ตลาดอาคารสำนักงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567
ภาพรวมตลาด (Market Overview)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% จากปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในไตรมาสก่อน แต่เป็นการเติบโตแบบกระจุกตัว การท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในอุตสาหกรรมการบริการทำให้การจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้ายกเว้นทองคำเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมการผลิตที่ดีขึ้น แต่การส่งออกและการผลิตก็กำลังเผชิญกับความท้าทายเนื่องจากระดับสินค้าคงคลังสูงและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง การลงทุนภาคเอกชนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัว ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.62% ได้แรงหนุนจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากการยกเลิกการอุดหนุนจากภาครัฐ และอุปทานผักและเนื้อหมูลดลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเหลือ 0.36% เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลลดลง ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบริการแข็งแกร่งขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ประจำเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของธุรกิจที่ไม่แน่นอน อุตสาหกรรมการผลิตมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิตหดตัว แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะยังคงอยู่เหนือ 50 แต่ความเชื่อมั่นโดยรวมก็ลดลงตั้งแต่ปีที่แล้ว สาเหตุหลักจากความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิตลดลง ในขณะที่ความเชื่อมั่นด้านอุตสาหกรรมการผลิตยังคงมีเสถียรภาพ
อุปทาน
อุปทานอาคารสำนักงานทั้งหมดในกรุงเทพฯในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 29,200 ตร.ม. หรือ 0.5% จากไตรมาสก่อน เป็น 6.16 ล้าน ตร.ม. มีอาคารสำนักงานใหม่ 2 แห่งสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ อาคารศุภาลัย ไอคอน สาทร และรัชโยธิน ฮิลส์ ส่วนพื้นที่ให้เช่าของอาคารสำนักงานสีเขียวคิดเป็น 24% ของพื้นที่ให้เช่าทั้งหมดในตลาด
อุปทานในอนาคต
เนื่องจากไม่มีการประกาศก่อสร้างโครงการใหม่ พื้นที่ให้เช่ารวมสำหรับการพัฒนาจึงลดลงเหลือ 1.46 ล้าน ตร.ม. คิดเป็น 24% % ของระดับอุปทานในปัจจุบัน พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ยังคงเป็นทำเลหลัก โดย 60% ของอุปทานใหม่จะกระจุกตัวอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ในอีก 2.5 ปีข้างหน้า อุปทานพื้นที่สำนักงานใหม่คาดว่าจะอยู่ที่ 410,700 ตร.ม. ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567, 316,000 ตร.ม. ในปี 2568 และ 440,400 ตร.ม. ในปี 2569
อุปสงค์
การดูดซับสุทธิของตลาดพื้นที่สำนักงานในไตรมาสนี้เป็นบวก เท่ากับ 18,400 ตร.ม เพิ่มขึ้นจากที่ติดลบในไตรมาสก่อน ส่งผลให้พื้นที่ครอบครองทั้งหมดเพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาสก่อน เป็น 4.73 ล้าน ตร.ม. นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 ที่การดูดซับสุทธิของพื้นที่สำนักงานสีเขียวติดลบ โดยลดลงเหลือ -5,900 ตร.ม. ในขณะที่พื้นที่สำนักงานที่ไม่ใช่สำนักงานสีเขียวเพิ่มขึ้น 24,300 ตร.ม. เทรนด์โดยรวมคาดว่าความยั่งยืนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในตลาดสำนักงาน การดูดซับสุทธิของพื้นที่สำนักงานสีเขียวมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในไตรมาสหน้า ความต้องการพื้นที่สำนักงานในย่านศูนย์กลางธุรกิจเพิ่มขึ้น มีการดูดซับสุทธิที่ 23,400 ตร.ม. ในขณะที่ความต้องการพื้นที่สำนักงานในย่านนอกศูนย์กลางธุรกิจ (Non-CBD) หดตัวเล็กน้อย การดูดซับสุทธิติดลบ -4,950 ตร.ม.