“นิติบุคคลดี” รู้ก่อน-ตรวจสอบได้ ไม่ต้องวัดดวง ซื้ออยู่เอง หรือ ปล่อยเช่าก็อุ่นใจ
การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะซื้ออยู่เองหรือซื้อปล่อยเช่านอกจากผู้บริโภคจะต้องเลือกพิจารณาความเหมาะสมด้านราคา ฟังก์ชั่นการใช้สอย ความสะดวกในการเดินทาง และสภาพแวดล้อมโดยรวมของที่อยู่อาศัยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนคาดหวังนอกจากการมีบ้าน/คอนโดฯ ในฝันที่สงบสุข ก็คือมีสังคมแวดล้อมที่น่าอยู่ทั้งจากสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และเพื่อนบ้านที่ดี นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่เติมเต็มประสบการณ์ให้การอยู่อาศัยดียิ่งขึ้นก็คือ “นิติบุคคล” เพราะโครงการไหนที่มีนิติบุคคลที่บริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดี นอกจากผู้อาศัยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว โครงการนั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะปล่อยเช่าหรือขายต่อได้ดีกว่าโครงการที่มีนิติบุคคลที่บริหารจัดการได้ไม่ดีอีกด้วย วันนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ขอนำเสนอแนวทางเลือกที่อยู่อาศัยอย่างไรให้เจอนิติบุคคลในฝัน เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย เรามารู้จักกับ “นิติบุคคล” ในเบื้องต้นกันก่อน
“นิติบุคคล” ในที่นี้คือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลอาคารชุด หรือที่เราได้ยินกันคุ้นหูว่า “นิติฯ” มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางภายในโครงการที่อยู่อาศัย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในหลาย ๆ ด้านให้กับลูกบ้านทุกคน ปกติแล้วการจะจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นอยู่กับรูปแบบของที่อยู่อาศัย สำหรับนิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลคอนโดฯ ในช่วงแรกเจ้าของโครงการจะรับผิดชอบจัดหาบริษัทเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารอาคารชุด และจากนั้นจะเปิดสรรหาคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดต่อไปซึ่งคัดเลือกจากตัวแทนของเจ้าของร่วมหรือลูกบ้านในอาคารชุด
ในขณะที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจะจัดตั้งขึ้นจากมติของเจ้าของบ้านในโครงการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเจ้าของบ้านในโครงการนั้น ๆ โดยจะเป็นการแต่งตั้งตัวแทนคณะกรรมการยื่นคำขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการนิติบุคคลรับโอนทรัพย์สินส่วนกลาง ทรัพย์สินสาธารณูปโภคจาก “ผู้จัดสรร” หรือเจ้าของโครงการมาบริหารจัดการได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายในการบริหารงานของคณะกรรมการนิติบุคคลเช่นเดียวกันกับนิติบุคคลอาคารชุด โดยนิติบุคคลคอนโดฯ และหมู่บ้านจัดสรรนั้นได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร การจัดเก็บค่าส่วนกลางส่วนใหญ่จึงคำนวณให้รายรับพอดีกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น
อยากอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสงบสุข แล้ว “นิติบุคคล” ช่วยคุณได้อย่างไรบ้าง?
นอกจากการเรียกเก็บค่าส่วนกลางที่ดูเหมือนเป็นภาพจำที่ลูกบ้านมีต่อหน้าที่ของนิติบุคคลแล้ว รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วนิติบุคคลมีขอบเขตความรับผิดชอบและบทบาทสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้มากกว่าที่หลายคนคิด ดังนี้
– จัดประชุมตามวาระต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจและสร้างข้อตกลงร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ดำเนินงานตามวาระของที่ประชุมเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ผู้อาศัย รวมถึงติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ มาอัปเดตให้ลูกบ้าน/เจ้าของร่วมได้ทราบพร้อมกัน
– รักษาและใช้กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในการใช้งานทรัพย์สินส่วนกลางของสมาชิก โดยกฎระเบียบนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนิติบุคคล พิจารณาโดยคำนึงบนพื้นฐานความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้งานของลูกบ้านเป็นหลัก นอกจากนี้นิติบุคคลยังพร้อมเป็นตัวกลางที่คอยประสานไกล่เกลี่ยเพื่อลดการกระทบกระทั่งหากเกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกันระหว่างลูกบ้านในโครงการนั้น ๆ
– จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและจัดสรรบริการหรือกิจกรรมที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ลูกบ้านได้รับความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เช่น จัดซื้อเครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญ/เครื่องอบผ้าในพื้นที่ส่วนกลาง จัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมในฟิตเนส จัดอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อมีเหตุุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด เป็นต้น
– ดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ พร้อมควบคุมการใช้งานของลูกบ้านให้เป็นไปตามกฎที่ตั้งไว้ นิติบุคคลจะต้องมีการประเมินอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ และจัดหาช่างผู้ชำนาญมาตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น เครื่องออกกำลังกายในฟิตเนส ความสะอาดของสระว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อยืดอายุการใช้งานทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ยาวนานขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างมั่นใจในความปลอดภัยให้กับลูกบ้านที่ใช้บริการ
– นิติบุคคลเป็นตัวแทนของผู้อาศัยในการยื่นคำร้องทุกข์หรือเป็นโจทก์ฟ้องแทนลูกบ้านเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือผลประโยชน์ของสมาชิกจำนวนมาก เช่น มีความเดือดร้อนจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ จนเกิดความไม่สบายใจในการอยู่อาศัย หรือการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโครงการ เป็นต้น