จะทำอย่างไรเมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้นจนกระทบต่อสิ่งแวดล้อม? สรุปบทเรียนที่ได้จากงาน WATS Forum 2019 งานเสวนาด้านเทคโนโลยีและการออกแบบเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

ต่อทอง ทองหล่อ 10 June, 2019 at 00.00 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


เมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือ Developer ในฐานะที่เป็นกลจักรสำคัญในการสร้างเมือง สร้างโครงการ สร้างที่อยู่อาศัย จำเป็นจะต้องหันมาพัฒนาโครงการให้ตั้งอยู่ในความยั่งยืน ใช้นวัตกรรมที่ช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นเพื่อทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่จะเอาแต่สร้างโครงการโดยมุ่งหวังกำไรหรือบรรลุเป้าหมายทางการเงินอย่างเดียวแต่กลับทำลายสิ่งแวดล้อม ทุบ Space เดิม สลายชุมชนบริบทเดิม เพื่อสร้างโครงการต่างๆ สร้างอาคารห้องพักจำนวนมากๆ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาวะที่ดีของผู้คนรอบด้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกัน

 

หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามในการพัฒนาโครงการให้ออกมาในคอนเซ็ปต์ Eco-friendly แนวรักษ์โลก แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะถูกใช้เป็น Gimmick ทางการตลาดระยะสั้นเท่านั้น หรือการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการใส่พื้นที่สีเขียวไปเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำของ EIA ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ได้ช่วยสร้างความยั่งยืนในการอยู่อาศัยแต่อย่างใด ไม่ได้สร้างความน่าอยู่ให้กับเมืองอย่างแท้จริง

 

ประเทศไทยมี Developer ชั้นนำอยู่มากมาย บางแห่งมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) เพื่อรายงานผลการดำเนินงานที่มากกว่าแค่เรื่องที่จับต้องเป็นมูลค่าเงิน แต่มันคงจะดีไม่น้อยถ้าทุกฝ่ายจะหันมาใช้องค์ความรู้ในแบบเดียวและมีข้อตกลงร่วมเพื่อช่วยกันสร้างเมืองที่แต่ละบริษัทเข้าไปลงทุนทำให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้นไป แทนที่จะต่างคนต่างทำจนทำให้ไม่เกิด impact ที่มากเพียงพอ และยิ่งเมืองน่าอยู่มากขึ้น มูลค่าของเมืองก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ร่วมลงมือทำสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนให้เกิดขึ้น

 

และหนึ่งในจุดเริ่มต้นของแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มต้นขึ้นโดยการจัดงานที่ชื่อว่า WATS Forum 2019 บริหารการจัดงานโดยศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)

งาน WATS Forum เป็นหนึ่งในภารกิจตามกรอบแนวทางการดำเนินงานของ RISC ทั้ง 9 ประการ ที่จะมุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีที่ยั่งยืน (Sustainable well-being) ได้แก่ 1.Health & Wellness 2. Material & Resources  3.Biodiversity, Nature & Animals 4.Smart & Sensible Construction 5.Tech & Automation 6.Active & Low Impact Mobility 7.Community & Intergens 8.Education & Discovery และ 9.Climate change

WATS Forum คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับมวลมนุษย์

WATS Forum คือ งานเสวนาระดับนานาชาติที่รวบรวมนักวิชาการ สถาปนิก และนักออกแบบชั้นนำระดับโลกมาร่วมแบ่งปันความรู้ แนวคิดทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการใช้ชีวิตและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

 

WATS ย่อมาจาก Well-being, Architecture, Technology และ Sustainability ที่หมายถึงความเป็นอยู่ที่ดี สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และความยั่งยืน

WATS Forum เป็น platform ที่จะเชิญนักคิดระดับโลกมาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น นักวิชาการ สถาปนิก นักธุรกิจ นักออกแบบ อาจารย์ นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ค้นพบแรงบันดาลใจรวมถึงประชาชนทุกคนที่สนใจและห่วงใยอนาคตของมนุษยชาติและทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ได้มีเวทีร่วมกันแสดงความคิดเห็น

 

WATS Forum จัดโดยศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ มุ่งเน้นงานด้านการวิจัยและค้นคว้าวิธีการใหม่ ๆ ในการออกแบบและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของมนุษย์และทุกสรรพสิ่งบนโลก

 

งานเสวนา WATS Forum 2019 ครั้งที่ผ่านมา จัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2019 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีผู้ร่วมงานและให้ความสนใจอย่างคับคั่ง ถือว่ากระแสแนวคิดด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี(Well-being) เป็นที่สนใจในสังคมไทยมากขึ้นทุกปี

ภายในงานมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้สื่อข่าว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ ดำเนินงานด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด มีบริการหูฟังแปลภาษาไทย นอกจากนี้ก็มีบริการของว่างและน้ำดื่ม MQDC มาในบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ Tetra Pak ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

สรุปบทเรียนที่ได้จากงาน WATS Forum 2019 เหล่ากูรูพูดเรื่องอะไร?

งานเสวนาระดับสากล WATS Forum 2019 ครั้งนี้ได้พาเรามาเจอกับนักคิดและนักวิชาการระดับนานาชาติที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน โดยแต่ละท่านเป็น Speaker ที่มีผลงานโดดเด่นและมีแนวคิดเบื้องหลังที่น่าสนใจ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราทุกคนมาร่วมสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อโลกของเรา ได้แก่

 

ด้าน Well-being นำโดย ดาโช เชอริง ต๊อบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ผู้ที่ให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชนมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เขาเป็นนักการเมืองชาวภูฏาน หัวหน้าของพรรคประชาธิปไตยประชาชน เคยเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 2013 และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาแห่งชาติตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 ถึงเมษายน ค.ศ. 2013 ผู้ที่ให้ความสำคัญของความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness (GNH) มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ Gross Domestic Product (GDP) ของคนในประเทศ และยังสร้างมาตรฐานให้กับโลกในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

ด้าน Architecture และ Sustainability นำเสนอโดย สเตฟาน เดอ โคนิ่ง (Stefan de Koning) สุดยอดสถาปนิกระดับโลกจาก MVRDV ผู้มากความสามารถในด้านการออกแบบอาคาร Sustainability ด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์และนำมาผนวกในผลงานเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ชนะเลิศการแข่งขันด้านการออกแบบระดับนานาชาติมามากมาย อาทิ อาคาร The Gyre ที่โตเกียว, The Barcode House ที่เยอรมนี, Leira Bridge ที่โปรตุเกส และ The Cancer Centre ที่เนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านการออกแบบอื่นๆ ทั้งในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย รวมถึงเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่ Delft University อีกด้วย

 

ด้าน Technology รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ (Assoc. Prof. Yodchanan Wongsawat) ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพ (the inventor of ways for people with disabilities to control devices by thought) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับแรงผลักดันจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ตั้งใจร่ำเรียนศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก และได้นำความรู้และเทคโนโลยีทางด้านคลื่นไฟฟ้าสมองกับวิศวกรรมศาสตร์มาสร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเอกเพื่อช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพ ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนเหล่านั้นไปตลอดกาล

 

นอกจากนี้ก็มี Speaker ด้าน Technology อีกท่านคือ ศ.ดร.ไมเคิล สตีเวน สตราโน (Prof. Michael S. Strano) ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนไบโอนิค จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ผู้นำเอนไซม์และโมเลกุลของหิ่งห้อยมาพัฒนาเป็นต้นไม้เรืองแสง (Light-emitting Plants) โดยมีผลงานตีพิมพ์ด้านการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมกว่า 50 ฉบับ และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ซึ่งผลงานเด่นคือการพัฒนาเอนไซม์และโมเลกุลที่หิ่งห้อยใช้เปล่งแสงมาเพิ่มขีดความสามารถให้กับต้นวอเตอร์เครสให้ส่องสว่างและเรืองแสงได้เหมือนกับโคมไฟตั้งโต๊ะ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ RISC ต่อยอดพัฒนาโครงการต้นไม้เรืองแสงให้เสมือนเสาไฟฟ้าสว่างบนท้องถนน นับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงานและยังเพิ่มออกซิเจนให้กับโลกอีกด้วย

 

ซึ่ง speaker แต่ละท่านก็จัดเต็มมอบความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมได้อย่างดี เรามาดูกันว่ามีเนื้อหาอะไรกันบ้างครับ

 

แนวคิดทางด้านสถาปัตยกรรมที่อาจช่วยเปลี่ยนเมืองกรุงเทพในอนาคต

สำหรับในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องขอบอกว่าเนื้อหาด้าน Architecture ภายในงานวันนี้ถือว่าโดดเด่นและสร้างความหวังให้กับคนเมืองกรุงเทพได้อย่างมาก โดยคุณ Stefan de Koning สุดยอดสถาปนิกระดับโลกจาก MVRDV นำเสนอไอเดียที่น่าสนใจเพื่อการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม ความแออัด การจราจรที่ติดขัด รวมไปถึงเป็นเมืองที่มีต้นไม้ไม่เพียงพอ

 

นอกจากนี้มีการนำเสนอ Case Study จากงานดีไซน์ที่ผ่านมาของ MVRVD ในประเทศต่างๆ ที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ และยังมีการพูดถึงการพัฒนาโครงการที่นำเอาเอกลักษณ์ของเมืองแต่ละเมืองมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น Skybridge, เครือข่าย Shopping Mall, Buffer City และการพัฒนาโครงการ Residential ในรูปแบบ Market Square

 

เริ่มต้นเขานำเสนอไอเดียที่สุดขั้วให้ดู มันคือคอนโดฟาร์มหมูครับ เพราะอนาคตพื้นที่ปศุสัตว์ในแนวราบอาจไม่เพียงพอ

กรุงเทพมีปัญหาหลายอย่าง ปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่ในอากาศมีมลพิษสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

กรุงเทพเป็นเมืองที่มีปัญหาความแออัด

ในอดีตเมื่อปี 1920 หรือเมื่อร้อยปีก่อน การขยายตัวของกรุงเทพยังไม่สูง

จนปัจจุบัน ภาพปี 2015 กรุงเทพขยายตัวมากขึ้นหลายเท่าและจำนวนประชากรก็สูงขึ้นและจะสูงมากกว่า 9.4 ล้านคนในปี 2020 (ผู้เขียนมองว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะมากกว่านี้เพราะยังมีประชากรแฝงกลางวันและแฝงกลางคืนที่ยังไม่รวมมา)

เมื่อกรุงเทพโตขึ้นเราจะอยู่กันอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือโจทย์ที่ถามเหล่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ลองนำไปคิดดูครับ

คุณ Stefan พูดถึงซอยหรือถนนเล็ก ๆ ที่กรุงเทพมีเยอะ เลยนำมาคิดว่าถ้าเรานำซอยหลายๆ ซอยมารวมกันแล้วสร้างเป็นซอยแนวตั้งขึ้นมาล่ะจะเป็นอย่างไร

และพูดถึงกรณีศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิต โครงการอสังหาฯ ที่อินโดนีเซีย จากรูปจะเห็นว่าศักยภาพของที่ดินสามารถสร้างอาคารได้สูงสุดตามที่เห็นในภาพ

ด้วยบริบทของย่านนั้นประกอบไปด้วยซอยต่างๆ มากมาย แต่ละซอยมีการใช้สอยต่างกัน สีฟ้าอมเขียวเป็นที่อยู่อาศัย สีแดงคือพาณิชยกรรม และสีเหลืองคือที่พักหรือโรงแรม ผู้ออกแบบต้องการทำให้โครงการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและให้สังคมรอบข้างมีส่วนร่วมและเป็นหนึ่งเดียวกับโครงการจึงออกแบบการใช้สอยพื้นที่ภายในโครงการให้เป็นรูปแบบ mixed-use มีทั้งโซนร้านค้า โซนพักผ่อน ที่อยู่อาศัย และโรงแรมอยู่ในที่เดียวกัน เสมือนเป็นการรวมเอาซอยขึ้นมาอยู่ในที่เดียว

ผลงานการออกแบบโครงการจึงเป็นรูปแบบนี้ มีส่วนของห้างสรรพสินค้า

และพื้นที่พักอาศัย ที่ผสานฟังก์ชั่นสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปด้วย ทำให้เป็นโครงการอสังหาฯ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นได้อย่างดี

 

ต่อมาโจทย์ที่จะมาแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพ

ถ้าเราสร้าง connection มาเชื่อมต่อให้ผู้คนเดินทางในเมืองได้ง่ายขึ้นละมันจะเป็นอย่างไร

เขานำเสนอแนวคิดสร้าง The Skybridge เป็นเหมือนสะพานเดินเชื่อมโดยไม่ต้องใช้รถยนต์

เป็นการใช้พื้นที่แนวตั้งของเมืองให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และสร้างทางเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารต่างๆ

ผู้เขียนมองว่าแนวคิดนี้ก็คล้ายกับ skywalk ที่กรุงเทพมีในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมากที่สุดก็คือ R-walk แถวย่านราชประสงค์นั่นเองที่ผู้คนสามารถเดินทางจากสถานีสยามไปเชื่อมถึงสถานีชิดลมและผู้เขียนมองว่าอนาคตถ้าทำให้เชื่อมไปถึงสถานีพญาไท ราชเทวี เพลินจิต และสถานีสามย่านได้ด้วยก็จะดีมาก จะกลายเป็นการเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม และ Airport Rail Link เข้าไว้ด้วยกัน

 

โดยภาพตัวอย่างเป็นโครงการ Sky Garden ที่กรุงโซลประเทศเกาหลีใต้

ทางเดินบน Sky Garden มีต้นไม้ ที่นั่งพักผ่อน

และมีจุดต่างๆ ทำกิจกรรมหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นสำหรับเด็ก ห้องสมุดอ่านหนังสือ

แนวคิด Buffer Zone

พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในกรุงเทพมีจำนวนจำกัด

ถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กระจายไปทั่วเมืองกรุงเทพ และสร้างโครงการตึกสูงล้อมรับเพื่อทดแทนพื้นที่ราบที่นำมาทำพื้นสีเขียวไป ก็น่าสนใจดี

ตัวอย่างโครงการ Amanora Hills ที่อินเดีย มีการสร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่โอบล้อมพื้นที่สีเขียวตรงกลางไว้

ปัญหาเดินในเมืองไม่ได้เพราะร้อน คนเลยไปกระจุกตัวในห้างแอร์เย็นๆ ทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่มีห้างเยอะมากและนั่นทำให้ก่อปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น รถติด ความแออัด

จึงเกิดแนวคิดทางเดินในร่ม ถ้ากรุงเทพมีทางเดินในร่มเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย อาจจะทำให้เมืองเกิดการพัฒนาหลายด้านได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหารถติดได้ คนไม่ต้องมารวมในที่ใดที่หนึ่งจำนวนมากเกินไป

ตัวอย่างโครงการ Market Hall ที่เมือง Rotterdam

มีที่จอดรถด้านล่าง มีโซนร้านค้าสองชั้น และข้างบนเป็นอพาร์ทเมนต์ทั้งหมด โดยออกแบบให้เป็นคล้ายเกือกม้า ทำให้เกิดทางเดินในร่มขึ้นมาและมีพื้นที่ semi-outdoor เพื่อทำกิจกรรมได้หลากหลาย

แนวคิดการสร้าง Sponge Network เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

เปลี่ยนคลองให้เป็นสถานที่ที่น่ารื่นรมย์ คลองไหนเน่า ตะกอนนอนก้นก็ปรับปรุง

การปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Boulevard Chao Phraya)

 

แนวคิดการออกเเบบโครงการอสังหาฯ ในกรุงเทพและออกแบบเมืองกรุงเทพที่นำเสนอเหล่านี้ก็เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชีวิตของทุกคนที่อยู่ร่วมกันในเมือง และความสำเร็จในการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้จริงถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งรัฐและเอกชน

 

เกร็ดความรู้อื่นๆ ที่ได้จากงาน WATS Forum 2019

นอกจากองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีความรู้ด้านความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) และเทคโนโลยี (Technology) ต่างก็มีความสำคัญในการใช้ชีวิตของคนเราทุกคน

 

การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของรูปแบบอาคารที่สวยงามแข็งแรง ปลอดภัย แต่ต้องอยู่ที่ตัวบุคคลแต่ละคนในการดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบหลักของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ ดิน น้ำ แสงแดด ลม ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย ในฐานะมนุษย์เราจะสร้างประโยชน์อย่างไรและจะทำอย่างไรให้สรรพสิ่งในโลกยังอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 

จึงนำมาซึ่งคำถามและกระตุ้นจินตนาการว่า ถ้าหากเราสามารถ utilize นำพืชพรรณธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราโดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรได้นั้นจะเป็นอย่างไร เราจะใช้เทคโนโลยีอะไรที่ทำให้จินตนาการของเราเป็นจริงขึ้นมา เราจะทำพืชเรืองแสงเหมือนในภาพยนตร์ Avatar ได้หรือไม่ แล้วในอนาคตจะมีใครนำเทคโนโลยีพืชเรืองแสงนี้ไปใช้แก้ปัญหาให้กับส่วนใดของโลกเราได้บ้าง หัวข้อนี้มี ศ.ดร.ไมเคิล สตีเวน สตราโน (Prof. Michael S. Strano) ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนไบโอนิค จาก MIT ผู้นำเอนไซม์และโมเลกุลของหิ่งห้อยมาพัฒนาเป็นต้นไม้เรืองแสง ที่มานำเสนอหัวข้อ Using Nanoscience to Expand the Role of Living Plants and Trees to Help Humanity การใช้วิทยาศาสตร์นาโนเพื่อขยายบทบาทของพืชและต้นไม้เพื่อช่วยมนุษยชาติ

 

มีภาพพืชเรืองแสงที่สว่างในระดับที่พอจะอ่านตัวหนังสือได้

 

การใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อสร้างหน้าที่ใหม่ๆ ให้กับพืช เช่น ทำให้เกิด Leaf Prosthetic Photoabsorber พืชสามารถเพิ่มการสังเคราะห์ด้วยแสงและใช้ในการตรวจสอบทางชีวเคมีและมลพิษได้ พืชสามารถเป็น Chemical sensor ได้ นอกจากนี้พืชสามารถเรืองแสงกลายเป็น Light-emitting plant และยังสามารถช่วยบอกว่าเวลาใดจะเกิดภัยแล้ง (Drought Sensor)

การทดลอง nanobionic เพื่อให้พืชเรืองแสงได้

Nanobionic Light Emitting Plant เกี่ยวกับการทำงานของพืชเรืองแสงและสิ่งที่ทำให้เกิดแสง

แนวคิดวิธีการเปลี่ยนพืชให้เรืองแสงคือบรรจุ nanoparticle เข้าไปในพืชให้เกิดปฏิกิริยาในระดับเซลล์

ภาพจินตนาการที่ผู้บรรยายให้เราดูว่าอนาคตต้นไม้ในเมืองอาจจะเรืองแสงได้แบบนี้ก็เป็นไปได้

ในอนาคตถ้าการมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ เราอาจได้เห็นไม้เรืองแสงแบบในหนัง Avatar

หากใครสนใจแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพืชเรืองแสงก็สามารถติดต่อได้ตามอีเมลด้านล่าง หรือเข้ามาที่ศูนย์วิจัย RISC ให้เป็นจุดเชื่อมโยงก็ได้ครับ

หัวข้อถัดมาเป็นเรื่อง อุปกรณ์ควบคุมด้วยสมองที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้พิการ (Brain-controlled devices for the well-being of people with disability) โดย รศ.ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์

การบรรยายของ รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ในครั้งนี้ นอกจากเนื้อหาด้านสิ่งประดิษฐ์แล้วยังสร้างแรงบันดาลใจที่ประทับใจให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมากจนได้รับเสียงปรบมือที่ดังยาวนาน เนื้อหาสาระที่ได้มา อาจารย์ได้พาเราทุกคนร่วมกันคิดแก้ปัญหาว่าถ้าเราเป็น Severe disability หรือเป็นผู้พิการขาดอวัยวะที่สำคัญต่างๆ ขึ้นมาเราอยากได้อะไร เช่น ถ้าเราเป็นคนตาบอดที่มองสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่เห็น เราอาจจะอยากใช้ไม้เท้า ฟุตบาทเบรลล์ เพื่อเดินไปที่ไหนก็ได้อย่างปลอดภัย แต่แท้จริงแล้วการที่ทำให้คนตาบอดกลับมาใช้ชีวิตได้คือการทำให้เขากลับมามองเห็น ถ้าหากเราร่วมมือกันหลายๆ ศาสตร์ ใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเราอาจจะตีโจทย์ใหม่และสร้างจอตาเทียม (Artificial Retina) เพื่อปลูกถ่ายให้กับผู้พิการทางสายตา

สิ่งประดิษฐ์ของอาจารย์ที่เคยผิดพลาดล้มเหลวมาหลายครั้ง ปัจจุบันก็ทำได้สำเร็จและใช้งานจริงได้แล้วนั่นคืออุปกรณ์ควบคุมด้วยสมองเพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็น severe disability ด้าน Mobility/gross motor skill ที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ กลับมามีชีวิตเหมือนเดิมไปไหนมาไหนได้ กลับมาทำอะไรก็ได้อย่างใจคิด ซึ่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากคนในครอบครัวที่มีภาวะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) ทำให้มีผลให้ร่างกายเป็นอัมพาต แต่สิ่งที่ผู้ป่วยอัมพาตยังทำได้อยู่การคิด การกระพริบตา จึงได้คิดค้นอุปกรณ์ที่ควบคุมโดยการมอง การกระพริบตา และการคิดในสมอง เพื่อเปิดปิด TV ใช้คอมพิวเตอร์

แม้กระทั่งใช้สมองควบคุมการเคลื่อนที่ของรถเข็น

โดยในเฟสต่อไปอนาคตจะพัฒนาให้ควบคุมการบินของ drone เพื่อให้ผู้ป่วยเสมือนได้ออกไปผจญภัยข้างนอกได้อย่างเสรี

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอก key message ที่ว่า เราต้องพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคนบนโลกนี้ เพราะคุณอย่าลืมว่ามีคนที่เผชิญกับภาวะ severe disability อยู่สูงถึง 190 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่ได้เลยทีเดียว

 

อะไรคือแก่นที่ได้รับจากงาน WATS Forum 2019 ในครั้งนี้

Well-being หรือ “ความเป็นอยู่ที่ดี” ยังเป็นคำที่ไม่มีนิยามชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามความเป็นอยู่ที่ดีเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกวงการต้องสนใจและประสานความร่วมมือข้ามกรอบซึ่งกันและกัน (collaboration) ระหว่างวงการแพทย์ วิทยาศาสตร์ นักออกแบบ นักธุรกิจ และ user เพื่อร่วมกันทำให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดี ไม่เช่นนั้นความสำเร็จของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ควบคุมร่างกายด้วยสมองสำหรับคนไข้อัมพาตที่ทำให้ชีวิตคนไข้มีความสุขก็คงไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ Happiness ความสุขสามารถวัดได้ด้วยมาตรฐานชี้วัดที่คนใดคนหนึ่งคิดขึ้นมาวัดก็จริง แม้ภูฎานจะมีดัชนี GNH วัดความสุขมวลรวมแห่งชาติ แต่ความพึงพอใจนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องรู้ตัวเองและสร้างสุขขึ้นเองได้

 

Architecture สถาปัตยกรรม การออกแบบ จะมีผลต่อชีวิตทุกอย่างนอกเหนือจากคนด้วย สิ่งที่ต้องตระหนักไม่ใช่  business centric design อีกต่อไป ธุรกิจอสังหาฯ ใช่ว่าจะสามารถใช้แกนคิดเรื่องเงินความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นที่ตั้งอย่างเดียว เพราะนานๆ ไป จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในสังคม แต่ต้องคำนึงถึง human centric design และ society centric design เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันไม่ใช่แค่ตอบโจทย์บางชนชั้น คอนเซ็ปต์เมืองสีเขียว เมืองเดินเท้า เมืองคลองน้ำใส ย่านน่าอยู่ ย่านความสุข ย่านขายของดี เป็นโจทย์ที่น่าตั้งคำถามโดยเฉพาะกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่ทำอสังหาริมทรัพย์

 

Technology เทคโนโลยีใดๆ ก็ตามต่างต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์ แม้ต้นไม้เรืองแสงจะดูโดดเด่น แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าคนจะเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้จริงเมื่อไหร่ในรูปแบบใด แต่เราต้องทำต่อไป

 

Sustainability การสร้างความยั่งยืนเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจและแม้กระทั่งตัวบุคคลก็ต้องคำนึงถึง เพราะอนาคตโลกจะมีประชากรมากขึ้น แต่ทรัพยากรในโลกมีแต่จะลดลง ดังนั้นถ้าใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ตระหนัก ผลการกระทำของเราวันนี้จะส่งผลต่อลูกหลานของเราอย่างแน่นอน

 

“ จงตระหนักและลงมือแก้ปัญหา
เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเราและของทุกสรรพสิ่งบนโลกดีขึ้น ”

 

งานเสวนาครั้งนี้น่าจะเป็นอีกย่างก้าวสำคัญในการที่จะสร้าง Awareness ของการรู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า สร้างวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Developer รายใหญ่ๆ ในประเทศไทย

 

และแน่นอนว่าเราจะได้เห็นแนวคิดต่างๆ จากงาน WATS Forum เป็นรูปธรรมในโครงการอนาคตของ MQDC อย่าง Mulberry Grove และ The Aspen Tree รวมถึงอีกสารพัดโครงการที่จะเกิดขึ้นใน The Forestias แบรนด์ Magnolias และ Whizdom แต่เหนือสิ่งอื่นใด ดัชนีที่จะใช้วัดความสำเร็จของงานนี้ คือ การช่วยให้หลายฝ่ายตระหนักรู้ และใส่ใจช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ภายใต้การนำของบรรดา developer ชั้นนำหลายแบรนด์ที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้

 

แนวคิดการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนนี้ไม่ใช่แนวคิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นแนวคิดสากล (Universal Concept) ที่ใครๆ แม้จะเป็นองค์กรใหญ่หรือหน่วยย่อยระดับครอบครัว ก็สามารถมาร่วมสร้างสรรค์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติและเป็นมิตรต่อสรรพสิ่งทั้งจักรวาลได้

WATS Forum 2020 ในปีหน้าจะมีเนื้อหาอะไรมานำเสนออีก โปรดติดตามได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC www.risc.in.th

 

สามารถรับชมการเสวนา WATS Forum 2019 ฉบับเต็มได้ที่ 

RISC introduction https://www.youtube.com/watch?v=NKr5IBVb2lk

Keynote speakers https://www.youtube.com/watch?v=muzvjV5gENo

Panel Discussion “Well-being Today and Tomorrow” https://www.youtube.com/watch?v=3zjgQXKfEMc

 

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเยี่ยมชม

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเป็นที่รู้จักในนามMQDC คือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียมและ Mixed-use ภายใต้แบรนด์ Magnolias, Mulberry Grove, The Aspen Tree, Whizdom มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่างและคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว หรือ For all well-being จึงจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ให้เป็นศูนย์การวิจัยชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะและความยั่งยืน

 

RISC ตั้งอยู่ที่ย่านราชประสงค์ กรุงเทพฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 990 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 8 โซน มีการติดตั้งระบบอัจฉริยะ (Intelligent System) ตรวจจับการใช้พลังงานและตรวจจับคุณภาพอากาศ (IAQ) และควบคุมในทุกพื้นที่ เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้อยู่ภายในศูนย์ฯ นอกจากนี้ศูนย์ RISC ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจาก WELL Building Standard จาก the International WELL Building Institute (IWBI) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ การออกแบบเพื่อสุขภาวะและความยั่งยืน

 

RISC มุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอสังหาริมทรัพย์ และเป็นที่ตั้งของ Eco Material Library ที่รวบรวม แสดงรายละเอียดและตัวอย่างวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 400 รายการ

คลิกชมวิดีโอแนะนำศูนย์ RISC ได้ที่นี่ https://youtu.be/GWR857KZMis

 

และหากใครที่สนใจร่วมมือกันเพื่อสร้าง well-being สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคม ขอเชิญเข้าไปพบปะผู้คนที่ศูนย์วิจัย RISC ได้เลยครับ ติดต่อสอบถามได้ที่ www.risc.in.th ที่นี่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์วิจัยครับ

ติดตามทาง Facebook ได้ที่ www.facebook.com/riscwellbeing

 

#WATSForum2019 #WellBeing #Architecture #Technology #Sustainability #RISC #MQDC

ขอบคุณที่ติดตามอัพเดตบทความอสังหาฯ ใหม่ๆ จาก www.propholic.com

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและบทความที่เกี่ยวข้องกับ Well-being

Bionic plants: Synthetic nanoparticles enhance photosynthetic activity of plants

พาชมศูนย์วิจัย RISC กับพันธกิจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน จนทำให้ MQDC กล้าที่จะรับประกันงานก่อสร้างนานถึง 30 ปี

Well-being and Sustainability Forum Bangkok 2018 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2018 https://youtu.be/M_8QXYQ_vJg

ECO-FRIENDLY IS THE NEW LUXURY TREND เมื่อเทรนด์ความหรูหราที่แท้จริงเปลี่ยนไป

วิธีแก้ไขรถติด รถไฟฟ้าแน่น คือ WORK ANYWHERE ไม่ต้องออกจากบ้านไปทำงานในเมือง ใช้ชีวิตแบบ FREELANCE & DIGITAL NOMAD

ทำไมผู้สูงอายุยุคนี้ควรจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ย้ายจากบ้านมาอยู่คอนโดมิเนียม

เมื่อ LOCATION ไม่ได้ถูกใช้เป็นจุดขายหลัก

ต่อทอง ทองหล่อ

ต่อทอง ทองหล่อ

บรรณาธิการสื่อเกี่ยวกับการศึกษา และ Blogger ผู้มีผลงานการวิเคราะห์ด้านอสังหาฯ มามากกว่าร้อยบทความ ยังเป็นผู้สนใจลงทุนคอนโดมิเนียม ชอบใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad รักการเดินเท้าและเลือกใช้ขนส่งมวลชนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทำเลสถานที่ผ่านมุมมองการเข้าใจมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็น Active Citizen ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองผ่านงานเขียนและเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมรัฐกับประชาชน เป้าหมายระยะยาวต้องการเห็นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม ติดตามผลงานได้ที่ https://matttortong.weebly.com

เว็บไซต์

นิว เอปิค อโศก-พระราม 9

นิว คอร์ คูคต สเตชัน

ศุภาลัย แกรนด์ เอสเซ้นส์ อรุณอมรินทร์

ทำเลฝั่ง “ธนบุรี” ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...

6 November, 2024

ศุภาลัย ธาม เจริญนคร

เป็นคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ของศุภาลัย ที่เป็นผู้เชี่ย...

2 November, 2024

นิช ไพรด์ เอกมัย

Unimaginable Life ชีวิตเกินจินตนาการใจกลางเอกมัย หาก...

21 October, 2024

ศุภาลัย บลู สาทร-ราชพฤกษ์

ทำเลสถานีบางหว้า คือสถานี Interchange สำคัญของชาวฝั่...

17 October, 2024

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง