Telemedicine จะ disrupt โรงพยาบาลหรือไม่?!
ตั้งแต่มี Covid-19 กระแสของ Telemedicine หรือการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการโต้ตอบสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์แบบเรียลไทม์ก็เริ่มเป็นกระแสที่มาแรงขึ้น เนื่องจาก Telemedicine ช่วยให้คนที่อยากคุยกับหมอแต่ไม่ต้องการออกไปที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มได้มีทางเลือกในการเข้าถึงแพทย์โดยที่ตัวยังอยู่ในบ้าน
ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น Chiwii เว็บไซต์ปรึกษาหมอออนไลน์, แอปพลิเคชัน Raksa ป่วยทักรักษา, ใกล้มือหมอ, HD Honest Doctor, Diagme แอปคัดกรองโคเบื้องต้น และแพลตฟอร์มสำหรับพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอย่าง OOCA ให้เลือกใช้ตามสะดวก
ในขณะที่ธุรกิจ Telemed กำลังเริ่มมาแรงและเติบโตในไทย แต่ทางฝั่งอเมริกาถือว่าได้เติบโตล้ำหน้าไปมาก ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Statista พบว่ามูลค่าตลาด Telemed ในระดับโลกเติบโตขึ้นจาก 18.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 มาเป็น 30.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 และคาดการณ์ว่าจะขยายไปถึง 35.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และสูงถึง 41.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีหน้า
บางคนอาจมองว่า Telemed จะมา Disrupt โรงพยาบาล ด้วยความสะดวกในการเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพื้นฐานอื่นๆ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดำเนินการของโรงพยาบาล แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการมาของ Telemedicine ไม่น่าจะมา Disrupt โรงพยาบาลไปเสียทีเดียวแต่จะมาเป็นตัวส่งเสริมกัน เช่นเดียวกับในกรณีของธุรกิจค้าปลีกที่การเกิดขึ้นของออนไลน์ช้อปปิ้งที่ดูเหมือนจะทำให้การขายของแบบหน้าร้านตายจากไปในตอนแรก กลับเป็นส่วนที่เข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกันในภายหลังมากกว่า