ผ่ากลยุทธ์อนันดาปี 2022 “ANANDA NEW BLUE” เปลี่ยนแปลงทุกมิติให้ตอบรับไลฟ์สไตล์คนเมืองแบบ Hybrid Life ด้วยแบรนด์ใหม่คอนเซปท์เยี่ยม ดีไซน์หลุดโลกทะลุจักรวาล!
คุณผู้อ่านพอจะจำได้ไหมครับ ว่าโครงการคอนโดเปิดใหม่ล่าสุดที่ทาง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวคือโครงการอะไร? แม้คำถามนั้นอาจจะดูง่ายๆเพราะบริษัทอนันดาในความรู้สึกของใครหลายๆคนนั้นเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดของคอนโดติดรถไฟฟ้า ที่มีจำนวนสถานีใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆผมเองก็เกือบจะนึกไม่ออกครับว่าเป็นโครงการอะไร เพราะนับตั้งแต่โลกเราเกิดวิกฤตโรคระบาด COVID – 19 ที่กัดกินทุกภาคส่วนธุรกิจ และวิถีชีวิตของมนุษย์เราทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 โลกทั้งใบก็แทบจะหยุดหมุน ชีวิตหลายๆชีวิตเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ ธุรกิจอสังหาฯเริ่มจมสู่ห้วงเหวที่ไม่รู้จุดสิ้นสุด มีแค่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังพอมองหาคอนโดเพื่ออยู่อาศัยท่ามกลางวิถีใหม่ที่มีคนจำนวนมากมองหาลู่ทางที่จะหลีกหนีจากความวุ่นวายในเมืองหลวง ไปสู่พื้นที่แห่งใหม่ที่กว้างใหญ่ และมอบความเป็นส่วนตัวที่มากกว่า จนทำให้หลายคนลืมไปเลยว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น มีโครงการคอนโดอะไรเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง ทั้งๆที่มีจำนวนโครงการเปิดใหม่น้อยเต็มที…ใช่ครับ ผมพยายามจะบอกว่าเป็นเวลา 2 ปีเต็มทีเดียวนับจากวันเปิดตัว 3 โครงการไอดีโอ จุฬา – สามย่าน, ไอดีโอ สุขุมวิท – พระรามสี่ และไอดีโอ จรัญ 70 ริเวอร์วิว ที่เราไม่ได้เห็นอนันดาฯเปิดตัวโครงการคอนโดใหม่อีกเลย แม้ว่าจะมีที่ดินรองรับเพื่อการพัฒนาโครงการอยู่นับสิบแปลงทั่วกรุงเทพฯ! จะเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่เป็นใจ เพราะดีมานท์ทั้งจากไทยและต่างชาติที่ขาดหายไป เป็นเพราะความจำเป็นในการต้องเร่งโฟกัสในการระบายสต๊อคห้องพร้อมอยู่ ความพยามยามในการควบคุมต้นทุนในการบริหารองค์กร หรือจะเป็นเพราะแนวทางในการทำธุรกิจอย่างตั้งรับ เพื่อซุ่มพัฒนาโครงการใหม่ให้ตรงกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันในเวลาอันสั้นมากๆ ไม่ว่าเหตุผลจะมีนับร้อยนับพัน แต่ในวันนี้อนันดาโดยคุณโก้ และพี่ประเสริฐ พร้อมแล้วที่จะเริ่มนับถอยหลังสู่ศักราชใหม่อันรุ่งโรจน์ของอนันดาอีกครั้ง ด้วยกลยุทธ์ “ANANDA NEW BLUE” ที่ทางทีมงานอนันดาทั้งหมดเชื่อว่าเป็นกลยุทธ์ที่เกิดจากการตั้งการ์ดรับอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะเสาะหาความต้องการที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม เพื่อรอจังหวะที่ตลาดอสังหาฯจะกลับมา Rebound อีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนรายละเอียดของกลยุทธ์ และ Business Direction ของอนันดาในปี 2022 นั้นจะเป็นอย่างไร… จะมีกี่โครงการใหม่ ? จะมีกี่แบรนด์ใหม่ ? และจะเปิดให้บริการธุรกิจใหม่อะไร? ขอเชิญติดตามได้ในย่อหน้าถัดไปเลยครับ
“เราเป็น Urban Developer เราจะเห็นว่าธุรกิจของเรานี่ Integrated กับ Rely กับธุรกิจท่องเที่ยวพอสมควร แต่เราก็อึด และถึกเล่นเกมรับมาตลอดได้ และวันนี้ถึงเวลาที่เราจะเล่นเกมรุกบ้างแล้ว ที่ผ่านมามีพี่ประเสริฐมาช่วยปัดกวาดเช็ดถู หลังบ้าน ทำให้เรา Lean ได้มาโดยตลอด วันนี้เรากำลังตระหนักและตั้งคำถามว่า วิกฤตที่ผ่านมาทำให้ Trend ของ Urbanization เปลี่ยนไหม? คนจะทำงานที่บ้านกันต่อไปเรื่อยๆไหม? สิ่งหนึ่งทีเรามองเห็นก็คือภาครัฐมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมากถึง 300,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่ 320 สถานีภายในปี 2030 ถ้าเฉลี่ยต่อเดือนก็คือสร้างเดือนละ 1.77 สถานี นี่ทำให้เรายังเชื่อว่าแม้จะมีหลายๆ Disruption เข้ามา แต่โครงการ Mass Transit ก็ยังลุยต่อ ถ้าเราคิดว่า Urbanization ไม่มีแล้ว ผมว่าไอ้ที่ลงทุนไว้ 300,000 ล้านบาท เปลี่ยนไปทำอย่างอย่างอื่นดีกว่า วันนี้เราปลดล๊อคดาวน์แล้ว ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมเลย รถติด เดินทางลำบากเสียเวลาเหมือนเมื่อสองปีที่แล้ว ร้านอาหาร ห้างคนเข้าเยอะ พูดได้เลยว่า Urban Life is back ในขณะที่มองไปยังรอบตัวเรา World’s GDP มีทิศทางขึ้นไปได้ 5.9% ที่อเมริกาตอนนี้ The Back to Normal Index พุ่งไปถึง 95% แล้ว เศรษฐกิจ Rebound กลับมาเป็น V Shape ผมคิดว่าเรา Lack จาก US ประมาณ 9 เดือน เราต้องฮึกเหิมกลับมาสู้ต่อ ผู้บริโภคในประเทศเริ่มมีความเชื่อมั่นกลับมา และอนันดาในฐานะที่เป็น Urban Living Solutions เราจึง Commit ที่จะเดินหน้าสร้างเมืองต่อ แต่เป็นในรูปแบบ Hybrid Life เพราะเราเชื่อว่ายังไงมนุษย์ก็ต้องมี Social Interaction ยังไงเราต้องเจอกัน จะคุยกันหรือพบปะกันในโลกออนไลน์ หรือใน Metaverse อย่างเดียวไม่ได้”…คุณโก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พูดเกริ่นนำถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่ผู้คนในวงการอสังหาฯต่างก็ครุ่นคิดว่าทุกวันนี้สภาพตลาดเลยจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง และตัวอุตสาหกรรมเองได้ถูก Disrupted ไปโดยสิ้นเชิงหรือไม่
ฟ้าสดใสในไตรมาสสี่! อนันดามองตลาดทยอยกลับสู่ฐานเดิม จากข้อมูลยอดขายที่โตวันโตคืน
ถ้าไปถามดีเวลลอปเปอ์หลายๆในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้เกี่ยวกับยอดขายคอนโด แน่นอนว่าทุกรายก็มักจะไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเท่าไหร่นัก เพราะเป็นช่วงที่กำลังซื้อในประเทศด่ำดิ่งสู่จุดที่ลึกสุด คอนโดขายไม่ดี สวนทางกับบ้าน ทุกอย่างถูกล็อคดาวน์ให้อยู่นิ่งๆก่อสร้างไม่ได้ ด้วยสถานการณ์การระบาดในระลอกที่สาม แต่พอเริ่มเข้าสู่ปลายไตรมาสสาม ถึงต้นไตรมาสสี่ สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นมาหลายอย่างมาก ทั้งยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลง การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ที่สำคัญคือมีการปรับเพดาน LTV ให้สามารถกู้ได้ 100% ในแบบไม่ต้องวางดาวน์ในทุกสัญญา ทุกระดับราคา เป็นการชั่วคราวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ส่งผลให้ภาพรวมตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากผู้บริโภคทุกคนรู้ดีว่าซื้ออสังหาช่วงปีนนี้ได้ราคาดีมาก แต่ที่ผ่านมาก็คือธนาคารปล่อยกู้ยาก และต้องใช้เงินสดส่วนหนึ่งในการวางดาวน์เพื่อซื้อบ้านหลังที่สองเป็นต้นไป ซึ่งก็แน่นอนว่าอนันดาเป็นอีกหนึ่งดีเวลลอปเปอร์ที่ได้รับผลบวกจากปัจจัยดังกล่าว โดยสะท้อนมาจากยอดขายโดยรวมที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในส่วนของคอนโด และที่น่าสนใจก็คือยอดขายที่ได้รับจากชาวต่างชาติสูงขึ้นอย่างมีนัยถึง 280 ล้านบาทในเดือนตุลาคม
“จากสถิติที่เห็นสะท้อนว่า Real Estate ผ่าน Bottomed Out มาแล้ว เราเป็นเบอร์หนึ่งในคอนโดติดรถไฟฟ้า และยอดขายอนันดาฯกลับมา ทำไมยอดขายทั้งอุตสาหกรรมจะยังไม่กลับมา Perfect Storm ของตลาดอสังหาฯมันจบไปแล้ว เราเห็นสัญญาณในการขายดีที่สุดในรอบปีนี้ที่สัปดาห์ที่แล้ว เราปิดพื้นที่ Shop ได้ เราได้ Big Lot จากต่างประเทศ ที่ Ideo New Rama 9 โดยคอนโดมิเนียมเป็นตัวจุดประกายให้ธุรกิจอสังหาฯกลับมา และดีมานท์ต่างชาติก็กลับมา ต่างชาติไม่รู้จักหรอก รังสิต ลำลูกกา ต่างชาติรู้จักแต่ CBD สีลม สาทร สุชุมวิท รัชดา พระรามเก้า และสินค้าทุกอย่างเรามีสต๊อครองรับที่ Best Location หมด สิ่งผลให้ในเดือนตค.ได้ New High ของยอดขายจากลูกค้าต่างชาติ…”ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
อึด ถึก ทน รุกโดยการตั้งรับ คือกลยุทธ์หลักของอนันดาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา?
