เยือนอาณาจักร Keppel Corporation หนึ่งใน Conglomerate Firm ที่ใหญ่ที่สุดของสิงค์โปร์ พร้อมชมโครงการอสังหาฯระดับโลกของ Keppel Land พันธมิตรหลักของ KPN Land

เกริก บุณยโยธิน 22 March, 2018 at 01.00 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ถ้าพูดถึงเมืองไฮเทคขนาดเล็ก แต่กลับเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน การพาณิชย์ เต็มไปด้วยอาคารระฟ้า การเดินทางอันแสนสะดวกสบาย มีการวางแผนการพัฒนาเมืองในแบบเป็นระบบ และมีคุณภาพชีวิตของประชากรที่ดีที่สุดในเอเชีย ก็คงจะเป็นประเทศสิงค์โปร์…ด้วยขนาดพื้นที่รวมเพียงแค่  718.3 ตร.กม. เล็กกว่ากรุงเทพฯถึง 1 เท่าตัว มีลักษณะทางกายภาพเป็นเกาะ จึงทำให้ที่อยู่อาศัยเกือบทั้งหมดของที่นี่เป็นโครงการแนวสูงอย่างคอนโด ซึ่งคาดการณ์ว่าประมาณกว่า 70% เป็นโครงการที่ถูกพัฒนาโดย Housing Development Board (HDB) หรือการเคหะแห่งชาติสิงค์โปร์ ที่เหลือจึงเป็นของเอกชน

 

นับตั้งแต่ HDB เริ่มก่อตั้งขึ้นมาในปี 1960 องค์กรแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะคุณภาพชีวิตชั้นดีให้กับทั้ง Singapore Citizen และ Permanent Resident โดยจนถึงปัจจุบัน HDB ได้สร้างยูนิตพักอาศัยมาแล้วถึง 1,142,015 หน่วย (รวม DBBS flats ซึ่งเป็นยูนิตที่ร่วมพัฒนาโดยภาคเอกชนภายใต้กรอบปฎิบัติในการก่อสร้าง และบำรุงรักษาอย่างเคร่งครัดจาก HDB)

โดยจำนวนยูนิตทั้งหมดนี้มีคนอาศัยอยู่ทั้งหมดราวๆ 3,249,900 คน (นับเฉพาะ Singapore Citizen และ Permanent Resident) จากจำนวนประชากรทั้งหมดราวๆ 5.6 ล้านคน สาเหตุหลักที่มีคนอยู่อาศัยใน HDB Flat ก็คือมีราคาที่ถูกกว่าโครงการจากเอกชนราวๆ 4 เท่าตัว เนื่องจากเป็นที่ดินของรัฐบาล และรัฐบาลสร้างเอง โดยกลไกในเรื่องของราคาก็ไม่ได้ถูกปั่นจากการเก็งกำไร เนื่องจากคนที่เป็นเจ้าของ HDB Flat ได้จะไม่สามารถขายหรือเช่าได้ภายใน 5 ปี ซื้อได้แค่ครั้งละห้อง และถึงขายไปก็สามารถซื้อได้อีกแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น แถมวิธีการในการซื้อมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่ชัดเจนมาก (ตามรูปด้านล่าง) จึงทำให้ HDB Flat เป็นหนึ่งในรัฐสวัสดิการที่ดี ครอบคลุม และโปร่งใสที่สุดของโลก จนการเคหะแห่งชาติของหลายๆประเทศต้องมาศึกษา แต่ก็น่าแปลกที่ไม่ค่อยจะมีใครทำได้ดีเท่านี้เลย

 

Source: http://www.hdb.gov.sg

ในขณะที่ HDB Flat ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีในการตอบสนอง Demand ของคนภายในประเทศ แล้วคนนอกอย่าง Visitor หรือ Expat ในสิงค์โปร์ล่ะ เค้าจะมีทางเลือกอะไรบ้างนอกจากการหาเช่า หรือซื้อคอนโดที่ถูกพัฒนาโดยภาคเอกชน?…หลายครั้งหลายหนที่เราเห็นข้อมูลว่าสิงค์โปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีราคาอสังหาฯแพงติดอันดับ Top 10 ของโลก กล่าวคือมีราคาตั้งแต่ตรม.ละ 7 แสน จนถึงหลัก 2 ล้านบาท ซึ่งก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอสังหาฯของภาคเอกชนพุ่งสูงขึ้นมากขนาดนี้ ก็เป็นเพราะเหตุผล 3 ประการคือ 1. ที่ดินมีน้อย เดินทางสะดวกหมด จนความเหลื่อมล้ำในแต่ละย่านแทบจะไม่มี ยกเว้นย่าน CBD แถมจะสร้างอะไรก็ต้องผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่สร้างให้สิงค์โปร์เป็นเมืองที่เป๊ะขนาดนี้อย่าง Urban Redevelopment Authority 2. กำลังซื้อมาจากชาวต่างชาติระดับ Top Management เป็นหลัก และ 3 คือความเป็นหนึ่งในประเทศที่ Wealthy ที่สุดในโลกในเชิงของ GDP per Capita

….เห็นแบบนี้แล้วก็มองย้อนดูประเทศแถวนี้ ที่ราคาอสังหาฯพุ่งขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา ว่ามีองค์ประกอบอะไรที่เหมือนเค้าบ้าง ฮา…

ด้วยการที่พื้นที่ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯในสิงค์โปร์มีน้อยอยู่แล้ว Local Developer ในส่วนของการพัฒนาโครงการ Residential Project จึงยังมีไม่มากมายถ้าเทียบกับในกรุงเทพฯที่มีหลายร้อยราย และโดยส่วนใหญ่แล้ว Real Estate Developer ที่สิงค์โปร์มักจะมีจุดกำเนิดมาจาก Multi Business Corporation ที่ประกอบธุรกิจอันหลากหลาย หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ Conglomerate Firm และแทบทุกรายยังมีการสร้าง Business Diversification ไปสู่กลุ่ม Commercial, Hotels และ Fund Management

 

โดย 10 อันดับของบริษัทพัฒนาอสังหาฯในสิงค์โปร์ตามที่ผมหาข้อมูลมาได้ ถึงแม้ว่าจะเก่าไปหน่อยถึงปี 2013 โน่น ก็จะมีดังนี้ครับ

Source: http://sbr.com.sg/residential-property/exclusive/singapores-13-most-valuable-property-developers

 

จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วมีแต่ชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเลย ไอ้ที่คุ้นก็จะมี CapitaLand ที่เคยมาร่วมหัวจมท้ายกับ TCC Land มาตั้งแต่โครงการ The Emporio Place, Villa Ratchathewi และสิ้นสุดกันทีที่โครงการ Villa Asoke (CapitaLand ได้ขายหุ้นทั้งหมดคืนให้ TCC Land ในปี 2011 ในเมืองไทยเหลือแค่ธุรกิจ Service Apartment กับแบรนด์ Ascott, Citadines และ Somerset)

 

จนสุดท้าย TCC ไปทุ่มทุนซื้อ Fraser Property มาเพื่อบุกตลาดไทยให้ยิ่งใหญ่กับ ONE BANGKOK

แต่ตอนนี้ CapitaLand ไปสร้างฐานที่มั่นที่เมืองจีนแทนแล้วครับ โดยไปเอา Model การสร้าง Raffles City ที่สิงค์โปร์มาใช้กับหลายแห่งในเมืองจีน ล่าสุดอยู่ที่ Raffles City Chongqing

คลิกเพื่ออ่าน: CapitaLand สถิติโลกใหม่สำหรับ Raffles City Chongqing ด้วยการสร้าง “ตึกระฟ้า ที่สูงที่สุดกับความมหัศจรรย์ในการออกแบบและโครงสร้าง

ในสายตาคนสิงค์โปร์บริษัท City Development Limited (CDL) ดูจะเป็นอีกหนึ่งบริษัทเอกชนที่เป็น Top of Mind สำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาฯระดับ Luxury ในย่าน Orchard มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1963 ครับ

 

โครงการ New Futura เป็นโครงการที่ผมมักจะแหงนมองด้วยความอิจฉาเวลาไปเดินย่าน Orchard ที่สำคัญคือเป็นแบบ Freehold ด้วยครับ

Source: http://www.cdl.com.sg

 

