อยู่บ้านทำเลชนบท เราจะสุขภาพดีกว่าจริงไหม?
กฎเหล็กข้อหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ที่เรารู้จักกันดีก็คือ “ทำเล ทำเล และทำเล” ในปัจจุบันกฎข้อนี้ดูเหมือนจะถูกเอามาใช้ในเรื่องของสุขภาพปอดด้วยเช่นกัน
ทำเลชนบทอาจมีข้อได้เปรียบทางสุขภาพที่ดีกว่าทำเลในเขตเมือง
จากการศึกษาด้านทรวงอกของ Lisa lversen และคณะจากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีนพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบท (Rural) ของสกอตแลนด์มักมีข้อได้เปรียบทางสุขภาพบางประการเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมประเทศคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ โดยพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นหอบหืดน้อยกว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการทางระบบทางเดินหายใจน้อยกว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อนกวางหรือผิวหนังอักเสบน้อยกว่า และมักจะบอกว่าตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในกลุ่มคนที่มีประวัติเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง อาการไอหรือมีเสมหะเรื้อรัง
แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ชาวเมืองทุกคนจะมีปัญหาที่ปอดและก็ไม่ใช่คนชนบททุกคนที่จะมีสุขภาพปอดดี แต่มันก็เป็นไปได้ที่การใช้ชีวิตในชนบทจะดีต่อปอดมากกว่าการใช้ชีวิตในเมืองที่เร่งรีบและเต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศ ลองจินตนาการถึงอากาศบริสุทธิ์ที่ล่องลอยไปยังสุดขอบฟ้า ช่างตรงข้ามกับอากาศที่ถูกปล่อยออกมาจากปล่องควันหรือท่อรถยนต์ใช่ไหมล่ะ ฟังดูแล้วเห็นภาพขึ้นหรือยัง?
สำหรับในเมืองไทย การใช้ชีวิตในเขตชนบทที่มีคุณภาพอากาศดีก็เป็นอีกหนึ่งในความฝันของชาวเมือง แต่ทั้งนี้ไม่ได้รับประกันว่าการอาศัยในเขตชนบทจะมีผลดีต่อสุขภาพเพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้ง สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้ ลักษณะภูมิประเทศ และปัจจัยภายในร่างกายและปัจจัยภายนอกอีกมากมาย เช่น สุขภาพร่างกายและพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนบุคคล การอยู่ใกล้ไร่ที่จุดเผาชีวมวล เป็นต้น
ภาพสวนเกษตรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม