โครงการ ‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต’ โดย THE FORESTIAS by MQDC ได้ดำเนินการมาจนครบวงจร มอบกล้าไม้ 300,000 ต้นให้ทางกรุงเทพมหานคร
จากการที่ทาง THE FORESTIAS by MQDC ได้จัดโครงการ ‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต‘ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการเพิ่มทักษะอาชีพเพาะกล้าไม้ สร้างรายได้ให้ชุมชน และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทยด้วยอีกทางโดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 90 วัน
ปัจจุบันโครงการ ‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต‘ ได้ดำเนินงานมาจนครบวงจร โดยได้มอบกล้าไม้ให้ชุมชนนำไปดูแลทั้งสิ้น 604 ครัวเรือนจากเป้าหมาย 1,000 ครัวเรือน รวมกล้าไม้จำนวน 724,800 ต้นจากเป้าหมาย 1 ล้านต้น และอยู่ระหว่างการคัดสรรและอบรมชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องจนครบเป้าหมาย โดยกล้าไม้ล็อตแรกจากพื้นที่นำร่องของโครงการคือ ชุมชนวัดทุ่งเหียง และ ชุมชนบ้านอำเภอ จังหวัดชลบุรี ได้เจริญเติบโตครบระยะเวลามีความสมบูรณ์พร้อมที่จะเติบโตให้ร่มเงาต่อไป ทางโครงการได้นำกล้าไม้มามอบให้ทางกรุงเทพมหานครจำนวน 3 แสนต้น สำหรับให้กรุงเทพมหานคร นำไปใช้สร้างพื้นที่สีเขียวในสวนสาธารณะ สนับสนุนโครงการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชาวกทม.
ดังที่ทราบกันว่า กรุงเทพมหานคร มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยบรรเทามลพิษทางอากาศผ่านโครงการ ‘กรุงเทพมหานครเมืองสีเขียว‘ ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อีก 750 ไร่ เพื่อให้ประชาชนได้รับอากาศที่มีคุณภาพมากขึ้น ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เสนอว่าประชากรหนึ่งคนควรมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 10 ตรม. จึงมีการสำรวจพื้นที่ว่างเปล่าที่รกร้างที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ นำมาพัฒนาให้เป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ หรือส่วนป่า
พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณ MQDC ที่จัดทำโครงการ ‘Forest for Life สร้างป่าสร้างชีวิต‘ ช่วยบรรเทาปัญหาให้ประชาชนในช่วงโควิด และได้มอบกล้าไม้จำนวน 3 แสนต้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท กทม.จะนำไปปลูกในสวนสาธารณะที่อยู่ในความดูแล ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะและสวนหย่อม รวม 8,557 แห่ง พื้นที่ประมาณ 25,037 ไร่ 3 งาน 25.74 ตารางวาหรือ 40,060,502.96 ตารางเมตร คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเท่ากับ 7.05 ตร.ม./คน โดยสวนสาธารณะและสวนหย่อมขนาดเล็กอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต และสวนสาธารณะขนาดใหญ่ จำนวน 40 แห่งอยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม
ในอนาคตกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำหรือต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 750 ไร่ ซึ่งจะต้องใช้ต้นไม้จำนวนมาก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามเป้าหมาย จึงอยากให้ประชาชนทุกภาคส่วน ตระหนักถึงความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการปลูกต้นไม้ ให้กทม.เป็นเมืองในสวนและมหานครสีเขียวอย่างยั่งยืน