PropStat Exclusive: ส่องภาพรวมและทิศทางในการพัฒนาโครงการทาวน์โฮมในเขตกรุงเทพฯ
3 ปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า ตลาดแนวราบนั้นเป็นพระเอกตัวจริงที่ช่วยพยุงตลาดอสังหาในกรุงเทพฯไม่ให้ชะลอตัวลงมากจนเกินไปจากการขาดหายไปของกำลังซื้อในกลุ่มนักลงทุนคอนโด และกลุ่มชาวต่างชาติ อันมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาค หนี้ครัวเรือน รวมไปถึงทิศทางของดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าตลาดอสังหาในยุคปัจจุบันนี้ ตลาดแนวราบที่เน้นไปที่กลุ่มผู้อยู่อาศัยจริงในแบบ Real Demand ปัจจุบันทันด่วนคือ เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนตลาดให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่โหมด Home for Everything ที่ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมองว่าที่อยู่อาศัยแนวราบไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือทาวน์โฮม ที่มอบพื้นที่ใช้สอยมากกว่า ในราคาที่ประหยัดการซื้อคอนโดใจกลางเมือง ล้วนตอบสนองความต้องการของทุกคนในครอบครัวได้มากกว่า ทั้งในเรื่องของ Privacy, Flexible Space, Pet Humanization, Multi Generation Living หรือแม้กระทั่งการทำธุรกิจ
โดยเมื่อช่วงเดือนมิย.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ได้มีการเปิดเผยข้อมูลถึงผลการวิจัยสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วไปในปี 2566 ว่า ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2565 ท่ามกลางปัจจัยกดดันค่อนข้างสูง อาทิ เงินเฟ้อ และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ต้นทุนก่อสร้างที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ หากแบ่งพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัยในกลุ่ม บ้านเดี่ยว และบ้านแฝด จะพบว่ามีแนวโน้มการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของบ้านเดี่ยวในตลาดกลางบน ระดับราคา 7-15 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการหันมาพัฒนาบ้านในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดมีการขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อรองรับกำลังซื้อซึ่งยังมีอัตราการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
และหากลงลึกไปถึงความนิยมในการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 นี้ โดยเปรียบเทียบระหว่างการเปิดตัวโครงการคอนโด และโครงการแนวราบ ในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดย บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด ก็จะพบว่ามีการเปิดตัวคอนโด โครงการใหม่ทั้งสิ้น 36 โครงการ จำนวนหน่วยรวมกัน 17,795 หน่วย ลดลง -28% มูลค่ารวมกัน 50,057 ล้านบาท ลดลง -26% ในขณะที่ การเปิดตัวบ้านแนวราบยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในด้านจำนวนหน่วยอยู่ที่ 15,917 หน่วย เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 จำนวน 14,532 หน่วย เพิ่มขึ้น 10% (YOY) ในด้านมูลค่าโครงการรวมกัน 99,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% (YOY) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางที่ยังคงเป็น “ขาขึ้น” อยู่ของตลาดแนวราบ โดยเฉพาะกลุ่มบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดที่มีระดับราคาสูง (เกิน 10 ลบ.ขึ้นไป) และกลุ่มทาวน์โฮมที่มีระดับราคา 2 – 5 ลบ
สิริ เพลส อีกหนึ่งแบรนด์ทาวน์โฮมในระดับราคา 2 – 5 ล้านบาท ที่ชูจุดเด่นในเรื่องของการออกแบบโครงการในสไตล์ Dream Destination แรงบันดาลใจจาก 4 เมืองในฝันของคนรุ่นใหม่ นิวยอร์ก – เกียวโต – ปารีส – อัมสเตอร์ดัม ครอบคลุมทุกทำเลเมืองส่วนต่อขยาย ในระดับราคาเข้าถึงง่าย 2 – 5 ล้านบาท
เอพี ไทยแลนด์ เป็นอีกหนึ่งผู้นำในเรื่องการพัฒนาแบรนด์โครงการทาวน์โฮมให้คอบคลุมทุกเซกเมนท์ราคา แต่สำหรับระดับราคา 7 – 10 ล้านบาท จะส่งแบรนด์ในกลุ่มตลาดบ้านแฝดอย่าง บ้านกลางเมือง The Edition มาทำตลาดด้วยจุดเด่นพื้นที่ที่มากกว่าทาวน์โฮมในระดับราคาเดียวกัน
โครงการ Golden Town จาก เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ก็เป็นอีกหนึ่งผู้นำในตลาดทาวน์โฮม 2 ชั้นในเซกเมนต์ Mass ระดับราคา 2 – 4 ล้านบาท ที่ชูจุดเนในเรื่องของดีไซน์สไตล์ยุโรป ตั้งบนย่านชุมชน ที่เดี๋ยวนี้มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยเลยที่หันมาซื้อปล่อยเช่า
แต่จากตัวเลขดังกล่าว ก็สร้างคำถามที่ตามมาว่าโครงการบ้านเดี่ยวระดับ Luxury ที่มีระดับราคาเกิน 30 ล้านบาทขึ้นไปนั้นมีการเปิดขายมากเกินไปไหม และทำไมดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ถึงเลือกที่จะเปิดโครงการทาวน์โฮมในระดับราคา 2 -5 ล้านบาทมากที่สุด จนนำมาซึ่งช่องว่างทางการตลาดที่ขาดหายไปของกลุ่มทาวน์โฮมในระดับราคา 7 – 10 ล้านบาท ที่อยู่ดีๆก็ขาดช่วงในการพัฒนาไปกันหมดเลย (ข้อมูลจาก INFOGRAPHIC SCB EIC ตามด้านล่าง) ทั้งๆที่หากพิจารณาตามความเป็นจริง โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณของกลุ่มคนซื้อแล้ว นี่คือกลุ่มสินค้าที่สามารถทดแทนการซื้อคอนโดในเมืองขนาด 2 ห้องนอนได้ดีที่สุด ซี่งบทวิเคราะห์นี้จะพาคุณผู้อ่านมาร่วมหาคำตอบกันว่ากลุ่มตลาดนี้มันหายไปไหน และถูกแทนที่ด้วยสินค้าอะไร?
บ้านจัดสรรทุกประเภทที่เปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯรายปี
บ้านจัดสรรที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบ้านประเภทหรือรูปแบบใดก็ตามในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับราคา 3 – 5 ล้านบาทต่อยูนิตมากกว่าระดับราคาอื่นๆ โดยระดับราคาที่มากเป็นอันดับที่ 2 คือ ระดับราคา 5 – 7 ล้านบาทต่อยูนิต บ้านในระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไปมีสัดส่วนที่น้อยกว่าบ้านในระดับราคาต่ำกว่ามากนัก ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่กลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อสูงจะมีจำนวนน้อยกว่า โดย ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นี้มาจาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC)
ถ้าดูจากจำนวนบ้านที่เปิดขายใหม่ในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 – 2565 เป็นต้นมา อาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงในแบบ Organic Growth เพราะช่วงปีพ.ศ.2563 – 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยและทุกประเทศในโลก อยู่ในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 จำนวนของบ้านจัดสรรที่พัฒนาและเปิดขายใหม่โดยผู้ประกอบการต่างๆ มีจำนวนลดลง อีกทั้งยังมีการเลื่อนการเปิดขายโครงการใหม่ออกไปจากกำหนดเดิม จากนั้นพอสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น จำนวนของบ้านจัดสรรที่เปิดขายใหม่ในปีพ.ศ.2565 จึงกลับมามีจำนวนมากอีกครั้ง และมากกว่าจำนวนในปีพ.ศ.2563 -2564 หรือกลับไปมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงปีพ.ศ.2561 – 2562 โดยในกลุ่มของระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไปที่มีจำนวนมากกว่าหลายปีที่ผ่านมาแบบชัดเจน
การขยายตัวของบ้านจัดสรรในระดับราคาต่างๆ ในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 เป็นต้นมา
บ้านจัดสรรในระดับราคา 3 -5 ล้านบาทต่อยูนิต และในระดับราคา 5 – 7 ล้านบาทต่อยูนิต มีการเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นแบบเห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2566 แต่อาจจะยังต้องรอดูต่อไปอีก 2 – 3 ไตรมาสจึงจะเห็นภาพรวมของปีนี้ บ้านในระดับราคาที่มีการเปิดขายใหม่ไม่มาก คือ บ้านในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยที่มีผลให้การเปิดขายบ้านในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิตลดน้อยลงไป คือ เรื่องของราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าที่ขยายออกมาปริมณฑลต่อเนื่อง และเรื่องของวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้การพัฒนาบ้านในระดับต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิตทำได้ยากมากขึ้น แม้จะเป็นโครงการทาวน์เฮ้าส์ก็ตาม
ในขณะที่บ้านระดับราคา 7 – 10 ล้านบาทต่อยูนิตก็มีการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงของราคาที่อาจจะก้ำกึ่งระหว่างการขยับขึ้นไปซื้อในราคาที่แพงกว่านี้ โดยบ้านในระดับราคา 7 – 10 ล้านบาทต่อยูนิตส่วนใหญ่จะเป็นประเภทของบ้านเดี่ยวมากกว่าบ้านประเภทอื่นๆ ในขณะที่บ้านในระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไปมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะในระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบชัดเจนในช่วงปีพ.ศ.2564 เป็นต้นมา
อัตราการขายได้ของบ้านจัดสรรแต่ละประเภทในแต่ละระดับราคา
บ้านในระดับราคาต่ำกว่า 7 ล้านบาทมีอัตราการขายได้มากกว่าระดับราคาอื่นๆ เป็นเรื่องปกติ โดยบ้านในช่วงระดับราคาดังกล่าวมีอัตราการขายได้ที่มากกว่า 60% ขึ้นไป ซึ่งบ้านจัดสรรในระดับราคา 10 – 15 ล้านบาทต่อยูนิตเป็นอีกช่วงระดับราคาที่น่าสนใจ เพราะอัตราการขายได้ก็สูงกว่า 60% เช่นกัน แม้ว่าจำนวนยูนิตจะน้อยกว่ามากก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม บ้านในทุกระดับราคามีอัตราการขายได้มากกว่า 50% ขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดบ้านจัดสรรยังเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อในกรุงเทพมหานคร โดยถ้าพิจารณารายประเภทของบ้านจัดสรรจะเห็นความน่าสนใจมากขึ้น