PropStat Exclusive: ส่องตลาดบ้านจัดสรรบนทำเลเอกมัย – รามอินทรา
หากถามว่าพื้นที่เมืองส่วนต่อขยายในเขตกทม.ย่านใดบ้างที่มีโครงการบ้านจัดสรรที่มีราคาขายค่อนข้างสูงมาพัฒนา และเปิดขายอยู่ค่อนข้างเยอะ ในปัจจุบันก็คงต้องนึกถึงพื้นที่ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม (เอกมัย – รามอินทรา) และถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร – นวมินทร์) ราคาขายของโครงการบ้านในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับบางโครงการที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวถนนพระรามเก้า พัฒนาการ หรือถนนราชพฤกษ์ แต่ก็มีหลายโครงการที่มีราคาขายมากกว่า 25 ล้านบาทต่อยูนิต และมีบางยูนิตในบางโครงการที่ขายกันแตะ 100 ล้านบาท เนื่องจากเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนลาดพร้าว พื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องในช่วง 30 – 40 ปีที่ผ่านมาและกำลังจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (อยู่ระหว่างการกำลังก่อสร้าง) กับถนนประเสริฐมนูกิจ หรือถนนเกษตร – นวมินทร์ ซึ่งถนนที่เป็นที่รับรู้กันว่ามีโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงอยู่หลายโครงการ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลในอนาคต นอกจากนี้ถนนประดิษฐ์มนูธรรมเองก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทาด้วยเช่นกันในอนาคต
ย่านเอกมัย – รามอินทรา แบ่งออกเป็นช่วงไหนบ้าง?
ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เรามักจะรู้จักกันในอีกชื่อว่า ถนนเอกมัย – รามอินทรา เพราะเป็นถนนที่เชื่อมต่อจากซอยเอกมัยหรือสุขุมวิท 63 และเป็นถนนที่ตัดผ่านสำคัญ เช่น ถนนเพชรบุรี พระราม 9 และถนนสายรองต่างๆ อีกหลายสาย ดังนั้น พื้นที่ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมจึงมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะสภาพชุมชน การพัฒนา และข้อจำกัดต่างๆ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่พื้นที่ที่อาจจะถือได้ว่ามีความน่าสนใจและมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา คือ พื้นที่ในซอยย่อยต่างๆ ที่แยกหรือเชื่อมต่อกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม โดยเฉพาะในช่วงตอนเหนือของถนนลาดพร้าวขึ้นไปทั้งสองฝั่งของถนนประดิษฐ์มนูธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก แม้ว่าจะมีที่ดินเหลือให้พัฒนาไม่มากนักในปัจจุบัน แต่ด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาโดยตลอดจึงยังคงมีผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เป็นโครงการบ้านจัดสรรที่มีราคาขายสูง
พื้นที่ทางทิศตะวันตกของถนนประดิษฐ์มนูธรรมมีซอยหรือถนนสายรองที่มีการพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ในอดีตมากกว่า 30 ปี แล้ว เช่น ซอยโชคชัย 4 ที่เชื่อมต่อถึงนาคนิวาส สุคนธสวัสดิ์ ซอยลาดพร้าว 71 และซอยต่างๆ ที่แยกออกมาจากถนนลาดพร้าว ซึ่งซอยต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วเป็นซอยที่ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรขนาดไม่ใหญ่มาก และมีราคาขายค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีโครงการคอนโดมิเนียมอีกหลายโครงการเช่นกัน รวมไปถึงมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้วย โซนที่โดดเด่นในพื้นที่นี้แบบค่อนข้างมาก คือ โซนที่อยู่ในซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว 71 ซึ่งเข้าไปไม่ไกลมากจากถนนลาดพร้าว เพราะค่อนข้างเงียบและยังคงมีความเป็นชุมชน ประกอบกับยังคงอยู่ใกล้ถนนลาดพร้าว และสามารถเข้า-ออกจากถนนเส้นทางอื่นๆ ได้อีกด้วย ในขณะที่พื้นที่ในฝั่งตะวันออกของถนนประดิษฐ์มนูธรรมก็มีโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่เช่นกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีสภาพของความเป็นชุมชน หรือพัฒนาการที่ไม่ได้แตกต่างจากซอยต่างๆ ในฝั่งตะวันตกของถนนประดิษฐ์มนูธรรม รวมไปถึงมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกในพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพียงแต่มีจำนวน และขนาดของโครงการที่เล็กกว่า
นอกจากนี้พื้นที่ทั้งสองฝั่งของถนนประดิษฐ์มนูธรรมในช่วงนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างแนวเส้นทางรถไฟฟ้าถึง 3 สายในอนาคต คือ
