บ้านเก่าอายุมากกว่า 15 ปีควรตรวจอะไรบ้าง
สำหรับตอนที่แล้วเราได้พูดถึงบ้านที่มีอายุ 0-15 ปีไปแล้วนั้น สำหรับตอนนี้เราจะมาพูดถึงรายละเอียดบ้านที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปกันบ้าง ส่วนใหญ่บ้านในกลุ่มนี้มักจะเริ่มทำการต่อเติมหรือรีโนเวทรอบใหญ่ เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนของสมาชิกภายในบ้าน อีกทั้งเป็นช่วงที่บ้านหรือตัวอาคารเริ่มเกิดความเสื่อมโทรม ดังนั้นเจ้าของบ้านอาจพบปัญหาต่างๆที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัยมากขึ้นในช่วงกลุ่มอายุนี้ โดยปัญหาที่มักพบได้ประกอบไปด้วย
– ปัญหาเกี่ยวกับวัสดุกรุผิวในส่วนต่างๆ
– ปัญหาเรื่องงานระบบ
โดยในตอนนี้เราจะมาพูดถึง การตรวจสอบวัสดุกรุผิวและงานระบบอาคารกันก่อน
1. ปัญหาเกี่ยวกับวัสดุกรุผิวในส่วนต่างๆ
ปัญหายอดฮิตอีกเรื่องที่มักจะเกิดขึ้นคือเรื่องความเสื่อมของวัสดุกรุผิวอาคาร ซึ่งความหมายของวัสดุกรุผิวของอาคาร คือ วัสดุตกแต่งพื้นและผนังต่างๆ รวมถึงวัสดุมุงหลังคา
1.1 วัสดุกรุพื้น
พื้นที่จอดรถหรือทางเดินรอบบ้านแตกร้าวเนื่องจากการทรุดตัวไม่เท่ากันของพื้นที่
จุดสังเกต
อาจเริ่มสังเกตว่าพื้นเริ่มแยกและมีระดับที่แตกต่างกัน หรืออาจมีอาการทรุดตัวเป็นแอ่งลงไปตรงกลางผืนที่จอดรถโดยมีรอยร้าวร่วมด้วย มักเกิดจากสาเหตุที่โครงสร้างพื้นที่ใช้ในบริเวณดังกล่าวนั้นมักจะเป็นโครงสร้างพื้นวางบนดิน (Slab on ground) โดยปราศจากโครงสร้างใต้ดินหรือเสาเข็มรองรับด้านล่าง แตกต่างกับโครงสร้างบ้านที่ถูกออกแบบเป็นโครงสร้างพื้นที่วางบนคาน (Slab on beam) ซึ่งภายใต้ตัวบ้านนั้นจะมีโครงสร้างเสาเข็มรองรับ โดยรอยแยกที่ว่านี้ไม่เป็นอันตรายและไม่มีผลทำให้โครงสร้างบ้านของเราพังทลาย เพียงแต่อาจสร้างความหงุดหงิดใจและทำให้การใช้งานในบริเวณนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก
วิธีการแก้ไข
หากเจ้าของบ้านท่านใดที่ไม่อยากรื้อทุบพื้นเดิมนั้นสามารถแก้ไขโดยการตัดแยกรอยต่อระหว่างพื้นโครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน จากนั้นบริเวณรอยต่อที่ทำการตัดแยกอาจใช้วิธีโรยกรวด หรือกรณีที่รอยร้าวมีไม่มากนักอาจใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้นและยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือ ซิลิโคน
ภาพแสดง โฟมเส้นที่ใช้ในการอุดรอยต่อ
ใช้กรวดโรยเพื่อความสวยงามปกปิดช่องว่างระหว่างรอยต่อของพื้น
ส่วนกรณีที่รอยร้าวเกิดขึ้นบริเวณกลางผืนที่จอดรถโดยมีรอยแยกบริเวณขอบรอยต่อร่วมด้วยนั้น วิธีนี้การตัดแยกโครงสร้างอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ควรทำการสกัดพื้นที่จอดรถเดิมที่มีปัญหาและทำการเทพื้นบริเวณใหม่ ซึ่งวิธีการเทพื้นใหม่นั้นควรแยกรอยต่อระหว่างโครงสร้างบ้านและพื้นที่จอดรถเช่นกัน รวมถึงหากเป็นการเทคอนกรีตใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่มากๆ ควรทำการตัดแยกรอยต่อบนพื้นทุกๆ 3 เมตร เพื่อป้องกันการแตกร้าวอันเนื่องมาจากการยึดหดตัวของคอนกรีต