ภาพรวมตลาดโรงแรมในกรุงเทพมหานคร ในครึ่งปีแรก 2566
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งพุ่งสูงถึง 11.4 ล้านคนนับตั้งแต่เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เพิ่มขึ้น 432% เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะระดับ 66% ของช่วงก่อนโควิด การฟื้นตัวที่น่าทึ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและเสน่ห์ที่ยั่งยืนของกรุงเทพฯในฐานะจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดและโดดเด่นระดับโลก
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวในประเทศยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวในประเทศกว่า 7.4 ล้านคนหลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แตะระดับ 81% ของช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และมีเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 37% เมื่อเทียบปีต่อปี
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมากกว่า 25 ล้านคนและอาจแตะ 30 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ คิดเป็น 59–70% ของช่วงก่อนโควิด การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2.38 ล้านล้านบาท
นักท่องเที่ยวจากเอเชียถือเป็นกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวหลัก คิดเป็น 68% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมากที่สุด คิดเป็น 16% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ตามด้วยนักท่องเที่ยวจีน 11% อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดการณ์ว่าจีนจะกลับมาครองตำแหน่งแชมป์ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่ากำลังจะเข้ามาอีกประมาณ 5 ล้านคนในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ยุโรปเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักอันดับสอง คิดเป็น 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด นำโดยนักท่องเที่ยวรัสเซีย คิดเป็น 7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร 3% เยอรมัน 3% และฝรั่งเศส 2%
อุปทานและอุปสงค์
อัตราการเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2565 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจที่ 76% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งเติบโดอย่างมีนัยสำคัญถึง 41% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในช่วงครึ่งปีแรกอัตราการเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯค่อนข้างคงที่ที่ 74%-80% แม้แต่ในช่วงโลว์ซีซั่นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 อัตราการเข้าพักก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มที่ดีนี้ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมมีความคาดหวังเชิงบวกต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ
การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ราคาเฉลี่ยที่พักรายวัน (ADR) สูงขึ้นมาก แตะระดับ 4,028 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 17% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่พักรายวันก่อนการระบาดของโควิด-19
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีโรงแรม 5 แห่งเปิดตัวในกรุงเทพฯ เพิ่มอุปทานเข้ามาในตลาดอีก 1,310 ห้อง โดยเป็นโรงแรมระดับอัพสเกลและมิดสเกล ได้แก่ ดุสิต ดีทู สามย่าน (179 ห้อง), อีสติน แกรนด์ พญาไท (494 ห้อง), อาศัย กรุงเทพ สาทร (106 ห้อง), สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท (411 ห้อง) และเบสท์ เวสเทิร์น รัชดา (120 ห้อง) ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีโรงแรมเปิดใหม่อีก 7 แห่ง ทำให้อุปทานในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นอีก 1,667 ห้อง