กู้ซื้อบ้านร่วมกับคนรัก ปูทางสร้างครอบครัวหรือเพิ่มภาระผูกพันระยะยาว?
คู่รักที่คบหากันมานานจนตกลงปลงใจจะสร้างครอบครัวร่วมกัน มักจะมีการวางแผนซื้อบ้านเพื่อใช้เป็นเรือนหอ และแยกตัวออกมาสร้างครอบครัวในอนาคต เมื่อเลือกรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ตรงใจและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของทั้งคู่แล้ว ขั้นตอนที่มีความสำคัญหลังเตรียมเอกสารและประเมินความสามารถในการเป็นหนี้ คือการยื่นขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่ง “การกู้ร่วม” ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคู่รักที่จะเริ่มต้นซื้อบ้านเพื่อเป็นสินสมรส เนื่องจากช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติที่มากขึ้นพร้อมทั้งวงเงินกู้ที่สูงขึ้นด้วย โดยการกู้ร่วมเป็นการทำสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน เพื่อให้ทางธนาคารเห็นว่าจะมีอีกคนมารับผิดชอบหรือรับภาระหนี้ร่วมกัน เพิ่มความมั่นใจว่าผู้กู้จะสามารถผ่อนชำระคืนได้ตามที่สัญญากำหนด และทำให้การอนุมัติการขอสินเชื่อง่ายขึ้นตามไปด้วย โดยผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมที่ได้รับการอนุมัตินั้นจะมีสถานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน สามารถกู้ร่วมได้สูงสุดไม่เกิน 3 คนต่อหนึ่งสัญญา
กู้ร่วมกับใครได้บ้าง? เป็นแฟนกันกู้ร่วมได้หรือไม่?
คุณสมบัติหลัก ๆ ของผู้ที่สามารถเป็นผู้กู้ร่วมได้นั้นจะต้องเป็นสายโลหิตเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์ในเครือญาติ หรือเป็นครอบครัวเดียวกับผู้กู้หลัก เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก เครือญาติ หรือคู่สมรส หากเป็นพี่น้องที่ใช้คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมกันได้แต่ต้องนำหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม เช่น ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรที่แสดงให้เห็นว่ามีพ่อแม่เดียวกัน โดยผู้กู้ร่วมจำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามที่สถาบันการเงิน/ธนาคารกำหนดเช่นเดียวกับผู้กู้หลัก คือ มีความสามารถในการชำระหนี้ ไม่มีภาระหนี้มากเกินไป และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้
สำหรับคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงานนั้นจะไม่สามารถยื่นเรื่องกู้ร่วมได้ ยกเว้นว่ามีการหมั้นและเตรียมพร้อมที่จะแต่งงาน ส่วนกรณีคู่รักที่แต่งงานแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียนจะสามารถกู้ร่วมได้ โดยแสดงหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ เช่น ภาพถ่ายวันแต่งงาน หรือใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจที่ระบุว่าอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียน หรือหากมีบุตรร่วมกันให้แสดงใบเกิดที่ระบุชื่อพ่อแม่ หรือใช้สำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุชื่อของคู่สมรสที่แสดงว่าปัจจุบันอยู่ด้วยกัน ซึ่งรายละเอียดของเอกสารเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนโยบายพิจารณาการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคารด้วยเช่นกัน