จากอดีตสู่อนาคต รูปแบบที่อยู่อาศัยแนวสูงของกรุงเทพฯจะไปต่อในรูปแบบไหน?
ในปัจจุบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปในช่วง 30-40 ปีก่อนคงจะเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงมีอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องราคาที่ดินที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับทรัพยากรที่ดินที่มีจำนวนจำกัด ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงกลายเป็นทางออกที่ดูจะคุ้มค่ากว่าการพัฒนาโครงการบ้านแนวราบที่อาจจะไม่มีความคุ้มค่าอีกต่อไปสำหรับพื้นที่เมือง ในปัจจุบันการพัฒนากลุ่มที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบข้อจำกัดในการอยู่อาศัยหลายประเด็น เช่น ขนาดห้องที่มีการพัฒนาเล็กลงเรื่อย ๆ พื้นที่ส่วนกลางที่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์กับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงอาคารที่จะมีแต่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาคารส่วนใหญ่ที่พัฒนาขึ้นมาในพื้นที่กรุงเทพฯก็น่าจะมีอายุ 15-20 ปีแล้ว หลายคนคงอาจจะเคยมีคำถามว่าแล้วในอนาคตการอยู่อาศัยแนวสูงจะมีทิศทางเปลี่ยนไปทิศทางไหน แล้วอาคารเก่าที่มีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำอย่างไร เดียวบทความนี้มีคำตอบครับ
ความเป็นมาของการอยู่อาศัยแนวสูง ?
ผู้เขียนต้องขอเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าทำไมจึงเกิดที่อยู่อาศัยแนวสูง แล้วถึงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจริง ๆ แล้วการอยู่อาศัยแนวสูงมีมาตั้งแต่ในอดีตสมัยโรมัน แต่สำหรับเมืองในปัจจุบันสามารถอธิบายให้เข้าใจในแง่มุมของเมืองได้ง่าย ๆ ซึ่งจะเรียกว่า ปรากฎการณ์ Urbanization หรือ กระบวนการกลายเป็นเมือง Urbanization เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทุกที่ทั่วทุกเมืองใหญ่ ๆ ของโลก เนื่องจากการที่โลกมีประชากรเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ทุกอย่างถูกรวมไว้ที่ศูนย์กลางเมืองใหญ่ทั้งแหล่งงานและที่อยู่อาศัย ส่งผลทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเมืองมีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นแต่ที่ดินมีอยู่จำกัด ที่อยู่อาศัยแนวสูงจึงกลายเป็นคำตอบสำหรับคนเมือง นอกจากนี้แนวคิดการพัฒนาเมืองในศตวรรษที่ 21 มีหลายแนวคิด เช่น Compact City, TOD หรือ Walkable City ซึ่งล้วนเป็นแนวคิดที่เน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การมีขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่เมืองลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว ทำให้พบเห็นการพัฒนากลุ่มอาคารสูง รวมถึงโครงการประเภท Mixed-use เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
บริบทที่อยู่อาศัยแนวสูง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของประเทศไทย
สำหรับในบริบทของประเทศไทยปัจจุบันตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต รวมถึงกรุงเทพมหานคร ล้วนมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสูงทั้งสิ้น ซึ่งจังหวัดที่หนาแน่นของอาคารสูงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ ซึ่งขอบเขตความเป็นเมืองของพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบันจะครอบคลุมพื้นที่ไปถึงบริเวณปริมณฑลชายขอบของพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ถ้าลองมองย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น ตั้งแต่มี พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ที่ระบุไว้ว่า “อาคารชุด” หมายความว่า อาคารที่บุคคลสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนๆ โดยแต่ละส่วนประกอบไปด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการพัฒนากลุ่มอาคารชุดยุคแรก ๆ ในขณะเดียวกัน ฝั่งการเคหะก็มีนโยบายที่จะสร้างที่พักอาศัยรวมเพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัด จึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่ช่วยผลักดันกฎหมายอาคารชุดเป็นผลสำเร็จ
โดยปีแรกที่มีการจดทะเบียนอาคารชุด คือปีพ.ศ.2524 โดยอาคารแรกเป็นอาคารแกรนด์วิลล์เฮาส์ ในเขตคลองเตย เป็นอาคารชุดสูง 13 ชั้น 2 อาคาร มีจำนวนห้องชุดอาคารละ 31 ห้อง มีพื้นที่โครงการรวม 14,067 ตารางเมตร ซึ่งในปัจจุบันยังมีการใช้งานในการอยู่อาศัย ในช่วงเวลาต่อมาที่อยู่อาศัยแนวสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องของราคาที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยช่วงเวลาขณะนี้ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี ทางสถาบันการเงินมีนโยบายปล่อยสินเชื่อในการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งพบเห็นธนาคารเริ่มละเลยการปล่อยสินเชื่อที่มีความรอบคอบ จึงนำมาสู่ช่วงวิกฤตฟองสบู่ที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์หลายเจ้าล้ม ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุน จนหลายโครงการต้องหยุดชะงัก และพบเห็นอาคารร้างหลายแห่งในกรุงเทพฯ
ภาพจาก: สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
หรือที่เป็นข่าวดังกับอาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ที่เป็นอาคารร้างมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากวิกฤตปี 2540 ในช่วงนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ค่อยๆ ปรับตัวฟื้นขึ้นมา โดยฝั่งของภาครัฐก็ได้มีการออกนโยบายในการฟื้นตัวเศรษฐกิจซึ่งได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติอาคารชุด ทำให้ต่างชาติสามารถถือครองพื้นที่อาคารชุดได้ถึง 49% ของทั้งหมด เป็นการช่วยให้อาคารชุดเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ หลังจากนั้นในช่วงที่เริ่มมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางก็จะพบเห็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงนอกเหนือจากในพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีการพัฒนาหนาแน่นแล้ว ก็จะมีการพัฒนากระจายออกไปบริเวณขอบชานเมืองซึ่งเป็นบริเวณสถานีปลายทางของรถไฟฟ้า เช่น รอบสถานีวงเวียนใหญ่ในฝั่งตะวันตก และรอบสถานีอ่อนนุชในฝั่งตะวันออก เป็นต้น