อะไรคือมะเร็งร้ายที่ทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์ขาดเสถียรภาพ
มะเร็ง ถ้าเกิดขึ้นในร่างกายของเราก็จะทำให้เราเจ็บป่วย สุขภาพไม่ดีก็ตามมา หนทางของเราคือหาทางรักษา ถ้ามะเร็งยังอยู่ในระยะขั้นต้นแล้วรีบรักษาก็อาจทำให้เราสุขภาพดีเหมือนเดิมได้ แต่ถ้าเราปล่อยให้มะเร็งยังคงเติบโตต่อไปในร่างกาย การเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่เป็นวิกฤติด้านสุขภาพก็จะมาถึง ในการบริหารจัดการธุรกิจวงการต่างๆ ก็เฉกเช่นเดียวกับสุขภาพร่างกายของเรา ปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ในแง่ลบของวงการธุรกิจนั้นๆ ก็เปรียบเสมือนมะเร็งที่เกาะกินไปจนทำให้ธุรกิจวงการนั้นเข้าสู่ภาวะสภาพแย่ (Unhealthy) ที่ยากจะเยียวยา
อะไรคือมะเร็งร้ายของวงการอสังหาริมทรัพย์
วงการอสังหาฯ ในประเทศแคนาดา ที่รัฐบริติสโคลัมเบีย คงต้องยกตำแหน่งให้กับ “เงินสกปรก” หรือ Dirty Cash เป็นมะเร็งร้ายที่สำคัญที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในแคนาดาเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
เงินสกปรกคืออะไร
เงินสกปรกก็คือเงินที่ได้มาด้วยวิธีการต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย เมื่อมีเงินสกปรกก็จำเป็นต้องฟอกเงินเหล่านั้นให้เป็นเงินสะอาด หนึ่งในวิธีการฟอกเงินในบริติสโคลัมเบียคือการซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยไม่ใช้ชื่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ตึกแถว แล้วโอนกรรมสิทธิ์กระจายไปให้บุคคลที่ใกล้ชิด ลูก หลาน ญาติ พี่น้อง
เมื่อมีดีมานด์การซื้อจำนวนมาก ราคาอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคากลไกตลาดปกติ ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้คนที่อยากมีบ้านหลังแรกไม่สามารถซื้อได้หรือซื้อได้ยากลำบาก เกิดภาวะฟองสบู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ สุดท้ายส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขาดเสถียรภาพ
แต่สำหรับวงการอสังหาฯ ประเทศไทย สาเหตุสำคัญที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ขาดเสถียรภาพนั้นไม่ได้เกิดจากเงินสกปรกเหมือนที่ประเทศแคนาดา แต่อาจเกิดจากความประมาทของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น
– กลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อที่ผิดพลาด ขาดการวิเคราะห์สินเชื่อที่ดี
– กลุ่มคนที่คิดจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบ ”จับเสือมือเปล่า” โดยไม่ศึกษาความเสี่ยง
– กลุ่มนักลงทุนมือใหม่ขาดประสบการณ์และถูกชักจูงโดยกลุ่มแนะนำคอนโดเงินเหลือ
– กลุ่มที่มีฐานะการเงินเปราะบาง ไม่มีเงินออมมากเพียงพอ แต่อยากเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์
– กลุ่มคนที่คาดหวังว่าเมื่อได้เข้ามาลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนที่สูงจากการปล่อยเช่าหรือการขายต่ออสังหาริมทรัพย์โดยมีความเชื่อฝังหัวว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
โดยสรุป กลุ่มคนที่จะสร้างปัญหาให้กับวงการอสังหาฯ คือกลุ่มคนที่บริหารรับมือกับความเสี่ยงไม่เป็นนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยประกอบที่ส่งผลทางอ้อมให้เกิดมะเร็งร้ายในวงการอสังหาฯ เช่น การที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เพิ่มออกมาขายอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษายอดขายในแต่ละปี แต่ในเมืองกลับมีความต้องการของผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ต่ำกว่าจำนวนยูนิตที่สร้างขึ้นมา ประกอบกับมีกลุ่มคนที่คิดจับเสือมือเปล่าในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศด้วยก็ดี (Investment Demand) ทำให้มีปริมาณอสังหาริมทรัพย์ในตลาดในคนเลือกเช่าหรือเลือกซื้อมากเกินไป (Over supply) ส่งผลให้ปล่อยเช่าได้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะได้ (Low Rental Yield) รวมถึงราคาขายต่อ (Resale) ของอสังหาริมทรัพย์อาจจะปรับลดลงตามความเสื่อมของตัวเองหรือราคาชนเพดานคงที่ไม่ขยับขึ้น