CHAROEN KRUNG: OFF-TREND REAL ESTATE
Chapter 1: Lifestyle and Real Estate Opportunity
เมื่อพูดถึงทำเลทองสำหรับนักอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ คงหนีไม่พ้นทำเลติดรถไฟฟ้าที่เพียงแค่เริ่มก่อสร้างก็เริ่มมีคอนโดมิเนียมใหม่ ๆ ไปสร้างดักรอไว้ล่วงหน้าแล้ว สังเกตได้จากรูปแผนที่ด้านล่างที่แสดงการกระจายตัวของคอนโดมิเนียมระดับราคาต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับ Super Economy – Ultimate ในกรุงเทพฯ และโดยเฉพาะแสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวกันของคอนโดมิเนียมระดับ “High Class” ขึ้นไป ที่เป็นสัญลักษณ์สีแดงที่มักเกาะอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นผลการศึกษาจากงานวิจัย “Integration of Geomarketing Analysis and Spatial Econometric Approaches to Estimate the Hedonic Property Value of Residential Condominium Market in Bangkok Metropolitan Area” (ชญาณี โกวาภิรัติ, 2016) ในขณะที่เทรนด์ประชากรไทยไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะถึงจุดอิ่มตัวในปี 2565 และเริ่มลดลงหลังจากนั้น… แต่ด้วยเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาจากจีนทำให้ความต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยเฉพาะย่านรถไฟฟ้านั้นถูกบิดเบือนไปจากความต้องการที่แท้จริง อัตราดูดซับของตลาดที่อยู่อาศัยที่ลดลงนี่เองจึงเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนอสังหาฯ ที่เริ่มหันไปสนใจพื้นที่นอกกระแสที่มีความต้องการซื้อที่ชัดเจนกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของวิกฤตฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ แม้พื้นที่นอกกระแสจะมีอุปสงค์ที่จำกัดทำให้สร้างได้เพียงโครงการเล็ก ๆ และมียูนิตไม่มากก็ตาม
โดยพื้นที่นอกกระแสที่จะศึกษาในซีรี่ย์ “CHAROEN KRUNG: OFF-TREND REAL ESTATE” ต่อจากนี้ แม้จะมีความท้าทายในการพัฒนา แต่ก็มีความต้องการของตลาดแบบ Niche Market ที่ตรงกับเงื่อนไขตามที่กล่าวไป
แผนที่แสดงราคาเชิงพื้นที่แบ่งตามประเภทคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร (ชญาณี โกวาภิรัติ, 2016)
เจริญกรุง – เป็นชื่อถนนเส้นแรกที่ถูกสร้างด้วยเทคนิคแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 ในปี 2407 ที่ถูกชาวยุโรปกดดันรัฐบาลไทยให้สร้างขึ้นเพื่อที่อยากจะมีเส้นทางขี่รถม้าตากอากาศในกรุงเทพฯ
โดยอ้างว่า “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ”
การคุมคามทางทหารและอิทธิพลของชาติตะวันตกภายใต้ข้อผูกมัด Bowring Treaty (สนธิสัญญาเบาวว์ริง) ส่งผลให้รัฐบาลไทยจำยอมในการสร้างถนนเจริญกรุงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การรุกรานของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงนั้น เช่น การยกเลิกระบบการค้าผูกขาด ความเสื่อมของระบบควบคุมแรงงาน ความบกพร่องของระบบจัดเก็บภาษี ฯลฯ ทำให้พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในภาวะจำยอมและขัดสน ทางออกของรัชการที่ 4 เพื่อพยุงฐานะของพระองค์เองคือ “การหาผลประโยชน์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”
นำมาสู่การที่พระมหากษัตริย์ทรงจับจองที่ดินสองข้างทางถนนเจริญกรุงตลอดแนวยาวเพื่อก่อสร้างตึกแถวและนำออกเช่าให้แก่ประชาชน ตึกแถวในย่านเจริญกรุงจึงนับเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แรกในสยาม โดยสมัยนั้นผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมักใช้อาคารขายของค้าปลีกและชาวฝรั่งมักใช้อาคารเป็นห้างขายของนอก การขยายตัวของตึกแถวริมถนนเจริญกรุงโดยพระมหากษัตริย์และขุนนางได้สร้างย่านธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองหรือเรียกได้ว่าเป็น CBD – Central Business District แห่งแรกของไทย เราจึงเห็นได้ว่าพื้นที่นี่ส่วนใหญ่จึงรายล้อมไปด้วยตึกแถวแบบโบราณที่ถูกอนุรักษ์เอาไว้โดยสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำให้ปัจจุบันยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของชุมชนการค้าเก่าแก่ที่อยู่อาศัยและทำธุรกิจในบริเวณนี้มาหลายชั่วอายุคนที่ยังสามารถสัมผัสได้ (ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์, 2560)
ถนนเจริญกรุงตอนเหนือ ช่วงซอยเจริญกรุง 34 ราวปี พ.ศ. 2502
คูหาตึกแถวโบราณบนถนนเจริญกรุงตอนใต้ ช่วงซอยเจริญกรุง 85
หลายสิบปีมาแล้วที่ย่านเจริญกรุงเหมือนถูกลืมเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในวงแหวนรอบในของกรุงเทพฯ และไม่ได้รับความนิยมจากนักพัฒนาโครงการอสังหามากนัก ทำเลใกล้เคียงอย่างสีลม สาทร พระราม 4 กลับได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่าจึงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น CBD ในยุคปัจจุบันไปในที่สุด ทำให้ย่านเจริญกรุงถูกมองว่าเป็นเพียงย่าน CBD เก่า พัฒนาต่อยอดได้ยากและหมดศักยภาพในการพัฒนาต่อไปแล้ว จึงไม่มีความต้องการที่จะผลักดันให้ย่านนี้กลับไปเป็น CBD ดั่งในอดีต แต่เพราะถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยอาคารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่าง โกดังเก่า สถานทูตโปรตุเกสและฝรั่งเศส อาคารศุลกสถาน อาคารไปรษณีย์กลาง อาคารโอพีเพลส และวัดต่าง ๆ เช่น วัดยานนาวา วัดม่วงแค ฯลฯ ทำให้มันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมไทยและเป็น Hotspot ของชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการเที่ยวริมน้ำเจ้าพระยา มีเพียงบริเวณสถานี BTS สะพานตากสิน ช่วงตลาดบางรักและโรบินสันบางรักที่ยังคงคึกคัก มีการพัฒนาการค้าสมัยใหม่และยังเป็นที่นิยมของคนบริเวณโดยรอบที่มาจับจ่ายใช้สอยอยู่เสมอทั้งกลางวันและกลางคืน
ช่วงแยกบางรัก
ตลาดบางรัก ถนนเจริญกรุงตอนเหนือเวลาหัวค่ำ
ตลาดเสรี 2 ถนนเจริญกรุงตอนใต้เวลาตอนเย็น