1. เส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน เป็นเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาที่มีกำหนดเปิดให้บริการปีพ.ศ.2565 เริ่มต้นที่แยกถนนลาดพร้าวตัดกับถนนรัชดาภิเษกซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าลาดพร้าวของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำ ผ่านถนนลาดพร้าวเงินไปจนถึงแยกลำสาลีแล้วเลี้ยวเข้าถนนศรีนครินทร์ เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผ่านถนนลาดพร้าวเกือบทั้งเส้นทาง และช่วยเติมเต็มการขนส่งระบบรางให้กับถนนลาดพร้าว เพราะก่อนหน้านี้มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ผ่านช่วงต้นของถนนลาดพร้าวมาตั้งแต่พ.ศ.2547 แล้ว ปัจจุบันการก่อสร้างในส่วนของงานก่อสร้างและจัดหาระบบรถไฟฟ้าคืบหน้าไปกว่า 76.18%
2. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย – ลำสาลี) เส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคตที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เส้นทางนี้มีจุดเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีซึ่งเป็นสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งเปิดให้บริการแล้ว และสายสีชมพูที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากนั้นวิ่งเข้าถนนงามวงศ์วาน และเข้าสู่ถนนประเสริฐมนูกิจหรือถนนเกษตร – นวมินทร์ แล้วไปเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดที่แยกลำสาลี เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีกำหนดการเปิดให้บริการปีพ.ศ.2568 ซึ่งจะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่ให้มากขึ้นไปอีกเมื่อเปิดให้บริการในอนาคต
3. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ และ พระโขนง-ท่าพระ) เส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางนี้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาที่มีจุดเริ่มต้นที่สถานีวัชรพลของเส้นทางรถไฟฟ้าสีชมพู จากนั้นลงใต้มาตามถนนประดิษฐ์มนูธรรมผ่านถนนลาดพร้าว พระราม 9 เลี้ยงเข้าถนนเพชรบุรี และทองหล่อหรือสุขุมวิท 55 ตามลำดับ ไปสิ้นสุดช่วงที่ 1 ที่สถานีรถไฟฟ้าทองหล่อของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท จากนั้นช่วงที่ 2 เริ่มต้นที่สถานีรถไฟฟ้าพระโขนงของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ไปตามถนนพระรามที่ 4 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาทร จนไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งที่ถนนพระรามที่ 3 จากนั้นวิ่งไปตามแนวเส้นทางเดียวกับรถโดยสารพิเศษหรือ BRT ข้ามสะพานพระรามที่ 3 แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีราชพฤกษ์ของรถ BRT ซึ่งเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีตลาดพลู จะเห็นได้ว่าเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ผ่านจุดสำคัญๆ ของกรุงเทพมหานคร และเชื่อมต่อพื้นที่ทางตอนเหนือ ใต้ และตะวันตกเข้ากับพื้นที่ใจกลางเมือง แต่ปัจจุบันอาจจะยังไม่ชัดเจนเรื่องของการก่อสร้างและกำหนดเปิดให้บริการในอนาคต
นอกจากเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทางที่กล่าวไปแล้วยังมีเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ไม่ไกลพื้นที่อีก เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) และเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี) โดย ณ ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่กำลังจะเปิดให้บริการในปีพ.ศ.2565 ค่อนข้างแน่นอน ส่วนเส้นทางอื่นๆ อาจจะยังต้องรออีกหลายปี แต่เพียงเท่านี้ พื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูงมากอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ในช่วงระหว่างถนนลาดพร้าวขึ้นไปถึงถนนประเสริฐมนูกิจหรือถนนเกษตร – นวมินทร์ทั้ง 2 ฝั่งของถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีโครงการบ้านจัดสรรราคาสูงเปิดขายอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงหลายปีก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบันพื้นที่ทางตอนเหนือของถนนลาดพร้าวขึ้นไปทั้งสองฝั่งของถนนประดิษฐ์มนูธรรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อประโยชน์สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันได้มากมาย ทั้งศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านอาหารหลากหลายประเภท แหล่งบันเทิงยามค่ำคืน และหน่วยงานราชการ รวมไปถึงความเป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยมาต่อเนื่องยาวนาน