PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลห้าแยกลาดพร้าว
อาจกล่าวได้ว่ากระแสการพัฒนาโครงการอสังหาฯอย่างไม่หยุดยั้งของพื้นที่บริเวณใจกลางเมืองและโดยรอบกรุงเทพฯหลายๆแห่งนั้น ล้วนแต่เป็นผลพลอยได้มาจากการขยายตัวของเมืองโดยมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆเป็นตัวเร่งชั้นดี ส่งผลให้พื้นที่จำนวนไม่น้อยของกรุงเทพฯถูกทดแทนด้วยอาคารสูงขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้า จนเกิดเป็นย่านใหม่ที่กระจายตัวออกมาจากบริเวณใจกลางเมืองมากมาย อาทิ ย่าน Extension CBD อย่างพระรามเก้า บางจาก ห้าแยกลาดพร้าว ฯลฯ หรือย่าน New Residential อย่าง พัฒนาการ กรุงเทพกรีฑา เกษตร-นวมินทร์ ฯลฯ ซึ่งการเกิดขึ้นของย่านใหม่ๆดังกล่าวแม้จะส่งผลดีต่อมูลค่าอสังหาฯโดยรอบ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดปริมาณคนจำนวนมากให้แวะเวียนเข้ามาอยู่ในพื้นที่นั้นๆ แต่กลับส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่ส่วนใหญ่แล้ว หากเลือกได้ก็ยังอยากที่จะหลีกหนีจากความวุ่นวาย เพื่อปรนนิบัติตัวเองให้ผ่อนคลายจากความเครียด สูดอากาศบริสุทธิ์ และออกกำลังกายท่ามกลางพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติขนาดใหญ่อย่างสวนสาธารณะในยามว่าง มากกว่าการที่จะต้องทนอึดอัดอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมของคอนโดใจกลางเมืองใกล้รถไฟฟ้า โดยที่ต้องทนเผื่อใจเอาไว้ว่าในอนาคตข้างหน้าก็อาจจะมีอาคารสูงแห่งใหม่ถูกสร้างขึ้นมาบังวิวสุดโปรดของคุณที่หน้าต่างห้องก็เป็นได้
ในมหานครใหญ่ๆทั่วโลกที่ซึ่งความเจริญแผ่กระจายตัวออกไปรอบทิศทางทั่วเมือง ล้วนแต่เป็นเรื่องง่ายที่จะมองหาโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงใกล้สถานีรถไฟฟ้าใจกลางย่านชุมชน แต่ไม่ใช่ว่าคอนโดที่อยู่ในย่านเดียวกัน จับกลุ่มเซกเมนท์แบบเดียวกันจะมีราคาขายที่พอๆกันทั้งหมด บริเวณโดยรอบพื้นที่เซ็นทรัล พาร์ค นิวยอร์ค ถนนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Manhattan’s ‘Millionaire’s Row’ ที่อุดมไปด้วยโครงการอสังหาฯและพื้นที่ค้าปลีกระดับไฮเอนด์ก็คือถนน Upper Fifth Avenue โดยห้องที่เห็นวิวสวนเซ็นทรัล พาร์คในแบบแนบชิดก็จะมีราคาสูงกว่าห้องอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด
ภาพจาก: Pixabay.com
ในขณะที่ย่าน Akasaka บริเวณโครงการ Tokyo Midtown ก็เป็นย่านไฮเอนด์ที่เป็นที่ตั้งของหนึ่งในคอนโดที่มีราคาขายแพงที่สุดของญี่ปุ่นอย่าง The Park Court Akasaka Hinokicho Tower ซึ่งเป็นคอนโดแนบชิดสวนสาธารณะ Hinokichou Park อันเป็นแหล่งพักกายและใจอันดับหนึ่งของผู้คนในย่าน Roppongi และ Akasaka…ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงพลานุภาพของ วิวที่โปร่งโล่ง และการได้อยู่แนบชิดกับพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ในแบบการันตีว่าวิวนี้จะอยู่กับเราตลอดไปว่ามีส่วนสำคัญมากแค่ไหน ในการกำหนดราคาขายของคอนโดให้สูงแตกต่างจากโครงการอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ทิศทางการขยายตัวของเขตเมืองในกรุงเทพฯ ดูจะมีแนวโน้มเหมือนกับมหานครใหญ่อื่นๆตรงที่ย่านเกือบทุกย่านมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายอยู่รายล้อม และเดินทางเข้า-ออกเมืองสะดวกด้วยรถไฟฟ้าเหมือนกันหมด จนเกิดเป็น Prime Area มากมาย ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยตัดสินว่าโครงการที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองแห่งไหนที่คู่ควรกับการตั้งราคาที่สูงกว่า นอกจากจะเป็นในเรื่องของความหรูหราของงานดีไซน์และการเลือกใช้วัสดุแล้ว ก็คือวิวที่เปิดโล่ง และความใกล้กับพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ หรือแม่น้ำ ที่ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติที่หายากมากขึ้นทุกวัน
ห้าแยกลาดพร้าว ย่านธุรกิจและศูนย์กลางการเดินทางแห่งใหม่ ท่ามกลางวิวธรรมชาติที่เปิดโล่ง ของสวนสาธารณะขนาดใหญ่หลายร้อยไร่
ถ้าพูดถึงทำเลเมืองส่วนต่อขยายที่น่าจะเป็นที่นิยมแห่งต่อไปในการพัฒนาโครงการคอนโดใหม่ๆนับจากนี้ไป ก็คงจะหนีไม่พ้น 5 ย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่ถูกอัพเกรดขึ้นมาอีกขั้น จากการมาของรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง – ท่าพระ- บางแค) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งในมุมมองผมย่านที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตอนเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) คือย่านพร้อมกว่าใครถ้าหากพิจารณาในเรื่องของความสะดวกในการเดินทาง เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อถึงสามจังหวัด นับว่าเป็นหัวใจหลักของการเดินทางสำหรับในกทม.ในฐานะที่เป็นรูปแบบการคมนาคมที่ดีที่สุดสำหรับคนทุกระดับชั้น รวมถึงชาวต่างชาติและคนรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้สถานี BTS ต่างๆถูกจดจำในฐานะที่เป็นจุดนัดพบแทนที่จะเป็นชื่อถนนต่างๆ และเป็นเส้นทางการเดินทางที่ยาวมาก พาดผ่านจุดสำคัญทางเศรษฐกิจหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น สยามสแควร์, จตุจักร, พญาไท, ราชประสงค์, อโศก, ทองหล่อ และยังข้ามไปยังเขตฝั่งธนฯ รวมถึงย่านสมุทรปราการ และปทุมธานี ส่งผลให้ตลอดเส้นทางที่รถไฟฟ้าสายนี้ผ่านเกิดการพัฒนาโครงการอสังหาฯในรูปแบบต่างๆเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าจะสโคปให้ลึกลงไป เพื่อสแกนหาทำเลที่มีโครงการขนาดใหญ่ของที่กำลังก่อสร้างจากรัฐบาลและเอกชน อีกทั้งยังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่รายล้อมนั้น ในพื้นที่กรุงเทพฯก็คงจะมีเพียงพื้นที่โดยรอบห้าแยกลาดพร้าวเท่านั้นที่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้
โดยหากเราให้คำนิยามว่ากรุงเทพฯตอนเหนือคือบริเวณตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิตวิ่งขึ้นไปตามถนนพหลโยธินจนไปสิ้นสุดที่บริเวณดอนเมืองก่อนจะข้ามไปเขตจังหวัดปทุมธานี ก็คงจะบอกได้ว่า ห้าแยกลาดพร้าวคือเมืองหลวงของกรุงเทพตอนเหนือ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ในอนาคตน่าจะมีศักยภาพที่จะเป็น New CBD แห่งต่อไป ด้วยการพัฒนาอภิมหาโปรเจคหลายแห่งทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน มีห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่เพียงหนึ่งเดียวในย่านนี้ แถมห้าแยกลาดพร้าวก็เป็น Intersection เป็นแยกที่มีถนนสำคัญมากถึง 3 เส้นมากระจุกรวมกันได้แก่ ถนนวิภาวดีรังสิตเป็น Highway เชื่อมออกไปสู่ภาคเหนือและอีสานของไทย ถนนพหลโยธินที่เชื่อมระหว่างเมืองชั้นในกับต่างจังหวัด และถนนลาดพร้าวซึ่งเป็นถนนวางตัวแบบ East-West เชื่อมผู้คนจากกรุงเทพฝั่งตะวันออกเข้ามาใจกลางเมือง มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านถึง 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน (โดยมีสถานีที่อินเตอร์เช้นจ์กันคือ MRT สถานีพหลโยธิน และ BTS สถานีห้าแยกลาดพร้าว) รวมไปถึงยังเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและของอาเซียน ที่เริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในปีพ.ศ.2564 และจะเปิดอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นอกจากนี้การที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวนั้น เชื่อมต่อโดยตรงกับบริเวณจตุจักร จึงทำให้ย่านนี้เป็นย่านช้อปปิ้ง และแฮงค์เอ้าท์แนว local ที่ใหญ่มากของกรุงเทพฯ รายล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และพื้นที่ไลฟ์สไตล์สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ ตลาด อ.ต.ก. , เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว, เดินเล่นในสวนรถไฟ, ช้อปปิ้งตลาดนัดสวนจตุจักร , ซื้อของกินของใช้จาก Big C และ Lotus, ซื้อสินค้าแฟชั่นที่ Union Mall , ช็อปสินค้าสบายๆ แบบติดแอร์ที่ JJ mall , ดูภาพยนตร์ เดินเล่นที่เมเจอร์ รัชโยธิน และตลาดนัดโดยรอบ และก็ยังอยู่ใกล้กับย่านอารีย์ สะพานควาย ประดิพัทธ์ ซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ สถานที่นั่งทั้งกลางวัน-กลางคืน เรียกได้ว่าจบครบทุกไลฟ์สไตล์ในแบบที่ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลๆ
แต่สิ่งที่น่าสนใจและหาได้ยากมากในกรุงเทพฯ ก็คือพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่หรือสวนสาธารณะ โดยพื้นที่โดยรอบห้าแยกลาดพร้าวนี้ เป็นพื้นที่ที่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในพื้นที่ถึง 3 สวนที่มีพื้นที่ติดกัน จนดูเหมือนเป็นสวนขนาดใหญ่หนึ่งเดียว ซึ่งประกอบไปด้วย
แม้ว่าจะมีอีกหลายพื้นที่ในบริเวณใจกลางกรุงเทพฯที่มีสวนสาธารณะในพื้นที่ เช่น พื้นที่รอบสวนลุมพินี (เนื้อที่สวน 360 ไร่) พื้นที่รอบสวนเบญจกิติ (เนื้อที่สวน 130 ไร่) พื้นที่รอบอุทยานเบญจสิริ (เนื้อที่สวน 29 ไร่) พื้นที่รอบสวนจุฬาฯ 100 ปี (เนื้อที่สวน 30 ไร่) ฯลฯ และยังมีอีก 2 พื้นที่ ที่กำลังจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่เกิดขึ้น คือ พื้นที่รอบราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้งเก่า พื้นที่รอบโรงงานยาสูบเก่าซึ่งต่อเนื่องกับสวนเบญจกิติ แต่พื้นที่รอบสวนสาธารณะต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ของสวนสาธารณะทั้งหมดที่อยู่ติดกับห้าแยกลาดพร้าว เพราะมีพื้นที่รวมกันถึง 730 ไร่
พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ หรือสวนสาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสร้างหรือพัฒนาขึ้นมาใหม่ได้ง่ายๆ ในขณะเดียวกันก็ยากที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานเช่นกัน เพราะองค์ประกอบสำคัญคือ เรื่องของที่ดิน ในปัจจุบันมีพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในกรุงเทพฯที่ยังมีที่ดินของหน่วยงานราชการที่สามารถแปลงเป็นสวนสาธารณะได้อีกในอนาคต แต่เงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องไม่มีการใช้ประโยชน์บนที่ดินนั้นๆแล้ว ดั่งเช่นที่เกิดขึ้นกับที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงงานยาสูบ และราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยหรือสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งหลังจากที่ปิดการทำกิจกรรมในสนามม้านางเลิ้ง และการย้ายออกของโรงงานยาสูบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงนำที่ดินทั้ง 2 แปลงมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่
หากไม่นับพื้นที่ตามแนวถนนพระราม 4 แล้ว พื้นที่โดยรอบห้าแยกลาดพร้าวนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนามากที่สุด ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการที่มีแผนจะพัฒนาในอนาคต โดยมีการประกาศแผนการพัฒนาแล้ว หรือมีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนออกมาแล้ว รวมไปถึงยังมีที่ดินขนาดใหญ่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตเหลืออยู่ ซึ่งโครงการและที่ดินต่างๆดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะยกระดับพื้นที่รอบห้าแยกลาดพร้าวให้สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการดึงคนจำนวนมากให้เข้ามาในพื้นที่นี้ และยังเป็นการกระจายความเจริญของกรุงเทพฯให้ออกจากย่านใจกลางเมืองมากขึ้น โดยมีทั้งโครงการของรัฐบาล และโครงการที่พัฒนาโดยเอกชน โครงการต่างๆ ในพื้นที่มีดังนี้