ทำไม owner ควรเลิกโพสต์ขายอสังหาแบบ “เจ้าของขายเอง” ได้แล้ว และควรหันมาใช้เอเจ้นต์แทน
คนวงการอสังหาไทยอาจจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าในประเทศไทยมีสภาพธรรมชาติของตลาดซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่แปลกประหลาดกว่าประเทศสากลอื่นๆ จนอาจเรียกได้ว่าไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จจากต่างประเทศมาทำตลาดอสังหาที่ไทยได้แบบตรงๆ แต่ต้องเอาแนวทางมาประยุกต์พลิกแพลงจนเป็นไทยสไตล์ให้ได้ถึงจะอยู่รอด
แต่ว่าทุกอย่างสร้างขึ้นมาได้…ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยเปลี่ยนสภาพตลาดอสังหาไทยได้บ้างครับ
บทความนี้จะขอยกตัวอย่างความแตกต่างที่สำคัญระหว่างตลาดอสังหาไทยกับต่างประเทศอย่างหนึ่งนั่นก็คือ “ตลาดอสังหาไทย ใครๆ (หน้าไหน) ก็ขายอสังหาได้ …แต่ในต่างประเทศไม่ใช่ทุกคนที่ขายอสังหาได้”
ที่ต่างประเทศ คนขายอสังหาจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นตัวแทนอสังหาฯ ถึงจะมีสิทธิ์ขาย เค้ามีสมาคมวิชาชีพของเหล่าเอเจนต์อสังหาโดยเฉพาะ มีข้อบังคับมีกฎหมายที่ควบคุมขั้นตอนการซื้อขายและมีกลไกที่ทำให้การใช้เอเจนต์เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เอาไว้ด้วย
แต่ในไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับนายหน้ามาบังคับ การเลือกใช้เอเจ้นต์นั้นเป็นภาคสมัครใจของเหล่า owner เท่านั้น
ขอแวะออกนอกประเด็นนิดหน่อย เราลองมาดูกรณีศึกษาที่เกาหลีใต้กันครับ
การซื้อขายรวมถึงเช่าอสังหาจะต้องทำผ่านการบริการของเอเจนต์ทั้งหมด (Brokerage Service : 중개서비스 จุงเกซอบิสึ) การจะเป็นเอเจนต์ได้ต้องไปสอบสิ่งที่เรียกว่าคงอินจุงเกซา (공인중개사 ) หรือ Licensed Real Estate Agent และไปขึ้นทะเบียนกับ Human Resources Development Service of Korea เพื่อให้ได้มาซึ่งหมายเลขทะเบียนตัวแทน (Registration number) เพื่อใช้ทำงานเป็นตัวแทนอสังหาแบบถูกกฎหมาย โดยการสอบมีการแข่งขันสูงมากเพราะเนื่องจากตลาดแรงงานแข่งดุเดือด มีคนว่างงานเยอะและแห่กันมาสอบจุงเกกันเยอะมากเพื่อจะทำอาชีพนี้ การจัดสอบนายหน้าอสังหาแบบนี้มุ่งหวังเพื่อพัฒนามาตรฐานวิชาชีพดังนั้นเนื้อหาของข้อสอบจะมีความเข้มข้นและครอบคลุมตั้งแต่ความเข้าใจเกี่ยวกับอสังหาฯ, เศรษฐศาสตร์อสังหาฯ, นโยบายรัฐ, ภาษี, ทฤษฎีและเทคนิคการลงทุนอสังหา, การเงิน, property management, การตลาดและการโฆษณาอสังหา, การประเมินค่าราคาอสังหา, กฎหมายเรื่องสิทธิ์ นิติกรรม กฎหมายแพ่ง กฎหมายคุ้มครองต่างๆ
เรียกได้ว่าใครสอบผ่านก็ถือว่าเป็นมืออาชีพพร้อมทำงานได้ทันที (พูดง่ายๆ คือลูกค้าจะไม่เจอเอเจ้นต์ที่น่าปวดหัวนั่นเอง) โดยช่วงปี 2021 มีสถิติตัวแทนอสังหาขึ้นทะเบียนทั่วประเทศเกาหลีประมาณ 117,738 ราย ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าร้านสะดวกซื้อเสียอีก มีการแข่งขันกันแบบค่อนข้างลากเลือดกันเลยทีเดียว และส่วนใหญ่เป็นนายหน้าอิสระเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้มีสายป่านยาว ทำให้พบปัญหาว่ามีนายหน้า 2 กลุ่มโดยมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน กลุ่มแรกที่ยัง active ยังอยู่ในธุรกิจได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ give up เลิกทำธุรกิจตัวแทนอสังหาไปแล้วเพราะแข่งขันไม่ไหวเนื่องจากรัฐประกาศลดค่าธรรมเนียมของเอเจ้นต์ นักวิเคราะห์บอกว่าเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดอิ่มตัว ผู้คนไม่ค่อยซื้อขายอสังหา ราคาอสังหาสูงเกินไปจนผู้ซื้อก็บ่นว่าขอลดค่าใช้จ่ายเท่าที่จะเป็นไปได้ บวกกับปัญหาจำนวนนายหน้าเฟ้อเยอะมากเกินไปทำให้มีปัญหาต่อการแบ่งเค้กในตลาดเอเจนต์อสังหา ทำให้สภาพตลาดเอเจ้นต์อสังหาในเกาหลีก็ไม่สู้ดีเท่าไหร่ (ปัญหานี้คล้ายกับตลาดไทยนะครับ เอเจ้นต์ไทยก็อยู่กันได้ยากลำบากเหมือนกัน ต้องมีอาชีพเสริมที่สองที่สามหรือขายอย่างอื่นเพิ่มมาถึงจะอยู่รอด)
แม้ข้อมูลด้านบนจะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบเกี่ยวกับการมีอยู่ของเอเจ้นต์อสังหา การเล่าถึงแง่ลบก็เพื่อไม่ให้เราเดินตามรอยความผิดพลาดที่สังคมอื่นเคยทำมาก่อนและหาทางป้องกันแก้ไขไว้ล่วงหน้า ส่วนแง่บวกก็เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้เป็นต้นแบบการพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ดี การเลือกใช้เอเจ้นต์อสังหาเป็นตัวกลางในการซื้อขายเช่านั้นก็ยังสร้างผลประโยชน์ให้กับฝั่ง owner อยู่เสมอมา
บทความจั่วหัวเอาไว้ว่า ทำไมเจ้าของอสังหา ควรเลิกโพสต์ขายเอง ว่าแต่มันมีเหตุผลอะไรบ้าง แล้วในฐานะคนขายอสังหาควรจะรักษาสภาพตลาดให้เป็นแบบไหนถึงจะ happy กันทุกฝ่าย แล้วทำไม owner ต้องเลิกขายเอง ถ้าขายเองต่อไปเรื่อยๆ สภาพตลาดมันจะเป็นยังไง แล้วในฐานะ owner จะสูญเสียอะไรบ้างถ้ายังไม่หยุดพฤติกรรมขายเอง เรามาดูกันครับ