SCIeco โชว์ 4 โซลูชันการจัดการ Waste เพื่อเป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทน ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของไทยสู่ความยั่งยืน
บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด (SCIeco) ผู้นำด้านการจัดการของเสีย กากอุตสาหกรรม และบริการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชนให้เป็นพลังงานทดแทนและวัตถุดิบทดแทน ผ่าน 4 โซลูชันด้านการจัดการ Waste โดยตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พร้อมนำหลัก Circular Economy มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายฉลอง ลิ่มสุนทรากุล Deputy Director บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด (SCIeco) กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งคิดค้นนวัตกรรมในการเปลี่ยนขยะและวัตถุพลอยได้ภาคอุตสาหกรรมและขยะภาคชุมชนให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนและวัตถุดิบทดแทน สามารถใช้เผาร่วมในการผลิตปูนซีเมนต์ (Co-Processing in Cement Kiln) เพื่อช่วยลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จากข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ในปี 2566 ปริมาณของเสียและกากอุตสาหกรรม มีจำนวนสูงถึง 25 ล้านตัน ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า ปริมาณขยะชุมชนมีจำนวน 30 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลง และการเพิ่มขึ้นของประชากร
“ในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านการกำจัดของเสียและกากอุตสาหกรรมด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์ ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 30 ปี จึงนำความเชี่ยวชาญมาต่อยอดและยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีประยุกต์ใช้กับขยะชุมชน ด้วยการนำขยะปนเปื้อนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ มาผลิตเป็น RDF (Refuse Derived Fuel) ช่วยลดปริมาณการฝังกลบ และยังเป็นการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย”
สำหรับ SCIeco มีโซลูชันด้านการจัดการ Waste ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ Environmental Service Solutions บริการตรวจวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ด้วยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกชน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาทิ บริการติดตั้งและตรวจสอบระบบติดตามคุณภาพอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม บริการตรวจวัดคุณภาพน้ำ น้ำทิ้ง และกากของเสีย บริการตรวจวัดมลพิษอากาศจากปล่องระบาย เป็นต้น, Industrial Waste Management การจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรม ด้วยวิธีการเผาร่วมกับปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลัก Circular Economy โดยเริ่มแรกจะต้องวิเคราะห์และตรวจสอบคุณสมบัติทั้งทางเคมี และกายภาพของอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถกำจัดได้อย่างปลอดภัยทั้งด้านอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะถูกกำจัดด้วยระบบปิดอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส ทำให้การเผาไหม้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนของเสียและกากอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบทดแทน และเชื้อเพลิงทางเลือก ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล, Municipal Solid Waste Management การจัดการขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิง RDF ขยะชุมชนปนเปื้อนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำมาพัฒนาจัดการผ่านกระบวนทางเทคโนโลยี เพื่อให้นำกลับไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel), Agricultural Waste Management การจัดการวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตรพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล โดยบริษัทฯ มีการรับซื้อวัสดุเหลือทิ้งภาคการเกษตรและเชื้อเพลิงชีวมวลหลายประเภท เช่น ใบอ้อย แกลบ ตอไม้ยางพารา กะลาปาล์ม เป็นต้น เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ช่วยลดการเผาพื้นที่เกษตร ลดการเกิด PM 2.5 นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนพลังงาน