อสังหาริมทรัพย์กลุ่มหลักส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว
ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่มหลักๆ ของกรุงเทพฯ มีสภาวะที่แตกต่างกันไป โดยผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์เผยให้เห็นว่า ศูนย์การค้าชั้นดี คอนโดมิเนียมกลุ่มลักชัวรี และโรงแรมกำลังเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ในขณะที่ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าต้องพบกับความท้าทายเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีซัพพลายใหม่ปริมาณมากกำลังทยอยสร้างเสร็จ
นายไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า “จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างดังที่เห็นตัวอย่างได้จากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นของไทย ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากที่ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยรวมยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเชื่อว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้”
นายแกลนซีกล่าวต่อด้วยว่า “โดยทั่วไป ดีมานด์หรือความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะมีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีของประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะยังคงขยายตัว โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนมิถุนายนปีนี้ มีนักท่องเดินทางเข้ามาแล้วมากกว่า 11 ล้านคน นอกจากนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่โดยทั่วไปยังคงอยู่ในแดนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สามารถควบคุมระดับได้ตามเป้า ทั้งหมดนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตลอดรวมจนถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”
แนวโน้มสำคัญๆ ที่น่าสนใจ
– กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นผู้ซื้อกลุ่มหลักในตลาดการซื้อขายที่ดิน ทั้งที่เป็นที่ดินขายกรรมสิทธิ์ขาดและที่ดินให้เช่าระยะยาว ซึ่งเห็นได้จากธุรกรรมการซื้อ/เช่าระยะยาวที่ดินโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในไตรมาสแรกของปีนี้เพียงไตรมาสเดียว มีมูลค่ารวมสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาท เทียบกับยอดการซื้อที่ดินของทั้งปี 2565 และปี 2564 ที่มีมูลค่ารวม 7.1 หมื่นล้านบาท และ 5.6 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
– เนื่องจากกลุ่มผู้เช่า ไม่ว่าจะเป็นการเช่าพื้นที่ศูนย์การค้า หรืออาคารสำนักงาน มีแนวโน้มที่จะเลือกหรือโยกย้ายไปสู่อาคาร/โครงการที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น อาคารหรือโครงการเก่าจะจำเป็นต้องลงทุนปรับปรุงยกระดับคุณภาพให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาผู้เช่าที่มีอยู่เดิมและดึงดูดผู้เช่ารายใหม่ ในสภาวการณ์ที่มีการแข่งขันแย่งชิงผู้เช่าเพิ่มสูงขึ้น
– บริษัทและองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งของไทยและต่างชาติ ล้วนตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนสุทธิให้เป็นศูนย์ ดังนั้น บริษัท/องค์กรเหล่านี้ ต้องการเช่าพื้นที่ในอาคารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว แม้จะต้องจ่ายค่าเช่าสูงขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับการเช่าพื้นที่ในอาคารคุณภาพใกล้เคียงกันแต่ไม่มีการรับรองมาตรฐาน