12 ปี กรุงเทพมหานครเปลี่ยนไปแค่ไหน?

ชยางกูร กิตติธีรธำรง 20 January, 2025 at 16.57 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


เริ่มต้นปี 2025 กับเดือนมกราคมที่ใครหลายคนรู้สึกว่าเป็นเดือนที่ยาวที่สุด บทความต้นปีอย่างนี้ผู้เขียนอยากพาทุกท่านมาย้อนวันวานดูการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมากันบ้างว่า ในปัจจุบันปี 2025 กรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ย่านไหนมีการพัฒนามากย่านไหนมีการพัฒนาน้อย รวมถึงมีอะไรที่หายไปและคงหลงเหลือแต่เพียงความทรงจำไว้บ้าง

 

โดยทำเล ที่ผู้เขียนจะโฟกัสเป็นหลักจะอยู่ในบริเวณกรุงเทพชั้นใน หรือ CBD (Central Business District) อย่างในบริเวณเส้นพระราม 4 เป็นหลัก ซึ่งทำเลในบริเวณนี้เป็นทำเลที่มีการพัฒนาอย่างหนาแน่น จากข้อกำหนดต่างๆที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาหนาแน่นสูง รวมไปถึงเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานรองรับอย่างครบครัน

 

ซึ่งตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทุกท่านจะเห็นได้ว่าในพื้นที่ CBD ของกรุงเทพฯ จะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นมากมายทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม หรือ อาคารสำนักงาน จนไปถึงโครงการ Mega Project มิกส์ยูซหลายๆโครงการก็เริ่มมีการพัฒนาเสร็จสิ้นในช่วงปีนี้แล้ว เดี๋ยวบทความนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านย้อนกลับไป 5 พื้นที่สำคัญของพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง (ถ้าใครไม่ได้เข้าเมืองบ่อยๆอาจจะจำไม่ได้)

แยกแรก: แยกวิทยุ

แยกแรกที่ผมอยากพาทุกท่านมาชมก็คือแยกวิทยุ แยกวิทยุเป็นแยกที่เพิ่งมีกระแสสดๆร้อนๆเลยในช่วงปลายปีที่แล้วกับการเปิดตัว Mega Project ขนาดใหญ่ หนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาทภายใต้ชื่อ “One Bangkok” บนพื้นที่ดินกว่า 108 ไร่ ที่ภายในมีห้างขนาดใหญ่ถึง 3 ห้าง และยังมีอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม รวมอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

ภาพจาก: เพจ 50+ “ภาพ โรงเรียนเตรียมทหาร ปี พ.ศ. 2511”

ซึ่งพื้นที่ดินเดิมของ One Bangkok หลายๆท่านอาจจะพอทราบกันมาบ้างว่าเป็นที่ดินที่ผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่เริ่มแรกที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พื้นที่บริเวณนี้ ก็กลายเป็นสถานีวิทยุโทรเลขทหารเรือ โรงเรียนเตรียมทหาร และตลาดสวนลุมไนท์พลาซ่า จนมาถึงปัจจุบันที่ TCC ชนะการประมูล และพัฒนาที่ดินออกมาเป็นโครงการ One Bangkok แห่งนี้ โดยได้เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เรียกได้ว่าเปลี่ยนบริบทของพื้นนี้แตกต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง

แยกสอง: แยกศาลาแดง

แยกสองที่ผมอยากพาไปชม คือ แยกศาลาแดง เป็นอีก 1 แยกที่กำลังมีการพัฒนาโครงการ Mega Project อีก 1 โครงการเช่นกัน โครงการนี้มีชื่อว่า “Dusit Central Park” โปรเจคก์มิกส์ยูซที่มีมูลค่ากว่า 46,000 ล้าน ซึ่งจะประกอบไปด้วย ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโรงแรม โดยโปรเจคก์นี้จะเป็นการร่วมทุนระหว่างดุสิตธานี กับทางกลุ่มเซ็นทรัล โดยส่วนแรกที่มีการพัฒนาเสร็จสิ้นและเปิดให้บริการแล้วก็คือโรงแรมดุสิตธานี (Dusit Thani Bangkok)

ภาพจาก: กรุงเทพธุรกิจ

ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในอดีตหลายๆคน น่าจะมีภาพจำของแยกนี้ด้วยตึกโรงแรมดุสิตธานีสุด iconic สูง 23 ชั้น ติดกับสวนลุมพินี ซึ่งมีการสร้างขึ้นตั้งแต่ในปี 2513 โดย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ซึ่ง ณ ตอนนั้นโรงแรมดุสิตธานีเป็นโรงแรมที่สูงที่สุด และเรียกว่าดีที่สุดในเวลานั้นเลยก็ว่าได้ ซึ่งนับจากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาก็ล่วงเลยมากว่า 50 ปี ตัวตึกเดิมก็เรียกได้ว่าเริ่มเก่าห้องพักต่างๆก็เล็กกว่าโรงแรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมทางดุสิตธานีถึงมีแนวคิดที่จะทุบตึกเดิมและสร้างใหม่ จนออกมาเป็นโครงการ “Dusit Central Park”

แยกสาม: แยกสามย่าน

แยกสามย่าน เป็นแยกที่มีการพัฒนาโครงการ Mixed-use เสร็จก่อนเพื่อนๆ ในแยกอื่นๆ โดยตัวโครงการนี้จะมีชื่อว่า “สามย่าน มิตรทาวน์” โครงการนี้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะตัวโครงการอยู่ติดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตัวโครงการแห่งนี้จะเป็นอาคารกลุ่มเดียว โดยจะมีชั้น Podium เป็นห้างสรรพสินค้า และอาคารสูงด้านบนจะเป็นอาคารสำนักงาน(ติดฝั่งถนนพระราม4) กับตัวอาคารพักอาศัยที่อยู่ด้านหลัง

ภาพจาก: เพจ ย้อนอดีต…วันวาน “ภาพในปี พ.ศ.2513”

ซึ่งแต่เดิมก่อนจะเป็นโครงการ Mixed-use แห่งนี้ พื้นที่ในบริเวณนี้ถ้าใครยังจำกันได้ เคยเป็นอาคารตึกแถวสูง 2-3 ชั้นมาก่อน มีร้านค้าต่างๆ รวมถึงเป็นพื้นที่ตลาดนัดสามย่านมาก่อน ก่อนที่จะมีการย้ายไปที่แห่งใหม่ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีพื้นที่ของจุฬาฯอีกหลายแปลงในบริเวณใกล้เคียงกันกำลังจะมีการพัฒนาขึ้นมา ซึ่งจะถูกบริหารงานโดยสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ฯ หรือ PMCU ต้องมาลองติดตามกันว่าพื้นที่บริเวณนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีกบ้าง

 

แยกสี่: แยกพระรามที่4

ต่อมาในส่วนของแยกพระรามที่ 4 หรือมักจะถูกเรียกว่า สี่แยกคลองเตย แยกนี้เป็นแยกของหนุ่มสาวออฟฟิศ เพราะเป็นที่ตั้งของตึกสำนักงานใหญ่ถึง 2 แห่ง ก็คือ อาคาร FYI Center และ อาคาร The PARQ รวมถึงยังอยู่ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ที่จะมีจัดงานระดับชาติอยู่บ่อยๆ ทำให้พื้นที่ในบริเวณนี้ในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์จะมีหนุ่มสาวออฟฟิศเข้ามาทำงานอยู่ตลอดเวลา

 

ซึ่งถ้าใครยังจำกันได้ในอดีตก่อนที่ 2 ตึกนี้จะเกิดขึ้น พื้นที่บริเวณนี้ก็เป็นพื้นที่ปล่อยโล่งรกร้าง ไว้จอดรถบ้าง ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อะไรอย่างเป็นจริงเป็นจังๆ โดยพื้นที่ของตึกทั้ง 2 แห่งนี้ก็เป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

โดยความน่าสนใจ คือ ทั้ง 2 ตึกเป็นกลุ่มอาคารออฟฟิศแนวคิดใหม่ ที่พัฒนาตามแนวคิด Green Building เป็นอาคารกลุ่มแรกๆที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่ง Green Building หรืออาคารเขียวก็เป็นรูปแบบที่พัฒนาเพื่อตอบรับกับความยั่งยืนสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยจะมีรางวัลการันตี เช่น LEED หรือ WELL ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อาคารสำนักงานใหม่ๆที่จะสร้างขึ้นต้องคำนึงถึง เพื่อดึงดูดผู้เช่า และทำอัตราค่าเช่าได้สูง เช่นเดียวกับ อาคาร FYI Center และ อาคาร The PARQ ที่มีบริษัทชั้นนำมากมายมาเช่าทำสำนักงาน เป็นต้น

แยกห้า: แยกปทุมวัน

แยกสุดท้ายที่จะพามาชมในวันนี้ คือ แยกปทุมวัน เป็นแยกสำคัญอีกแยกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และบทบาทล่าสุดที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ประมูลที่ดินแปลงหัวมุม ขนาดกว่า 7 ไร่ จากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ซึ่งที่ดินมีรูปร่างคล้ายๆ คลีบฉลาม (เมื่อมองจาก Top view) ซึ่งมีข่าวว่าทางเซ็นทรัลจะพัฒนาเป็นโครงการ Mixed-use แห่งใหม่ ที่จะมีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม ซึ่งคาดว่าเป็นโครงการมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าพัฒนาเสร็จสิ้นจะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีห้างตลอดแนวถนนพระราม 1 ถึงเพลินจิต ตั้งแต่แยกปทุมวันจนไปถึง เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่

ภาพจาก: เพจ วันวานและข่าวสาร “แยกปทุมวัน พ.ศ 2528”

ซึ่งแต่ก่อนใครยังจำกันได้หัวมุมถนนตรงนี้ก็คือตึกแถวเก่าสูง 2-3 ชั้นที่จะมีร้านค้า ร้านอาหารเรียงรายอยู่ตลอดแนวเป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นที่ตั้งของ โรงหนัง Stand-alone อย่าง สกาลา ที่ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสดราม่าในโซเชียลมากมายว่าทำไมถึงทุบทิ้งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่อย่างไรก็แล้วแต่ในปัจจุบันกำลังจะมีการพัฒนาใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องมาลองดูกันว่าเซ็นทรัลจะทำออกมาในรูปแบบไหน จะสู้คู่แแข่งในละแวกใกล้เคียงได้หรือไม่ เพราะแถวๆนี้ก็ถือว่ามีคู่แข่งเยอะมาก

 

และนี่ก็จะเป็นทั้งหมดของ 5 แยกสำคัญในกรุงเทพฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่าน โดยจะเห็นได้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบ Mixed-use ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญในยุคปัจจุบัน ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้สูงสุด นอกจากนั้นในพื้นที่กรุงเทพฯยังมีอีกหลายๆย่านที่มีศักยภาพและน่าจับตามองซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรบ้างคงต้องมารอติดตามกัน ไม่ว่าจะเป็น ย่านพระราม4-คลองเตย ที่มีที่ดินผืนใหญ่ขององค์การยาสูบ และทางสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่กำลังรอการประมูลอยู่ หรือ ทำเลบริเวณสถานีแม่น้ำคลองเตยที่ก็เป็นที่ดินผืนใหญ่มากเช่นกัน(หลายร้อยไร่) หรือบริเวณทำเล กม.11 ที่กำลังจะพัฒนาทำบ้านเพื่อคนไทย(บนพื้นที่ดินประมาณ 200 ไร่) และสุดท้ายอย่างทำเลบริเวณสถานีศิริราชที่กำลังจะเป็นสถานี Interchange ของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม ซึ่งกำลังจะถูกผลักดันให้เป็น Medical Hub ในอนาคตอีกด้วย เป็นต้น

ชยางกูร กิตติธีรธำรง

ชยางกูร กิตติธีรธำรง

สถาปนิกจบใหม่ กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท มีความสนใจด้านอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภทตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ คอนโด โรงแรม และชอบไปดูโครงการและงานออกแบบอยู่เสมอ เพื่อเก็บเกี่ยวองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ

เว็บไซต์

นิว เอปิค อโศก-พระราม 9

นิว คอร์ คูคต สเตชัน

ศุภาลัย แกรนด์ เอสเซ้นส์ อรุณอมรินทร์

ทำเลฝั่ง “ธนบุรี” ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...

6 November, 2024

ศุภาลัย ธาม เจริญนคร

เป็นคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ของศุภาลัย ที่เป็นผู้เชี่ย...

2 November, 2024

นิช ไพรด์ เอกมัย

Unimaginable Life ชีวิตเกินจินตนาการใจกลางเอกมัย หาก...

21 October, 2024

ศุภาลัย บลู สาทร-ราชพฤกษ์

ทำเลสถานีบางหว้า คือสถานี Interchange สำคัญของชาวฝั่...

17 October, 2024

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง