Eco-friendly is the new Luxury Trend เมื่อเทรนด์ความหรูหราที่แท้จริงเปลี่ยนไป

ต่อทอง ทองหล่อ 15 April, 2018 at 10.29 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


เมื่อความหมายของความหรูหราเปลี่ยนไป

 

ค่านิยมที่สะท้อนความหรูหราสำหรับผู้คนในเมืองไทยก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถ้าพูดถึงสถาปัตยกรรมที่หรูหราในอดีตคงจะต้องออกมาในรูปแบบเสาปูนปั้นโรมัน สิ่งก่อสร้างที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ การใช้หินอ่อนหายากที่ต้องไประเบิดภูเขาเป็นลูกๆ เพื่อนำมาตกแต่งที่อยู่อาศัย การมี “ห้องรับแขก” ที่ตกแต่งสวยงามเพื่อใช้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเจ้าของบ้าน ห้องรับแขกที่หรูหราจึงเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าของบ้าน ความหรูหราในอดีตจะต้องเป็นสิ่งที่ให้คนอื่นได้มาสัมผัสได้เจอกับตัวเอง

 

ค่านิยมความหรูหราในปัจจุบันก็เปลี่ยนไป เพราะเข้าสู่ยุค Social Networks จากเดิมที่เราเคยอวดความหรูหราที่ตนมีด้วยห้องรับแขกหรือสิ่งที่อยู่ถาวรคงทนอย่างบ้าน ก็เปลี่ยนเป็นการอวดกันด้วยรูปภาพ คลิปวิดีโอ อวดผ่าน Social Networks ซึ่งเราสามารถอวดด้วยสิ่งหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอวดสิ่งของ เช่น บ้านหรู คอนโดหรู รถยนต์หรู นาฬิกาหรู กระเป๋าเสื้อผ้า Luxury Brand เครื่องประดับหรู เราอวดได้ทุกสิ่งไปจนถึงการอวดประสบการณ์ เช่น อวด dining experience ที่พิเศษแตกต่าง อวดความเก๋ของสถานที่คาเฟ่ที่เราไป อวดหนังสือที่เราอ่าน อวดรูปภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่เราเลือกไป หรือแม้กระทั่งอวดจำนวนตัวเลขคนที่มาเคารพบูชาเรา เช่น อวดจำนวน Like คน Follow คน subscribe ซึ่งจำนวนคนนำมาซึ่งความร่ำรวยได้หากนำจำนวนคนเหล่านั้นมาทำประโยชน์

 

แต่การอวดความหรูหราทั้งหลายแบบนี้ที่เป็น “ Mass Luxury” เริ่มเข้าสู่ภาวะ “เฟ้อ” เพราะใครๆ ก็มีได้ คุณค่าลดลงจากเดิมที่สินค้า High-end คือ High-end จริงๆ มีความ Luxury จริงๆ มีคนน้อยคนที่จะได้สัมผัส ไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียวก็ซื้อได้ แต่ต้องมียศถาบรรดาศศักดิ์หรือสังคมมี connection ที่ High-end ไปด้วยถึงจะมีโอกาสได้สัมผัส แต่ปัจจุบันความเป็น Luxury Products เปลี่ยนไป แต่ละ Brand เริ่มเจาะลงสู่ตลาดแมสกลายเป็น Mass Luxury มากขึ้นเพราะจำเป็นต้องขยายตลาดเพราะถ้าไม่ขยายธุรกิจสินค้าหรูก็จะมีปัญหา จึงทำให้คนที่เป็นกลุ่ม New Rich หรือเศรษฐีใหม่ที่มีเงินมากพอก็สามารถซื้อหาได้แล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างก็คือประสบการณ์ท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นเคยเป็น “ประสบการณ์หายาก ใช้เงินเยอะ หรูหรา” ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาหลังจากการเกิดขึ้นมาของ Low-cost Airline ที่ทำให้การบินข้ามประเทศไม่ใช่เรื่องยากหรือแพงอีกต่อไป ใครๆ ก็บินได้ ใครๆ ก็เที่ยวได้

 

เพราะโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้หลายๆ อย่างง่ายขึ้น ดีขึ้น และราคาถูกลง เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้ความขลังและการเข้าถึง Luxury Products และ Luxury Services ต่างๆ นั่นเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันเราเห็นคนทั่วไปเป็นเจ้าของ “Luxury Stuff” กันเกลื่อนจนเห็นแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่นแต่อย่างใด

 

ความแตกต่างของคนแต่ละคนที่สะท้อนความเป็น Truly Luxury หรือความหรูหราที่แท้จริง จึงไม่ใช่การมองเห็นแค่สิ่งภายนอกที่ปรากฎอยู่บนตัวของคน แต่ความหรูหราที่แท้จริงจะสะท้อนออกมาจากคุณค่าแห่งความคิดความอ่านที่อยู่ในตัวตนแต่ละคนต่างหาก แล้วอะไรเล่าที่เป็นเทรนด์ความคิดที่สะท้อนความเป็น Truly Luxury ในเวลานี้ เทรนด์นั้นก็คือ… Eco-friendly ครับ

Eco-friendly is the new Luxury

เทรนด์ Eco-friendly is the new Luxury มีมาสักพักแล้วและปัจจุบันกลายเป็นเครื่องแสดงออกแห่งวิถีชีวิตหรูหราแบบใหม่ ความหรูหราไม่ใช่แค่การได้อยู่บ้านใหญ่ๆ โตๆ ไม่ใช่แค่การถือครองคอนโดจัดเต็มไปด้วยหินอ่อนหรูหราหรือได้วิวแสนสวยงาม ไม่ใช่การขับรถ Super car ไม่ใช่การใช้เงินมากๆ จ่ายหนักๆ  ไม่ใช่การผลาญทรัพยากรจำนวนมากๆ จะเท่ากับความหรูหราเหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม Eco-friendly ต่างหากที่จะมาแทน Concept of Luxury แบบเดิมให้ลดความสำคัญลงไป

 

ที่ประเทศสิงคโปร์มีตัวอย่างโรงแรมหรูที่ใช้แนวคิด Eco-freindly เต็มรูปแบบทั้งดีไซน์ของอาคารภายนอก ภายใน รวมถึงการให้บริการต่างๆ ก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นั่นคือโรงแรม Park Royal

เป็นโรงแรมที่ประหยัดไฟฟ้าสำหรับการผลิตน้ำร้อน สร้าง sky garden ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์และต้นไม้ต่างๆ ก็ช่วยผลิตออกซิเจนลดคาร์บอน มีการออกแบบให้มีแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ ลดการใช้ไฟฟ้าด้วยการเลือกใช้หลอดไฟ LED มีระบบ motion sensor เพื่อช่วยเปิดปิดดวงไฟ มีการกักน้ำฝนเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำใช้ด้วยเทคโนโลยีของสิงคโปร์ที่เรียกว่า NEWater ศึกษาเพิ่มเติมที่ https://youtu.be/DWWU-8_4wu0 )

ที่มาข้อมูล http://singaporehotels.parkroyalhotels.com/pickering/green-living.php

 

หลักการของ Eco-friendly จะต้องมี 4 ข้อ ได้แก่

1. Eco-friendly จะต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิต (Production) การเลือกใช้วัตถุดิบจากของเหลือใช้ วัตถุดิบที่ไม่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการผลิตที่ซับซ้อน ผลิตแบบใช้พลังงานน้อย ของเสียระหว่างผลิตน้อย ประหยัดในมิติต่างๆ หรือนำไป re-use ใช้ต่อได้

2. Eco-friendly จะต้องคำนึงการขนส่ง (Logistics) วิธีการขนส่งย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งจะต้องประหยัดทุกมิติ ประหยัดพื้นที่ บรรทุกได้มากขึ้น ลดมลพิษจากการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น

3. Eco-friendly จะต้องคำนึงถึงผู้ใช้งาน (Human Center) จะทำยังไงให้คนหลากหลายใช้งานได้ ทำยังไงให้ทนทาน ใช้งานได้ยาวนาน คุ้มค่ากับทรัพยากร วัตถุดิบ พลังงานที่ใช้ไป

4. Eco-friendly จะต้องคำนึงถึงการกำจัด (Disposal) จะเป็นอะไรที่ต้องมาตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง วัสดุย่อยสลายเองได้ไหม หมดอายุใช้งานแล้วกำจัดยังไง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ซ่อมง่ายไหม ใช้งานซ้ำได้ไหม

 

ทำไม Eco-friendly จึงกลายเป็นเทรนด์ความหรูหราแบบใหม่

เพราะว่าหัวใจหลักๆ ของ Eco-friendly คือการตอบโจทย์ว่า ถ้าจะใช้ทรัพยากร เราจะใช้ยังไงให้คุ้มค่าที่สุดอย่างสมเหตุสมผลที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งตรงนี้นี่แหละคือความยากของ Eco-friendly ไม่ได้จะทำง่ายๆ หรือทำได้ทุกคน เพราะมันขัดกับความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะเห็นแก่ตัวและรักสบายเป็นที่ตั้งโดยจะทำอะไรก็ได้ขอให้ตัวเองได้สมใจอย่างที่ต้องการ ความยากจุดนี้ก็เป็นสิ่งที่วัดกึ๋น ความฉลาดของบุคคลนั้นๆ ความยากของการเข้าใจและเข้าถึงของ Eco-friendly จึงกลายเป็นเครื่องแสดงออกถึงแนวคิดความหรูหราที่แท้จริง เพราะเราไม่สามารถตัดสินกันที่ภาพลักษณ์ภายนอกอีกต่อไปเพราะใครๆ ก็มีได้เหมือนกัน แต่ต้องมองทะลุเข้าไปถึงข้างในกันเพื่อดูว่าคนนี้แตกต่างจากคนอื่นหรือไม่ คนที่มีความเป็น Eco-friendly จะต้องมีความเห็นแก่ตัวน้อยมาก มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมที่สูงมาก Eco-friendly Person จะเป็นคนที่มีความอิ่มจากภายในและมองโลกอย่างเผื่อแผ่แบ่งปัน ระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นี่แหละครับความหรูหราที่มาจากข้างในอย่างแท้จริง

 

ตัวอย่าง Eco-friendly Product ที่กลายเป็น Truly Luxury Product

อีกไม่นานสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Products) จะกลายเป็นสินค้าหรูหราแบบใหม่ รวมถึง Eco-friendly Service ด้วย เช่น การท่องเที่ยวเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Tourism) ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ที่สอดคล้องกับแนวคิด Eco-friendly ในด้านของวงการอสังหาริมทรัพย์ก็มีการนำแนวคิด Eco-friendly เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางจิตใจให้กับลุกค้าเพื่อยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

 

ประเทศไทยก็มีโครงการคอนโดมิเนียมที่ใช้แนวคิด Eco-friendly อย่างเช่น

โครงการ 98 Wireless คอนโดมิเนียม flagship เรือธงของแสนสิริ ได้ผ่านการประเมินมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ในเดือนกันยายน ปี 2017 โดย 98 Wireless ผ่านมาตรฐานการตรวจวัดคุณภาพใน 7 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความยั่งยืนของสถานที่ตั้งอาคาร (Sustainable sites) , การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water efficiency), การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศโลก(Energy & Atmosphere), การเลือกใช้วัสดุและทรัพยากร (Material & resources), คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor environmental quality), นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation) และการออกแบบที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศท้องถิ่น (Regional priority credits)

98 Wireless ผ่านมาตรฐานของ LEED  เพราะสุขภัณฑ์ในห้องน้ำของโครงการ 98 Wireless สามารถประหยัดน้ำได้มากกว่ามาตรฐานถึง 31%

(ที่มาของข้อมูล https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_551218)

 

ตัวอย่างต่อไปที่นำแนวคิด Eco-friendly เข้ามาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ คือ โครงการ Circle 2 Living Prototype มีจุดเด่นในเรื่อง “ECO – INNOVATIVE LIVING” นำนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีทุกส่วนของโครงการที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย และไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ เช่น ระบบการบำบัดน้ำที่ใช้แล้วภายในอาคารนำมาใช้กับพื้นที่ส่วนกลาง, การออกแบบแต่ละชั้นของอาคารให้มีระบบระบายอากาศที่ดี ช่วยลดความร้อนในตัวอาคาร ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า , Solar Panels หรือระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ผลิตกระแสไฟฟ้านำมาใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลอาคารในระยะยาว , Heat Recovery System พลังงานความร้อนจากเครื่องปรับอากาศถูกนำกลับมาใช้สำหรับทำน้ำอุ่นร้อนได้ถึง 60 องศา เท่ากับการประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง. Recycled water for irrigation  ระบบการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้โดยน้ำที่ออกจากครัวเรือนจะนำมาเข้าขบวนการดักไขมันและการย่อยสลายจากนั้นจะถูกกรองด้วยมัลติฟิลเตอร์ คาร์บอนฟิงเตอร์ และไมโครฟิลเตอร์ เพื่อให้น้ำสะอาดนำมารดน้ำต้นไม้ สามารถรีไซเคิลน้ำ  60 คิวต่อวัน ประหยัดน้ำ  13% เทียบกับ 10 ปี จะประหยัดน้ำได้เท่ากับสระน้ำโอลิมปิก 100 สระ ลดการปล่อยน้ำเสียลงสู่สาธารณะ

โครงการ IDEO Q Victory ทีมสถาปนิกออกแบบให้แต่ละชั้นมีช่องว่าง Atrium ตรงกลางอาคารเพื่อระบายอากาศได้ดี ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ

อีกตัวอย่างเป็นโรงแรม Dusit Thani ใช้แนวคิด Eco-friendly กับอาหารที่ขายในโรงแรม เช่น นำเสนอเมนูอาหารประหยัดพลังงาน ทำอาหารจากแหล่งวัตถุดิบท้องถิ่นและตามฤดูกาล มีอาหารออร์แกนิค เป็นต้น

นอกจากนี้อสังหาริมทรัพย์ระดับ Luxury ที่นำแนวคิด Eco-friendly มาใช้แล้วยังมีสินค้าอื่นๆ เป็นสินค้า Eco-friendly ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการสร้างแบรนด์ให้เป็นสินค้าหรูตามนิยามใหม่ แม้จะมีราคาขายไม่สูง  ราคาจับต้องหาซื้อได้ง่าย แต่ก็ถือว่าเป็นสินค้าระดับ Luxury ได้เมื่อเทียบกับคุณภาพของสินค้าสูงที่ผู้บริโภคได้รับ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ดอยคำ  (Doi Kham)

ดอยคำเป็นแบรนด์สินค้าผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากการเกษตรที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพสูง รักษาสิ่งแวดล้อม ทำกำไรและช่วยเหลือสังคม ปัจจุบันสินค้าภายใต้แบรนด์ดอยคำได้รับการรับรองจาก ACT มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) หรือ Organic Agriculture Certification Thailand  (A.C.T.)

เป็นหน่วยงานตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นสมาชิกของ IFOAM (International Federation  of Organic Agriculture Movements) สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติทำหน้าที่ตรวจสอบและให้การรับรอง ผลิตผล/ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม รักษาสมดุลของธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม ผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยจากสารพิษตกค้างทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม

 

ซึ่งการผลิตสินค้าออร์แกนิคในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ทำง่ายๆ เพราะมีปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ดินฟ้าอากาศ ประกอบกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงความคิดและการร่วมมือกันของคนในสังคมรอบๆ ทำเลที่ผลิต เป็นงานหนักและยากกว่าจะได้มา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสินค้าออร์แกนิคถึงมีราคาแพงและกลายเป็นสินค้าหรูหรา

 

อีกแบรนด์อสังหาที่มีความเป็น Truly Luxury ตามนิยามใหม่ที่ว่า Eco-friendly is the new luxury นั่นคือแบรนด์ LPN ครับ บางคนอาจจะมองค้านกับผู้เขียนว่า LPN นี่เหรอคือแบรนด์หรู LPN ออกแบบคอนโดมิเนียมดีไซน์เรียบง่ายมากๆ จนดูเป็นคอนโดระดับล่าง แต่เชื่อหรือไม่ว่า LPN เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์หนึ่งที่พูดง่ายๆ คือนิสัยดีน่าคบ เพราะเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มหาชนที่มีการจัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (รายงาน CSR นี้ไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีครับ บริษัทอสังหาที่ทำรายงานนี้ก็มีเช่น ศุภาลัยพฤกษา เป็นต้น) LPN  เป็นองค์กรสีเขียว ใช้แนวคิด Eco-friendly มานานแล้ว ทำผลงานได้ดี และยังคงทำตามนโยบายเดิมมาจนถึงปัจจุบันผ่านมา 26 ปี เราจึงเห็นการออกแบบที่มีความเป็น eco-friendly สูงมากจากงานออกแบบของคอนโดมิเนียม LPN เช่น lobby ที่ไม่จำเป็นต้องติดแอร์ ห้องออกกำลังกายที่ไม่เปิดแอร์เพื่อการเผาผลาญพลังงานร่างกายที่ดี การไม่สร้าง facility เกินความจำเป็นที่จะทำให้เสียทรัพยากรและเงินในการดูแลรักษาระยะยาว เป็นต้น

 

LPN พัฒนาแนวคิด 6 Green LPN (ที่มาของข้อมูล http://www.lpn.co.th/en/sustainability ) เป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่พัฒนาทรัพยากรบุคคล รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เติบโตบริษัทอย่างยั่งยืนไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป มีการทำตลาดที่เป็นธรรมตรงไปตรงมา (ลองสังเกตวิธีตั้งชื่อคอนโดมิเนียมโครงการของ LPN แต่ละโครงการได้ครับว่ามีความตรงไปตรงมาสูงมาก แตกต่างจาก developer บางเจ้าที่ตั้งชื่อโครงการให้มีจุดสำคัญทั้งๆ ที่โครงการตัวเองไม่ได้อยู่จุดสำคัญ) นอกจากนี้ LPN ยังมีการบริหารจัดการผลกระทบจากการก่อสร้าง และอีกจุดที่สำคัญคือดูแลลูกบ้านผู้ซื้ออย่างต่อเนื่องแม้จะขายไปแล้วแต่บริการหลังการขาย การดูแลนิติบุคคลอาคารชุดภายใต้คอนเซปต์ชุมชนน่าอยู่ยังเป็นกล่าวขานของชาวคอนโดว่า นิติฯลุมพินีแข็งแกร่งจริง แนวคิดทั้งหมดและผลการทำงานของ LPN ที่ผ่านมานี้ทำให้ผู้เขียนพิจารณาแล้วว่าแบรนด์ LPN เป็นหนึ่งแบรนด์ที่มีความ Truly Luxury จากภายในอย่างแท้จริง ตรงข้ามกับบางแบรนด์ที่อาจจะดูดีดูสวยงามภายนอกแต่เมื่อรื้อเข้าไปดูข้างในและเห็นผลการทำงานแล้วอาจไม่ใช่ Luxury Brand ตามนิยามใหม่อย่างที่คิด

ภาพแนวคิด 6 Green LPN

อีกแบรนด์อสังหาไทยที่มีความเป็น Luxury Eco-friendly คือแบรนด์ MQDC แต่ละโครงการที่แบรนด์นี้ออกแบบจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทั้งการออกแบบภายนอกและแนวคิดพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมแต่ละยูนิตด้วย นอกจากคอนโดมิเนียมก็ยังสร้าง smart city ที่มีอาคารสำนักงาน ห้าง และแหล่งไลฟ์สไตล์ที่มีความเป็น eco อย่างโครงการ Whizdom 101 หรือ True Digital Park ใกล้สถานีปุณณวิถี

 

ออกแบบให้มีพื้นที่เปิดโล่งเพื่อการเรียนรู้ระบบนิเวศ

ภายในโครงการ Whizdom 101 ออกแบบส่งเสริมให้ผู้คนใช้ขนส่งสาธารณะ และรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากนี้มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่  มีความเป็นธรรมชาติ ต้นไม้เยอะ ซึ่งตรงนี้คือเทรนด์ความสนใจของคนที่มอบคุณค่าให้กับธรรมชาติมากขึ้นกว่าแค่มองเห็นสิ่งของอุปกรณ์ตกแต่งหรูหราแต่ขาดมิติด้านสิ่งแวดล้อม

อีกแบรนด์ที่เป็น Mass Eco-friendly คือแบรนด์เสนา เพราะ SENA มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการจัดการพลังงาน มีบริษัทในเครือทำธุรกิจเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ จึงมีการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอสังหาฯ ด้วยเช่น ติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในพื้นที่ส่วนกลางในคอนโดมิเนียม การขายบ้านพร้อมโซลาร์เซลล์เพื่อการประหยัดค่าไฟในระยะยาว เป็นต้น

 

ตัวอย่างบ้าน solar โครงการเสนาพาร์ค วิลล์ รามอินทรา-วงแหวน

ผู้เขียนต้องการให้ผู้บริโภคชาวไทยมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มองออกว่าอันไหนดีต่อภาพรวม อันไหนจะส่งผลร้ายต่อภาพรวม อันไหนที่ควรส่งเสริม อันไหนที่ไม่ควรส่งเสริม และต้องการให้บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์พัฒนาแนวคิด Truly Luxury ตามนิยามใหม่ พัฒนาโครงการที่มีความหรูหราในระดับหยั่งลึกจากภายใน ไม่ใช่แนวคิดที่ฉาบฉวยผักชีโรยหน้าสร้างภาพ และขอเชิญชวนให้ใช้แนวคิด Eco-friendly หรือแนวคิดพัฒนาที่ยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของผู้คน เมือง และประเทศของเราต่อไป

 

หมายเหตุ บทความนี้ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าไม่ได้ถูกจ้างให้เขียนชมเชยใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ได้เป็นบทความ advertorial แต่อย่างใด แต่บทความนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนประสบมาจากประสบการณ์จริงที่พบเห็นและรู้สึกจริงในสายตาผู้บริโภคคนหนึ่งครับ

ต่อทอง ทองหล่อ

ต่อทอง ทองหล่อ

บรรณาธิการสื่อเกี่ยวกับการศึกษา และ Blogger ผู้มีผลงานการวิเคราะห์ด้านอสังหาฯ มามากกว่าร้อยบทความ ยังเป็นผู้สนใจลงทุนคอนโดมิเนียม ชอบใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad รักการเดินเท้าและเลือกใช้ขนส่งมวลชนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทำเลสถานที่ผ่านมุมมองการเข้าใจมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็น Active Citizen ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองผ่านงานเขียนและเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมรัฐกับประชาชน เป้าหมายระยะยาวต้องการเห็นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม ติดตามผลงานได้ที่ https://matttortong.weebly.com

เว็บไซต์

นิว เอปิค อโศก-พระราม 9

นิว คอร์ คูคต สเตชัน

ศุภาลัย แกรนด์ เอสเซ้นส์ อรุณอมรินทร์

ทำเลฝั่ง “ธนบุรี” ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...

6 November, 2024

ศุภาลัย ธาม เจริญนคร

เป็นคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ของศุภาลัย ที่เป็นผู้เชี่ย...

2 November, 2024

นิช ไพรด์ เอกมัย

Unimaginable Life ชีวิตเกินจินตนาการใจกลางเอกมัย หาก...

21 October, 2024

ศุภาลัย บลู สาทร-ราชพฤกษ์

ทำเลสถานีบางหว้า คือสถานี Interchange สำคัญของชาวฝั่...

17 October, 2024

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง