เจาะอนาคต Social Media ยุค Web3 เมื่อผู้ใช้งานเหนือกว่าแพลตฟอร์ม
นับตั้งแต่ Facebook เริ่มให้บริการในปี 2004 เป็นต้นมา โลกของอินเทอร์เนตได้เข้าสู่ยุคของ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง หลังจากนั้นได้เกิดแพลตฟอร์มอื่นๆอย่าง Instagram,Twitter,Youtube และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งที่ล้มหายไปแล้วและยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน
18 ปีผ่านไปของ Social Media ในยุค Web2 หลังจากนี้เทรนด์ในอนาคตกำลังจับจ้องไปที่สื่อสังคมออนไลน์ในยุคของ Web3 เพื่อที่จะเข้ามาแก้ไข Pain Point ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งาน Social Media ในปัจจุบัน
Pain Point ของ Social Media ยุคปัจจุบัน
ก่อนจะเข้าใจว่า Web3 จะเข้ามายกระดับผู้ใช้งาน Social Media อย่างไร เรามาดูกันก่อนว่า Pain Point ของสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้มีอะไรบ้างและ Web3 จะแก้ไขได้อย่างไร
การถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทางด้านข้อมูล
ในเมื่อรายได้หลักของ Social Media คือการโฆษณา ดังนั้นการที่แบรนด์ต่างๆจะเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานเช่นความสนใจ ที่อยู่ อายุ เพศ ฯลฯ เจ้าของแพลตฟอร์มอาจตั้งกลไกในการเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อให้แบรนด์ต่างๆนำไปใช้ในการยิงโฆษณามาให้เราเห็นตามความสนใจที่เราแสดงออก เช่น การกดติดตามคอนเทนท์หรือแม้แต่การกล่าวถึง
นอกจากนี้ยังมีบางแพลตฟอร์มที่ถูกโจมตีในเรื่องของ Privacy หรือสิทธิส่วนบุคคลมาอย่างต่อเนื่องอย่างเช่น Facebook ที่ถูกกล่าวหาว่าขายข้อมูลลูกค้าให้กับภาคธุรกิจ ทำให้ผู้ใช้งานบางส่วนที่ไม่ต้องการให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเลิกใช้งาน Social Media ไปเลย
แต่ด้วยเทคโนโลยี Web3 ทรัพย์สินทั้งหมดรวมถึงข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นจะมีความปลอดภัยและมี Privacy ที่สูงดวยเทคโนโลยีการเข้ารหัสหรือ Cryptography ทำให้โอกาสที่ข้อมูลของผู้ใช้งานหรือการทำธุรกรรมต่างๆจะไปกระจุกตัวอยู่ที่เจ้าของแพลตฟอร์มจะทำได้ยากขึ้น
แพลตฟอร์มคือผู้กุมอำนาจทั้งหมด
แม้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถแสดงความคิดเห็น สร้างคอนเทนท์ ภายในแพลตฟอร์ม Social Media ได้แต่ช่วงหลายปีหลังมานี้เริ่มเห็นปรากฎการณ์ของการจำกัดการแสดงออกในบางเนื้อหา ตลอดจนการแบนผู้ใช้งานบางรายที่ทางแพลตฟอร์มมองว่ามีอิทธิพลในเชิงลบมากเกินไป รวมไปถึงการปรับอัลกอริธึมการแสดงคอนเทนท์ที่ปิดกั้นการเข้าถึงโดยไม่มีการบอกกล่าวกับผู้ใช้งานทำให้หลายคนไม่อยากจะใช้งาน Social Media อีกต่อไป นั่นเป็นเพราะเจ้าของแพลตฟอร์มมีอำนาจจัดการภายในมากจนเกินไป
ด้วยเทคโนโลยี Web3 จะมีคอนเซบท์ของ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organizations ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานมีโอกาสแสดงความมีส่วนร่วมในการร่วมเป็นเจ้าของและกำหนดทิศทางนโยบายของแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเข้ามาลดบทบาทของเจ้าของแพลตฟอร์มลงเข้าสู่ยุคของการกระจายอำนาจในโลกอินเทอร์เนต
รายได้โฆษณารวมเข้าศูนย์กลางก่อนแจกจ่าย
หนึ่งในแรงจูงใจในการดึงให้มีผู้ใช้งานเข้ามาสร้างคอนเทนท์ภายในแพลตฟอร์ม Social Media ก็คือส่วนแบ่งรายได้จากการโฆษณา โดยหลังจากที่มีการสร้างคอนเทนท์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว รายได้จากโฆษณาที่เกิดขึ้นก็จะเข้าไปยังศูนย์กลางของแพลตฟอร์มก่อนจากนั้นก็จะทำการแบ่งรายได้ให้กับผู้ที่เรียกว่าเป็น Content Creator