มนุษย์ VS เทคโนโลยี กับขีดความสามารถในการดูแลความปลอดภัยในที่อยู่อาศัย
ในโลกยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิต จนเกิดกระแส Digital Disruption กันมาพักใหญ่แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีไม่เพียงแต่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเท่านั้น แต่ในด้านธุรกิจและงานบริการ ผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้บริการลูกค้าเช่นกัน จนอาจจะทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นว่าเทคโนโลยีสามารถเข้ามาแทนคนได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าหากเปรียบเทียบขีดความสามารถของมนุษย์กับเทคโนโลยีในเบื้องต้น มนุษย์อาจจะมีข้อจำกัดที่มากกว่า เช่น
– ด้านประสาทสัมผัส มนุษย์มีความสามารถที่มีขีดจำกัด อย่างเรื่องระยะการมองเห็น ความถี่ของเสียงที่หูสามารถได้ยิน แรงสั่นสะเทือนที่ร่างกายสามารถรับรู้ได้ แตกต่างจากเทคโนโลยีที่สามารถ ออกแบบหรือมีนวัตกรรมที่ทำงานได้เหนือขีดความสามารถของมนุษย์ เช่น กล้อง CCTV ที่จับภาพได้ 360 องศา เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนที่มีความถี่ต่ำๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้
– ด้านศักยภาพร่างกาย มนุษย์จำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนและมีสุขภาพที่ดีไม่เจ็บป่วย จึงจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากเกิดความบกพร่องในร่างกายก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในงานที่ทำได้ แตกต่างจากเทคโนโลยีที่เป็นอุปกรณ์หรือระบบที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง
– ด้านความเร็วในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล มนุษย์วิเคราะห์ข้อมูลจากประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ทำให้แต่ละคนมีศักยภาพในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้แตกต่างกัน ต่างจากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มี AI สามารถวิเคราะห์ประมวลผลจากข้อมูล Big Data และหลักเกณฑ์ตามที่ตั้งค่าไว้ได้ทันที
ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ อาจทำให้ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีมีความสามารถที่เหนือกว่ามนุษย์ แต่ในประเด็นที่ว่าสามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์หรือไม่ ควรต้องพิจารณาให้รอบด้าน เนื่องจากสิ่งที่เทคโนโลยียังขาด คือเรื่อง “อารมณ์” และหลักการคิดตัดสินใจในแบบมนุษย์ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเหมาะกับงานที่มีรูปแบบเดิมซ้ำๆ ต้องทำต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง และไม่ต้องติดต่อสื่อสารโดยตรงกับคน แต่หากเป็นงานบางประเภท โดยเฉพาะงานด้านบริการที่ต้องมีการติดต่อพูดคุยกับคน มี Service-minded และต้องมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น พนักงานที่เป็นมนุษย์ย่อมสามารถทำได้ดีกว่า
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในบทบาทงานด้านบริหารโครงการที่อยู่อาศัย ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานบริหารนิติบุคคลเช่นกัน โดยเฉพาะในการดูแลความปลอดภัย ทั้งในด้านการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าของร่วมและผู้พักอาศัย ตลอดจนด้านความปลอดภัยของระบบวิศวกรรมและระบบต่างๆ ในอาคาร รวมถึงสภาพทางกายภาพของตัวอาคารอีกด้วย เนื่องจากฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัสฯ ได้สำรวจความเห็นในหลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกซื้อโครงการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค และพบว่าปัจจัยด้านความปลอดภัยมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เทียบเท่ากับทำเล โดยสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในความปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัยนั้น ประกอบด้วย 1.มีกล้องวงจรปิดที่ครอบคลุม 2.มีสัญญาณกันขโมยหรือสัญญาณเตือนภัยหากเกิดการบุกรุก 3.มีรปภ.คอยดูแลตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง 4.มีระบบประตูล็อกดิจิทัล และ 5.มีระบบคีย์การ์ดสำหรับเข้าอาคารหรือการใช้ facility ในส่วนกลาง และจากผลการสำรวจเห็นได้ว่าความต้องการเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเข้ามามีความสำคัญกับความรู้สึกของผู้ซื้อ และความปลอดภัยนี้ต้องดูแลโดยบุคลากรคุณภาพจึงจะทำให้ลูกค้าอุ่นใจ