9 ประเด็นน่าสนใจของวงการอสังหาฯ ในปี 2022

wipawan khampuwiang 15 December, 2022 at 12.36 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ก้าวเข้าสู่เดือนธันวาคมที่เป็นเดือนสุดท้ายของปี 2022 เวลาช่างผ่านไปไวจริงๆ เผลอแป๊บเดียวก็จะสิ้นปีแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงสามารถปรับตัวให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีโรคระบาดได้บ้างแล้ว เพราะตอนนี้ผ่านมา 3 ปีโควิดก็ยังไม่หายไปหมด ทุกคนยังต้องสวมแมสก์และรักษาสุภาพของตัวเองอยู่เสมอ โดยในระยะเวลาตลอด 11 เดือนที่ผ่านมานี้ ก็มีหลายประเด็นข่าว หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในโลกและในประเทศไทยเอง ซึ่งดีกรีความร้อนแรงในวงการอสังหาฯ ก็มีประเด็นเด็ดที่น่าสนใจไม่แพ้วงการอื่นๆ เช่นกัน จะเป็นเรื่องของอะไรนั้นมาดูกัน!

 

1. ไม่ต่ออายุ LTV อาจลดดีกรีความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ ปี 66

ธนาคารแห่งประเทศไทย ตัดสินใจไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการเงินดาวน์ขั้นต่ำในการกู้ซื้อบ้าน หรือมาตรการ LTV สิ้นสุดปลายปีนี้ และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าหากผ่อนคลายมาตรการออกไปนานกว่านี้ จะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยทั้งบ้านและคอนโดที่มีระดับปานกลางถึงบนได้ ซึ่งการไม่ต่อการผ่อนคลายมาตรการ LTV นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเก็งกำไรที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่กระทบต่อผู้ที่กู้ซื้อบ้านหลังแรกและมีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่จะสามารถกู้ได้ 100% เต็มเช่นเดิม โดยมาตรการนี้หลักๆ จะใช้เฉพาะกับผู้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท และผู้ที่กู้สัญญาที่สองขึ้นไป

 

จากประเด็นดังกล่าว ทางรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ คาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) จะได้รับแรงกดดันจากการไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการ LTV ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2566 มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงเหลือ 89.5 จุด ลดลง -1.1% จากปี 2565 โดยจะปรับตัวอยู่ในกรอบต่ำสุดที่ 80.6 จุด หรือ ลดลง -11% และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยคาดว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2566 คาดว่าจะมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จำนวน 98,581 หน่วย มูลค่า 513,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.8% และ 1.1% ตามลำดับ จากปี 2565 ประกอบด้วยโครงการแนวราบประมาณ 58,312 หน่วย มูลค่า 367,363 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดประมาณ 40,270 หน่วย มูลค่า 146,619 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ทางฝั่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) ก็มีการพยากรณ์ว่า การไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV จะส่งผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยอย่างจำกัด โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุน และผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่ม Real demand ในสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 หรือ 3 เป็นต้นไป โดยผลกระทบมีดังนี้ 1.เกิดการเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และ 2.เกิดการชะลอซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2566 การไม่ต่ออายุมาตรการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่ม Real demand ในสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญา แรก เนื่องจากผู้ซื้อที่อยู่อาศัยยังสามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกได้เต็มจำนวนเช่นเดิม

 

สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แม้การไม่ต่ออายุมาตรการจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ในสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญาแรก จะถูกจำกัดการกู้เงินได้ไม่เกิน 90% ของราคาที่อยู่อาศัย แต่ EIC มองว่าตลาดที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปเป็น Segment ที่มุ่งเจาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมักจะไม่มีข้อจำกัดในการวางเงินดาวน์ ทำให้การไม่ต่ออายุมาตรการจะส่งผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปไม่มากนักเมื่อเทียบกับในช่วงการใช้มาตรการ

ภาพจาก : https://moneyandbanking.co.th/article/news/bot-measure-ltv-31102022

 