สำหรับตัวผมเองชื่อบริษัทพัฒนาอสังหาสัญชาติสิงค์โปร์ แต่มาปักหลักในเมืองไทยที่ผมนึกได้ก็จะมีอีก 3 ราย (ไม่นับ Fraser Property นะ) คือ TEE (มาจับกับชีวาทัย), HPL (พัฒนาโครงการ The Met) และ Keppel Land (ล่าสุดจับมือกับ KPN LAND) ที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ล่ะครับ

 

โครงการ The Interlace ก็เป็นอภิมหาโครงการที่จับมือกันระหว่าง CapitaLand และ HPL

Source: http://www.theinterlace.com

 

รู้หรือเปล่า Keppel Land มาปักหลักในเมืองไทยมานานมากแล้ว?

 

จริงๆแล้วคนที่อยู่ในวงการอสังหาฯรู้จักกับชื่อ Keppel Land มาตั้งแต่ปี 2000 ภายใต้ชื่อ บริษัท เคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (“เคปเปลไทย”) โดยเข้ามาบุกตลาดจากการไปซื้อกิจการของบริษัท ไฟว์สตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) โดยในครั้งนั้นมีโครงการติดจาก ไฟว์สตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ มา 2 โครงการคือ วิลล่า อะคาเดีย ศรีนครินทร์ และ วิลล่า อะคาเดีย วัชรพล รวมถึงพื้นที่บางส่วนของอาคาร Jewellery Centre ที่ถนนนเรศ…แต่อนิจจาที่เวลาผ่านไปนับ 10 ปี บริษัทเคปเปลไทย กลับไม่ได้พัฒนาโครงการใหม่ใดๆออกมาสมดั่งใจหวังเลย จนในที่สุดก็ขายบริษัทต่อให้กับ กลุ่มบริษัท คิง ไว เรียล เอสเตท กรุ๊ป (HKKW) จากฮ่องกง ที่ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวน 45.45% จาก บริษัท เคปเปล แลนด์ ลิมิเต็ด (KLL) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KTP โดยมีค่าตอบแทนรวมประมาณ 11.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เมื่อช่วงต้นปี 2016… ส่งผลให้ KTP แปลงร่างกลายเป็น KWG (Thailand) และทาง เคปเปล แลนด์ ลิมิเต็ด (KLL) ล่าสุดก็ได้ไปเป็นพันธมิตรหลักกับทาง เคพีเอ็น แลนด์ ภายใต้บริษัทร่วมทุน เคพีเอ็น-เคปเปล อัลลายซ์แอนซ์ (KPN-KEPPEL ALLIANCE COMPANY LIMITED) ไปเรียบร้อยสมใจบริษัทแม่อย่างกลุ่ม เคปเปล คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (KCL) ที่ต้องการขยายตลาดคอนโดในไทยแบบก้าวกระโดดไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่บุกเมืองไทยมานานแต่กลับต้วมเตี้ยมทำแต่โครงการบ้านเดี่ยวชานเมืองแค่ 2 โครงการ

“การที่เราจะไต่อันดับขึ้นไปสู่ Top 5 of mind ของผู้นำตลาด Luxury Condo ในเมืองไทยนั้น เราจำเป็นต้องมี S Curve ใหม่ และการได้ KEPPEL LAND เป็น JV จะเป็นกลจักรสำคัญไปสู่เป้าหมายดังกล่าวด้วยแนวทางเติบโตอย่างยั่งยืนได้” นี่คือส่วนหนึ่งจากคำพูดของคุณระวี ธาตุนิยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด ในระหว่างงาน Press Orientation ที่สำนักงานใหญ่ Keppel Land เมื่อช่วงต้นเดือนมีค.ที่ผ่านมา

โดยครั้งนี้ทาง KPN KEPPEL ALLIANCE (เคพีเอ็น แลนด์ ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และเคปเปล แลนด์ ถือในสัดส่วน 49%) พากองทัพนักข่าวบุกถึงอ่าว KEPPEL ฐานที่มั่นหลักของ KEPPEL CORPORATION เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในเมืองไทยของ KEPPEL LAND ด้วยการเป็น Partner กับ KPN LAND ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการคอนโดระดับ Luxury ในย่าน Bangkok Prime of Prime Area โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ในย่าน CBD เพื่อตอบสนองความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค อย่างน้อยปีละ 1-2 โครงการ

