ข้อเท็จจริง และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ระหว่างอสังหาฯรูปแบบ Freehold และ Leasehold
ในปีนี้เราจะมีโอกาสได้เห็นโครงการ Leasehold ที่กำลังจะสร้างเสร็จพร้อมอยู่หลายที่ครับ และก็ในหลายระดับราคาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ONE Bangkok Residence (Tentative Name), AMAN Nai Lert Bangkok, Thirty Three Residences, The Old Siam Residence รวมไปถึงโครงการบ้านอย่าง 89 Residence I Ratchada – Rama9 ครับ โดยโครงการเกือบทั้งหมดนี่ก็ไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติเป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่ก็กลับกลายเป็นที่หมายปองของคนไทยหลายๆคนด้วยเช่นกัน แม้ว่าหลายๆโครงการจะมีราคาขายที่ทำสถิติสูงที่สุดต่อตรม.เหนือกว่าตลาดคอนโด Freehold ในย่านเดียวกันซะอีก! นอกจากนี้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อที่ชอบความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ทั้งคนเจนใหม่ที่อยากอยู่ในทำเลที่สะดวกกลางเมือง ไม่อยากมีภาระผูกพันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการดูแลรักษา ปรับปรุงคอนโด ประกันภัย ฯลฯ รวมถึงแบกรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องส่งมอบสินทรัพย์ให้ใครเพื่อเป็นมรดก และเจน Silver Age ทั่วโลกที่ไม่ได้มีลูกหลาน ก็มักจะให้ความสำคัญกับการใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์มากกว่าการใช้เงินซื้อเพื่อครอบครองกรรมสิทธิ์ ทำให้อสังหาฯในรูปแบบ Leasehold ที่มีแต้มต่อชัดเจนกว่าในเรื่องทำเล และคุณภาพในการก่อสร้างที่จำเป็นต้องส่งมอบความทนทานในการใช้งานที่ยาวนานกว่าไปจนครบอายุสัญญา เป็นกลุ่มตลาดอสังหาฯที่น่าจับตามองมากๆในสายตาผม ยิ่งหากในอนาคตอันใกล้ถ้ารัฐบาลสามารถดำเนินเรื่องในการขยายสิทธิ์การเช่าได้จริง ผมก็เชื่อว่าจะช่วยสร้าง Demand Switching ได้อีกมาก ดั่งเช่นที่ทางพี่โด่ง พีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย และ CEO ออริจิ้น ได้เคยหล่นคำพูดเอาไว้กับสื่อหลักอย่างมติชนสุดสัปดาห์ว่า “หากการขอขยายสิทธิ์การเช่า จาก 30 ปีเป็น 99 ปี ถ้าทำได้จริงจะมีเอฟเฟ็กต์ระดับนิวเคลียร์ สร้างแรงกระเพื่อมไปไกลได้ทั่วโลก เพราะอสังหาฯ ไทยเป็นที่หมายปองของนักช้อปต่างชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”
รูปแบบคอนโดประเภท Leasehold นั้นดูจะเป็นเรื่องที่เราเห็นเป็นปกติทั่วไปในเมืองใหญ่ๆทั่วโลกครับ ในหลายๆประเทศ ทั้งใน สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง, จีน และสิงค์โปร์ โดยในบางประเทศที่กล่าวมานั้นตลาดคอนโด Leasehold ครองส่วนแบ่งที่มากกว่า Freehold แบบเห็นได้ชัด ในทางกลับกับตลาดคอนโด Leasehold ในกรุงเทพฯมีจำนวนไม่ถึง 1% จากจำนวนคอนโดทั้งหมดในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองที่มีศักยภาพสูง บริเวณรอบข้างไม่สามารถหาซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในขนาดเท่าเทียมกันเพิ่มเติมได้แล้ว เพราะเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นของหน่วยงานราชการ และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยในกรุงเทพฯคอนโด Leasehold ที่ถูกพัฒนาบนที่ดินของเอกชนนั้นยังมีค่อนข้างน้อยอยู่ แม้คำจำกัดความของคำว่า Leasehold นั้นจะดูไม่เป็นปัญหาในการซื้อของคนต่างชาติส่วนใหญ่ แต่คอนโด Leasehold ในเมืองไทยก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการถือครองสิทธิ ที่น้อยกว่าในต่างชาติ (ในต่างชาติจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 99 -999 ปี) และที่สำคัญก็คือมันน้อยจนเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนจากคอนโด Freehold ที่คนที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในคอนโดมิเนียมยูนิตนั้นๆ สามารถเป็นเจ้าของได้ตลอดไปไม่มีกำหนดหมดอายุ ไม่มีสัญญาว่าสามารถเป็นเจ้าของได้กี่ปี แต่คนที่เข้ามาซื้อคอนโดแบบ Leasehold ตามกฎหมายไทยจะเป็นเจ้าของได้เพียง 30 ปีเท่านั้น (ในบางโครงการมี option ต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 30 ปี) โดยหลังจากครบกำหนดตามสัญญา ก็จะต้องคืนกรรมสิทธิ์ของตนเองให้กับเจ้าของที่แท้จริง
มีคนจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่มองว่าการซื้อคอนโด Leasehold นั้นเสียเปรียบคอนโด Freehold ในหลายปัจจัย อาทิ การไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในตัวที่ดินตลอดไปได้ มูลค่าของโครงการที่มักจะน้อยลงเมื่อใกล้หมดสัญญาเช่า และมีโอกาสในการขายต่อที่น้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าเราจะซื้อคอนโด Freehold ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ดินนั้นๆ หรือยูนิตที่เราซื้อนั้นจะเป็นของเราไปตลอด ไม่มีหลักประกันใดๆที่จะรับรองได้ว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป 60 ปีแล้ว ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่จะไม่โหวตให้ทำการขายแบบยกอาคาร (En-Bloc Sale) เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่มหาศาลในการปรับปรุงทั้งอาคาร รวมทั้งมีในบางกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะโดนเวนคืน หรือโดนรอนสิทธิการใช้งาน จากหน่วยงานรัฐบาล ผู้ปกครองหลายๆคนอาจจะกังวลแทนลูกตัวเองว่าหากซื้อคอนโด Leasehold ไป ในอนาคตก็อาจจะไม่ได้ส่งต่อให้กับลูกหลานตัวเอง เนื่องจากหมดสัญญาเช่าไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครรู้อนาคตหรอกว่า เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 60 ปีลูกหลานเรานั้นจะยังคงอยากที่จะอยู่ที่คอนโดนั้นๆต่อไปหรือไม่?