การออกแบบพื้นที่ TOD สำหรับผู้พิการ
ทุกครั้งที่เรารู้สึกถึงการใช้ชีวิตในเมืองอย่างยากลำบาก จะมีคนกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตที่ยากลำบากกว่า และในทุกวันที่เราทำสิ่งที่ดูง่ายแค่การขยับเท้าก้าวเดิน จะมีคนอีกกลุ่มที่ทุกย่างก้าวคือสิ่งที่ต้องระวัง คนกลุ่มนั้น คือ ผู้พิการ กลุ่มคนที่เราลืมไปว่าพวกเขาก็มีตัวตนขับเคลื่อนสังคมในมุมใดมุมหนึ่ง หากเรามองโดยรอบเราจะพบว่าเมืองส่วนใหญ่ ยังขาดการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการมากมาย ตามหลักการออกแบบพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD (Transit Oriented Development) ได้คำนึงถึงพื้นฐาน การออกแบบพื้นฐานเดินทางที่จูงใจให้ประชาชนทุกคนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ก็ได้วางแนวทางการออกแบบสำหรับกลุ่มผู้พิการเอาไว้เช่นกัน
เข้าถึง เท่าเทียม เท่าทัน ยั่งยืน
TOD ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการใน 8 ข้อ ผสานกับการออกแบบที่เรียกว่า Universal Design (UD) หรือที่รู้จักกันในชื่อ อารยสถาปัตย์ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งเป็นแนวคิดการออกแบบ “เข้าถึง เท่าเทียม เท่าทัน ยั่งยืน” ดังต่อไปนี้
1. โครงข่ายทางเดินเท้า(Walk) การออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้า ต้องมีเส้นทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์, ช่องแสดงเส้นทางเดินพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตา และสัญญาณไฟจราจรที่มีเสียงดังเป็นพิเศษสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน
2. เส้นทางจักรยาน (Cycle) การออกแบบเส้นทางจักรยานนั้น สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้พิการที่เดินทางด้วยจักรยานแบบ 3 ล้ออยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทางจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือผู้พิการก็คือ การสร้างแนวกั้นแบ่งเส้นทางสำหรับผู้ใช้เส้นทางจักรยานโดยตรง เพราะผู้พิการที่ใช้เส้นทางจักรยานจะเคลื่อนที่ได้ช้า หากใช้เส้นทางจักรยานร่วมกับพื้นที่ถนน หรือเส้นทางเดินเท้า อาจกีดขวางการจราจร และทำให้ผู้พิการรู้สึกอึดอัดที่จะเดินทางด้วยวิธีนี้
3. การเชื่อมต่อเส้นทาง (Connect) รอยต่อระหว่างการเดินทาง คือ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้พิการสามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกสบาย การเลือกใช้แผ่นทางเดินอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ในการขึ้นรถบัสโดยสารประจำทาง ขึ้นรถไฟฟ้า หรือเดินทางต่อด้วยเรือ การออกแบบเส้นทางลาดสำหรับผู้พิการในอาคารต่าง ๆ หรือออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย คือ จุดสำคัญที่จะทำให้ผู้พิการรู้สึกได้ถึงความเท่าเทียม มีคุณค่าในตัวเอง และไม่รู้สึกเป็นภาระของสังคม
4. ระบบขนส่งสาธารณะ (Transit) ในแนวทางช่วยเหลือผู้พิการที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สามารถออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับจองตั๋วการเดินทาง เพิ่มช่องทางเข้า การอำนวยความสะดวกด้วยลิฟต์ขึ้นลงสถานี หรือช่องจำหน่ายตั๋วพิเศษสำหรับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการได้ยิน หรือผู้พิการแขนขา รวมทั้งที่นั่งหรือตำแหน่งพิเศษสำหรับผู้พิการในรถบัสโดยสารและรถไฟ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญก็คือ ในสังคมมีกลุ่มผู้พิการหลากหลายแบบ แต่ละแบบก็มีความต้องการพิเศษที่แตกต่างกันออกไป นอกจากการออกแบบบริการพื้นฐานแล้ว การอบรมเจ้าหน้าที่ให้รู้จักวิธีการให้บริการพิเศษแก่ผู้พิการ จึงเป็นอีกหนึ่งการแก้ปัญหาที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับ