ขายได้ ไม่ใช่ขายดี มีสต๊อคล้นปฐพีก็ไม่ได้การันตีว่าจะขายได้…เป็นเอเจนท์ง่ายนิดเดียว จริงอ่ะ?
นายหน้าอสังหาฯอาจจะดูเป็นอาชีพยอดนิยม ที่ดึงดูดให้ใครหลายคนอยากที่จะเข้ามาลองเรียนรู้ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการหารายได้ทั้งในรูปแบบอิสระ หรืองานประจำ เนื่องจาก “ความเชื่อ” ในเรื่องเล่าที่กลายเป็นมายาคติไปแล้ว อาทิ เป็นการจับเสือมือเปล่า ไม่ต้องลงทุนซื้อของ แต่หากขายได้ก็ได้ค่าคอมฯไป 3% , มีความยืดหยุ่นในระยะเวลาการทำงานอยากทำตอนไหนก็ได้, ทำเสริมเป็นอาชีพที่ 2 ไปก่อน ขายได้สักสาม – สี่ยูนิตเดี๋ยวก็ตั้งตัวออกมาเป็นอิสระจากงานประจำได้, เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้ขายง่ายมาก แค่อยู่บ้าน Copy ไฟล์ จากในเนตเพื่อไปโพสต่อ รอลูกค้าติดต่อมาก็จบ, มีสต๊อคพร้อมฝากขายเยอะ ยังไงก็ขายได้ ฯลฯ เรื่องราวดังกล่าวอาจจะดูไม่เกินจริงไปนัก หากเราย้อนกลับไปในยุค 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดอสังหาฯไทย โดยเฉพาะกลุ่ม City Condo กำลังอยู่ในช่วงพีคใหม่ๆ จนส่งผลให้มีกลุ่มดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์ถือกำเนิดขึ้นมามากมาย เพื่อสร้างกระแส ปั่นราคาให้กับตลาดคอนโดรีเซลภายใต้แบรนด์ตัวเอง ให้เกิดการซื้อเพื่อขายทำกำไรในระยะสั้น และเอากำไรที่ได้มาซื้อซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อต่อยอด Customer Life Time Value ไปสู่โครงการเปิดใหม่อื่นๆอย่างไม่รู้จบ
ผมยังจำได้ดีว่าในยุคนั้นเซลล์ของดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์เป็นอาชีพที่มีคนอยากเข้ามาทำมากๆ มากกว่าการเป็นเซลล์ขายห้อง Off Plan ของโครงการซะอีก เนื่องจากอัตราค่าคอมมิชชั่นที่ได้นั้นค่อนข้างสูงถึง 3% พูดง่ายๆก็คือยอดล้านนึงหากขายได้ก็ได้ไป 30,000 บาท แม้ว่าจะเป็นยอดเข้าบริษัท แต่ตัวเซลล์เองก็ได้ทั้งเงินเดือน และค่าคอมมิชชั่นเป็นแบบขั้นบันไดอีกราวๆ 10 – 30% จากยอดคอมมิชชั่นที่เข้าบริษัท (ล้านละสามพัน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าคอมมิชชั่นที่เซลล์โครงการได้รับถึง 3 เท่าตัว! แน่นอนว่าด้วยผลประโยชน์ที่ทิ้งห่างกันชนาดนี้ ก็ย่อมสร้างความไม่ลงรอยกันระหว่างเซลล์โครงการและเซลล์เอเจนท์ จนทำให้เกิดการแอบขายเอง กั๊กสต๊อคไม่ยอมส่งฝากขายรีเซล ไม่ส่งต่อลูกค้า ฯลฯ จนทุกบริษัทต้องออกแพคเกจ Loyalty Program ในแบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า โดยให้ค่า Referral Fee กับเซลล์โครงการในอัตราล้านละ 1,000 – 2,000 บาท หากปิดการขายจากลูกค้าที่ส่งมา หรือจาก Stock ที่ส่งมาได้ และก็มีหลายครั้งทีเดียวที่สต๊อคเดียวกันนี่ล่ะถูกปิดการขายซ้ำๆกันได้มากถึง 3-4 ทอด โดยที่เจ้าของห้องและคนซื้อเองไม่ต้องไปนั่งเปิด Listing ดูตามเวปให้เสียเวลาเลย จากพลานุภาพในการกั๊ก ดัก และส่งต่อของทีมงานคุณภาพจากหลายๆไซต์ สะท้อนให้เห็นถึงความไร้เทียมทานของกลุ่มตลาดดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์ในแบบที่ไม่มีใครเทียบได้…แต่นั่นก็เป็นเรื่องเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ส่วนเรื่องในปัจจุบันนี้จะเป็นอย่างไร ขอเชิญอ่านได้ในย่อหน้าถัดไป
ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำของปัจจุบัน ล้วนส่งผลดีต่อการทำงานของเอเจนท์ ทั้งในแง่ของการหาสต๊อค หาลูกค้า และทำการตลาด เพื่อสร้าง Distribution Channel ของตัวเอง และกระจาย Listing ไปยัง Online Channel อื่นๆให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยภายในประเทศของเราเองอย่างการไม่มีระบบ MLS (Multiple Listing Services) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการซื้อขายกลางของอสังหาผ่านตัวแทนนายหน้า ที่เอื้อให้เกิดการสร้างข้อมูลในแบบ Real Time และระบบแบ่งค่านายหน้า Co-Broker Split, การไม่สร้างข้อจำกัดในการประกอบอาชีพนายหน้า ไม่จำเป็นต้องมี license รวมไปถึงการไม่กำหนด Standard Commission Fee ในแบบบังคับใช้ กลับมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างดีมานท์ในการเป็นนายหน้าอย่างมหาศาลในหมู่คนไทย และชาวต่างชาติที่ทำมาหากินในไทย มากกว่าการหาดีมานท์จากลูกค้าที่ต้องการซื้อ/เช่า โดยมีการคาดการณ์กันว่าหากนับจำนวนนายหน้าทั้งจากบริษัท และนายหน้าอิสระทั้งหมดในประเทศไทย จะมีคนประกอบอาชีพนี้อยู่หลายแสนรายไปจนถึงนับไม่ถ้วน โดยที่มีการผ่านการประเมินมาตรฐานทางวิชาชีพจากทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพียงแค่สามพันกว่ารายเท่านั้น ในขณะที่ประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งบังคับให้ต้องมีนายหน้าที่มี CEA License ในการทำธุรกรรมซื้อ-ขาย-เช่าอสังหาฯ ทุกครั้งนั้น มีจำนวนนายหน้าที่ได้รับ CEA License อยู่ถึง 30,399 รายในปี 2021
Source: https://www.cea.gov.sg/professionals/key-statistics
อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวการในการกดให้ธุรกิจของดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์ร่วงลงมากกว่าเดิมในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็คือ การหมดยุคทองของตลาดคอนโดรีเซล ที่เมื่อก่อนนั้นเคยรุ่งมากจากการที่จำนวนสต๊อคดีๆมีแค่ไม่กี่โครงการ หรือมีก็เข้าถึงได้ยาก และยังมีนักลงทุนในตลาดรีเซลก่อนโอนไม่มากนัก จะมีก็แค่ในวงจำกัด มีจำนวนดีมานท์ที่มากกว่าซัพพลาย ไม่ได้มีนักลงทุนต่างชาติ กลุ่มนักเก็งกำไรหน้าใหม่ หรือกลุ่ม Big Lot Investors เข้ามากว้านซื้อ และเทขายใน Volume ที่สามารถควบคุมกลไกราคาตลาดได้ ประกอบกับการที่ดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่แข่งกันสร้างโครงการจำนวนมากเพื่อรองรับดีมานท์จากต่างชาติที่มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาทดแทนกำลังซื้อชาวไทยได้ในระยะยาว และรองรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ จนทำให้กำลังซื้อในประเทศขาดช่วง ลำพังของมือหนึ่งยังเหลือบาน และของรีเซลจะไปขายต่อได้อย่างไร นอกจากจะมีราคาที่ถูกกว่า…เมื่อเป็นเช่นนี้ตลาดรีเซลก่อนโอนที่เคยหวานหมูสำหรับใครหลายๆคนกลับกลายเป็นหมูเขี้ยวตัน รับมาแล้วขายต่อไม่ได้ เจ้าของห้องลดเท่าทุนแล้วบางทีก็ยังแพงกว่าห้องโครงการที่ตั้งขายในปัจจุบันด้วยซ้ำ เมื่อขายห้องรีเซลในมือไม่ได้คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจะต้องไปเสียเงินเพิ่มซื้อลงทุนที่ใหม่ แถมคนซื้อเองก็ไม่มีเงินในการมาเทดาวน์เป็นล้าน ไม่เหมือนกับการซื้อห้องโครงการบางที่จ่ายแค่หลักพันเข้าอยู่ได้เลย แถมได้สารพัดโปรฯอยู่ฟรี…สถานการณ์แบบนี้วนลูปไปมาจนเข้าขั้นวิกฤตมาสองปีแล้ว จากทั้งมาตรการรัฐเองในการจำกัดกำลังซื้อเพื่อการลงทุน และเศรษฐกิจโรคระบาด ทางออกของดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์ส่วนใหญ่ก็เลยต้องไปแย่งห้องโครงการมือหนึ่งมาขายซะงั้น ซึ่งก็แน่นอนว่าก็ในเมื่อเซลล์โครงการเค้าก็มีอยู่แล้ว การตลาดเค้าก็ทำอยู่แล้ว หน้าไซต์เค้าก็รับลูกค้าอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาแบ่งห้องให้ขายโดยที่ต้องให้ค่าคอมมิชชั่นที่มากกว่าด้วยล่ะ ยิ่งเป็นดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์ก็ยิ่งแย่กว่าพวก Sole Agent อีก เพราะว่ายิ่งขายรีเซลห้องโครงการสุดท้ายฐานข้อมูลลูกค้าก็จะเป็นของตัวดีเวลอปเปอร์ที่รับโอนอยู่ดี ข้ออ้างในเรื่องของฐานลูกค้าที่มากกว่า และไม่ซ้ำกันก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ make sense โดยสิ้นเชิง
เมื่อเจอคำถามแบบนี้เข้าเอเจนท์ส่วนใหญ่ (ที่ไม่ได้มีเครือข่ายในการขายแบบ International Overseas ซึ่งได้ค่าคอมมิชชั่นสูงกว่า) เลยเลือกที่จะยอมรับในข้อเสนอสุดท้าย One Price Policy ที่ให้ขายได้ตราบใดที่ลูกค้าได้ราคาเดียวกัน และไม่ได้มีการแบ่งห้องแบ่งชั้นให้ขายในแบบ Exclusive จ่ายค่าคอมมิชชั่นเท่ากับเรตของเซลล์โครงการ โดยที่เอเจนท์ก็ต้องไปเสียเงินในการทำการตลาด หาลูกค้าเอง ซึ่งในมุมมองของผมนี่มันเหมือนกับระเบิดเวลาที่รอวันประทุชัดๆ เพราะโครงสร้างรายได้ และรายจ่ายมันมาจากค่าคอมมิชชั่นของธุรกิจเอเจนท์ที่ล้านละสามหมื่น ไม่ใช่ล้านละพัน อีกทั้งในการทำการตลาดแน่นอนว่าการโปรโมตห้องมือหนึ่งยังไงลูกค้าส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะติดต่อไปยังดีเวลลอปเปอร์เอง หรือ Walk in เข้าไปที่โครงการมากกว่าอยู่แล้ว ผลลัพธ์ก็คือดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์ที่ไม่ปรับตัว ไม่บาลานซ์ความเสี่ยง เน้นแต่ลูกค้าหน้าเดิม ของพรีเซล และรีเซลก่อนโอนมากเกินไป ไม่ปรับพอร์ตทั้ง Stock & Inquiry ไม่ปรับโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์ธุรกิจ ก็เลยอยู่ยากมากยิ่งขึ้น
ในแง่ของดีเวลลอปเปอร์เองก็ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงที่ต้อง Save Cost ให้ได้มากที่สุด ทีมขายถูกลดและถูก Rotate ไปตามไซต์ให้มากที่สุดเพื่อให้สอดคล้องกับยอด Lead ที่เข้ามา ทางเลือกอื่นในการขายที่ช่วยประหยัด Cost ได้มากกว่า ก็ถูกนำเอามาใช้ ทั้งในเรื่องของการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ลดจำนวนพนักงานขายประจำ ไปใช้ตัวแทนนายหน้าที่ไม่คิดค่า Retaining Fee การใช้กลยุทธ์ Referral Fee รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายนายหน้าอิสระขึ้นมาเอง โดยอาศัยช่องว่างจากการที่มีกลุ่มบุคคลากรในสาขาอาชีพโรงแรม การท่องเที่ยว ที่ต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ดูจะเป็นคำตอบที่เข้าท่ามากกว่าการใช้เอเจนท์หากวัดกันในเรื่องของการสร้างความรับรู้ไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆที่บางทีเอเจนท์ทั่วไปยังเข้าไม่ถึง
อนันดาฯ จับมือ แอร์เอเชีย ร่วมกันสานต่อ “2ndJob 2ndChance” เพื่อก้าวผ่านวิกฤตโควิดไปด้วยกัน
สิ่งที่น่าจะสะท้อนถึงช่วงเวลาอันยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ของกลุ่มดีเวลลอปเปอร์เอเจนท์ที่ไปเน้นหนักเฉพาะในส่วนของการขายห้องพรีเซล โครงการใหม่ นอกจากจะเป็นสถิติในเรื่องของยอดเปิดตัวโครงการใหม่ที่น้อยเป็นประวัติการณ์ แล้วก็น่าจะเป็นผลประกอบการของแต่ละบริษัทเอง ที่หากเราดูจากข้อมูล Infographic ด้านล่างก็จะพบว่าเกือบทุกบริษัทมีรายได้รวมลดลงจากปี 2562 โดยบริษัทเอเจนท์ที่โตสวนกระแส ส่วนใหญ่ก็จะมีแนวทางในการทำธุรกิจที่หลากหลาย มากกว่าการเน้นขายห้องพรีเซลเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น พลัส ที่ดูจะแข็งแกร่งมากๆในกลุ่มบริหารงานนิติบุคคล และได้รับอานิสงค์ที่ดีจากการลดราคาอย่างหนักหน่วงของโครงการพร้อมอยู่จากแสนสิริเมื่อปีที่แล้ว (พลัส พร็อพเพอร์ตี้ รับหน้าที่ขายทั้งห้องมือหนึ่งและห้องรีเซล) หรือบริษัท พรีโม เรียลเตอร์ ของออริจิ้น ที่แม้จะมีรายได้รวมในปี 2563 ราวๆ 52 ล้าน แต่กลับทำกำไรบานถึง 28 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่น่าจะมาจากการทำ Resale Transaction เพียงอย่างเดียว