9 ประเด็นน่าสนใจของวงการอสังหาฯ ในปี 2022
ก้าวเข้าสู่เดือนธันวาคมที่เป็นเดือนสุดท้ายของปี 2022 เวลาช่างผ่านไปไวจริงๆ เผลอแป๊บเดียวก็จะสิ้นปีแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงสามารถปรับตัวให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีโรคระบาดได้บ้างแล้ว เพราะตอนนี้ผ่านมา 3 ปีโควิดก็ยังไม่หายไปหมด ทุกคนยังต้องสวมแมสก์และรักษาสุภาพของตัวเองอยู่เสมอ โดยในระยะเวลาตลอด 11 เดือนที่ผ่านมานี้ ก็มีหลายประเด็นข่าว หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในโลกและในประเทศไทยเอง ซึ่งดีกรีความร้อนแรงในวงการอสังหาฯ ก็มีประเด็นเด็ดที่น่าสนใจไม่แพ้วงการอื่นๆ เช่นกัน จะเป็นเรื่องของอะไรนั้นมาดูกัน!
1. ไม่ต่ออายุ LTV อาจลดดีกรีความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ ปี 66
ธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการเงินดาวน์ขั้นต่ำในการกู้ซื้อบ้าน หรือมาตรการ LTV สิ้นสุดปลายปีนี้ และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าหากผ่อนคลายมาตรการออกไปนานกว่านี้ จะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดที่มีระดับปานกลางถึงบนได้ ซึ่งการไม่ต่อการผ่อนคลายมาตรการ LTV นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเก็งกำไรที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่กระทบต่อผู้ที่กู้ซื้อบ้านหลังแรกและมีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่จะสามารถกู้ได้ 100% เต็มเช่นเดิม โดยมาตรการนี้หลักๆ จะใช้เฉพาะกับผู้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท และผู้ที่กู้สัญญาที่สองขึ้นไป
จากประเด็นดังกล่าว ทางรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ คาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) จะได้รับแรงกดดันจากการไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2566 มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงเหลือ 89.5 จุด ลดลง -1.1% จากปี 2565 โดยจะปรับตัวอยู่ในกรอบต่ำสุดที่ 80.6 จุด หรือ ลดลง -11% และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยคาดว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2566 คาดว่าจะมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จำนวน 98,581 หน่วย มูลค่า 513,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.8% และ 1.1% ตามลำดับ จากปี 2565 ประกอบด้วยโครงการแนวราบประมาณ 58,312 หน่วย มูลค่า 367,363 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 40,270 หน่วย มูลค่า 146,619 ล้านบาท
นอกจากนี้ทางฝั่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) ก็มีการพยากรณ์ว่า การไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV จะส่งผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยอย่างจำกัด โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุน และผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่ม Real demand ในสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 หรือ 3 เป็นต้นไป โดยผลกระทบมีดังนี้ 1.เกิดการเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และ 2.เกิดการชะลอซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2566 การไม่ต่ออายุมาตรการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่ม Real demand ในสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญา แรก เนื่องจากผู้ซื้อที่อยู่อาศัยยังสามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกได้เต็มจำนวนเช่นเดิม
สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แม้การไม่ต่ออายุมาตรการจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ในสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญาแรก จะถูกจำกัดการกู้เงินได้ไม่เกิน 90% ของราคาที่อยู่อาศัย แต่ EIC มองว่าตลาดที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปเป็น Segment ที่มุ่งเจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมักจะไม่มีข้อจำกัดในการวางเงินดาวน์ ทำให้การไม่ต่ออายุมาตรการจะส่งผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปไม่มากนักเมื่อเทียบกับในช่วงการใช้มาตรการ
ภาพจาก : https://moneyandbanking.co.th/article/news/bot-measure-ltv-31102022
2. งานอีเว้นท์ใหญ่เริ่มกลับมาในรอบ 2 ปี ทั้งที่ศูนย์ฯสิริกิต์ และสยามพารากอน
หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มซาไปแล้ว มาตรการควบคุมโรคระบาดก็เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง ทำให้คนกลับมาใช้ชีวิตข้างนอกกันมากขึ้น รวมไปถึงงานอีเว้นท์ที่จัดตามศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ และห้างสรรพสินค้าที่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ที่กลับมาในรอบ 2 ปี หลังจากการระบาดของโควิด อย่าง ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ ขยายพื้นที่มากกว่าเดิม 5 เท่า ด้วยพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร จัดกิจกรรมใหญ่ๆ ได้อย่างจุใจ และสยามพารากอน ห้างสรรพสินค้าชื่อดังใจกลางกรุงเทพ ก็มีการจัดกิจกรรมให้คนได้ไปเดินซื้อของ ดูโปรโมชั่นต่างๆ ภายในงานได้
ANANDA URBAN PULSE 2022
ที่มาภายใต้แนวคิด “THE NEW CULTURE IS HERE” รวบรวมเอาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม บนทำเลคุณภาพเยี่ยมกว่า 32 โครงการทั่วกรุงเทพฯ พร้อมข้อเสนอพิเศษแห่งปี อาทิ ราคาพิเศษสุดแห่งปี* ส่วนลดพิเศษ* อยู่ฟรีสูงสุด 24 เดือน* และแพ็คเกจพร้อมอยู่ 24 รายการ* และไฮไลท์พิเศษเปิดตัวแบรนด์ใหม่ 3 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์โคโค่ (COCO) แบรนด์คัลเจอร์ (CULTURE) และแบรนด์อันดา (ANDA) ระหว่างวันที่ 27-30 ต.ค. นี้ ชั้น 1 สยามพารากอน และสามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดของปีนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง สามารถสร้างยอดขายรวมกว่า 6,000 ล้านบาท โดยมาจากยอดขายรวมหลังจบงาน ประมาณ 5,000 ล้านบาท และยอดขายจากการเปิดจอง Online Booking อีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จเกินกว่าเป้าที่ได้วางเอาไว้
งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42
โดย นายชัยรัตน์ ธรรมพีร อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 เปิดเผยถึงความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมบ้านและ คอนโดฯ ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า การจัดงานได้รับผลตอบรับดีเกินคาด มียอดผู้เข้าชมงานประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ขณะที่การซื้อขายภายในงานมีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท คาดว่าหลังจบงานจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว โดยที่อยู่อาศัยที่มีการจองซื้อสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ คอนโดมิเนียม 35.02% บ้านเดี่ยว 14.61% และทาวน์เฮาส์ 13.91%
3. ดีเวลลอปเปอร์หัวแถว ดาหน้าทำสถิตินิวไฮ
เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มดีขึ้น หลายบริษัทก็กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการจราจร หรือแหล่งไลฟ์สไตล์ก็มีความคึกคักขึ้นเป็นอย่างมาก และทำให้คนย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองมากขึ้น และมองหาที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด เพื่อการเดินทางที่สะดวกและแวดล้อมไปด้วยสิ่งอำความสะดวกรอบด้าน จึงทำให้หลายโครงการเป็นที่น่าสนใจ และมียอดโอนเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้หลายบริษัทสามารถทำยอด New High ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
แสนสิริจะสามารถทำผลงานโอนโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่สร้างเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าเฉพาะในเดือนธันวาคมนี้ ได้สูงถึง 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะนับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ยอดโอนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของแสนสิริภายในเวลาเพียง 1 เดือน โตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 67% แบ่งเป็นยอดโอนจากโครงการแนวราบประมาณ 5,000 ล้านบาท จากแผนการโอนโครงการภายใต้พอร์ต Sansiri Luxury Collection ในทำเลกรุงเทพกรีฑา ได้แก่ “นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา” และโครงการระดับลักซ์ชัวรี “บุราสิริ กรุงเทพกรีฑา” นอกจากนี้แสนสิริยังมียอดโอนจากโครงการคอนโดมิเนียม ที่คาดว่าจะทำได้อีกประมาณ 4,000 ล้านบาท จากแผนการโอนโครงการเอ็กซ์ที พญาไท, เอ็กซ์ที ห้วยขวาง และ เดอะ มูฟ เกษตร
ผลงานยอดโอนที่ทำผลงานได้ดีในช่วงเดือนธันวาคม จะส่งผลให้แสนสิริประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายยอดโอนรวมปี 65 ที่วางไว้ 35,000 ล้านบาท รวมทั้งผลักดันให้กำไรสุทธิฯ ของแสนสิริปี 65 พุ่งสูงสุด ทะยานสู่ New Record High ทุบทุกสถิติผลงานกำไรสูงสุดที่เคยทำได้ในรอบ 38 ปี ทั้งในรายไตรมาสและรอบปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ขณะที่ภาพรวมการเติบโตนับจากนี้ แสนสิริ จะเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งในด้านยอดขาย รายได้และกำไร
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด
โดยใน 9 เดือนที่ผ่านมา เอพีสามารถสร้างรายได้ จากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม และธุรกิจอื่นๆ ทำนิวไฮสูงสุดถึง 37,566 ล้านบาท คิดเป็น 80% จากเป้ารายได้รวม ทั้งปีที่ 47,000 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 24% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ทำได้ 30,324 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิมากถึง 4,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 3,549 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเท่ากับ 0.52 เท่า มั่นใจถึงเป้ารายได้ทั้งปี 47,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีผลงานยอดขายที่แข็งแกร่ง และยังคงสร้าง New Record สูงสุดที่เอพีเคยทำได้ในสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มียอดขายมากถึง 45,408 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90% ของเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ที่ 50,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 46% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นยอดขายจากสินค้าบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมที่ 36,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% และเป็นยอดขายจากสินค้าแนวสูงที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนที่ 9,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 3 เท่าตัว
บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
ผลประกอบการไตรมาส 3/2565 เติบโตโดดเด่น โดยสามารถกวาดรายได้รวมสูงถึง 11,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 เป็นรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด 11,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% โดยแบ่งเป็นรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบ 47% และคอนโดมิเนียม 53% ซึ่งเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ สามารถทำผลงานถึงเป้ารายได้ที่ตั้งไว้ 29,000 ล้านบาท
สามารถทำยอดขายรวม 9 เดือน อยู่ที่ 25,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มียอดขาย 17,796 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายคอนโดมิเนียม 7,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 รวมทั้งการที่ลูกค้าให้การตอบรับคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วสูงถึง 130% และยอดขายสินค้าแนวราบ 17,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของ ปี 2564 ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ มีโอกาสที่ทำยอดขายในปี 2565 ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ผลความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา เอสซีมีรายได้รวม 14,329 ล้านบาท เติบโต 6% ซึ่งเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 14,275 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการขาย 95% และอีก 5% เป็นรายได้ค่าเช่าและบริการ โดยรายได้หลักจากการขาย 13,593 ล้านบาท มาจากรายได้นิวไฮของแนวราบ 12,202 ล้านบาท เติบโต 15% และรายได้จากแนวสูง 1,391 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,621 ล้านบาท เติบโต 9% โดยมียอดขายรวมทำนิวไฮ 17,182 ล้านบาท เติบโต 7%
ผลประกอบการไตรมาส 3/2565 เติบโตสูงสุดในรอบ 3 ไตรมาส มีรายได้รวม 5,261 ล้านบาท เติบโต 11% และกำไรสุทธิ 652 ล้านบาทเติบโต 20% ในวันที่ 30 กันยายน 2565 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมและหนี้สินรวมเท่ากับ 53,504 ล้านบาท และ 32,825 ล้านบาทตามลำดับ
บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)
โชว์รายได้ 8,491 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนปี 2565 เพิ่มขึ้น 65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดันโดยรายได้ธุรกิจโรงแรมซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าตัว รับอานิสงส์การท่องเที่ยวฟื้นตัวแกร่งทั่วโลก และรายงานกำไรสุทธิ 98 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 238 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมประกาศความสำเร็จในการขายบ้านหรูโครงการใหม่ “ศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส พัฒนาการ” มูลค่า 2,900 ล้าน ซึ่งสามารถปิดการขายมากกว่า 95% ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
เสริมด้วยรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าจำนวน 767 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 6% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าขึ้นได้แม้จะอยู่ระหว่างสถานการณ์ที่ท้าทาย รวมถึงอัตราการปล่อยเช่าของอาคาร เอส เมโทร ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 93% ภายหลังการรีแบรนด์และปรับปรุงอาคารใหม่ สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ และการเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทฯ ที่เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตสูง มีการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว
บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)
คว้ากำไรสุทธิกว่า 848 ล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หลังเมกะโปรเจกต์คอนโด 12,000 ล้าน “พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ” ทยอยรับรู้รายได้เต็มไตรมาสและธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวจากการกลับมาเปิดประเทศ ด้านไตรมาส 4/2565 พาร์ค ออริจิ้น ราชเทวี และพาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน มูลค่าอีก 7,600 ล้าน ทยอยรับรู้รายได้เพิ่มเติม แบ็คล็อกแน่นทะลุ 41,000 ล้าน รับรู้ต่อเนื่องถึงปี 2568 คาดภาครัฐไม่ต่อนโยบายผ่อนคลาย LTV หนุนผู้ซื้อเร่งซื้อและโอนกรรมสิทธิ์โครงการก่อน 31 ธ.ค.นี้
บริษัทฯ มียอดโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่อยู่อาศัยทุกกลุ่มอยู่ที่ 4,434 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่อยู่อาศัยร่วมทุน 1,553 ล้านบาท ยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป 2,881 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ อีกรวม 323 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสดังกล่าว บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 3,833 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 848 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 22%