คอนโดมีเนียมที่จัดผังอาคารแบบ Single Loaded Corridor และ Double Loaded Corridor แตกต่างกันอย่างไรแบบใดดีกว่ากัน?
การจะเลือกซื้อคอนโดมิเนียมสักห้องนึง คงมีปัจจัยหลายอย่างที่หลายคนต้องคำนึงถึงก่อนการจะตัดสินใจซื้อ เพราะคอนโดมิเนียมไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่มีราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงในด้านทำเลที่ตั้ง ความสะดวกสบายในการเดินทาง สภาพแวดล้อมใกล้เคียง รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆที่จัดเข้ามาให้ภายในโครงการ แต่อีกอย่างนึงที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแต่ไม่ได้ให้ความสนใจกันมากนักก็คือ การจัดผังอาคารในรูปแบบ Single Loaded Corridor กับ Double Loaded Corridor ซึ่งจริงๆแล้ว การจัดผังอาคารทั้ง 2 รูปแบบ มีข้อดีข้อเสียที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกในการอยู่อาศัยก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งการจัดผังอาคารทั้ง 2 รูปแบบมักจะเกิดจากวัตถุประสงค์และคอนเซปท์ในการพัฒนาโครงการที่ไม่เหมือนกัน แต่การพัฒนาทั้ง 2 รูปแบบจะมีความแตกต่างอย่างไรบ้าง มีประเด็นจุดเด่นจุดด้อยด้านไหน รวมถึงถ้าจะเลือกซื้อควรจะเลือกซื้อแบบไหน เดียวบทความนี้จะมาสรุปให้ฟังกันครับ
ในปัจจุบันการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในรูปแบบ Single Loaded Corridor และ Double Loaded Corridor มีให้เห็นทั้งในอาคารแบบ Low-rise ตึกเตี้ย และโครงการ High-Rise ตึกสูง ตั้งแต่ในระดับราคาต่ำจนไปถึงระดับราคาสูง แต่ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่า ว่าผังอาคารที่จัดออกแบบมาในรูปแบบ Single Loaded Corridor และแบบ Double Loaded Corridor เป็นแบบใดและแตกต่างกันอย่างไร?
Single Loaded Corridor คือ การจัดผังอาคารโดยให้ห้องพักอาศัยอยู่ติดพื้นที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของอาคารเท่านั้น โดยอีกฝั่งจะไม่มีห้องพักอาศัยแต่จะเปิดเป็นช่องโล่งให้สามารถมีลมถ่ายเทผ่านไปมาได้ หรือบางโครงการมักจะประดับตกแต่งด้วยต้นไม้แทน ซึ่งการพัฒนาในรูปแบบ Single Loaded Corridor มักจะพบเห็นในโครงการที่มีระดับราคาสูงในเมือง หรือ โครงการที่ต้องการเน้นรับวิว เช่น โครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้อาจจะรวมไปถึงรูปร่างของที่ดินที่บีบบังคับให้เกิดการพัฒนาแบบ Single Loaded Corridor เช่น ที่ดินรูปแปลงสามเหลี่ยมหรือแปลงที่ดินขนาดเล็ก เป็นต้น
Double Loaded Corridor คือ รูปแบบการจัดผังอาคารที่ผู้ประกอบการหลายโครงการเลือกพัฒนากัน เนื่องจากเป็นการจัดผังอาคารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยลักษณะ คือจะจัดให้ห้องพักอาศัยตั้งอยู่ขนาบข้าง 2 ฝั่งทางเดินวางยาวตลอดแนวตัวอาคาร โดยตำแหน่งประตูของห้องทั้ง 2 ฝั่งมักจะอยู่ตรงข้ามกันพอดี ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปทั้งในโครงการแบบ Low-rise และแบบ High-Rise ตั้งแต่ระดับราคาต่ำจนไปถึงระดับราคาสูง
เมื่อทราบเบื้องต้นกันแล้วว่าการจัดผังอาคารในรูปแบบ Single Loaded Corridor กับ Double Loaded Corridor มีความแตกต่างกันอย่างไร มาดูกันต่อในแง่มุมการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการในปัจจุบันกันว่า โครงการที่มีการพัฒนาขึ้นในปัจจุบันทั้งในรูปแบบ Single Loaded Corridor กับ Double Loaded Corridor มีการพัฒนาออกมาอย่างไรบ้าง? มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร? ผู้เขียนจึงข้อสรุปออกมาใน 4 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรกเรื่องของความเป็นส่วนตัว (Privacy)
ในการอยู่อาศัยในโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งมีลักษณะของห้องที่วางเรียงรายตลอดแนวตัวอาคาร การให้ความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy นอกจากจะขึ้นอยู่กับเรื่องของจำนวนยูนิตที่แต่ละโครงการมีใส่มาในอาคารและจำนวนยูนิตในแต่ละชั้นแล้ว อีกเรื่องก็คือ การวางผังอาคารและตำแหน่งของห้อง ถ้าเป็นโครงการส่วนใหญ่ก็จะการออกแบบวางผังเป็นลักษณะ Double Loaded Corridor คือ มีห้อง 2 ฝั่งวางตำแหน่งขนาบแนวทางเดิน การให้ความเป็นส่วนตัวก็อาจจะไม่ได้มีมากนักขึ้นอยู่กับจำนวนยูนิตในแต่ละชั้น รวมถึงเมื่อห้องฝั่งตรงข้ามมีการเปิดประตู เข้า-ออก ก็อาจจะสร้างเสียงรบกวนเข้ามาภายในห้องได้บ้าง แต่ถ้าเป็นโครงการในลักษณะ Single Loaded Corridor นอกจากจะได้ความเป็นส่วนตัวจากจำนวนยูนิตที่ไม่มากในแต่ละชั้นแล้ว ยังได้ความเป็นส่วนตัวจากการที่ไม่มีห้องอยู่ฝั่งตรงข้าม เวลาการใช้งานจริงการที่จะได้รับเสียงรบกวนจากห้องในฝั่งตรงกันข้ามก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น
1.โครงการ Saladeng One เป็นโครงการพักอาศัย ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง อย่างพื้นที่สีลม-สาทร เป็นโครงการที่ถือว่ามีทำเลที่ดีมาก โดดเด่นด้วยการออกแบบพื้นที่ภายในกลางอาคารให้มี Void 2 ตำแหน่ง เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณพื้นที่ชั้น 5 โดยจำนวนยูนิตต่อชั้นส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ประมาณ 12 ยูนิต และมีการพัฒนาเป็นลักษณะ Single Loaded Corridor ซึ่งฝั่งทางเดินจะเป็นวิวเปิดโล่งภายในอาคารแทน
2.โครงการ Ideo Sathorn-วงเวียนใหญ่ เป็นโครงการในย่านฝั่งธนบุรี ใกล้สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ แปลนอาคารจะมีลักษณะเป็นรูปตัว U ล้อมพื้นที่ส่วนกลางภายในโครงการที่มีการจัดสวนและสระว่ายน้ำ ยูนิตเฉลี่ยต่อชั้นอยู่ที่ 16 – 22 ยูนิต โดยออกแบบทั้งโครงการตั้งแต่ชั้น 6 ถึงชั้น 28 เป็นลักษณะ Single Loaded Corridor ซึ่งฝั่งทางเดินจะได้รับวิวเปิดโล่งของพื้นที่ส่วนกลางของโครงการแทนเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับการอยู่อาศัยมากขึ้น
ประเด็นที่สองเรื่อง วิว บรรยากาศ (Environment)
โดยปกติห้องพักอาศัยในอาคารชุดที่มีการจัดผังอาคารแบบ Double Loaded Corridor การที่จะได้รับวิว บรรยากาศ ภายนอก ก็จะมาจากพื้นที่ทางฝั่งระเบียงภายในห้องตัวเองเพียงฝั่งเดียว เพราะอีกฝั่งที่เป็นทางเดินก็จะอยู่ติดกับห้องของคนอื่น ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นโครงการที่มีการจัดผังอาคารแบบ Single Loaded Corridor นอกจากจะมีวิวทางฝั่งระเบียงภายในห้องแล้ว ทางฝั่งทางเดินก็จะได้รับวิวรับแสงธรรมชาติได้เช่นกัน ซึ่งบางโครงการก็จะมีการจัดสวน Landscape ไว้ประดับตกแต่งเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่แต่ละชั้นของอาคารด้วยนอกจากนี้การพัฒนาแบบ Single Loaded Corridor ยังพบมากในทำเลโครงการที่มีวิวที่ดี เช่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก วิว บรรยายกาศ เป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการได้ ผู้ประกอบการจึงมักเลือกการวางผังอาคารให้เป็นแบบ Single Loaded Corridor เพื่อให้ห้องทุกห้องรับวิว และยังทำให้ห้องพักอาศัยสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งการพัฒนาในแบบนี้ยังมีข้อดีในเรื่องการมีอากาศถ่ายเทที่ดี และช่วยลดความชื้นตามทางเดินในตัวอาคารได้ ยกตัวอย่างเช่น
1. โครงการ Menam Residences เป็นโครงการระดับ Luxury ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง มีพื้นที่โครงการติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความสูงกว่า 54 ชั้น โดยยูนิตต่อชั้นมีเพียง 10 ยูนิตเท่านั้นและมีการออกแบบให้ทุกห้องเป็นแบบ Single Loaded Corridor ทำให้ทุกห้องสามารถรับวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทั้งหมด โดยฝั่งทางเดินโครงการจะปล่อยโล่งให้แสงธรรมชาติและลมเข้าถึงได้ ซึ่งจะมองเห็นวิวฝั่งเมืองในย่านพระราม3-สาทร แทน
2. โครงการ The Pano Rama 3 เป็นอีกโครงการระดับ Luxury อีกแห่งนึงที่มีการออกแบบให้ทุกห้องสามารถรับวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้เช่นกัน โดยโครงการมีทำเลที่ตั้งอยู่บนถนนพระราม3 ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีการจัดผังอาคารเป็นแบบ Single Loaded Corridor โดยความน่าสนใจ คือ แปลนของอาคารจะมีการออกแบบให้เป็นลักษณะรูปตัว Y โดยมีการวางตำแหน่งห้องพักอาศัยทุกห้องให้หันหน้ารับวิวแม่น้ำเจ้าพระยา