2. งานอีเว้นท์ใหญ่เริ่มกลับมาในรอบ 2 ปี ทั้งที่ศูนย์ฯสิริกิต์ และสยามพารากอน

หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มซาไปแล้ว มาตรการควบคุมโรคระบาดก็เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง ทำให้คนกลับมาใช้ชีวิตข้างนอกกันมากขึ้น รวมไปถึงงานอีเว้นท์ที่จัดตามศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ และห้างสรรพสินค้าที่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ที่กลับมาในรอบ 2 ปี หลังจากการระบาดของโควิด อย่าง ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ ขยายพื้นที่มากกว่าเดิม 5 เท่า ด้วยพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร จัดกิจกรรมใหญ่ๆ ได้อย่างจุใจ และสยามพารากอน ห้างสรรพสินค้าชื่อดังใจกลางกรุงเทพ ก็มีการจัดกิจกรรมให้คนได้ไปเดินซื้อของ ดูโปรโมชั่นต่างๆ ภายในงานได้

 

ANANDA URBAN PULSE 2022

ที่มาภายใต้แนวคิด “THE NEW CULTURE IS HERE” รวบรวมเอาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม บนทำเลคุณภาพเยี่ยมกว่า 32 โครงการทั่วกรุงเทพฯ พร้อมข้อเสนอพิเศษแห่งปี อาทิ ราคาพิเศษสุดแห่งปี* ส่วนลดพิเศษ* อยู่ฟรีสูงสุด 24 เดือน* และแพ็คเกจพร้อมอยู่ 24 รายการ* และไฮไลท์พิเศษเปิดตัวแบรนด์ใหม่ 3 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์โคโค่ (COCO) แบรนด์คัลเจอร์ (CULTURE) และแบรนด์อันดา (ANDA) ระหว่างวันที่ 27-30 ต.ค. นี้ ชั้น 1 สยามพารากอน และสามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดของปีนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง สามารถสร้างยอดขายรวมกว่า 6,000 ล้านบาท โดยมาจากยอดขายรวมหลังจบงาน ประมาณ 5,000 ล้านบาท และยอดขายจากการเปิดจอง Online Booking อีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จเกินกว่าเป้าที่ได้วางเอาไว้

งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42

โดย นายชัยรัตน์ ธรรมพีร อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 เปิดเผยถึงความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมบ้านและ คอนโดฯ ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า การจัดงานได้รับผลตอบรับดีเกินคาด มียอดผู้เข้าชมงานประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ขณะที่การซื้อขายภายในงานมีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท คาดว่าหลังจบงานจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว โดยที่อยู่อาศัยที่มีการจองซื้อสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ คอนโดมิเนียม 35.02% บ้านเดี่ยว 14.61% และทาวน์เฮาส์ 13.91%

 

3. ดีเวลลอปเปอร์หัวแถว ดาหน้าทำสถิตินิวไฮ

เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มดีขึ้น หลายบริษัทก็กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการจราจร หรือแหล่งไลฟ์สไตล์ก็มีความคึกคักขึ้นเป็นอย่างมาก และทำให้คนย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองมากขึ้น และมองหาที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด เพื่อการเดินทางที่สะดวกและแวดล้อมไปด้วยสิ่งอำความสะดวกรอบด้าน จึงทำให้หลายโครงการเป็นที่น่าสนใจ และมียอดโอนเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้หลายบริษัทสามารถทำยอด New High ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

 

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

แสนสิริจะสามารถทำผลงานโอนโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่สร้างเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าเฉพาะในเดือนธันวาคมนี้ ได้สูงถึง 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะนับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ยอดโอนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของแสนสิริภายในเวลาเพียง 1 เดือน โตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 67% แบ่งเป็นยอดโอนจากโครงการแนวราบประมาณ 5,000 ล้านบาท จากแผนการโอนโครงการภายใต้พอร์ต Sansiri Luxury Collection ในทำเลกรุงเทพกรีฑา ได้แก่ “นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา” และโครงการระดับลักซ์ชัวรี “บุราสิริ กรุงเทพกรีฑา” นอกจากนี้แสนสิริยังมียอดโอนจากโครงการคอนโดมิเนียม ที่คาดว่าจะทำได้อีกประมาณ 4,000 ล้านบาท จากแผนการโอนโครงการเอ็กซ์ที พญาไท, เอ็กซ์ที ห้วยขวาง และ เดอะ มูฟ เกษตร

 

ผลงานยอดโอนที่ทำผลงานได้ดีในช่วงเดือนธันวาคม จะส่งผลให้แสนสิริประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายยอดโอนรวมปี 65 ที่วางไว้ 35,000 ล้านบาท รวมทั้งผลักดันให้กำไรสุทธิฯ ของแสนสิริปี 65 พุ่งสูงสุด ทะยานสู่ New Record High ทุบทุกสถิติผลงานกำไรสูงสุดที่เคยทำได้ในรอบ 38 ปี ทั้งในรายไตรมาสและรอบปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ขณะที่ภาพรวมการเติบโตนับจากนี้ แสนสิริ จะเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งในด้านยอดขาย รายได้และกำไร

บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด

โดยใน 9 เดือนที่ผ่านมา เอพีสามารถสร้างรายได้ จากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม และธุรกิจอื่นๆ ทำนิวไฮสูงสุดถึง 37,566 ล้านบาท คิดเป็น 80% จากเป้ารายได้รวม ทั้งปีที่ 47,000 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 24% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ทำได้ 30,324 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิมากถึง 4,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 3,549 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเท่ากับ 0.52 เท่า มั่นใจถึงเป้ารายได้ทั้งปี 47,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังมีผลงานยอดขายที่แข็งแกร่ง และยังคงสร้าง New Record สูงสุดที่เอพีเคยทำได้ในสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มียอดขายมากถึง 45,408 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90% ของเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ที่ 50,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 46% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นยอดขายจากสินค้าบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมที่ 36,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% และเป็นยอดขายจากสินค้าแนวสูงที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนที่ 9,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 3 เท่าตัว

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

ผลประกอบการไตรมาส 3/2565 เติบโตโดดเด่น โดยสามารถกวาดรายได้รวมสูงถึง 11,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 เป็นรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด 11,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% โดยแบ่งเป็นรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบ 47% และคอนโดมิเนียม 53%  ซึ่งเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ สามารถทำผลงานถึงเป้ารายได้ที่ตั้งไว้ 29,000 ล้านบาท

 

สามารถทำยอดขายรวม 9 เดือน อยู่ที่ 25,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มียอดขาย 17,796 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายคอนโดมิเนียม 7,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 รวมทั้งการที่ลูกค้าให้การตอบรับคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วสูงถึง 130% และยอดขายสินค้าแนวราบ 17,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของ ปี 2564 ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ มีโอกาสที่ทำยอดขายในปี 2565 ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ผลความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา เอสซีมีรายได้รวม 14,329 ล้านบาท เติบโต 6% ซึ่งเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 14,275 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการขาย 95% และอีก 5% เป็นรายได้ค่าเช่าและบริการ โดยรายได้หลักจากการขาย 13,593 ล้านบาท มาจากรายได้นิวไฮของแนวราบ 12,202 ล้านบาท เติบโต 15% และรายได้จากแนวสูง 1,391 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,621 ล้านบาท เติบโต 9% โดยมียอดขายรวมทำนิวไฮ 17,182 ล้านบาท เติบโต 7%

 

ผลประกอบการไตรมาส 3/2565 เติบโตสูงสุดในรอบ 3 ไตรมาส มีรายได้รวม 5,261 ล้านบาท เติบโต 11% และกำไรสุทธิ 652 ล้านบาทเติบโต 20% ในวันที่ 30 กันยายน 2565 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมและหนี้สินรวมเท่ากับ 53,504 ล้านบาท และ 32,825 ล้านบาทตามลำดับ

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

โชว์รายได้ 8,491 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนปี 2565 เพิ่มขึ้น 65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดันโดยรายได้ธุรกิจโรงแรมซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าตัว รับอานิสงส์การท่องเที่ยวฟื้นตัวแกร่งทั่วโลก และรายงานกำไรสุทธิ 98 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 238 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมประกาศความสำเร็จในการขายบ้านหรูโครงการใหม่ “ศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส พัฒนาการ” มูลค่า 2,900 ล้าน ซึ่งสามารถปิดการขายมากกว่า 95% ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

 

เสริมด้วยรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าจำนวน 767 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 6% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าขึ้นได้แม้จะอยู่ระหว่างสถานการณ์ที่ท้าทาย รวมถึงอัตราการปล่อยเช่าของอาคาร เอส เมโทร ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 93% ภายหลังการรีแบรนด์และปรับปรุงอาคารใหม่ สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ และการเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทฯ ที่เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตสูง มีการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว

บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

คว้ากำไรสุทธิกว่า 848 ล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หลังเมกะโปรเจกต์คอนโด 12,000 ล้าน “พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ” ทยอยรับรู้รายได้เต็มไตรมาสและธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวจากการกลับมาเปิดประเทศ ด้านไตรมาส 4/2565 พาร์ค ออริจิ้น ราชเทวี และพาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน มูลค่าอีก 7,600 ล้าน ทยอยรับรู้รายได้เพิ่มเติม แบ็คล็อกแน่นทะลุ 41,000 ล้าน รับรู้ต่อเนื่องถึงปี 2568 คาดภาครัฐไม่ต่อนโยบายผ่อนคลาย LTV หนุนผู้ซื้อเร่งซื้อและโอนกรรมสิทธิ์โครงการก่อน 31 ธ.ค.นี้

 

บริษัทฯ มียอดโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่อยู่อาศัยทุกกลุ่มอยู่ที่ 4,434 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่อยู่อาศัยร่วมทุน 1,553 ล้านบาท ยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป 2,881 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ อีกรวม 323 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสดังกล่าว บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 3,833 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 848 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 22%

4. อสังหาฯ รายใหญ่ขานรับเทรนด์ Net Zero ใช้พลังงานสะอาดทดแทนอย่างยั่งยืน

เทรนด์ Net-zero กำลังมาแรง ซึ่ง Net-zero คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยจะมีการจัดการเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นศูนย์ เช่นการปลูกป่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต และการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไร้มลพิษ โดยปัจจุบันก็มีดีเวลลอปเปอร์หลายเจ้าก็หันมาสนใจกับส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

 

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) แสนสิริได้เดินหน้าสู่เป้าหมายในทุกรูปแบบเพื่อร่วมแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ โดยจากข้อมูลของ Climate Watch Data พบว่าภาพรวมภาคธุรกิจในประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 61.11% รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 16.67% ตามด้วย ภาคการเกษตร 15.96% และ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3.31%

 

แสนสิริมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัทฯ ให้ได้ 20% ภายในปี 2025  และลดก๊าซเรือนกระจกของทั้งขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ให้อยู่ที่ 50% ในปี 2033 โดยมีเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net-Zero ให้ได้ภายในปี 2050 ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. ก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ 2. ออกนโยบายด้านธรรมาภิบาลเพื่อลดคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า และ 3. การลงทุนในนวัตกรรมสีเขียว

บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

SENA Group วางเป้าหมายสู่การพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยใช้หลักคิดว่า ทุกอย่างเริ่มต้นจากบ้าน  และเป็นสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ดังนั้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เกิด Eco System ใหม่ เพื่อปลูกฝังให้คนทุกคนร่วมกันรักษ์โลกสู่เป้าหมายของคำว่าความยั่งยืน ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญของเสนา ต้องคิดละเอียดกว่าและใส่ใจทุกขั้นตอนของการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย  เพื่อมุ่งมั่งสู่ Net Zero Carbon Energy เพิ่มคุณภาพชีวิต และความยั่งยืนในทุกมิติของสังคม

 

โดยมีการร่วมมือกับบริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ดึงโนฮาวน์ Zero Energy House (ZEH) มาปรับใช้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ภายใต้ “SENA HHP Zero Energy House” และนำแนวคิด Geo Fit+ ประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับโมเดล Zero Energy Housing (ZEH) นำร่อง 2 โครงการต้นแบบ ประกอบด้วย 1.โครงการบ้านเดี่ยว แกรนด์โฮม บางนา กม.29 (ขนาดพื้นที่ 200 ตารางเมตร) 2.โครงการคอนโดมิเนียม เป็นต้น โดยวางเป้าหมาย SENA ZEH Oriented เพื่อลดการใช้พลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 20%

บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จับมือกับบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้นำอันดับ 1 ในการผลิตเหล็กเส้นในประเทศไทย ร่วมส่งเสริมความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด Low Carbon Community ด้วยการมุ่งบริหารจัดการเหล็กเส้นที่เป็นวัสดุสำคัญในขบวนการก่อสร้างบ้าน ซึ่งจะเริ่มที่โครงการระดับลักซ์ชัวรี่ 3 แห่ง ได้แก่ โครงการแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ดอีสต์ พระราม 9, เดอะ เจนทริ พัฒนาการ 2 และ เดอะ เจนทริ คัลทิวาร์ พระราม 9

 

โดยเอสซี แอสเสทฯ เป็นองค์กรที่เติบโตควบคู่กับความใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงมีแผนงานบริหารจัดการครอบคลุมเป้าหมาย SCero Mission ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ รวมถึงมีแผนการนำแนวทางที่ร่วมกับทาทา สตีล ไปพัฒนายังโครงการบ้านอีกกว่า 20 โครงการ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ในปี 2023 ทั้งนี้เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนต่อไป

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

มีความมุ่งมั่นที่จะทำตาม Brand Commitment สำคัญคือ การเดินหน้าสร้าง Sustainable Ecosystem ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อผู้คนและโลก ยืนหยัด สร้างพื้นที่ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการใช้ชีวิตในทุกมิติ สร้างสรรค์สิ่งที่ที่ดีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนไทยและประเทศไทย

 

ปัจจุบันเซ็นทรัลพัฒนามีส่วนช่วยสร้างเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเทียบเท่าประมาณ 1% ของ GDP ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และในอีก 5 ปีข้างหน้า จะยังคงเติบโตเช่นนี้ และเซ็นทรัลพัฒนาตั้งเป้าเป็นองค์กร Mixed-use Developer รายแรกสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ด้วยแผนระยะยาวตั้งเป็น Net Zero Carbon Emission ให้ได้ผ่านการลดการใช้พลังงานให้ได้ 50% ลดการใช้ CFC และสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดหรือ Clean Energy ให้ได้อีก 50% นอกจากนี้เรายังตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในและภายนอกโครงการให้ได้ถึง 1 ล้านต้นโดยเร็วอีกด้วย

5. ASHTON Asoke กับคำตัดสินที่ยังต้องลุ้นกันต่ออีกยาว

ASHTON Asoke มีคดีความที่ถูกฟ้องร้องจากทั้งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และจากสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งคดีที่ถูกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องมาตั้งแต่ปี 2559 ทางศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อปี 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโด แอชตัน อโศก โดยให้เหตุผลว่า คอนโดมิเนียมตั้งอยู่บนพื้นที่ “ที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งกว้างกว่า 12 เมตรที่ติดกับถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร” และ “ไม่เชื่อมกับถนนที่มีความกว้าง 18 เมตร” และ หรือคือผิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร โดยในปัจจุบันสถานะของคดีนี้ยังต้องรอการตัดสินขององค์คณะจากศาลปกครองสูงสุด

 

สำหรับคดีที่สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ฟ้อง ก็มีความคืบหน้าสำคัญในช่วงเดือนพย.ที่ผ่านมา โดยศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้อำนวยการเขตวัฒนา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กรณีออกใบอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ถ.สุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้อาคารก่อสร้างที่มีพื้นที่ใช้สอย 30,000 ตารางเมตรขึ้นไปต้องติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และการก่อสร้างโครงการดังกล่าวยังทำให้เรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็นเรือนไทยอนุรักษ์ของสยามสมาคมได้รับความเสียหาย

 

คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 พย.มีคำสั่งให้ไม่ต้องทุบตึกทิ้ง แต่ให้เร่งแก้ไขทางเข้าแทน โดยระบุว่าจากการที่ศาลได้พิจารณาว่า ตามสภาพที่ดินในความเป็นจริง ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการแอชตัน อโศก มีทางเข้าออก ขนาดความกว้าง 13 เมตร และที่ดินติดถนนสาธารณะ ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไป เชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น ที่มีเขตทางกว้าง 30 เมตร ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรค 2 และสอดคล้องกับเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงแล้ว ประกอบกับมีผู้อยู่อาศัยในโครงการเป็นจำนวนมาก การรื้อถอนจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงให้ผู้ว่าฯกทม ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และบริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หารือเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

 

จากคำพิพากษาดังกล่าวก็นับว่าเป็นการชี้ทางแก้ปัญหาในแบบกลายๆว่าอนันดาฯมีทางเลือกแค่สองทางเท่านั้นคือ ทางแรกรื้ออาคารให้เหลือ 8 ชั้นจาก 51 ชั้น เพราะตามกฎหมายแล้วอาคารที่สามารถก่อสร้างได้ในกรณีที่มีความกว้างของที่ดินเพียง 6.4 เมตรติดถนนสาธารณะ คือ อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตรหรือ 7 – 8 ชั้น ซึ่งในความเป็นจริงการรื้อแบบนี้ก็ไม่ต่างกับการโดนทุบทั้งหมด

 

ทางที่สองคือ เพิ่มความกว้างของที่ดินโครงการให้มากกว่า 12 เมตร  (ที่ดินของโครงการมีเพียงทางจำเป็นที่มีความกว้างของเขตทางเพียง 6.4 เมตรเท่านั้น ส่วนที่ดินที่เป็นทางเข้าออกปัจจุบันที่มีความกว้าง 13 เมตรเป็นที่ดินของทางอนันดาฯ 6.4 เมตรส่วนที่เหลือทางอนันดาฯ เช่าจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยซื้อที่ดินเพื่อเปิดทางเข้าออกซึ่งตัวเลือกเห็นจะมีเพียงแค่ซื้อที่ดินจากสยามสมาคม หรือไม่ก็จากตึกแถวในซอยสุขุมวิท 19 เท่านั้น

 

โดยคำชี้แจงจากทางอนันดาฯก็คือยังต้องรอการตัดสินขององค์คณะจากศาลปกครองสูงสุด ในคดีการฟ้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งจะชี้ขาดคดีแอชตัน อโศก ได้ในที่สุด

 

6. ถอยดีกว่า! รัฐบาลกลับลำ ถอนร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำ 40 ล้านบาท

 

ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ด้วยการให้ต่างชาติถือครองบ้านที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ เป็นที่ฮือฮาอย่างมาก ทำให้หลายคนต่างพากันจับประเด็นถึงเรื่องของผลดีและผลเสียที่ต่างชาติจะเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทย ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

และเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง มีสาระสำคัญมีดังนี้ ต่างชาติที่ซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ ต้องเป็นกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ที่ ได้แก่ 1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ และจำนวนเนื้อที่ที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง อีกทั้งยังต้องลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วต่างชาติที่สามารถซื้ออสังหาฯ ในไทยได้นั้นต้องเป็นในกลุ่มของคอนโด หากเป็นบ้านที่มีที่ดิน ต้องเป็นกลุ่มที่มีภรรยาเป็นคนไทยและซื้อผ่านบริษัท หรือซื้อในชื่อบุตรที่มีร่วมกับภรรยาคนไทยนั่นเอง

 

แต่ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวกลับก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากสังคมอย่างหนัก จนโดยในปัจจุบันทางรัฐบาลได้ถอนมติคณะรัฐมนตรี กรณีร่างกฎกระทรวงต่างชาติซื้อที่ดินในไทยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำ 40 ล้านบาท ออกไปแล้ว หลังจากอนุมัติหลักการไปในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อนำกลับไปศึกษาใหม่

ภาพจาก : https://www.thansettakij.com/real-estate/545623

 

7. คอนโดต่ำกว่า 2 ล้านบาทในเซกเมนท์ Super Economy กำลังได้รับความนิยม

ในปีนี้ถ้าเป็นตลาดแนวราบที่ขายดี ขายได้แน่ๆก็ต้องเป็นบ้านหรูราคาเกิน 20 ล้านบาทขึ้นไปในทำเลเมือง แต่หากเป็นโครงการคอนโดดีเวลลอปเปอร์เกือบทุกรายก็พร้อมใจกันลงความเห็นว่าคอนโดราคาถูกที่มีราคาต่อยูนิจไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือราวๆตรมละไม่เกิน 70,000 บาท คือน่าทำขายมากที่สุด แม้ที่ผ่านมาตลาดคอนโดในกลุ่ม Super Economy แบบนี้จะมีอัตราส่วน Reject Rate สูงที่สุด แต่ด้วยความที่ตลาดมีฐานกว้างแบบ Mass มากๆจึงทำให้มีดีมานด์ใหม่ๆเข้ามาทดแทนกลุ่ม Rejection ได้ตลอดเวลา และดีเวลลอปเปอร์แทบทุกรายที่มีประสบการณ์ในการขายตลาดนี้ก็จะให้ลูกค้าเตรียมจัดการเรื่องวงเงินสินเชื่อและเคลียร์หนี้ไปตั้งแต่ช่วงทำสัญญาซื้อขายแต่แรกเลย เพื่อปิดความเสี่ยง อีกทั้งยังเป็นเซกเมนท์ที่นักลงทุนนิยมเก็บห้องไว้ปล่อยเช่าทีละเยอะๆ ด้วยที่ตั้งของคอนโดเหล่านี้มักจะอยู่ในย่านนิคมอุตสาหกรรม หรือย่านใจกลางชุมชนรอบนอกของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแหล่งงานในจังหวัดปริมณฑลอย่าง ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา เป็นส่วนใหญ่ จึงรับประกันได้ถึงดีมานด์ที่น่าจะมีต่อเนื่อง

 

โดยในปี 2566 นี้มีหลายดีเวลลอปเปอร์ที่ประกาศตัวว่าจะลงมาเล่นในตลาด Super Economy หรือว่า Budget Condo มากมาย เพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้นำตลาดจากเจ้าตลาดอย่าง Regent Home หรือเสนาฯ จากความสำเร็จที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วกับ Condo Me จากแสนสิริ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่มองกลยุทธ์ของเครือออริจิ้นฯ ว่า สนใจในกลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เนื่องจากภาคบริการดี การจ้างงานดี กลุ่มกลางและล่างที่หายไปจะเริ่มกลับมาขอสินเชื่อกับภาคสถาบันการเงินได้ โดยมองกลุ่มบัดเจ็ตคอนโดฯที่นอกจากจะไปตามรถไฟฟ้าทุกสายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว จะขยับไปจังหวัดที่มีการจ้างงานสูง เช่น ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC หรือ ตามหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ เช่นกัน

8. บ้านหรูเกิน 20 ล้านบาท เฮโลกันเปิดใหม่สูงสุดในรอบ 10 ปี

หลังจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มซาไป ทำให้ตลาดบ้านหรูที่มีราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ในช่วงขาขึ้น เรียกได้ว่าโตขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะดีเวลลอปเปอร์หลายเจ้าหันกลับมาทำโครงการบ้านที่มีราคาสูงกันเพิ่มขึ้น คาดการณ์ซัพพลายเปิดขายใหม่ในปีนี้ สูงกว่า 1,000 ยูนิต เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยแต่ละโครงการก็อยู่ในทำเลที่สามารถเชื่อมต่อเข้าย่านอื่น และใจกลางเมืองได้ง่าย พร้อมทั้งเป็นย่านที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงเรียน และโรงพยาบาล

 

โดยข้อมูลจากนายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสารคอลลิเออร์ส ประเทศไทย ระบุว่า ตลาดนี้ยังคงเติบโตอย่างโดดเด่น ต่อเนื่องช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่างน่าแปลกใจ ทั้งๆ ที่สภาพเศรษฐกิจไทยช่วงหลัง ถดถอยจากวิกฤติโควิด-19 รวมซัพพลายเปิดขายใหม่ กว่า 4,127 ยูนิต ด้วยมูลค่าการพัฒนารวมกว่า 1.44 แสนล้านบาทแล้ว และในมุมมองของคนซื้อการครอบครองบ้านหรู กลายเป็นส่วนเติมเต็มภาพลักษณ์ และ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ คอลลิเออร์สฯ มองว่าตลาดในอนาคตจะมีการแข่งขันของผู้พัฒนาร้อนแรงขึ้นอีก ด้วยยูนิตขายใหม่อีกมากกว่า 750 ยูนิต มูลค่าการพัฒนา รวมกว่า 3.5 หมื่น ล้านบาทเข้าสู่ตลาดส่งผลให้คาดการณ์ซัพพลายเปิดขายใหม่ในปีนี้ สูงกว่า1,000 ยูนิต เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

 

ขณะครึ่งปีแรก 2565 มีซัพพลายบ้านหรูราคามากกว่า 20 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการขาย ทั้งสิ้น 2,833 ยูนิต โดย 84.25% มาจากผู้พัฒนารายใหญ่ ซึ่งมี บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครองตลาด ตามมาด้วย บมจ.แสนสิริ 22.34 % และ บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ 21.92% ทั้งนี้ บ้านระดับดังกล่าว มีการกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ แม้แต่ในกรุงเทพชั้นใน อีกทั้ง ทิศทางบ้านหรูในซอย และไซส์เล็ก มีแนวโน้มมากขึ้นอีกด้วย

 

Narasiri Krungthep Kreetha

Malton Gates Krungthep Kreetha

บ้านเดี่ยวระดับ Luxury Wellness Residence ราคาเริ่ม 38-80 ล้านบาท มูลค่าโครงการกว่า 2,100 ล้านบาท

Park Heritage

บ้านเดี่ยวสุดยอดมาสเตอร์พีซ ราคาเริ่มต้น 49 – 95 ล้านบาท มูลค่ารวม 2,210 ล้านบาท

9. ห้างใหม่ทยอยเปิดรัวๆ รับกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา ทำให้เมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

 

CPN ได้สิทธิการเช่าพื้นที่ในสยามสแควร์ ที่เป็นโรงหนังสกาล่าเก่า อายุสัญญาเช่า 30 ปี เตรียมพัฒนาโครงการศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์บนพื้นที่มากกว่า 7 ไร่ ซึ่งจะใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี และอาจจะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 66 เป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

Emsphere จากเดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นศูนย์การค้าใหม่สุดภายใต้ The Em District ได้แก่ Emporium EmQuartier และ Emsphere โดยมีงบลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท และพื้นที่กว่า 50 ไร่ พัฒนาเป็น Shopping District ระดับโลก มี IKEA เปิดที่ชั้น 3 ขนาดเล็กกว่าที่บางนาและบางใหญ่ เพราะไม่มีส่วนโกดัง มี Apple Store เป็นแห่งที่ 3 และมีข่าวลือว่าอาจมีพื้นที่สำหรับโชว์รูม Tesla แห่งแรกในไทย

Terminal 21 Rama 3 โดยบริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ที่ครบครันติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่าโครงการกว่า 4,500 ล้านบาท มีพื้นที่ส่วนให้เช่า 40,000 ตร.ม. และพื้นที่จอดรถถึง 2,000 คัน ในบรรยากาศของอาคารที่ตกแต่งตามสไตล์นีโอ-คลาสสิก ให้เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และแรงบันดาลใจจาก 6 เมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมความครบครันที่รองรับทุกไลฟ์สไตล์ของทุกวัย

ทั้งหมดนี้คือประเด็นในวงการอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นใน 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2022 อีกไม่ถึงเดือนก็จะเริ่มปีใหม่ในปี 2023 คงมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งในแวดวงอสังหาฯ และวงการอื่นๆ ซึ่งคาดหวังว่าปีหน้าโควิดคงจะหมดไปสักที หากใครที่อยากเข้ามาพูดคุยกับเรา ก็สามารถเข้ามาทักทายกันได้ที่แฟนเพจ Propholic ใน Facebook ซึ่งจะมีการอัพเดทประเด็นต่างๆ ในวงการอสังหาฯ ให้ได้รับชมอยู่เสมอ แล้วเจอกันสิ้นปีหน้านะคะ

wipawan khampuwiang

wipawan khampuwiang

จบทางด้านภาษาไทยและชอบงานเขียน ชอบอ่านและดูรูปภาพรีวิวบ้าน คอนโดต่างๆ เบื่อกับการอยู่ห้องทั้งวันแบบไม่มีอะไรทำ ฉะนั้นงานอดิเรกก็เลยชอบหาที่เที่ยวและถ่ายภาพ

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง