‘VRANDA’ โชว์กำไรต่อเนื่อง 9 เดือนแรก 67 เติบโตแข็งแกร่ง ทำรายได้ 1,159 ล้านบาท กำไรสุทธิ 42 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 28 ล้านบาท ไตรมาส 4 รับปัจจัยบวกเต็มสูบรับตลาดท่องเที่ยวเข้าสู่ไฮซีซัน-โรงแรมเปิดใหม่
‘บมจ.วีรันดา รีสอร์ท’ หรือ VRANDA โชว์ผลกำไรต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/67 ทำรายได้ 390 ล้านบาท เติบโต 19% EBITDA 80 ล้านบาท เติบโต 34% กำไรสุทธิ 5 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 20 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของ
ปีก่อน ส่งผลให้ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก 2567 ทำรายได้ 1,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% และ EBITDA
278 ล้านบาท เติบโต 27% โดยมีกำไรสุทธิ 42 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของ
ปีก่อน (YoY) ชี้ไตรมาส 4 เข้าสู่ช่วงไฮซีซัน และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลบวกต่อธุรกิจ มั่นใจรายได้ทั้งปีเติบโตตามเป้าหมายจากยอดจองห้องพักโรงแรมในเครือฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA ผู้นำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/2567 (ก.ค.-ก.ย.) บริษัทฯ มีรายได้รวม 390 ล้านบาท เติบโต 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมี EBITDA อยู่ที่ 80 ล้านบาท เติบโต 34% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 5 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยจากตลาดท่องเที่ยวไทยในปี 2567 ที่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์
ขณะที่ ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีรายได้รวม 1,159 ล้านบาท เติบโต 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมี EBITDA อยู่ที่ 278 ล้านบาท เติบโต 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 42 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดท่องเที่ยวของไทยในช่วง 9 เดือนของปี 2567 เติบโตได้ดี นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเกือบครบทุกประเทศ ทั้งชาวอาหรับ เอเชียตะวันออก และยุโรป สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมได้แก่ ภูเก็ต สมุย พัทยาและกรุงเทพฯ โดยวีรันดา รีสอร์ทฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งโรงแรมโซ แบงคอก, โรงแรมวีรันดา คอลเลกชัน สมุย – ร็อคกี้ รีสอร์ท, โรงแรมวีรันดา รีสอร์ท พัทยา นาจอมเทียน – เอ็มแกลเลอรี ซึ่งมีอัตราการเข้าพักปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 4/2567 เป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจท่องเที่ยว เชื่อว่าตลาดจะคึกคักอย่างแน่นอน พิจารณาได้จากยอดการเข้าพักในเดือน ต.ค. เติบโตส่งผลให้รายได้ห้องพักเติบโตกว่า 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนั้นการจองห้องพักล่วงหน้า (Booking) ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ และสมุย ที่คาดว่าจะสามารถทำรายได้มากกว่าปี 2562 ก่อนการระบาด Covid-19 แล้ว