พื้นที่ 5 ประเภทที่มีศักยภาพในการพัฒนาตามแนวทาง TOD
เราอาจจะเห็นความสำเร็จในการนำแนวทางการพัฒนาแบบ TOD (Transit Oriented Development) มาพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ จนดูเหมือนว่าจะมีเพียงเฉพาะเมืองหลวงและเมืองรอบปริมณฑลเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับการพัฒนาตามแนวทาง TOD แต่ความจริงแล้วการพัฒนาไม่จำเป็นต้องทำในพื้นที่ดังกล่าว
โดยเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงตามแนวทาง TOD มีอยู่ 5 ประเภทดังต่อไปนี้
1. พื้นที่ศูนย์กลางคมนาคมประจำภูมิภาค
สถานีขนส่งขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาค เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพความคุ้มค่าในการพัฒนาตามแนวทาง TOD มากที่สุด ยกตัวอย่างในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, ขอนแก่น, เพชรบุรี, สงขลา และชลบุรี สถานีขนส่งสาธารณะประจำจังหวัดเหล่านี้ มีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมประจำภูมิภาค เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง ด้วยรูปแบบการเดินทางอื่นๆ เช่นรถโดยสารระหว่างจังหวัด เรือ หรือเครื่องบิน เพื่อเข้าถึงปลายทางอย่างรวดเร็ว พื้นที่ศูนย์กลางการคมนาคมประจำภูมิภาค จึงเป็นเป้าหมายแรกของการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง TOD ต่อจากเมืองหลวง
2. พื้นที่ศูนย์กลางการคมนาคมประจำเมือง
พื้นที่สถานีขนส่งสาธารณะประจำจังหวัดต่างๆ เป็นศูนย์กลางการเดินทางที่มีศักยภาพรองลงมาจากศูนย์กลางการคมนาคมประจำภูมิภาค อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกจังหวัดที่จะสามารถพัฒนาตามแนวทาง TOD อย่างเต็มรูปแบบได้ทั้งหมด การลงทุนพัฒนาต้องพิจารณาดูแผนการพัฒนาเมืองว่าเป็นไปในทิศทางใด อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรและเศรษฐกิจ ว่ามีความเหมาะสมที่จะลงทุนสร้างในระดับใด
บางจังหวัดอาจมีขนาดเล็กเกินไปที่จะพัฒนาตามแนวทาง TOD ที่มีความหนาแน่นสูง แต่สามารถเลือกใช้แนวทางการพัฒนาพื้นที่ TOD ที่มีความหนาแน่นต่ำถึงปานกลาง และวางแผนพัฒนาพื้นที่ระยะยาวเผื่อการเติบโตของเมืองในอนาคตได้