“แสนสิริ” รายแรกอสังหาฯ ไทย กู้วิกฤต Climate Change อาสาเป็นผู้นำขับเคลื่อนองค์กร 360 องศา ตั้งเป้าหมายสู่ Net-zero ชูแผนรูปธรรมผู้บริโภคจับต้องได้ เซ็ตไทม์ไลน์ชัด “ติด Solar Roof และที่ชาร์จรถ EV บ้านทุกหลัง/ ไฟส่วนกลางพลังงานสะอาด 100% 70% โครงการเปิดใหม่ต้องเป็นบ้านประหยัดพลังงาน ภายในปี 2030”
– แสนสิริ เดินหน้าพันธกิจสีเขียว ประกาศเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกในเมืองไทยที่ตั้งเป้าหมาย Net-zero เพื่อเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รวมพลังบวก กู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก
– ขับเคลื่อนองค์กรด้วย 4 แก่น ‘Process-Product-Partner-Investment’ ครอบคลุมการลดคาร์บอนทุกมิติ เตรียมทำจับมือองค์กรสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบมาตรฐานทุกกระบวนการทำงานอย่างโปร่งใส
– ประกาศแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เป้าหมายทุกโครงการต้องลดการเป็นภาระสิ่งแวดล้อม
– รถ EV สำหรับผู้บริหารและไฟสวนทุกโครงการเป็น solar ตั้งแต่ปี 2021 (พ.ศ.2564)
– Solar Roof และ EV Charger ในส่วนกลางทุกโครงการใหม่ พร้อม waste จากโรงงานพรีคาสต์ไม่เกิน 2% ภายในปี 2022 (พ.ศ.2565)
– Solar Roof และ EV ในบ้านทุกหลัง ไฟถนนโครงการ และ 70% ของโครงการเปิดใหม่เป็นบ้านประหยัดพลังงาน ในปี 2030 (พ.ศ.2573)
– เตรียมทุ่มงบลงทุน 500 ล้านบาท ในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน – สุขภาพ-เกษตร-อาหาร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ และตระหนักดีว่าเป็นปัญหาหลักของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนต้องร่วมมือกันเพื่อการดูแลโลกให้ยั่งยืนอย่างเร่งด่วน สำหรับแสนสิริในฐานะผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดเป้าหมายในการทำธุรกิจเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ ณ วันนี้ แสนสิริขอประกาศภารกิจสำคัญอีกครั้ง ในการนำองค์กรเข้าสู่การเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ร่วมแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม ด้วยการประกาศเป้าหมายสู่การเป็น Net-zero องค์กรอสังหาริมทรัพย์แรกในประเทศไทยที่วางพันธกิจในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรต่างๆ ได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากทั่วโลก เช่น การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 64 ที่ผ่านมา โดยมีการบรรลุข้อตกลงทางประวัติศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยงแปลงสภาพแวดล้อม ด้วยเป้าหมายให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ. 2593 เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริง ต้องมาจากพลังบวกของทุกภาคส่วนในการร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันก้าวไปสู่จุดที่เป็นวิกฤตต่อมวลมนุษยชาติ ดังจะเห็นได้จากสัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกของเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย คลื่นความร้อนในยุโรป ไฟป่าที่ออสเตรเลีย รวมถึงน้ำท่วมอย่างรุนแรงจากภาวะฝนที่ตกหนักอย่างผิดปกติในหลายประเทศ นอกจากนี้สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ยังระบุว่า โลกเราได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในทุกปี มีเพียง ปี 2563 ที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก แต่ IEA ได้คาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2564 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กลับมาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าระดับของ พ.ศ. 2562