ตื่นตัวไม่ตื่นตูม “เงินเฟ้อไม่แผ่ว-โรคระบาด-ผลกระทบความไม่สงบ” อยากมีบ้านช่วงนี้ดีหรือไม่?
ปี 2565 เป็นอีกปีที่หลายภาคส่วนต้องเผชิญความท้าทายหลายรูปแบบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบางต่อเนื่องนับจากวิกฤติโควิด-19 มาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ผู้บริโภคต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้าทั้งทางตรงและทางอ้อม แล้วยังมีผลกระทบจากสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ปรับตัวตามต้นทุนที่สูงขึ้น ผนวกกับสถานการณ์เงินเฟ้อโลกที่จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อในไทยสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 104.10 สูงขึ้น 5.28% เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสูงขึ้น 1.06% จากเดือนมกราคม 2565 โดยถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 เลยทีเดียว
ภาวะเงินเฟ้อกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยอย่างไร
ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แปรผันตามสภาพเศรษฐกิจนั้น แม้จะมีการรุกตลาดอย่างต่อเนื่องของผู้พัฒนาอสังหาฯ ตั้งแต่ต้นปีเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ภาวะเงินเฟ้อเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ต่อการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ เนื่องจากมีผลกระทบเกี่ยวพันทั้งระบบนิเวศทางธุรกิจในทุกมิติตั้งแต่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ไปจนถึงระดับประเทศ
– สินค้าทยอยปรับราคา ค่าครองชีพพุ่ง เมื่อมีภาวะเงินเฟ้อผนวกกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มต่อเนื่อง ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนตามความเป็นจริง หลังผู้ประกอบการและผู้ผลิตต้องแบกรับภาระต้นทุนมาอย่างยาวนานในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดฯ แม้กำลังซื้อผู้บริโภคจะยังชะลอตัวอยู่ แต่ผู้ผลิตก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่ม นอกจากนี้อัตราค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพในปัจจุบันเป็นอีกต้นทุนสำคัญเช่นกัน ที่ผู้บริโภคต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าเดิม นั่นคืออำนาจซื้อของผู้บริโภคก็น้อยลงตามไปด้วย
ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจ ค่าครองชีพเติบโตสวนทางกัน ทว่าความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อเป็นระยะเวลายาวนาน ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด หรือชะลอการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป และเมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นขณะที่รายได้เท่าเดิม ย่อมทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงซบเซาเนื่องจากไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบเพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต
– ต้นทุนการก่อสร้างแปรผันตามสถานการณ์โลก ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนจากการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาดฯ ในจีนที่เป็นประเทศส่งออกเหล็กอันดับ 1 ของโลก นอกจากนี้ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนคือการปรับตัวของราคาน้ำมันที่กระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งโดยตรง โดยเฉพาะวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทั้งรัสเซียและยูเครนถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญกับภาคอสังหาฯ ไม่น้อย เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ข้อมูลจากสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) เผยว่า รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกเหล็กรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในขณะที่ยูเครนติดอันดับ 8 ดังนั้น ภาพรวมการก่อสร้างที่อยู่อาศัยปีนี้จึงมีทิศทางปรับราคาขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้