 

KEPPEL Corporation นั้นเดิมที่เป็นเจ้าของสัมปทานท่าเรือ อู่ต่อเรือ และกิจการพาณิชย์นาวีในย่านอ่าว Keppel แต่สิ่งที่ทำให้บริษัทแห่งนี้เติบโตจนกลายเป็น Global Conglomerate Firm ก็คือธุรกิจพลังงาน และกิจการโทรคมนาคมภายชื่อโครงข่าย M1 เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าของ REIT หลายแห่งในสิงค์โปร์และออสเตรเลีย โดยมี KEPPEL LAND เป็นบริษัทลูกที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาโครงการอสังหาฯระดับ Mega Projects ทั้ง Residential, Commercial โดยเฉพาะโครงการ Mixed use ขนาดใหญ่ในย่าน Keppel, Marina Bay รวมไปถึงต่างประเทศอย่าง เทียนจิน, เซี่ยงไฮ้, โฮจิมินท์, จาการ์ตาร์, ย่างกุ้ง และมะนิลา

 

ย่านอ่าว KEPPEL มีโครงการของ KEPPEL LAND ถึง 3 + 1 โครงการ

ในปีนี้ KPN KEPPEL ALLIANCE พร้อมประเดิมด้วยการเปิดตัวโครงการคอนโด 2 แห่งบนสุขุมวิท 19 (โรงแรมฮันนี่) และสุขุมวิท 28 โดยคาดว่าจะเปิดตัวโครงการที่สุขุมวิท 19 (SHAA Asoke) ก่อนในช่วงเดือนพค.นี้ โดยมีราคาเริ่มต้นห้องละ 10 ล้านบาท (24 ชั้น 140 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,500 ล้านบาท) ส่วนซอย 28 ก็เริ่ม 10 ล้านเหมือนกันแต่มี 30 ชั้น 265 ยูนิต มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท

 

โครงการ SHAA Asoke เริ่มยิง Teaser โดยมีพี่ติ๊ก เป็นพระเอกหลัก

โครงการที่สุขุมวิท 28 ต้องอดใจรอไปก่อน

เยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของโครงการอสังหาฯย่านอ่าว KEPPEL

 

ใครที่เคยมาเที่ยว Resorts World Sentosa หรือมาสวนสนุก Universal Studios Singapore ล้วนแต่ต้องเคยเห็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่รูปทรงแท่งผลึก 6 แท่ง พร้อมหมู่ตึกบริวารรายรอบ ตั้งสูงอยู่ท่ามกลางอ่าว KEPPEL จนสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจาก Sentosa Express ที่ออกมาจากห้าง VivoCity…แท่งทั้ง 6 แท่งดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของโครงการ Reflections at Keppel Bay และเป็น 1 ใน 4 อภิมหาโครงการ Waterfront & Urban Lifestyles ที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ 200 ไร่ ในตอนใต้ของเกาะสิงค์โปร์บนอ่าว KEPPEL ที่ถูกพัฒนาโดย KEPPEL Land

บนอ่าว Keppel ที่เมื่อก่อนเคยเป็น Ship Yard แห่งนี้ประกอบไปด้วย 3 โครงการ Residential Projects และอีก 1 Yacht Club คือ Reflections at Keppel Bay (เฟส 2), Carribbean at Keppel Bay (เฟส 1), Corals at Keppel Bay (เฟส 3) และ Marina at Keppel Bay

สำหรับโครงการ Reflections at Keppel Bay นับว่าเป็นโครงการคอนโดที่ประกอบไปด้วยอาคารสูงรูปทรงแท่งผลึกกระจก จำนวน 6 อาคารมีความสูงตั้งแต่ 24 – 41 ชั้น เชื่อมกันแต่ละคู่ด้วย Sky Bridge และคอนโดรูปทรงใบพัดสไตล์ Villa ริมน้ำจำนวน 11 อาคาร รวมทั้งหมด 1,129 ยูนิต และมีส่วนกลางขนาดใหญ่มากถึง 10 โซน (ตอนนี้ก็ยังเหลือขายอยู่นะ ราคาเฉลี่ยประมาณตรม.ละ 680,000 บาท สร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี 2011 โน้นแหน่ะ)

