำนวนมาก วางแนวอาคารติดๆกันทำให้ไม่ค่อยมีแสงส่องถึงพื้นล่าง เกิดปัญหาตามมาทั้งด้านสุขภาวะความสะอาด ด้านอาชญากรรม จึงเกิดมาตรการควบคุมความสูงอาคาร ซึ่งการควบคุมความสูงอาคารจะช่วยให้แสงแดดธรรมชาติ สามารถส่องลงมาถึงพื้นที่ทางด้านล่างที่คนในเมืองต้องใช้ชีวิตในทุกๆวันได้ เป็นการสร้างให้เกิดความปลอดภัยในการอยู่อาศัยในเมืองและเป็นการสร้างสุขภาวะเมืองที่ดี
โดยกฎหมายควบคุมจะเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ตามในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หมวด 4 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับ“แนวอาคารและระยะต่างๆของอาคาร” ระบุไว้ว่า
“ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใดต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด”
“ความสูงของอาคารให้วัดแนวดิ่งจากระดับบถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนของอาคารที่สูงที่สุดสำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยา ให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด”
ในกรณีที่อาคารนั้นมีสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารตั้งอยู่บนหลังคา ดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารด้วย ไม่ต้องนำความสูงของสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นนั้น มาคิดรวมเป็นความสูงของอาคาร
ผู้เขียนจึงขออธิบายให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น คือ ถ้าต้องการทราบว่า อาคารสามารถสร้างสูงได้กี่เมตร จะต้องเริ่มวัดจากระยะแนวราบจากจุดที่จะสร้างตึก จนไปถึงบริเวณเขตที่ดินฝั่งตรงข้าม นำมาคูณ 2 ก็จะเท่ากับความสูงของตึกที่สามารถสร้างได้ ยกตัวอย่างเช่นตามภาพด้านล่าง ณ ความสูงที่ตำแหน่งที่ 2 สามารถสร้างอาคารสูงได้ เท่ากับ ระยะ 2H = 2 คูณ 14 = 28 เมตร หรือ ณ ความสูงที่ตำแหน่งที่ 3 สามารถสร้างอาคารสูงได้ เท่ากับ ระยะ 2H = 2 คูณ 18 = 36 เมตร เป็นต้น นอกจากนี้อาคารจะสามารถสร้างสูงได้เท่าไร ยังต้องขึ้นอยู่กับข้อบัญญัติท้องถิ่นในประเด็นอื่นๆ อีกด้วย
เมื่อพอเข้าใจกันแล้วว่า ระยะร่น (Set Back) คืออะไร? หลายๆท่านอาจจะมีคำถามว่าแล้วแบบนี้ ทุกโครงการที่ติดระยะร่นก็ต้องมีรูปทรงอาคารแบบเดียวกันสิ ผู้เขียนจึงอยากจะขอยกตัวอย่างโครงการอาคารสูงที่น่าสนใจออกมาอธิบายสัก 6-7 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดจากข้อกฎหมายเดียวกันแต่พัฒนาออกมาให้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน ทั้งในด้านงานดีไซน์
Exterior ภายนอกอาคาร และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์กับผู้พักอาศัย