ถ้าถามความเห็นของผม จุดเปลี่ยนในการทำธุรกิจของอนันดา ที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจแบบตั้งรับมาตลอด 2 ปีนั้นเริ่มมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดลุกลามใหม่ๆในต้นปี 2020 เลยครับ หลายคนคงทราบกันดีว่าอนันดาเริ่มรุกตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ในช่วงกลางปี 2018 ด้วยการร่วมทุนพัฒนากับมิตซุย ฟุโดซัง และนำแบรนด์ระดับโลกอย่าง Ascott มาบริหารจัดการ ภายใต้โครงการมากถึง 5 โครงการ มูลค่ารวมเกินหมื่นล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าจนถึงบัดนี้ แม้จะสร้างเสร็จทุกโครงการแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่อนันดาได้ ประกอบกับช่วงตั้งแต่ปลายปี 2019 นับว่าเป็นช่วงขวบปีที่อนันดาเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยว หลังจากที่โครงการบ้านและคอนโดพร้อมอยู่หลายๆแห่งเริ่มทยอยส่งมอบโอนติดๆกัน ถึง 38 โครงการ และบริษัทฯเริ่มเห็นสัญญาณของความเชื่อมั่นในเรื่องการจับจ่ายของผู้บริโภคที่น้อยลงจากสภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันเรื่องราคา ทำให้ในปีนั้นอนันดาฯตัดสินใจพับแผนการเปิดตัวโครงการไอดีโอ คิว พหลฯ-สะพานควายเดิม ที่ได้ผลตอบรับไม่ดีโดยที่ยังไม่ทันจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกันทางบริษัทฯก็ได้รับทราบถึง Customer’s Voice ที่มาพร้อมกับการโอนโครงการสร้างเสร็จใหม่เพิ่มมากขึ้นในหลายๆประเด็น อาทิ
“ดีไซน์เยี่ยมแต่คุณภาพต้องปรับปรุง, เคยฟังเสียงลูกค้าที่โอนแล้วบ้างไหม, ทำไมราคาโดดกว่าของคนอื่นขนาดนี้, แจ้งซ่อมยากเกินไป, ฝ่ายโอนเอาแต่เร่งโอน แต่ไม่แก้ Defect ให้, สร้างเร็วอย่างเดียวแต่งานไม่เนี๊ยบ นิติไม่ค่อยดูแลลูกบ้านเลย” คำพูดเหล่านี้คือเสียงสะท้อนจากลูกค้าอนันดาส่วนหนึ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไปบนโลกออนไลน์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของผู้ซื้อโครงการอนันดา จนนำมาซึ่งโจทย์หลักที่อนันดาต้องหันมาโฟกัสก่อนที่จะเริ่มเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่สู่ตลาด นั่นก็คือการพัฒนาโครงการอย่างไรที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ ในทุกมิติ ทั้งเรื่องทำเล สินค้า ราคา และการบริการ …ซึ่งการตีโจทย์นี้ให้แตกเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่คืบคลานเข้ามา ล้วนส่งผลให้ทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการพร้อมอยู่ หรือกำลังซุ่มพัฒนาเพื่อเตรียมเปิดตัวทั้งหมดของอนันดา ต้องหยุด เพื่อทบทวน รื้อใหม่ ทำใหม่หมด เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนไปอย่างปัจจุบันทันด่วนมาก ไม่ใช่แค่อนันดา แต่เพราะผู้ประกอบการทุกรายรู้ดีว่าในเวลานั้น แนวทางการทำธุรกิจแบบตั้งรับเพื่อรอการเปลี่ยนแปลงคือคำตอบที่ดีที่สุด ประจวบเหมาะพอดีกับการที่อนันดาได้ผู้บริหารฝีมือดีอย่างคุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต เข้ามาร่วมงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนอย่างแรกก็คือ การสร้าง Operation Excellence ให้กับทุกหน่วยธุรกิจ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่ไม่จำเป็น ลดทอนขั้นตอนในการทำงาน ปรับปรุงระบบการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรให้ครบถ้วน แต่รวดเร็วฉับไว ทำงานอย่าง Seamless ไม่มี Hierarchy เหมือนเดิม พัฒนาระบบควบคุมคุณภาพการก่อสร้างและบริการหลังการขาย ตลอดจนสร้าง New Normal Working Platform ที่ใช้ Data Technology เป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้ แม้บุคคลากรส่วนใหญ่ต้องทำงานในแบบ Work from Anywhere (WFA) ซึ่งแนวทางในการสร้าง Operation Excellence ดังกล่าวถูกบ่มเพาะออกมาเป็น New Working Platform ที่ครอบคลุมทุกมิติของงานปฎิบัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็น Ananda Sure ที่จะช่วยแก้ Pain Point ของลูกค้าในด้านบริการหลังการขาย, ในด้านการก่อสร้างและบริหารงานขายอย่าง Ananda Quick ตลอดจนในด้านกลยุทธ์การพัฒนาโครงการใหม่อย่าง Ananda PMO
Ananda Sure: ส่งมอบความสุขด้วยความเข้าใจและใส่ใจ
ผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้จากการเริ่มเข้ามาปัดกวาด ปรับปรุงหลังบ้านตามสไตล์ของพี่ประเสริฐ ที่นิยมเรียกตัวเองว่าเป็นพี่ใหญ่ของบ้านอนันดา ก็คือ Ananda Sure ซึ่งนอกจากจะเป็นชื่อ New Normal Working Platform ที่ใช้กันภายในแล้ว ยังถูกต่อยอดให้ออกมาเป็นเครื่องหมายที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าอนันดาว่า นี่คือโครงการพร้อมส่งมอบที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว โดยที่มิติของ Ananda Sure ยังครอบคลุมไปถึงการบริหารจัดการชุมชน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกครอบครัวที่อยู่ในการดูแลจากอนันดาฯจะได้รับการบริการที่ดีที่สุด และบริการหลังการขาย แจ้งซ่อม ที่อยู่ในระยะการรับประกันและบริการแพ็คเกจหลังรับประกันที่สามารถตรวจสอบได้ทุกรายการ
อนันดาฯ ยังประสบความสำเร็จในเรื่องของ ANANDA SURE ระบบการทำงานที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าและบริการของอนันดาฯ ก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า โดยนำมาใช้ในทุกกระบวนการตั้งแต่การเลือกซื้อคอนโดหรือบ้านตลอดไปจนถึงการเข้าอยู่อาศัย ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้ามีความสุข ความพึงพอใจสูงสุดกับการอยู่อาศัยในทุกโครงการของอนันดาจนนำไปสู่การแนะนำและบอกต่อให้กับคนใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการวัดและประเมินผลจากการนำ ANANDA SURE มาใช้ โดยสามารถวัดค่าความพึงพอใจในการให้บริการ (CSAT) เพิ่มขึ้น 5% จากเดิม 88.0% เป็น 92.3% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอนันดาฯ มุ่งมั่นให้ความใส่ใจต่อการให้บริการเพื่อความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ และจะพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้ มาตรฐานของ ANANDA SURE
เตรียมปิด Job ยอดโอน 7 โครงการในปีนี้ ก่อนเปิดตัวโครงการด้วยกลยุทธ์ใหม่ในปี 2021
เมื่อหลังบ้านพร้อม และมีสต๊อคพร้อมอยู่รอโอนอยู่หลายโครงการ โดยที่ตลาดอสังหาฯแทบจะไม่มีโครงการใหม่เปิดตัวเลย ประกอบกับเหล่าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมองหาสินค้าที่มอบความคุ้มค่าที่มากกว่า ทำให้อนันดาทยอย Sold Out โครงการไปได้เรื่อยๆถึง 4 โครงการ และกำลังจะตามมาอีก 3 โครงการ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งล่าสุดโครงการ Ideo New Rama 9 ก็มี Big Lot ชาวต่างชาติมาเหมาซื้อห้องที่เหลือไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงน่าจะสรูปผลประกอบการในปี 2021 นี้อย่างคร่าวๆได้เลยว่าน่าจะมียอดโอนถึง 10,000 ล้านบาท โดยที่ยอดที่ต้องทำเพิ่มมีอีกแค่ 1,125 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งพี่ประเสริฐบอกว่ายอดแค่นี้ยังไงก็ถึงชัวร์ นอนมาเลย!!
“แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย แต่ในส่วนของ อนันดาฯ ก็ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ทั้งในส่วนของยอดขายและยอดโอนมีสัญญาณที่ดีขึ้นที่ชัดเจน โดยในช่วง 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน) เติบโต 20% มาโดยตลอด และคาดว่าสามารถเติบโตได้ถึงดับเบิลดิจิทใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 64 โดยมียอดขาย 4,104 ล้านบาท และยอดโอนกว่า 2,557 ล้านบาท โดยเติบโตจากโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบ และบริษัทฯ มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog)กว่า 12,821 ล้านบาท เพื่อรองรับการโอนในระยะ 2 ปีข้างหน้า” ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต
เจาะกลยุทธ์ Ananda “New Blue” 2022
Blue Ocean หรือน่านน้ำสีคราม เป็นสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ทุกแบรนด์อยากจะแล่นเรือออกไปให้ไกลกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วยความหวังว่าจะเจอฝูงปลาที่กำลังแหวกว่ายให้จับนับหมื่นนับแสนตัว ในแบบที่ไม่ต้องมีใครมาแย่งให้สิ้นเปลืองต้นทุน แต่ในโลกของความเป็นจริง น่านน้ำสีครามที่ทุกคนใฝ่ฝันมักกลายเป็นสมรภูมิรบที่มีแต่เรือจับปลาขนาดใหญ่มากๆที่เป็นเจ้าถิ่นหลายลำที่ล้วนแต่แสวงหาโอกาสเพื่อช่วงชิงพื้นที่บนน่านน้ำแห่งนี้ จนเรือขนาดเล็กต้องอัปปางลงในในแทบจะทันทีที่แล่นเข้ามา แนวทางในการใช้กลยุทธ์ Blue Ocean ในการทำธุรกิจยุคปัจจุบันจึงไม่ได้มีเพียงแค่การหาน่านน้ำใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ หรือหากลุ่มลูกค้าใหม่เท่านั้น เพราะในที่สุดแล้ว Blue Ocean ที่หลายบริษัทเสียเวลาแล่นเรือออกไปหาซะไกลเลย จนลืม Business Positioning & Core Competency ของตัวเองหมดแล้ว ก็จะกลายเป็น Read Ocean ในที่สุด แต่กุญแจแห่งความสำเร็จก็คือการมอง คิด พิจารณา และลงไปเล่นในน่านน้ำเดิมที่ตัวเองถนัด ด้วยกรอบความคิดที่หลุดจากเดิม และดึงดูดล่อฝูงปลาที่ไม่หลงกลกับเหยื่อในแบบเดิมๆอีกแล้วด้วย Unmet Needs ใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆให้เหมาะสมกับการกลายพันธุ์ของฝูงปลา (พฤติกรรมของผู้บริโภค) และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ที่สามารถสร้างคุณค่าและความแตกต่างได้ โดยไม่ต้องจำเป็นต้องใช้ต้นทุนที่สูงในการ Educate ตลาดใหม่
ภายใต้กลยุทธ์ New Blue ทางอนันดาได้มีการแบ่งองค์ประกอบของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันบนน่านน้ำเดิม ซึ่งยังคงเป็นธุรกิจ Residential Property ขึ้นมาทั้งหมด 4 มิติด้วยกัน ได้แก่ 1. การมองหาโอกาสในการพัฒนาโครงการระดับ Luxury Segment ขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มของแนวราบ 2. การสร้างแบรนด์ใหม่ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้อยู่อาศัยในแบบ Hybrid Life โดยออกมาเป็น 2 แบรนด์คือ CULTURE และ COCO PARC 3. การใช้งานออกแบบในการแก้ปัญหา และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์เดิม โดยที่ไม่ได้เพิ่ม Cost ในแบรนด์สร้างชื่ออย่างไอดีโอ และ 4. การรุกธุรกิจ Recurring Income ที่ทางบริษัทได้สร้างเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ทั้ง 5 เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดให้เข้าพัก
โดยบริษัทฯ มีแผนเปิดโครงการใหม่ในปี 2565 จำนวน 7 โครงการ มูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ
คลิกที่นี่ https://anan.ly/30fzIma เพื่อเพื่อไม่ให้พลาดข้อมูลอัพเดทของโครงการใหม่จากอนันดาในปี 2022