ออกแบบโดยเจ้าพ่อตึกแหลม แนวฟันปลาอย่าง Daniel Libeskind ซึ่งนี่ก็คือโครงการคอนโดแรกของเค้าในทวีปเอเชียที่โด่งดัง กวาดรางวัลมาพอตัว จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก…สิ่งที่แปลกกว่าก็คืออาคารนี้มี Unit Type เป็น 100 แบบ ห้องที่อยู่ตำแหน่งเดียวกันใน 1 ชั้น จะไม่เหมือนกัน เพราะมีการออกแบบ Unit Orientation ให้เปิดรับวิวที่ดีที่สุดทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิวทะเล สนามกอล์ฟ หรือเนินเขา Faber…ห้องตย.ที่มาดูเป็น 3 นอนขนาด 174 ตรม. บนชั้น 16 เป็น type 3 นอนห้องสุดท้าย ขายราคา 4.6 Million SGD

 

ขออภัยที่ไม่ได้เก็บรูปมาฝากอย่างละเอียดเพราะที่นี่ถ่ายรูปยากมาก แถมบางจุดก็ห้ามถ่ายด้วยครับ ผมเลยเอาห้องที่มีขนาดใกล้เคียงกันจากในเวปมาให้ดูบางรูป

Source: https://www.keppellandlive.com/

คอนโดที่สิงค์โปร์นี่ถ้าดูจากภายนอกสวยและเฉี่ยวมากครับ แต่ถ้าไปดูภายในห้อง และการใช้วัสดุผมว่าคอนโดระดับ Luxury ของเมืองไทยทำดีกว่าเยอะครับ

 

ห้องที่นี่มักจะขายแบบ Partly Furnished โดยให้แอร์ ผ้าม่าน และเฟอร์ฯ Built in พร้อมครัว ครับ

ตู้เสื้อผ้าหน้าบาน Hi Gloss สีขาวแบบนี้ถ้าเอามาใช้กับคอนโด Luxury เมืองไทย คงมีคนบ่นครับ

แต่วิวสวยมากเลยครับ ห้องเดียวมองห็นถึง 3 วิว ทั้งสนามกอล์ฟ

ทั้ง Sky Garden พื้นที่ส่วนกลาง เชื่อมระหว่าง 2 อาคาร

มุมมองจาก Sky Garden

และจากความสำเร็จของโครงการดังกล่าวก็เลยต่อยอดมาทำโครงการที่สามติดกันอย่าง Corals at Keppel Bay ซึ่งสไตล์การออกแบบก็ลดทอนความแหลมลงมา จนกลายเป็นเหลี่ยมแทน ดูแล้วละม้ายบ้านทิวทะเล ที่ชะอำมากโดยเฉพาะการมี water feature ล้อมรอบ การวางแนวอาคาร และระเบียงขนาดใหญ่ที่มีเหลี่ยมมุมสอดรับกับทรงอาคาร

มีจุดเด่นตรงที่ Private กว่าด้วยจำนวนยูนิตเพียงแค่ 366 ยูนิต สำหรับคอนโด Mid Rise จำนวนมากถึง 11 อาคาร ที่ีมาพร้อมส่วนกลางถึง 16 โซน

โดยยูนิตส่วนใหญ่เป็น Waterfront ทั้งหมด มี Private Lift และมีขนาดตั้งแต่ 1 -4 ห้องนอน บนพื้นที่ 600 – 7,900 ตารางฟุต (Super Penthouse เพิ่งขายไป 18.8 Million SGD.) ซึ่งการจัดวาง Unit จะให้ Super Penthouse อยู่ Waterfront โดยห้องแบบ 1 นอนจะอยู่ตรงแถวทางเข้าโครงการรับวิวคลอง และ Office Keppel โดยมีระเบียงบางส่วนเห็นวิวทะเล

เมื่อก่อนขนาดราวๆ 58 ตรม.ขายราวๆ 1.4 Million SGD…ตอนนี้โครงการมีห้องแบบ 2 นอน 200 ตรม. เป็นห้องตย.ขายราคาเริ่มต้น 8 Million SGD พร้อมเฟอร์ทั้งหมด ตกราวๆตรม.ละเก้าแสนกว่าบาท…ใครซื้อปล่อยเช่าก็ได้นะ ถ้ารับได้กับ Yield ราวๆ 2 – 2.5%

ขอบคุณ KPN KEPPEL ALLIANCE ที่พามาชมนะครับ

นอกจากการพัฒนาโครงการ Residential แล้ว โครงการที่สร้างชื่อให้กับ KEPPEL LAND ให้เป็นที่ยอมรับและมีมูลค่าโครงการมากกว่าที่ KEPPEL BAY หลายเท่าก็คือโครงการ Mixed Use ในย่าน CBD อย่าง Marina Bay ที่มีชื่อว่า Marina Bay Financial Center

โครงการ Marina Bay Financial Center (MBFC) คือโครงการที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดย 3 บริษัทอสังหาฯยักษ์ใหญ่ของเอเชีย อย่าง CK Asset Holdings Limited (ของ Mr. Li Ka-Shing), Hong Kong Land และ KEPPEL Land (บริหารอาคารทั้งหมดโดย Raffles Quay Asset Management Pte. Ltd) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้าง Financial city with in Financial District ของ Marina Bay บนพื้นที่ 3.55 hectres

โครงการประกอบไปด้วย Grade A Office 3 อาคาร (จริงๆจะรวมอาคาร One Raffles Quay ไปด้วยก็ได้นะ เจ้าของเดียวกันแต่สร้างเสร็จก่อน 4 ปี) ด้วยพื้นที่ประมาณ 3 ล้านตร.ฟุต, อาคารที่พักอาศัย 2 อาคารจำนวน 649 ยูนิต ที่มีชื่อว่า Marina Bay Residences และ Marina Bay Suites โดยมีพื้นที่ห้างใต้ดินที่มีชื่อว่า Marina Bay Link Mall เชื่อมทุกพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน ออกแบบโดย Kohn Pedersen Fox (KPF)

Source: http://www.hkland.com/en

ตั้งแต่โครงการสร้างแล้วเสร็จในปี 2010 ก็ได้มีการเปลี่ยนเจ้าของไปบางส่วน โดยในเฟสแรกที่มีเพียงแค่อาคารออฟฟิศ 1 & 2 และ คอนโด Marina Bay Residences รวมถึง Marina Bay Link Mall ทาง CK Asset Holdings Limited ขายส่วนของตัวเองให้กับ Suntec REIT และทางส่วนของ KEPPEL ก็เอาเข้ากอง REIT ของตัวเอง

และในเฟสสองของการพัฒนาในปี 2013 ที่มีอาคารออฟฟิศ + พื้นที่ Retail บนชั้น 1-3 ของอาคารที่ 3 และคอนโด Marina Bay Suites เพิ่มขึ้นมา ก็ถูกซื้อไปโดย DBS ทำให้ตอนนี้เจ้าของร่วมทั้ง 3 ก็คือ DBS, Hongkong Land และ KEPPEL REIT (ดูเหมือนว่า Hongkong Land จะชอบมากกับผลตอบแทนที่ได้จากที่นี่จนไม่ยอมไปไหนตั้งแต่เริ่มต้น)

 

KEPPEL Land ยังมีโครงการคอนโดที่น่าสนใจและอยู่ระหว่างการขาย (เหลือประมาณที่ละ 3%) ที่สิงค์โปร์อีก 2 โครงการคือ The Glades at Tanah Merah และ Highline Residences at Tiong Bahru ซึ่งเป็นทำเลที่เป็นส่วนต่อขยายของ Central Area หากใครที่มองว่าอยากจะไปใช้ชีวิตที่สิงค์โปร์ ติดใจในความสวยงามของบ้านเมือง โดยที่เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาขอแนะนำให้ลองแวะไปชมดูได้ครับ

และสำหรับใครที่คิดจะหาซื้อคอนโดสิงค์โปร์ไว้เพื่อลงทุนนั้น คงต้องขอบอกว่าเก็บเงินไว้ทุ่มซื้อคอนโดที่อื่นจะดีกว่าครับ เพราะด้วยราคาที่ค่อนข้างแพง แต่เก็บค่าเช่าได้ไม่มาก แถมคนส่วนใหญ่ของสิงค์โปร์ก็อยู่ HDB Flat กัน ทำให้ Net Rental Yield ที่นี่ต่ำเพียงแค่ราวๆ 2.5% เท่านั้น และเนื่องจากความ Strict และมุ่งมั่นของรัฐบาลในการที่จะ Control ราคาอสังหาฯไม่ให้พุ่งสูงรวดเร็วจนเกินไป จึงมีมาตรการทางด้านภาษีทั้งในส่วนของ Seller’s stamp duty (SSD) และ Buyer’s stamp duty (ABSD) ที่ปรับขึ้นกันเป็นว่าเล่นออกมาเป็นระยะ แถมถ้าชาวต่างชาติซื้อก็จะมี Additional Buyer Stamp Duty (ABSD) เพิ่มขึ้นมาอีก 16% (คนสิงค์โปร์ถ้าซื้อหลังแรกไม่เสีย หลังที่สองเสีย 7% และหลังที่สามเสีย 10% ส่วน Permanent Resident หลังแรกเสีย 5% และหลังที่สองเสีย 10%)

 

แต่ในปี 2017 ที่ผ่านมา จากท่าทีในการผ่อนปรนของรัฐบาลจากเดิมที่ Seller’s stamp duty ที่ต้องจ่ายหากถือครองไม่ครบ 4 ปี ก็กลายเป็นถือแค่ 3 ปีก็ขายได้โดยจ่ายแค่ 4% และสำหรับผู้ที่ขายหลังถือครองมาปีนึงก็จะต้องจ่าย 12% (เดิม 16%) ทำให้ตลาดอสังหาฯสิงค์โปร์พอที่จะมี liquidity ขึ้นมาบ้าง

 

ต้นทุนทางภาษีในการซื้อ-ขายอสังหาฯที่สิงค์โปร์ จะเห็นว่าเสียโน่นนี่นั่นเยอะมากครับ

Source: http://www.globalpropertyguide.com/Asia/Singapore

 

สิงค์โปร์เป็นประเทศที่เล็กครับ และดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ที่นี่ก็มองว่าพัฒนาโครงการไปก็มี demand ที่มีกำลังซื้อไม่เพียงพอ ไม่เหมือนกับ demand ใน HDB Flats แถมมีกฎระเบียบในการพัฒนาที่ค่อนข้างเข้มงวด ดังนั้นหลายๆรายเลยเลือกที่จะไปลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศมาเลเซีย จีน และฮ่องกง กัน โดยเริ่มมีเข้ามาในไทยบ้างแล้วนิดหน่อย แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะมีพันธมิตรจากสิงค์โปร์เข้ามาพัฒนาโครงการในไทยมากขึ้นไม่แพ้จากญี่ปุ่นล่ะครับ…พบกันใหม่โอกาสหน้านะครับ บาย

เกริก บุณยโยธิน

เกริก บุณยโยธิน

ผู้ก่อตั้งเวปไซต์แบ่งปันความรู้ด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ในวงการอสังหาฯ พร็อพฮอลิค ดอทคอม..หลังจากที่ใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการวนเวียน เข้าๆออกๆ ในสายงานด้านการตลาด และวางแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ของบริษัทอสังหาฯ และเอเยนซีโฆษณาชั้นนำหลายแห่ง (โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องจับสลากเจอลูกค้าสายอสังหาฯทุกที)...จนถูกครอบงำโดยจิตใต้สำนึก ให้ถีบตัวเองออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อออกมาจุดประกายความคิดที่ถูกต้อง และนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนที่สนใจในธุรกิจอสังหาฯ

เว็บไซต์

นิว เอปิค อโศก-พระราม 9

นิว คอร์ คูคต สเตชัน

ศุภาลัย แกรนด์ เอสเซ้นส์ อรุณอมรินทร์

ทำเลฝั่ง “ธนบุรี” ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...

6 November, 2024

ศุภาลัย ธาม เจริญนคร

เป็นคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ของศุภาลัย ที่เป็นผู้เชี่ย...

2 November, 2024

นิช ไพรด์ เอกมัย

Unimaginable Life ชีวิตเกินจินตนาการใจกลางเอกมัย หาก...

21 October, 2024

ศุภาลัย บลู สาทร-ราชพฤกษ์

ทำเลสถานีบางหว้า คือสถานี Interchange สำคัญของชาวฝั่...

17 October, 2024

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง