PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลสี่แยกปิ่นเกล้า
ปิ่นเกล้า…จากเมืองหลวงของฝั่งธนฯสู่บริบทใหม่ของการใช้ชีวิตทันสมัยแนวสูง
หากเอ่ยถึงทำเล “ปิ่นเกล้า” แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ย่อมต้องนึกถึง Landmark หลักๆของย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, พาต้า ปิ่นเกล้า, สะพานสมเด็จพระปิ่นเก้า, โรงพยาบาลศิริราช, ตลาดวังหลัง หรือไม่ก็หรือวิถีชีวิตของความเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของฝั่งธนบุรี ซึ่งก็แน่นอนว่าทั้งหมดที่กล่าวมา ก็คือคำจำกัดความของย่านปิ่นเกล้าทั้งสิ้น โดยย่านปิ่นเกล้าในปัจจุบันได้ถูกยกระดับมิติของการอยู่อาศัยให้มีสีสันในเชิงไลฟ์สไตล์ และความสะดวกในการเดินทางให้มากขึ้น ด้วยแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้าสมัยใหม่ รวมไปถึงเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดในการส่งต่อคุณค่าของทำเลนี้จากรุ่นสู่รุ่น จนสร้างแรงดึงดูดอย่างมหาศาลในหมู่ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯให้เข้ามาพัฒนาโครงการคอนโดสูงเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ซื้อเจนเนอเรชั่นใหม่ที่แม้จะต้องทำงานในย่าน CBD แต่ก็ยังคงหลงเสน่ห์กับวิถีชีวิตในย่านนี้ตามประสาคนติดถิ่น ที่ไม่อยากอยู่ไกลบ้าน
ทำเลสี่แยกปิ่นเกล้า ช่วงรอยต่อระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนบรมราชชนนี และถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า นับว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมที่มีคนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมาอย่างยาวนาน เคียงคู่กับย่าน Residential Area ของฝั่งธนฯด้วยกันอย่าง วงเวียนใหญ่ และท่าพระ ด้วยจุดเด่นที่ชัดเจนในเรื่องของการเดินทางเข้าย่าน CBD ทั้งอดีตและปัจจุบันได้อย่างสะดวกรวดเร็วตั้งแต่ก่อนที่จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่าน เนื่องจากอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินทางหลักอย่างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทางด่วน ทั้งสะพานสมเด็จพระปิ่นเก้า, สะพานพระราม 8, สะพานกรุงธนฯ (ซังฮี้), สะพานพุทธฯ, สะพานพระปกเกล้าฯ รวมไปถึงสะพานพระราม 7 ซึ่งเชื่อมต่อไปยังย่านนนทบุรีได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้ย่านนี้เป็นศูนย์รวมของระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท และง่ายที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว
ด้วยการที่ย่านนี้เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ ที่มีการดำเนินชีวิตสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีการพัฒนาของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ชุมชนจีนเก่าแก่ของฝั่งธนบุรี มาจนถึงแหล่งท่องเที่ยวสมัยใหม่ทั้งห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และคอมมูนิตี้มอลล์ รวมทั้งยังใกล้ โรงพยาบาลศิริราช สถาบันการศึกษาอย่างธรรมศาสตร์และศิลปากร และหน่วยงานราชการอื่นๆ ปิ่นเกล้า จึงเป็นทำเลที่เพียบพร้อมสำหรับการอยู่อาศัย จนทำให้ย่านปิ่นเกล้าได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของฝั่งธนฯ บวกกับการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้นหลายเท่าตัวด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่วิ่งวนรอบเมืองเป็นวงกลมสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นแทบจะทุกสีได้ และทางด่วนศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ก็มีจุดทางลงอยู่ใกล้ๆ ทำให้คน “ติดถิ่น” ทุกเพศ ทุกวัย แม้แต่คนเจนเนอเรชั่นใหม่ๆก็ไม่อยากโยกย้ายไปไกลจากย่านปิ่นเกล้า
สี่แยกปิ่นเกล้า ย่านที่มีแต้มต่อมากที่สุดหากเทียบกับย่านอื่นๆบนถนนจรัญสนิทวงศ์
ถนนจรัญสนิทวงศ์นั้นเรียกได้ว่าเป็นถนนสายหลักของชาวฝั่งธนฯที่เชื่อมต่อทุกย่านที่อยู่อาศัยสำคัญตั้งแต่แยกท่าพระ, จรัญ 13, บางขุนนท์, ปิ่นเกล้า, พระราม 8, บางพลัด ไปจนถึงแยกบางอ้อ อีกทั้งยังเป็นถนนที่ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชื่อมต่อกับถนนที่แยกจากถนนจรัญสนิทวงศ์อยู่หลายแห่ง ถนนจรัญสนิทวงศ์จึงเป็นถนนสายสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี โดยพื้นที่ตลอดแนวถนนจรัญสนิทวงศ์มีการพัฒนามาตั้งแต่ 40 – 50 ปีก่อนหน้านี้ ดังจะเห็นได้จากการที่มีอาคารพาณิชย์ตลอดทั้ง 2 ฝั่งถนนยาวตั้งแต่ปลายสะพานพระราม 7 เรื่อยไปถึงสี่แยกท่าพระ อาจจะมีแค่บางช่วงที่มีอาคารรูปแบบอื่นๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่พื้นที่กว่า 80% สองฝั่งถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นอาคารพาณิชย์ และมีการใช้ประโยชน์อาคารพาณิชย์เหล่านี้เพื่อเป็นร้านค้า ร้านขายของ กิจการ ธุรกิจขนาดเล็กขึ้นไปถึงขนาดกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ หรือตามสี่แยกต่างๆ ที่เป็นจุดตัดของถนน 2 เส้นทางซึ่งเป็นจุดต่อรถโดยสารประจำทางขนาดใหญ่ จะมีความหนาแน่นของร้านค้ามากกว่าปกติ
ซึ่งในอดีตก่อนที่จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถโดยสารประจำทาง และการทำงานของคนส่วนใหญ่ในฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานครจะต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งพระนคร พื้นที่รอบๆ จุดตัดหรือสี่แยกของถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนที่มุ่งตรงสู่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจึงมักมีความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย และร้านค้ามากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยพื้นที่รอบๆ สี่แยกปิ่นเกล้า หรือที่ก่อนหน้านี้อาจจะเรียกกันว่าแยก 35 โบว์ล จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในบรรดาทุกบริเวณจุดตัดของถนนจรัญสนิทวงศ์ ที่เราจะพบสารพัดโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะคอนโด ร้านค้า โรงพยาบาล และโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า โลตัส ปิ่นเกล้า เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า โลตัส ปิ่นเกล้า และพาต้า ปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นศูนย์การค้าเก่าแก่ของพื้นที่นี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าถนนบรมราชชนนีเป็นถนนที่เชื่อมต่อกับถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าโดยตรง และเมื่อข้ามสะพานนี้ไปแล้วก็จะเป็นเขตเมืองเก่าฝั่งพระนคร หรือเกาะรัตนโกสินทร์ของกรุงเทพมหานคร ที่มีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่มากกว่า 2 แห่งในระยะที่ไม่ไกลจากสะพานนี้ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกยังสามารถเชื่อมต่อเข้าไปยังพื้นที่ศูนย์กลางเขตธุรกิจของกรุงเทพมหานคร อย่าง เยาวราช สีลม พระรามสี่ ได้โดยสะดวก จึงมีคนจำนวนมากเลือกที่จะพักอาศัยในย่านนี้มาตั้งแต่ครั้งหลาย 10 ปีก่อนที่จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินพาดผ่าน ดังจะเห็นได้จากการที่มีโครงการคอนโดหลายโครงการมาปักหลักพัฒนาอยู่ที่บริเวณสี่แยกปิ่นเกล้ามาตั้งแต่ก่อนปี 2540 แล้ว
สี่แยกปิ่นเกล้า ครบเครื่องทุกรูปแบบการใช้ชีวิต
อยากอยู่คอนโดสูงวิวสวย ใกล้ศิริราชมากที่สุด ต้องเป็นที่สี่แยกปิ่นเกล้าเท่านั้น
แม้ว่าถนนจรัญสนิทวงศ์จะเป็นถนนที่ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จะเห็นได้ว่ามีโครงการคอนโดมิเนียมที่เป็นอาคารสูงไม่มากนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสะพานพระราม 8 และบริเวณสี่แยกอรุณอมรินทร์ เนื่องจากว่าติดปัญหาในเรื่องของจำกัดความสูงของอาคารตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 และมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปีพ.ศ.2563 ดังแผนที่ต่อไปนี้
ดังนั้น พื้นที่โซนพระราม 8 ซึ่งเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และใกล้กับสะพานพระราม 8 อีกทั้งฝั่งตรงข้ามยังเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยมากกลับไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้ เพราะในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้พื้นที่โซนพระราม 8 อยู่ในบริเวณที่ 4 ซึ่งระบุว่าห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 16 เมตร
นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท บริเวณโดยรอบสะพานพระราม 8 ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด และแขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ที่ประกาศใช้วันที่ 3 มีนาคม 2547 ซึ่งข้อบัญญัตินี้เกี่ยวข้องกับการจำกัดความสูง และห้ามก่อสร้างอาคารบางประเภทในพื้นที่รอบสะพานพระราม 8 โดยข้อบัญัติกรุงเทพมหานครนี้มีพื้นที่ครอบคลุมดังแผนที่ต่อไปนี้
โดยพื้นที่โซนพระราม 8 อยู่ในบริเวณที่ 1 ตามข้อบัญญัตินี้ จะมีข้อห้ามที่สำคัญ คือ ห้ามสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 16 เมตร ในพื้นที่บริเวณที่ 1 ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และสะพานพระราม 8 กับห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 40 เมตรในพื้นที่บริเวณที่ 2 ซึ่งอยู่ถัดมาจากบริเวณที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ประกาศปีพ.ศ.2535 และข้อบัญญัตินี้ยังครอบคลุมถึงพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์บางส่วน คือ พื้นที่ตั้งแต่ถนนพรานนกมาตามถนนจรัญสนิทวงศ์ขึ้นไปจนถึงจรัญสนิทวงศ์ซอย 57 และซอย 46 โดยภายในพื้นที่นี้ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 70 เมตร ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่หลายโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้มีความสูงไม่มากนัก ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากความกว้างของถนน FAR ที่ได้ตามผังเมือง และขนาดของที่ดินแล้วสามารถสร้างอาคารสูงเกิน 30 ชั้นได้ก็ตาม
จากข้อกำหนดเรื่องของความสูงอาคารที่ระบุในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พื้นที่โซนพระราม 8 – อรุณอมรินทร์ – พรานนก ซึ่งมักจะชูจุดขายในเรื่องของความใกล้โรงพยาบาลศิริราชนั้นไม่สามารถพัฒนาเป็นอาคารสูงได้เลย ดังนั้น โครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่สี่แยกปิ่นเกล้าจึงมีความน่าสนใจมากกว่าแบบชัดเจน หากพิจารณาจากในเรื่องของความสูงอาคาร วิวที่ได้รับจากภายในห้อง ขนาดของพื้นที่ส่วนกลางแบบเปิดโล่ง การเข้าถึงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่ที่มีมากกว่า