ย้อนวันวานประวัติศาสตร์ถนนสีลม ผ่านมุมมอง สถาปนิกนักอนุรักษ์ วทัญญู เทพหัตถี
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน ย่านสีลมเป็นดั่งจุดศูนย์รวมธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา แต่หารู้ไม่ว่า ความเป็นมาของถนนเส้นนี้ ก่อนจะหล่อหลอมมาเป็นย่านสีลมอย่างที่พวกเรารู้จักและคุ้นเคยกัน มีการเปลี่ยนแปลงเช่นไรบ้างผ่านยุคสมัย
วันนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับสถาปนิกนักอนุรักษ์ คุณวทัญญู เทพหัตถี ที่จะมาร่วมเล่าถึงประวัติศาสตร์ถนนสีลม และความเป็นมาที่น่าจดจำ ส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น
จุดเริ่มต้น ที่มาของชื่อ “ถนนสีลม”
ถนนสีลมที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเดิมมีชื่อว่า ถนนขวาง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อราวปีพ.ศ. 2404 โดยเป็นถนนที่ถมขึ้นขนานไปตามแนวคลองสีลมที่ขุดเชื่อมการคมนาคมระหว่างคลองบางรักและคลองถนนตรง (คลองริมถนนพระรามที่ 4) ส่วนเหตุที่เรียกชื่อถนนว่าสีลมนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนนัก แต่อาจมีที่มาจากกังหันขนาดใหญ่ซึ่งใช้แรงลมในการสีข้าวก็เป็นได้
ยุคสมัยของถนนสีลม
หากเปรียบถนนสีลมดั่งยุคสมัย สามารถแบ่งออกได้เป็นสามรุ่นที่ชัดเจน ได้แก่:
– ยุคกำเนิดถนนสีลม (พ.ศ. 2404 – 2435)
เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นในการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนา
– ยุคครอบครัวสีลม (พ.ศ. 2436 – 2505)
เป็นช่วงเวลาที่ถนนสีลมเป็นย่านพักอาศัยชั้นดีของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและมีความสงบร่มรื่น ในช่วงเวลานี้ถนนสีลมมีการสัญจรด้วยยานพาหนะรูปแบบต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามความเจริญของกรุงเทพฯ
– สมัยรถรางสายสีลม (พ.ศ. 2436 – 2450)
– สมัยรถเมล์ขาว (พ.ศ. 2451 – 2488)
– สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2489 – 2505)
– ยุคถนนสายธุรกิจ (พ.ศ. 2506 – ปัจจุบัน)
เป็นช่วงเวลาที่ถนนสีลมได้เปลี่ยนจากย่านพักอาศัยมาเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีการก่อสร้างอาคารสำนักงาน โรงแรมและคอนโดมิเนียมขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีระบบการขนส่งสมัยใหม่แบบรางเข้ามาถึงพื้นที่ ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT
– สมัยหลังถมคลองสีลม (พ.ศ. 2506 – 2524)
– สมัยตึกสูง (พ.ศ. 2525 – 2541)
– สมัยรถไฟฟ้า (พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน)